ย้อนดูเส้นทาง “บิ๊กตำรวจ” ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กับ “การเมือง” ร่วงหรือรอด? และทำไมตำรวจถึงปฏิรูปไม่ได้เสียที?

มีตำรวจมากมายกระโดดเข้าสู่สนามการเมือง มีทั้งดับสูญหายไปกับสายลม บ้างได้รับการชื่นชม บ้างถูกก่นด่า

ไล่เรียงรายชื่อกันมาอย่างพรรคเพื่อไทย มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ที่เป็นถึงหัวหน้าพรรค เคยเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ก่อนลาออกข้าราชการเมื่อตุลาคม 2533) แล้วกระโดดสู่สนามการเมืองสอบได้ ส.ส.มาแล้วหลายสมัย หลายพรรค เคยเป็นถึงรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี

และตอนนี้มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่อาจจะไม่ได้มี “บทหวือหวา” เท่าไหร่นัก แต่ก็มีชื่อเป็นฝ่ายบริหารหลักท่านหนึ่ง

ย้อนไทม์ไลน์ในอดีต เคยมีปรากฏชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. นามสกุลดังใกล้ชิดกับขั้วการเมืองที่หลังเจ้าตัวเกษียณปุ๊บ มีภาพพร้อมแถลงข่าวการสวมแจ๊กเก็ตพรรคเพื่อไทยปั๊บ (เมื่อตุลาคม ปี 2555) แต่หลังจากนั้นเคยมีชื่อแคนดิเดตหรืออะไรต่างๆ แต่ก็หายเข้ากลีบเมฆไร้ข่าวคราวการเมืองของ “อดีตบิ๊กสีกากีผู้นี้”

หรืออย่างอดีต ผบ.ตร. (คนแรก) และอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ก็โดดเข้าสู่สนามการเมืองนั่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยเป็นรองนายกฯ คุมตำรวจ บทบาท ผอ.คุมแก้ไขน้ำท่วม ปี 2554 หรือได้คุมเหตุการณ์ต่างๆ เคียงข้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถือเป็นอีกคนที่ประสบความสำเร็จในเวทีการเมือง

กับอีกคนที่สังคมคงจำได้คือ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในราชการตำรวจคือผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) ก็เคยนั่งในเก้าอี้รัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน

แต่ชื่อที่หลายคนจำได้แม่นอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ แม้นาทีนี้เจ้าตัวจะมีหมวกของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนั่งบอร์ดหลายที่อยู่ แต่อย่างที่ใครๆ ก็รู้และจำได้ว่า อดีตรอง ผบ.ตร. ผู้มีชื่อเสียงคนนี้ เคยได้ดิบได้ดีมีแววเป็น ผบ.ตร.ได้ แต่ก็ต้องพ่ายให้กับสถานการณ์ทางการเมือง ที่เปลี่ยนขั้วเมื่อปี 2557

แฟ้มภาพ

ย้อนไปเจ้าตัวเคยลาออกจากข้าราชการเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคเพื่อไทย นักการเมืองหลายคนลงทุนลงแรงไปช่วยหาเสียง คะแนนโพลนำทุกสำนัก จนได้คะแนนสูงกว่า “สมัครฟีเวอร์” เมื่อปี 2543 (1,016,096 คะแนน) เสียอีก ซึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศกวาดไป 1,077,899 คะแนน

แต่ก็ต้องพ่ายให้กับโค้งสุดท้ายกับวาทกรรม “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเจ้าของแชมป์เก่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ที่แม้ว่าจะมีผลงานถูกใจไม่ถูกใจชาว กทม.บ้าง แต่แคมเปญการปราศรัยหาเสียงโค้งสุดท้ายของ “ตัวท็อป” จากพรรคในคราวนั้น ก็ทำให้หม่อมเป็นฝ่ายชนะไปด้วย 1,256,349 คะแนน ทำลายสถิติคะแนนสูงสุดประวัติการณ์ไปครอง

แม้นาทีนี้ไม่มีข้อมูลว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะเอายังไงต่อในสนามการเมืองหรือไม่หลังจากเกษียณอายุราชการไปแบบโลว์โปร์ไฟล์

