ธงทอง จันทรางศุ : บริการท่องเที่ยว “ดี” ที่ “บ้านเขา”

ธงทอง จันทรางศุ

หมู่นี้ผมเทพจรลงเท้าบ่อยครับ

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ก็ชักชวนกันกับเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกันตั้งแต่ชั้นประถมตอนอายุ 10 ขวบจำนวนสิบกว่าคนไปเที่ยวประเทศอินโดนีเซีย มีกำหนดสี่คืนห้าวัน

ในเวลาที่มีอยู่จำกัดนี้เราเลือกไปเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมไปมาหาสู่สองเมือง

นั่นคือบาหลี และยอกยาการ์ตา ซึ่งอยู่กันคนละเกาะนะครับ

เวลาเราดูแผนที่ของประเทศนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าบ้านเมืองของเขาไม่ได้อยู่ติดกันกับแผ่นดินใหญ่ส่วนที่เป็นทวีปเอเชียอย่างเมืองไทยของเรา

หากแต่เป็นเกาะใหญ่เกาะน้อยจำนวนถึงเจ็ดพันเกาะด้วยกัน

เมืองทั้งสองอยู่บนเกาะบาหลีและเกาะชวาตามลำดับ

การท่องเที่ยวที่เมืองบาหลีนั้น เห็นจะเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยจำนวนมากพอสมควรแล้ว

แต่ที่จะรายงานเป็นพิเศษคราวนี้คือการท่องเที่ยวโบราณสถานที่เมืองยอกยาการ์ตา หรือที่เรียกโดยย่อว่าเมืองยกยา

ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสำคัญที่เราเคยได้ยินชื่อกันมาแล้วได้แก่ บุโรพุทโธ จันทิบรามานัน

และโบราณสถานที่มีขนาดย่อมลงมาอีกสามแห่ง ที่ผมและเพื่อนมีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมได้แก่ จันทิกลาสัน จันทิภาวัน และจันทิเมนดุต

แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ผมเคยไปเยี่ยมชมมาแล้วเมื่อประมาณสามสิบปีก่อน ตอนนั้นหลายแห่งกำลังบูรณปฏิสังขรณ์กันอยู่

มาถึงวันนี้เสร็จเรียบร้อยไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่กำลังดำเนินการอยู่เห็นมีเพียงที่เดียวคือจันทิกลาสัน

นับว่าการทำงานด้านนี้ของเขามีความคืบหน้าดีทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้นมาก

เริ่มตั้งแต่เส้นทางการจราจรภายในบริเวณใกล้เคียงและลานจอดรถ เขาแยกแยะเป็นสัดส่วน

ตรงนี้สำหรับรถเก๋ง ตรงนั้นสำหรับรถบัส

พวกเราเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้รถบัสขนาดใหญ่ให้จอดส่งคนลงตรงนี้แล้วรถเลยไปจอดตรงนั้น

ทั้งหมดมีป้ายบอกชัดเจนและลานจอดรถก็สะอาดร่มรื่น

มีต้นไม้ขึ้นแซมในตำแหน่งที่ควรจะมีต้นไม้

ดูแล้วสบายตา

ค่าธรรมเนียมการเข้าชมโบราณสถานนั้น ผมไม่แน่ใจนักว่าชาวอินโดนีเซียผู้เป็นเจ้าของประเทศเองจะต้องเสียในอัตราเท่าไหร่และมีการลดหย่อนผ่อนปรนให้ใครบ้าง

แต่รู้แน่ว่ามีอัตราสำหรับชาวต่างประเทศเป็นการเฉพาะ

และเขาก็แยกที่ขายตั๋วไว้อีกอาคารหนึ่งเลยทีเดียว

มีป้ายชี้ทางว่าตรงนี้คือ International ส่วน Domestic ก็ไปอีกช่องทางหนึ่ง

ผมซึ่งต้องไปเข้าช่องชาวต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วที่อาคารเฉพาะ

ในอาคารนั้นเองมีห้องน้ำสะอาดให้ใช้

แถมมีบริการพิเศษคือให้เลือกได้ว่าจะดื่มน้ำแร่แช่เย็นหนึ่งขวด หรือจะกินชากาแฟหนึ่งถ้วย ทั้งหมดนี้จัดเอาไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวบริการตัวเองครับ

นึกดูว่าจะหยิบเกินน้ำหนึ่งขวดหรือชงกาแฟเกินหนึ่งถ้วยก็เห็นจะได้ แล้วความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นแก่เราเองในภายหลังเพราะจะต้องหาห้องน้ำเข้า

