ประเพณีประดิษฐ์เดือนกุมภา จาก “วาเลนไทน์” ถึง “ไหว้สาเจ้าแม่จามเทวี”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

กุมภาพันธ์ เป็นอีกเดือนหนึ่งในรอบปีที่มีเทศกาลวันสำคัญต่างๆ มากมาย พอๆ กับเดือนธันวาคม เมษายนและพฤษภาคม แถมเทศกาลในเดือนนี้ยังมีความเป็นสากล เพราะรวมเอาความหลากหลายของเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรมประเพณีเข้ามาไว้ด้วยกันในเดือนเดียว
หากนับแค่ตรุษจีน วาเลนไทน์ และมาฆปุณมี เพียงสามเทศกาล ก็ถือว่ามีสีสันมากพอแรงอยู่แล้ว เพราะเป็นภาพแทนของจีน ฝรั่ง ไทย แขก หรือ ลัทธิขงจื๊อ คริสต์ และพุทธเถรวาท
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมประเพณียิบย่อยตามชนบทในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีทั้งการสืบทอดประเพณีดั้งเดิมอันมีอยู่จริงเพียงแต่ผู้คนทั่วไปไม่รู้จัก กับมีทั้งประเพณีที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ทั่วทุกหัวระแหง

ทำลายโบราณสถานเพื่ออธิษฐานรัก?
ในช่วงไม่เกิน 10 ปีมานี้ ได้เกิดประเพณีประดิษฐ์ของวันแห่งความรักขึ้นมาใหม่ในรูปแบบแปลกๆ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่อยากเรียกว่าประเพณีเท่าใดนัก เพราะบ่อเกิดของคำว่าประเพณีนั้น ต้องตั้งอยู่บนปัจจัยของความงดงามและได้รับการยอมรับจากผู้คนอย่างกว้างขวาง
แต่เกรงว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการทักท้วง วันหนึ่งข้างหน้ามันก็อาจจะกลายเป็นประเพณีจริงๆ ขึ้นมาเข้าสักวัน

.
ประเพณีประดิษฐ์ที่ว่านี้ คือความนิยมของหนุ่มสาวคู่รักที่มักจะไปปีนเขาตามแหล่งโบราณสถานร้าง ในช่วงวันฮันนีมูนหรือวันวาเลนไทน์ อาทิ บริเวณเขตโบราณสถานเวียงเจ็ดลิน เหนือน้ำตกห้วยแก้ว หรือไม่ก็ที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ยอมลงทุนดั้นด้นปีนป่ายภูเขาสูงๆ หวาดเสียวเหล่านี้ ก็เพื่อค้นหาเศษก้อนหินก้อนอิฐจากซากโบราณสถานที่ทลายกล่นเกลื่อนลงมานั้น จัดวางซ้อนเป็นชั้นๆ ให้สูงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยชาย-หญิงคู่รักผลัดกันวางสลับกันคนละชั้น

.
พลางตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าเทพยดาฟ้าดินผู้พิทักษ์โบราณสถานแห่งนั้นว่า ขอให้ความรักของสองเราจงตั้งมั่นและยั่งยืนฝ่าข้ามกาลเวลา อย่าได้ล่มสลายลงมาเลย เหมือนก้อนหิน-ก้อนอิฐเสี่ยงทายที่ประจงก่อเรียงซ้อนขึ้นมานี้ด้วยความระมัดระวังยิ่ง

โชคดีนะที่ไม่ได้ยินคำพูดต่ออีกประโยคว่า มาตรแม้นวันใดที่ก้อนหิน-ก้อนอิฐนั้นหล่นรานลงมาราพื้น ก็ย่อมเป็นสัญญาณว่ารักของสองเรานั้นจักย่อมร่วงโรยสลายตามไปด้วย
เพราะหากคิดเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมแบกความลำบากใจไปทั้งชีวิต จะให้เชื่อมั่นได้อย่างไรเล่าว่าแค่คล้อยหลังไม่กี่ก้าวแล้ว จะไม่มีใครเดินเผลอหรือตั้งใจมาเตะโครม !