แต่เขาก็ได้พิสูจน์ “บทบาทตำรวจ” กับ “สนามการเมือง” ที่ไม่แป้กมาให้เห็นแล้ว

ถ้ามาดูสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจาก สนช.ที่มีอดีตตำรวจและบิ๊กตำรวจในปัจจุบันนั่งกันอยู่ในสภาแล้ว ผู้มีตำแหน่งสำคัญๆ ในปัจจุบันมีมากมาย อาทิ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร.ที่เป็น คสช.โดยตำแหน่ง (นับจากปีรัฐประหาร 2557) และปัจจุบันมาช่วยแก้ภาพ นำทัพกระทรวงแรงงาน ซึ่งหากหลายคนจำได้ ปี 2557 หลังรัฐประหาร พล.ต.อ.อดุลย์เคยถูกคำสั่ง คสช.ไปช่วยราชการในระหว่างครองตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการแทนจนครบวาระ ปัจจุบัน “บิ๊กกุ้ยวัชรพล” ได้มีตำแหน่งเป็นถึงประธาน ป.ป.ช. แต่ก็ถูกสังคมมองถึงการทำงานและความเคยเป็นคนใกล้ชิดกับรองนายกฯ ความมั่นคงคนปัจจุบันทำให้ภาพการเมืองก็ถูกแยกไม่ออก

เช่นเดียวกันกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ที่ปัจจุบันแม้จะอยู่วงการกีฬาเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แต่ว่าภาพความใกล้ชิดนักการเมืองก็มีให้ได้เห็นจิ๊กซอว์อยู่บ้าง

ปี2562 การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังจะมาถึงก็มีตำรวจมากมายกระโดดเข้าสู่สนามการเมือง

อาทิ ตำรวจหนุ่มนักวิทยาศาสตร์ไฟแรงอย่าง พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ2) กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่เหลืออายุราชการนานกว่า 28 ปี ก็ลาออกจากราชการตำรวจไปสวมแจ๊กเก็ตพรรคอนาคตใหม่

โดยเจ้าตัวเคยแสดงเจตจำนงไว้ว่า จะนำเอาทักษะการพิสูจน์ความจริงจากการตรวจพิสูจน์มากว่า 1,000 คดี ติดนิสัยการแก้ปัญหาโดยหาเส้นทางที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดอยู่เสมอ จากการทำเฉลยโจทย์ปัญหาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์กว่า 5,000 ข้อ กระโดดเข้ามา ศึกษางานวิจัย สถิติต่างๆ ที่พรรครวบรวมมา ตัวอย่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านในการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากนานาชาติ

และที่สำคัญที่สุดคือ การรับข้อมูลจริงจากประชาชนเพื่อสังเคราะห์ทำเป็นนโยบายร่วมกับทีมอนาคตใหม่ ให้มีประสิทธิภาพแก่ประเทศมากที่สุด คงจะเป็นเรื่องที่น่าสนุกท้าทายมากๆ

อีกชื่อหนึ่งถ้าพูดชื่อหนัง หลายคนต้องร้องอ๋อ! นั่นคือ “หมอเจ็บ” ที่สร้างมาจากชีวิตจริงๆ ของ พ.ต.ท.นพ.ปิยพงษ์ สาครเย็น อดีตนายแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ที่เคยได้รับประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติข้าราชการตำรวจดีเด่น ประจำปี 2556

โดยมีผลงานวิชาการ “นิติเวชคลินิก กับการสอบสวน ที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย” หรือรู้จักกันในนาม “หมอพาย” นักเขียนที่เคยถูกนำผลงานเรื่อง “คนไข้ป่วน กับ ก๊วนหมอเจ็บ” ไปสร้างภาพยนตร์ชื่อ “หมอเจ็บ” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อชาติ

ที่เจ้าตัวเล่าถึงเหตุที่มาสมัครรับเลือกตั้งอาสาเป็นผู้แทนประชาชนว่า เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้เป็นยุคที่จริยธรรมและความยุติธรรมถึงจุดต่ำสุดแล้ว อยู่ในยุคที่เสื่อมที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นยุคมืดของประเทศก็ว่าได้

คนดีมีความสามารถต้องช่วยกันออกมาปกป้องประเทศไทย อย่าปล่อยให้อำนาจมืดปกครองประเทศต่อไป หากเรายังนิ่งเฉย ประเทศอาจล่มจมได้ และสูญเสียโอกาสของประเทศ เพราะการนิ่งเฉยของตัวเราเองที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

โดยเหตุผลสำคัญที่เลือกพรรคเพื่อชาติ อย่างแรกเลยคือเรื่องของอุดมการณ์ครับ เราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจเผด็จการ เป็นต้น

