จิตต์สุภา ฉิน : จัดของหมวดไอทีด้วยหลักการมาริเอะ คนโดะ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

นับตั้งแต่ Netflix เริ่มฉายซีรี่ส์ Tidying Up With Marie Kondo ที่นำโดยผู้หญิงญี่ปุ่นตัวเล็กผมหน้าม้าผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตดีขึ้นทุกด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว” ชีวิตของคนทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไป

ทุกคนลุกขึ้นมาใช้ปรัชญาของมาริเอะในการจัดบ้านทั้งหลัง

โละของที่ไม่จำเป็นทิ้งออกจากชีวิต จนเกิดปรากฏการณ์สินค้าทะลักทะล้นร้านมือสองทั่วสหรัฐอเมริกา

ซีรี่ส์ได้รับการพูดถึงอย่างอื้ออึงและใบหน้าของมาริเอะก็ถูกนำไปทำเป็นมีมเกลื่อนอินเตอร์เน็ต

ฉันก็พลอยได้รับประโยชน์จากซีรี่ส์นี้ด้วยเหมือนกันเพราะลุกขึ้นมาจัดและตกแต่งบ้านขนานใหญ่จนบ้านน่าอยู่ขึ้นเป็นกอง

ถ้าหากไม่ได้ดูซีรี่ส์ก็คงจะไม่มีแรงกระตุ้นมากพอ

ลำพังแค่หนังสือของมาริเอะที่เคยซื้อมาอ่านก็ไม่มีแดเมจที่รุนแรงพอจะทำให้ลุกขึ้นมาจัดข้าวของได้มากขนาดนี้ จัดได้แค่ตู้เสื้อผ้าอย่างเดียวก็หรูแล้ว

หลักการของเธอคือการแบ่งของภายในบ้านออกเป็นหมวดหมู่ เช่น เสื้อผ้า เอกสาร หรือข้าวของเครื่องใช้ทั่วๆ ไปที่เธอให้ชื่อว่าโคโมโนะ

จับทุกอย่างมากองรวมกันในที่เดียว แล้วค่อยๆ สัมผัสไปทีละชิ้นๆ ดูว่าชิ้นไหนที่จับแล้วทำให้เกิดความสุขวิ่งวูบวาบไปตามร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าก็ให้เก็บไว้

ชิ้นไหนจับแล้วเฉยๆ ก็ขอบคุณที่มันทำหน้าที่รับใช้เรามาโดยตลอด แล้วก็เอาไปทิ้งหรือบริจาคเสีย

 

วิธีจัดบ้านให้เป็นระเบียบตามแบบฉบับคนโดะคือการจะต้องมีกล่องขนาดเล็ก-ใหญ่หลายๆ กล่องเอาไว้จัดของใส่ลงไปเป็นแนวตั้ง

เธอจะมีวิธีการพับผ้าในแบบของเธอเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะต้องเป็นการเรียงทุกอย่างลงไปในกล่องให้เป็นแนวตั้งเพื่อที่เราจะได้สามารถมองเห็นของทั้งหมดได้ว่าเรามีอะไรบ้าง

และเป็นการป้องกันการซื้อซ้ำในอนาคต

นอกจากเสื้อผ้า เอกสาร หนังสือ ข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิกแล้ว อีกหนึ่งหมวดหมู่ที่คนสมัยนี้เป็นเจ้าของกันเยอะมาก ก็คือของในหมวดหมู่เทคโนโลยี

ทั้งของเก่าที่ตกเทรนด์ไปแล้วอย่างแฮนดี้ไดรฟ์ความจุต่ำๆ สายชาร์จเส้นเก่าๆ อะแด็ปเตอร์ ไปจนถึงตัวแก็ดเจ็ตเอง อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ที่เราซื้อของใหม่มาทดแทนแล้ว

ทั้งหมดนี้ก็ควรได้รับการจัดการอย่างถูกต้องด้วย

ฉันก็เลยคิดว่าเราน่าจะเอาหลักการของมาริเอะมาจัดการกับของใช้เทคโนโลยีได้ด้วย

 

สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการเลือกก่อนว่าชิ้นไหนควรอยู่ ชิ้นไหนควรไป

เราจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมเราจึงเก็บของบางอย่างไว้ทั้งที่มันอาจจะใช้การไม่ได้แล้ว

สำหรับฉัน โทรศัพท์มือถือแบบพ็อกเก็ตพีซีรุ่นเก่าที่แบตเตอรี่บวมเป่งใช้การไม่ได้แล้วแต่กลับเป็นของที่ฉันทิ้งไม่ลง

เพราะมันมีความทรงจำของชีวิตการเป็นนักเรียนในต่างประเทศแฝงอยู่ในนั้นมากมาย

แต่ในขณะเดียวกันฉันก็พร้อมจะบอกลาเครื่องอื่นๆ แบบที่ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจอะไร

การทิ้งอุปกรณ์เทคโนโลยีอาจจะทำได้ยากถ้าหากเราไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเราจะเก็บมันไว้เพื่ออะไร

เราอาจจะกลัวว่าสักวันหนึ่งในอนาคตเราจะอยากกลับมาใช้มันอีก แต่วันนั้นก็มาไม่ถึงเสียที

สำหรับฉัน รู้สึกว่าเทคโนโลยีที่เราไม่ได้แตะมันมาหลายปีแล้วก็มีแนวโน้มที่เราจะไม่อยากแตะมันอีกในอนาคต