.
ฟังดูเผินๆ ก็อาจจะเหมาะกับคู่รักโรแมนติกที่ชอบบรรยากาศโบราณแบบขลังๆ
คงไม่เสียหายอะไรนักหากการกระทำดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นตามป่าเขาลำเนาไพรที่ไม่ใช่เขตโบราณสถานร้าง ปัญหามันอยู่ที่ว่า แหล่งโบราณสถานนี่แหละคือเป้าหมายสำคัญของกลุ่มหนุ่มสาว เนื่องจากมันดูมีรากเหง้า มีอารยธรรม ไม่ใช่เถื่อนถ้ำที่ไหนก็ได้ดูแล้วมันไม่ศักดิ์สิทธิ์!
รายแรกๆ อาจคิดว่าตนโชคดี ไม่ได้ทำผิดบาปอะไรกระมัง ไหนๆ ตัวโบราณสถานก็กองซากปรักหักพังอยู่แล้ว หากจะหยิบก้อนหินก้อนอิฐที่กระจายกล่นเกลื่อนมาสัก 10-20 ก้อนก็คงไม่เสียหายเท่าใดนัก
เมื่อวันเวลาล่วงผ่าน ก้อนหินก้อนอิฐที่รายล้อมโบราณสถานนั้นค่อยๆ อันตรธานไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเกิดกระแสความนิยมดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

รายหลังๆ นี่จึงเล่นใช้วิธีรื้อทะลวงเอาก้อนอิฐที่ยังติดอยู่กับตัวโบราณสถานนั้นให้กระจุยกระจายออกมาเลย เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความพินาศยับเยินแก่วงการโบราณคดี ในนามของความรัก (แบบไทยๆ)

ไหว้สาเจ้าแม่จามเทวี ทดแทนการไหว้ผีที่ถูกสั่งห้าม

แน่นอนว่าประเพณีย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปไม่คงที่ ทุกวันนี้มีการสถาปนาประเพณีประดิษฐ์แบบจงใจอย่างค่อนข้าง “เนียน” มากพอสมควร
อย่างเช่นวันดีคืนดีก็มีการกำหนดให้ครูภาษาไทยเข้าร่วมงานรำลึกถึงวันที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา ลำพังแค่ปีศักราชที่พบตัวเลข 1826 ในศิลาจารึกหลักที่ 1 นั้นก็สร้างความกังขามากพอแรงอยู่แล้ว ว่ามันคือปีพุทธศักราช หรือสะท้อนนัยะแห่งคริสต์ศักราช อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 หรือเปล่า นี่ยังจะมาระบุวันและเดือนให้ชัดแบบฟันธงได้อีกล่ะหรือ
ยิ่งอะไรที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นไม่ต้องพูดถึง ตอนนี้ได้เกิดกระบวนการอุปโลกน์เอาวันที่ขบวนทัพกู้ชาติของพระองค์ท่านเสด็จผ่านเมืองโน้นเมืองนี้มาเป็นวันสำคัญเต็มไปหมด และไม่ได้มาเพียงรูปแบบของอนุสาวรีย์หรือการรำลึกถึงวีรกรรมเท่านั้น แต่ต้องมาพร้อมกับไก่ชนแก้บนด้วยเสมอ
ประเพณีประดิษฐ์ของท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่ง ที่เลือกจัดกันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ใกล้กับวันวาเลนไทน์ก็คือประเพณี “ไหว้สาเจ้าแม่จามเทวี” หรือ “บวงสรวงพระนางจามเทวี” โดยชุมชนชาวมอญที่เรียกขานตัวเองว่า “เม็งคบุตร” ณ บริเวณเวียงเกาะกลาง บ้านบ่อคาว และบ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน


โดยอุปโลกน์ถือเอาว่าพระนางจามเทวีน่าจะประสูติราววันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 5 เหนือ (คือเดือนกุมภาพันธ์) ตามที่ระบุไว้ในตำนานพื้นบ้านวัดหนองดู่ ฉบับภาษามอญ แม้จะยังคงมีข้อถกเถียงโต้แย้งจากนักวิชาการหลายๆ ฝ่ายที่มักตั้งคำถามว่า “รู้ได้อย่างไรว่าจริง” หรือ “ตำนานฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นเมื่อไหร่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ไหน”

.
แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ด้วยเข้าใจวัตถุประสงค์ของชาวมอญที่มีความผูกพันทางใจต่อปฐมกษัตรีย์จามเทวีองค์นี้อย่างลึกซึ้ง เหตุที่หลักฐานหลายอย่างระบุว่าพระนางทรงมีเชื้อสายมอญเช่นเดียวกัน
เอาเถิดพระนางจะประสูติวันใดก็ช่าง จะใช่เดือนกุมภาพันธ์หรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้มีวันใดวันหนึ่งในรอบปี ที่ชาวมอญจักได้ร่วมรำลึกถึงพระนางก็เป็นพอ ประเพณีนี้จึงมีฉันทามติให้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคราวฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์คือราว พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