กุศลอาจส่งผลทันตาเห็นก็ได้

เพื่อนที่ไปด้วยกันออกปากว่า การเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับชาวต่างประเทศในราคาที่สูงกว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศนั้น เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้

และเมื่อเก็บสตางค์แพงนิดนึงแล้ว พอมีบริการพิเศษจัดให้อย่างนี้ ก็ยิ่งรู้สึกว่าคุ้มค่าหรือคุ้มราคากับเงินที่จ่ายไป

ส่วนบ้านเรานั้นเก็บค่าธรรมเนียมเป็นสองอัตราแตกต่างกันเหมือนกับเขา

แต่ทุกอย่างเหมือนกันสนิท

ผมสังเกตเห็นว่าบางแห่งเลยต้องกระมิดกระเมี้ยน เขียนราคาค่าเข้าชมสำหรับคนไทยเป็นตัวเลขไทย และเขียนราคาเข้าชมสำหรับชาวต่างประเทศเป็นตัวเลขอารบิก

แลดูลับๆ ล่อๆ อย่างไรไม่รู้

พูดถึงการเสียเงินค่าเข้าชมโบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยนั้น ผมมีตำนานส่วนตัวจะขอเล่าฝากไว้เรื่องหนึ่ง

เหตุเกิดก่อนวันที่ผมจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ประมาณสองเดือน

สายวันนั้นผมไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานพระราชวังจันทรเกษมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ที่ในยุคเริ่มต้นถือกำเนิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า

พิพิธภัณฑ์นี้แม้จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เคยรับสั่งยกย่องชมเชย

วันนั้นผมเดินตรงไปที่ตู้จำหน่ายบัตร เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ออกปากขึ้นทันใดนั้นว่า “อายุเกิน 60 ปีแล้วไม่ต้องจ่ายซื้อบัตรค่ะ”

ผมพยายามรักษาสิทธิของผมเต็มที่ โดยอธิบายว่าผมอายุยังไม่ถึงหกสิบครับ ต้องรออีกสองเดือน

เรื่องการซื้อบัตรนี้เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ขอให้ผมได้จ่ายเงิน 20 บาทซื้อบัตรเถิด นี่ เรื่องมันเป็นเช่นนี้

กลับไปพูดถึงเรื่องบัตรที่อินโดนีเซียต่อนะครับ

บัตรทุกใบมีบาร์โค้ด เมื่อเดินผ่านเจ้าหน้าที่เขาก็จะสแกนบาร์โค้ดที่บัตรนั้นด้วยความคล่องแคล่วว่องไว มีการเดินผ่านประตูเอ็กซเรย์โลหะเพื่อตรวจสอบในเรื่องอาวุธหรือสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยทั้งหลายด้วย

ดูแล้วมั่นใจในความปลอดภัยครับ

ระบบที่ว่ามานี้ทั้งหมดอยู่ในอาคารสถานที่และเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีสภาพใช้งานได้ดี ไม่พบว่ามีเครื่องไหนเสีย แบบที่เราชอบพบบ่อยๆ ในบ้านเรา

ทำให้นึกต่อไปถึงระบบการซ่อมบำรุงของเขาว่าต้องมีสม่ำเสมอและทันท่วงที

พ้นจากประตูทางเข้าไปแล้วมีบริการเสริมให้เลือกใช้ ซึ่งทราบว่าทางฝ่ายทางเข้าของคนอินโดนีเซียก็มีบริการอย่างนี้เหมือนกัน

นั่นคือบริการรถเข็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้มีความจำเป็นทางร่างกายด้วยเหตุอื่นๆ

ที่บุโรพุทโธนั้นคิดราคาค่าบริการเทียบเป็นเงินไทยแล้วหกร้อยบาท

บริการนี้ไม่ได้มีแต่เก้าอี้รถเข็นนะครับ หากแต่แถมคนเข็นมาอีกสองคน ช่วยกันเข็นช่วยกันกางร่ม

ในคณะเดินทางของเรามีคุณแม่ของเพื่อนซึ่งอายุ 88 ปีร่วมคณะไปด้วยหนึ่งท่าน

คุณแม่ได้ซื้อบริการนี้ครับ พอเริ่มเดินก็พบว่าเขามีช่องทางเดินตีเส้นสีเหลืองไว้เป็นช่องทางพิเศษสำหรับรถเข็นนี้โดยเฉพาะ คล้ายๆ เลนจักรยานตามสวนสาธารณะ