อีกหนึ่งตำรวจดังที่กระโดดมาเล่นการเมืองแบบเต็มตัว พร้อมสวมแจ๊กเก็ตสีฟ้า ประชาธิปัตย์ รับศึกสู้ในพื้นที่ กทม.เขตหลักสี่ อย่าง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือแต้ม หรือ “มือปราบหูดำ” ฉายาและเอกลักษณ์ที่หลายคนจำได้แม่น

“ผู้การแต้ม” คนนี้เคยชิมลางงานการเมืองมาก่อนแล้วในสนามกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ (สุขุมพันธุ์) มาก่อน

ภาพจำแม่นๆ ของคนอาจจะเป็นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการจัดระเบียบ และภาพลักษณ์การเป็นนักเจรจาประสานสิบทิศ

งวดนี้ที่เจ้าตัวเล่าว่า ความเป็นตำรวจอาจจะมีจุดอ่อนที่คนอาจจะไม่ชอบ หรือติดภาพลักษณ์เดิมๆ ว่าตำรวจไม่ดี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของความรู้สึก วันนี้ลองไปสำรวจดูได้ว่าใครทำงานหนักสุดในบรรดาข้าราชการ ถ้าทุกคนไม่พูดเสียงเดียวกันว่าตำรวจ เป็นไปไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อยที่สุดและงานเยอะที่สุด

จุดแข็งของตำรวจในมุมมองมือปราบหูดำที่บอกว่าสามารถทำงานการเมืองได้สบาย นั่นคือ “การกล้าตัดสินใจ” สามารถลงไปลุยแก้ไขปัญหาได้ทันที

ตำรวจมีจุดแข็งเข้าใจใกล้ชิดประชาชนได้มากกว่าข้าราชการอื่นๆ

มือปราบหูดำชี้ว่า ตำรวจกับการเมืองจำแยกจากกันได้จริงๆ ต้อง “ปฏิรูปที่ตัวบุคคล” ก่อน เพราะองค์กรตำรวจไทยเราไปเอาระบบเหมือนกับญี่ปุ่นมาใช้

แต่ทำไมญี่ปุ่นดี ฉะนั้น ปัญหามันอยู่ที่ “คน” มากกว่า ทุกอย่างมันเกิดจากคน ไม่ได้เกิดจากระบบ

ที่สำคัญเมื่อก่อนระบบโครงสร้างตำรวจไทยเราติด 1 ใน 10 ของโลกด้วยซ้ำ

ฉะนั้น ถ้าแก้เรื่องบุคคลได้ก็จะตอบโจทย์ เพราะเอาเข้าจริงๆ ผู้จะเป็น ผบ.ตร.ได้ ต้องสามารถจับนายกรัฐมนตรีได้เหมือนต่างประเทศ กล้าจับรัฐมนตรีได้ แต่บ้านเราทำได้จริงหรือ?

ฉะนั้น จะปฏิรูปต้องทำตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีส่วนร่วมเลือก ผบ.ตร. ให้โอกาสรอง ผบ.ตร. ได้พรีเซนต์โชว์วิสัยทัศน์ โดยไม่ต้องผ่านมาทางสนามการเมืองอย่างในอดีต (ปัจจุบันผ่านการเสนอของ ผบ.ตร.) ซึ่งส่วนตัวมองว่า ถ้าหัวดี หางก็จะดีตามไปด้วย

นอกนั้นไปแก้เรื่องสวัสดิการตำรวจ อย่างญี่ปุ่นเขาให้ข้าราชการตำรวจและครูมีเงินเดือนเยอะกว่าทุกสาขา เขาจะได้ให้คนเก่งๆ เข้ามาทำงาน ดูแลความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สิน

ก่อนทิ้งท้ายว่า อย่าเพิ่งถามหรือคิดถึงเรื่องในอนาคตว่าอยากเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ แต่หากมีโอกาสผมก็อยากจะดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมองว่าตำรวจแก้ได้เข้าใจปัญหา ตำรวจมีผลมากต่อประชาชน และจะช่วยแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำได้

พร้อมมีประสบการณ์โมเดลเรื่องจราจรดูแลชีวิตทรัพย์สินต่างๆ แม้ว่าสนามการเมืองเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก แต่ถ้าสอบผ่านหรือไม่ผ่าน ผมก็มีหลายงาน หลายการกุศล หลายภาระให้รับใช้สังคมอย่างเต็มที่

พล.ต.ต.วิชัยทิ้งท้าย

ติดตามคลิปเปิดใจ “มือปราบหูดำ” กับสนามการเมืองและเรื่องปฏิรูปตำรวจได้ที่