สมหมาย ปาริจฉัตต์ : “ไอที-ครู” บทบาทคู่ขนานของการสอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ซาลามัด ปากี สวัสดีค่ะ Good Morning คำทักทายของพิธีกรจบลง เสียงปรบมือตอบรับดังติดต่อกัน

ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองเลขาธิการคุรุสภา หนึ่งในพันธมิตรร่วมจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (PMCA Classrooms Connected) รับบทบาทพิธีกรอินเตอร์ ดำเนินรายการด้วยตัวเอง

“เป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของ 4 องค์กรมาทำงานร่วมกัน นอกจากคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรายังมีครูและผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดมาจาเลงกา ประเทศอินโดนีเซีย 5 ท่านมาร่วมด้วยนะคะ ถ่ายทอดสดออนไลน์ไปที่โรงเรียนอีก 5 แห่งในอินโดนีเซียพร้อมๆ กัน”

“เป็นการรวมพลังเพื่อพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ ทั้งด้านไอที และหลอมรวมจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” เสียงปรบมือดังอีกครั้ง

ก่อนรับทราบความเป็นมา บทบาทของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเรื่องราวของโครงการต่างๆ จาก ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิกันต่อ

 

“การดำเนินงานมีคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นองค์ประธานกรรมการ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นรองประธานกรรมการ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ”

คณะกรรมการรับผิดชอบการดำเนินงานตามแผน ประสานงานกับหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ ตลอดเวลากว่า 20 ปีนับจากเริ่มโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานแนวพระราชดำริแนวทางการดำเนินงานและทรงติดตามงานในโครงการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ส่วนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงมีพระราชดำริว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นสำคัญ จึงได้ดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 มุ่งเน้นสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับ ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย มีโอกาสได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่การดูงาน เข้ารับการอบรม ทำวิจัย ตลอดจนศึกษาต่อในระดับสูงตามศักยภาพและความสนใจของแต่ละคน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

ต่อมาในปี 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558

ปัจจุบันมูลนิธิมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ จำแนกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1. การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

และ 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาผู้ด้อยโอกาส

 

โครงการเหล่านี้ กลุ่มที่ 1 หลายโครงการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อาทิ โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์นตามพระราชดำริ โครงการความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ (ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้) โครงการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา

กลุ่มที่ 2 โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีสร้างโอกาสในการเรียนรู้และการอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนที่อยู่ในท้องที่ห่างไกล โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ โครงการส่งเสริมไอซีทีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน โครงการระบบ E Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

กลุ่มที่ 3 โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างโอกาสในการเรียนรู้และการอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนที่อยู่ในท้องที่ห่างไกล โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ

ครูและผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้อยู่ร่วมในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ของกลุ่มที่สองนั่นเอง มาจากโรงเรียนใด จังหวัดไหน ค่อยเล่าสู่กันฟังนะครับ

 

“ช่วงนี้ขอแนะนำวิทยากรที่จะมาร่วมประชุมปฏิบัติการทั้ง 4 ท่านก่อนค่ะ” พิธีกรส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่เทคนิค กำลังเชื่อมต่อการถ่ายทอดสดจากเวทีไปยังเกาะชวาตอนกลางอินโดนีเซีย

ดร.กาต๊อด ฮารี ผอ. SEAMEO วิทยากรคนแรก ส่งเสียงทักทายข้ามมหาสมุทร ด้วยบาฮาสา อังกฤษ ก่อนปิดด้วย สวัสดีครับทุกคน

วิทยากรคนต่อมา นั่งร่วมอยู่หน้าห้อง ชิกกุ ซานุดดิน จากมาเลเซีย พิธีกร ขยายความ “ชิกกุ เป็นภาษาบาฮาสา แปลว่าครูค่ะ” ชิกกุ ซานุดดิน มารถไฟจากกัวลาลัมเปอร์ถึงหาดใหญ่และต่อรถตุ๊กตุ๊กมาพบพวกเราที่นี่ค่ะ ทุกคนปรบมือต้อนรับด้วยความยินดี

คนที่สามค่ะ ชิกกุเฮอวิน จากอินโดนีเซีย ท่านที่สี่ ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ทั้งสามท่านได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นแรกพร้อมกันเมื่อปี 2558 จะมาเชื่อมโยงกิจกรรมระหว่างครู เรา เพื่อนำไปทำกับนักเรียนต่อไปค่ะ

รายการแนะนำวิทยากรจบลง ภาพวีดิทัศน์แนะนำผลการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปรากฏขึ้นบนจอ

คำบรรยายจากเสียงและหัวใจของครูผู้ได้รับรางวัล 2 ครั้งที่ผ่านมา แต่ละถ้อยคำ แต่ละประโยค โดนใจ สะเทือนใจผู้ชมแค่ไหน โปรดติดตาม