คนของโลก : คิม บ็อก ดอง นักสู้เพื่อ “หญิงบำเรอกาม”

คิม บ็อก ดอง หญิงชาวเกาหลีใต้วัย 92 ปี ผู้ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตบอกเล่าประสบการณ์เลวร้ายในฐานะ “หญิงบำเรอกาม” ของกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากโรคมะเร็ง

ในฐานะแกนนำต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับหญิงบำเรอกามที่ยังเหลือรอด คิมบอกเล่าเรื่องราวของตนเองอย่างไม่ลดละเพื่อให้คนยุคใหม่ได้เรียนรู้ถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้พบเจอ และเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นหวนกลับมาเกิดขึ้นอีก

“เธอลืมตามาเมื่อวานนี้ เล่าเรื่องราวมากมาย ฉันจับคำไม่ได้มาก แต่สิ่งที่ฉันได้ยินชัดเจนก็คือเราต้องสู้จนวินาทีสุดท้าย” ยูน มี ฮยาง ประธานคณะมนตรีเพื่อความยุติธรรมและความทรงจำเกาหลี ผู้ที่อยู่กับคิมจนวินาทีสุดท้าย ระบุเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์

 

คิม บ็อก ดอง บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองเอาไว้ว่า ตนเกิดในเมืองยางซาน จังหวัดกย็องนัม ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 1926 อยู่ในครอบครัวฐานะร่ำรวย

ทว่าหลังจากครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ คิมในฐานะลูกสาวคนที่ 4 จากทั้ง 6 คนต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่พี่น้องต่างแต่งงานออกเรือนเพื่อไปใช้ชีวิตที่ดีกว่า

ในปี 1941 คิมที่มีอายุได้เพียง 14 ปี ทางการญี่ปุ่นซึ่งในเวลานั้นยึดครองเกาหลีเอาไว้ได้ทำสัญญาหลอกครอบครัวของคิม ซึ่งเหลือแม่ดูแลอยู่เพียงคนเดียวว่า จะขอตัวคิมไปทำงานที่โรงงานเสื้อผ้าของกองทัพที่ญี่ปุ่น

หลังจากแม่ของคิมต้องเซ็นสัญญาที่ตัวเองอ่านไม่ออก คิมกลับถูกส่งไปยังสนามรบในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ทำงานเป็นหญิงบริการระบายความใคร่ของทหารญี่ปุ่น งานซึ่งกองทัพญี่ปุ่นเรียกที่นุ่มนวลว่า “คอมฟอร์ตวีเมน”

“มันคือทาสทางเพศ มันไม่มีคำอื่นอีกแล้ว” คิมระบุกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา

 

คิมเล่าว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงมากกว่า 200,000 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากเกาหลี และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชียที่ต้องเผชิญประสบการณ์เลวร้าย

ตลอดระยะเวลา 8 ปี คิมต้องมีเพศสัมพันธ์กับทหารญี่ปุ่นทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เหยื่อหลายรายต้องทำหน้าที่รองรับอารมณ์ทหารญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 5 คนถึง 60 คนต่อวัน

ความทุกข์ทรมานทำให้เธอและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการใช้พิษจากแอลกอฮอล์ ทว่า กองทัพญี่ปุ่นกลับช่วยเธอฟื้นคืนกลับมาเผชิญชะตากรรมต่อไป ด้วยการปั๊มอย่างรุนแรงที่ท้อง วิธีการที่ทำให้เธอต้องเจ็บปวดทรมานไปอีกนานหลายสัปดาห์

เวลานี้เองที่คิมตัดสินใจมีลมหายใจต่อไปเพื่อที่วันหนึ่งจะได้บอกเล่าเรื่องราวนี้ให้โลกได้รับรู้

 

คิมเดินทางกลับบ้านเกิดเมื่อมีอายุได้ 21 ปี และจำเป็นต้องบอกความจริงที่เกิดขึ้นกับแม่ หลังจากแม่ยืนยันความต้องการให้คิมแต่งงาน และด้วยความเสียใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม่ของคิมถึงขั้นล้มป่วย จนกระทั่งเสียชีวิต

หลังจากนั้นแม้คิมจะได้แต่งงาน ทว่าคิมเองก็เชื่อว่าผลจากประสบการณ์ของเธอ ทำให้เธอไม่สามารถมีลูกได้ สุดท้ายเธอก็ไม่เล่าเรื่องราวนี้ให้สามีได้รู้กระทั่งสามีได้เสียชีวิตไป

คิมใช้ชีวิตต่อด้วยการเป็นเจ้าของร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเมืองปูซาน จนในปี 1992 หลังจาก “คิม ฮัก ซุน” หนึ่งในหญิงบำเรอกามชาวเกาหลีใต้ได้เริ่มเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง คิมก็ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวของตนเองให้สังคมได้รับรู้บ้างเช่นกัน

และในปีเดียวกันนั้น คิมก็เริ่มต้นประท้วงที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นทุกวันพุธ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ในฐานะตัวแทนของหญิงบำเรอกามที่ยังคงมีชีวิตเหลืออยู่ทั่วโลกราว 50 ชีวิต คิมมีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง นอกจากนี้ยังได้ร่วมก่อตั้ง “กองทุนผีเสื้อ” ขึ้นเพื่อมอบงบประมาณสนับสนุนให้กับหน่วยงานเพื่อผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อสงครามทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงในคองโก รวมถึงผู้หญิงในเวียดนามที่ตกเป็นเหยื่อทหารเกาหลีใต้ในสงครามเวียดนามเองก็ตาม

คิม บ็อก ดอง ผู้ที่อดทนเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดที่หลายคนไม่อยากจำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเวลาหลายปี แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว และแม้ว่าเหยื่อที่เหลือจะยังมองไม่เห็น “คำขอโทษที่จริงใจ” จากรัฐบาลญี่ปุ่นตามเป้าหมาย

แต่แน่นอนว่า บุคคลผู้นี้ จะเป็นตัวแทนที่สะท้อนความโหดร้ายของสงคราม และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้หญิงในโลกเอียงๆ ใบนี้ต่อไปตลอดกาล