ดังนั้น ถ้าไม่ได้ผูกพันเป็นการส่วนตัวก็น่าจะได้ฤกษ์บอกลาแล้ว

อุปกรณ์เสริมกระจุกกระจิกทั้งหลายควรมีที่มีทางของมันเอง ฉันซื้อกล่องจัดระเบียบที่หนึ่งชุดประกอบไปด้วยกล่องสี่ใบสี่ขนาดเพื่อนำมาใส่ของแยกตามประเภท

กล่องนี้สำหรับสายชาร์จ อีกกล่องสำหรับอะแด็ปเตอร์

กล่องที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เอามาใส่แท็บเล็ตหรือแผ่นรองเมาส์ปากกา การได้สะสางของทั้งหมดทำให้เห็นว่ามีสายที่ใช้ไม่ได้แล้วหรือไม่ได้ใช้แล้วเยอะมาก ซึ่งฉันได้ส่งต่อให้คนที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้

 

ข้อควรระวังสองข้อสำหรับการจัดระเบียบอุปกรณ์เทคโนโลยีคือ

หนึ่ง เป็นอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลส่วนตัวของเราหรือเปล่า การทิ้งอุปกรณ์ที่ยังมีข้อมูลของเราอยู่เป็นเรื่องอันตรายที่อาจกลับมาแว้งกัดเราได้ในอนาคต จึงต้องมั่นใจว่าเราได้ลบข้อมูลทั้งหมดจนเกลี้ยงแล้วก่อนที่เราจะนำไปทิ้ง

และสอง ไม่ควรจะโยนทิ้งใส่ถังขยะเฉยๆ เพราะนี่คือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธี

ดีที่สุดคือการส่งต่อให้คนที่สามารถใช้มันได้

แท็บเล็ตรุ่นเก่าที่เราไม่ต้องการแล้ว อาจจะเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีให้กับเด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้ไม่สูงมาก ซึ่งเขาอาจจะไม่ว่าอะไรเลยที่มันจะช้าสักหน่อยตราบใดที่มันเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้

หรือถ้าหากไม่มีคนรู้จักที่อยากจะรับช่วงต่อ บางบริษัทหรือร้านค้าบางแห่งพร้อมที่จะรับไปรีไซเคิลและหยิบยื่นส่วนลดในการซื้อของชิ้นต่อไปให้เราเป็นการทดแทน

อย่างเช่นตอนนี้ Apple ในประเทศไทยก็รับรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ Apple ในแบบที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

การได้สะสางจัดระเบียบให้หมวดหมู่เทคโนโลยีจะทำให้เราได้เห็นว่ามีของจำนวนมากที่ถูกวางทิ้งไว้เปล่าๆ ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ของบางอย่างเราต้องใช้แค่ชิ้นเดียว แต่เรากลับมีสำรองอีกหลายชิ้น เพราะเวลาจะใช้เรามักจะหาไม่เจอจนต้องซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ

การจัดระเบียบก็จะเป็นเหมือนการเช็คสต๊อกสินค้าไปในตัว

เราจะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าเรามีของประเภทนั้นๆ กี่ชิ้น

และจะไม่ซื้อมาซ้ำอีกให้เปลืองเงินโดยใช่เหตุ

 

ในระหว่างการจัดการเก็บกวาด นอกจากกล่องแยกประเภทของที่ต้องมีแล้ว อีกอย่างอาจจะเป็นยางหรือเคเบิลพลาสติกที่เอาไว้รัดสายให้เป็นม้วนขดสวยๆ ความรู้สึกของการเปิดลิ้นชักมาแล้วเจอสายทุกประเภท ทุกสี ทุกแบบ หมุนขดเป็นวงๆ พันกันไปพันกันมาแบบที่ไม่มีทางจะแกะแงะออกมาจากกันได้ง่ายๆ กับการเปิดมาแล้วเจอสายที่ถูกมัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบวางเรียงรายต่อๆ กันนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันเยอะมาก

ฉันพบว่าตอนเริ่มลงมือนั่งจัดระเบียบนั้นมันช่างเหน็ดเหนื่อยจนเกือบจะย่อท้อและเลิกทำไปกลางคัน

แต่พอทำไปเรื่อยๆ แล้วเริ่มเห็นผลว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีที่มีทางของตัวเองมันก็จะสะท้อนกลับมาให้รู้สึกมีความหวังว่าชีวิตโดยรวมมันจะลงตัวแบบนี้ได้เหมือนกัน

ฉันว่าหลักการจัดบ้านแบบนี้ทำให้เรารู้สึกเกิดพลังว่าหากเราสามารถทำเรื่องเล็กที่สุดอย่างการจัดบ้านได้ เราก็น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ทุกอย่างที่จะเข้ามาในชีวิตได้ คล้ายๆ กับความภูมิใจที่เกิดจากการจัดที่นอนทุกเช้าจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

เทคโนโลยีชิ้นไหนที่ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นแล้ว ให้ความสุข ให้ประโยชน์กับเราเต็มที่จนเลยอายุขัยของมันแล้วก็ทำใจบอกลาเสีย เปิดพื้นที่ว่างในใจและในบ้านให้กับของใหม่ๆ ที่จะมายกระดับคุณภาพชีวิตของเราเป็นชิ้นต่อไปในอนาคต

ขอให้จัดบ้านกันอย่างสนุกสนานนะคะ