.
จะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ “ประดิษฐ์” ขึ้นมาใหม่เพื่อประกาศ “เอกลักษณ์” – “อัตลักษณ์” ความมีตัวตนของคนมอญ ที่อยากจะบอกกับโลกว่าพวกเขาเป็นลูกหลานพระนางจามเทวีก็ไม่ผิด และไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย เพราะการประดิษฐ์ประเพณีใดๆ ขึ้นมานั้นย่อมมีคุณค่า หากกระทำขึ้นบนพื้นฐานเพื่อให้สังคมส่วนใหญ่มีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ


วาระซ่อนเร้นของประเพณีมอญครั้งนี้ ไม่ใช่กระทำขึ้นเพียงต้องการขอ “ที่อยู่-ที่ยืน” เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ควรได้รับการชดเชยแทนความสูญเสียเมื่อครั้งอดีต กล่าวคือ ณ ชุมชนชาวมอญ แห่งนี้เมื่อครั้งกระโน้นตั้งแต่โบราณกาลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คนมอญเคยประกอบพิธีกรรมไหว้เซ่นต่อผีบรรพบุรุษมาก่อน
นั่นคือประเพณีที่เรียกในกลุ่มคนที่ใช้ภาษา “มอญ-ขแมร์” ว่า “โจลมะม็วด” (โจลแปลว่าเข้าทรง, มะม็วดหมายถึงแม่มด) ทำขึ้นในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว โดยผู้ที่มีองค์ (มีครู) ทุกคนในหมู่บ้านจะมาร่วมกันกล่าวคำบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งประเพณีนี้เรียกกันในภาษาถิ่นภาคเหนือว่า “ฟ้อนผีมต-ผีเม็ง” ซึ่งมิได้ทำประจำกันทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์อีกต่อไป แต่จะทำบางวาระโอกาส

.
ร่องรอยของพิธีกรรมหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วฟ้อนถวายผีบรรพบุรุษของคนมอญ ต่อมาได้พัฒนาเป็นประเพณีบูชาแม่โพสพของชาวคนเมืองล้านนา ส่วนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มอญ-ขแมร์ในหลายพื้นที่ยังคงประกอบพิธีกรรม “ปัญโจลมะม็วด” นี้อย่างเหนียวแน่น อาทิ ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์

.
เหตุที่ประเพณีดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไปในกลุ่มคนมอญแม่ระมิงค์ ก็เมื่อมีการเข้ามาของพระพุทธศาสนานิกายธรรมยุติในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้การนำของครูบาญาณกิติ หรือที่ชาวบ้านเรียกย่อๆ ว่า “ครูบากิต”
การหันไปเข้าร่วมกับนิกายธรรมยุตของชาวมอญป่าซาง และมอญสันป่าตอง สองฟากแม่น้ำปิงในช่วงนั้น ก็เพราะถูกบีบคั้นจากปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างชาวมอญเจ้าของถิ่นเก่า กับชาวยองผู้อพยพมาอยู่ใหม่ ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมที่แตกต่างกัน


ในที่สุดกลไกอำนาจรัฐได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการ ถือท้ายให้กำนันตำบลแม่ก๊า (อยู่ระหว่างบ้านหนองดู่ สบทาฝั่งลำพูน กับบ้านหนองคอบ ต้นโชค ฝั่งเชียงใหม่) ซึ่งเป็นชาวยอง ได้เรียกประชุมชาวบ้านสั่งให้รื้อทำลายหอผี พร้อมคำประณามเรียกชาวมอญเหล่านี้ว่า “เม็งกินตับ พวกขี้ทูด กุฏฐัง!”
พระสงฆ์สายธรรมยุตจากวัดชนะสงคราม และวัดบวรนิเวศ ที่กรุงเทพ มีเชื้อสายมอญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อทราบถึงปัญหาร้าวฉานระหว่างคนยองและมอญที่ป่าซาง จึงสบช่องชักจูงให้คนมอญหันมาเข้ากับนิกายธรรมยุตเพื่อจะได้รับรองสิทธิความชอบธรรม