พอไปถึงตำบลที่ประชาชนทั่วไปเดินขึ้นบันไดสูงชันเพื่อขึ้นไปโบราณสถานชั้นบน

เราก็พบอีกว่า ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถใช้ทางลาด ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากบันไดและทำไว้เป็นพิเศษสำหรับบริการผู้ที่นั่งรถเข็นและสมาชิกที่มาในคณะเดียวกัน

อาศัยบารมีของคุณแม่ด้วยประการฉะนี้จึงทำให้เราอีก 12 คนสามารถเดินขึ้นทางลาดนี้ติดตามคุณแม่ไปได้ในฐานะบริวาร

นับว่าสะดวกสบายด้วยประการทั้งปวง

เมื่อเห็นบริการของเขาอย่างนี้แล้วก็อดถามตัวเราเองไม่ได้ว่า ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานที่บ้านเรามีของสวยของงามไม่แพ้ใครอื่น

เราจัดบริการเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่อย่างไร

ยิ่งนับวันเราก็พูดกันว่าเมืองไทยของเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ผมเคยคุยกับหมอที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ คุณหมอแนะนำว่าถ้าคนสูงอายุยังพอมีโอกาสจะไปไหนมาไหนได้ ขอให้ได้ไปเถิด

ถ้าให้นั่งอยู่กับบ้านอย่างเดียว ประเดี๋ยวเดียวก็ “เฉา”

และเมื่อเฉาแล้วก็จะถึง “หง่อม” ในเวลาไม่ช้า ส่วนถัดจากหง่อมไปจะไปถึงอะไรนั้น ต่างคนต่างนึกก็แล้วกัน

นี่ยังไม่พูดถึงคนพิการที่ควรได้รับความสะดวกตามที่นานาประเทศสากลเขารับรองสิทธิในเรื่องนี้กันมานานแล้ว

และบ้านเราก็ขยับขับเคลื่อนมาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องพูดกันตามตรงว่ายังไม่อิ่มใจใช่ไหมครับ

ผมมานั่งนึกดูเองว่างานอย่างนี้หรือภารกิจการปรับปรุงบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมโบราณสถานในบ้านเราจะเป็นภารกิจของหน่วยงานใด

คำตอบจากประสบการณ์น่าจะหนีไม่พ้นกรมศิลปากรเป็นลำดับแรก

ถัดจากนั้นอาจจะมีวัดวาอารามซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่อีกหลายแห่งเป็นลำดับที่สอง

ผมอดนึกไม่ได้ต่อไปว่า เรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความสำคัญที่ผมเล่ามาข้างต้น ตั้งแต่การขายบัตร การจัดระเบียบความเรียบร้อย ความงดงามของอาคารสถานที่และเครื่องใช้ไม้สอย การดูแลความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือผู้ต้องการการดูแลพิเศษ

อย่าโกรธกันนะครับ ถ้าจะบอกว่า เราลงทุนเรื่องเหล่านี้น้อยที่สุด หรืออาจจะไม่ลงทุนเลยเสียด้วยซ้ำ

ครั้นจะหมายหน้าไปพึ่งคนอื่น เช่น จังหวัดต่างๆ ซึ่งหมายความรวมถึงกระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออีกร้อยแปดพันเก้าหน่วยงานที่ตามท้องเรื่องมีภารกิจเกี่ยวกับ “การส่งเสริมการท่องเที่ยว”

ก็ยังแลไม่เห็นว่า หน่วยงานใดจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องเหล่านี้

ทั้งหมดนี้จะไม่น่าแปลกใจถ้าประเทศไทยไม่ได้อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่เรื่องมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะใครๆ ก็รู้อยู่ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของบ้านเมืองเรา แต่เราลงทุนในเรื่องจำเป็นอย่างนี้น้อยเหลือเกิน และพูดไปทำไมมีครับ ถ้าลงทุนทำแล้วก็ใช่แต่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้ประโยชน์แต่โดยลำพังเสียเมื่อไหร่ คนไทยอย่างผมอย่างคุณทั้งหลายก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย

ฟังดูแล้วเรากำลังค้ากำไรเกินควรหรือไม่ครับ

สินค้าที่เราขายอยู่นั้นคือของที่ปู่ย่าตายายท่านทำเอาไว้แต่เก่าก่อน

เราผู้เป็นลูกหลานเพียงแค่จัดให้มี “บริการส่งเสริมการขาย” อีกนิดหน่อย ไม่น่าจะเกินกำลังนะครับ

ขอให้ตกลงกันได้เสียทีเถิดว่า เป็นหน้าที่ของใครที่ต้องทำงานในเรื่องเหล่านี้ ขอให้ผมได้ทันเห็นและทันใช้งานบ้างนะครับ