.
แต่แล้วการยื่นมือเข้ามาของสายธรรมยุต นอกจากจะไม่ได้ช่วยคุ้มครองดูแลแล้ว กลับยิ่งซ้ำเติมให้ประเพณีพื้นถิ่นที่เชื่อเรื่องการนับถือผีการเลี้ยงผีได้รับการตอกย้ำว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เป็นความโง่งมงาย จึงได้รับการต่อต้านจากธรรมยุตทุกรูปแบบ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการทะเลาะเบาะแว้งกับชาวยอง
ผลสุดท้ายชาวเม็งจำต้องเก็บเครื่องบูชาหรือที่เรียกว่า “หม้อผี” ไว้บนบ้านหรือยุ้งข้าว บางบ้านไม่ทันตั้งตัวจู่ๆ วันดีคืนดีสมเด็จพระสังฆราชฯ วัดบวรก็เสด็จมาตรวจพื้นที่วัดสายธรรมยุตในล้านนาแบบไม่มีปี่ไม่มีมีขลุ่ย ชาวบ้านกลัวพระสงฆ์จากภาคกลางจะดูหมิ่นดูแคลนพวกตน จึงรีบคว้าเอา “หม้อผี” ซ่อนไว้ในโอ่งน้ำ แล้วนั่งทับฝาโอ่งไว้ก็มี

.
ด้วยเหตุนี้หอผีแบบดั้งเดิมซึ่งสร้างเป็นอาคารไม้ยกพื้นจึงหายไปจากหมู่บ้านเม็ง ทุกวันนี้จึงเหลือเพียงหอเล็กๆ คล้ายศาลเจ้าที่ใช้สำหรับวางหม้อผีเท่านั้น
แม้ชาวบ้านจักถูกสั่งห้ามมิให้ประกอบพิธีกรรม แต่ความเชื่อในอำนาจของผีบรรพบุษที่จะทำอันตรายแก่ผู้ฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นยังคงอยู่

.
ประดิษฐกรรมเรื่องการสถาปนาหยิบยกเอา “ดวงวิญญาณของเจ้าแม่จามเทวี” เพียงองค์เดียวให้ลูกหลานได้ไหว้สา ในเดือนกุมภาพันธ์ จึงเกิดขึ้นทดแทน แต่ลึกๆ แล้วแฝงไปด้วยรูปแบบดั้งเดิมคล้ายการไหว้ผีบรรพบุรุษแต่ก่อนเก่า เมื่อเปลี่ยนชื่อประเพณีแล้วก็หวังว่าจะไม่มีใครมาทัดทานอีกต่อไป
ปราชญ์ชาวมอญผู้ล่วงลับท่านหนึ่งเคยกล่าวแก่ดิฉันด้วยความรันทดใจว่า

.
“น่าเจ็บปวดที่สุด เม็งหนองดู่-บ่อคาวเป็นแหล่งต้นกำเนิดของประเพณีการไหว้ “ผีมตผีเม็ง” ให้แก่คนทั่วล้านนาแท้ๆ เมื่อก่อนเคยไหว้กันทุกปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 เหนือ) อันเป็นฤดูกาลที่เหมาะสม เพราะตรงกับช่วงหลังเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรเสร็จ ตั้งแต่เปลี่ยนศาสนาไปเป็นแบบเคร่งครัดตามอย่างธรรมยุต เราไหว้ผีไม่ได้อีกแล้ว ต้องแอบๆ ซ่อนๆ กันราวเด็กซุกซนแอบหนีไปเที่ยว ยกเว้นบางปีทนไม่ไหวจริงๆ เช่นมีคนตายในหมู่บ้านเยอะเกินเหตุ หรือฝนแล้ง-น้ำท่วม เราก็จะแอบไหว้ผีบรรพบุรุษให้ปกปักคุ้มครองเรา แต่ก็ทำแบบลับๆ ล่อๆ ไม่ให้คนนอกพื้นที่เห็น
งานไหว้สาเจ้าแม่น่ะหรือ ว่าไปแล้วก็เป็นประเพณี “บังหน้า” เพราะเมื่อฝ่ายปกครองท้องถิ่นใช้คำนี้แล้วทางการเขาอนุมัติให้จัดงานได้ แต่เอาเข้าจริง ภาคบ่ายปีไหนถ้าพระผู้ใหญ่ทางกรุงเทพที่มาสังเกตการณ์ไม่อยู่ยาว เราก็แฝงการฟ้อนผีมตผีเม็งแทรกเข้ามาบ้างพอเป็นกระสัยยา หาไม่แล้วลูกหลานเม็งก็คงไหว้ผีมตผีเม็งกันไม่เป็นแน่”

.
สิ่งนี้ใช่ไหมที่สะท้อนคำอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบันอย่างชัดเจนที่สุด สังคมที่นิยมชมชอบใครก็ได้ที่เป็น “วีรบุรุษ-วีรสตรี” แต่กลับไม่มีพื้นที่สำหรับคนเล็กๆ ผู้นิรนาม

ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 117” มติชนสุดสัปดาห์