Supernatural Delight นิทรรศการศิลปะแห่งแสง ที่สำรวจพื้นที่แห่งความทรงจำ ที่ตกค้างในกาลเวลา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ศิลปะจัดวางแสงในห้องแสดงงานหลักของ Gallery VER

ช่วงนี้มีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะติดๆ กันหลายงาน ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟังออกจะบ่อยสักหน่อย หวังว่าอย่าเพิ่งเบื่อกันไปเสียก่อน

และนิทรรศการที่จะพูดถึงในคราวนี้ก็เป็นนิทรรศการที่แปลกใหม่และน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในตอนที่ผ่านๆ มา

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า “Supernatural Delight”

หรือในชื่อไทยว่า “กฤตยศาลา”

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของกมล เผ่าสวัสดิ์ ศิลปินหนุ่มใหญ่ชาวไทย ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกการทำงานศิลปะในสื่อแปลกใหม่ในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแฮปเพนนิ่ง (Happening art), ศิลปะแสดงสด, ศิลปะจัดวาง และวิดีโออาร์ต

กมลแสดงผลงานในนิทรรศการอย่างกว้างขวาง ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย

ในช่วงแรกเขาทำงานศิลปะแฮปเพนนิ่งและศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาว ที่ปลุกปั่นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับศักยภาพของร่างกายในฐานะเครื่องมือแสดงออกทางศิลปะ

ก่อนที่ในช่วงปลายยุค 2000 เขาจะหันมาหาความหมายของความสงบ ใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัวเป็นปัจจัยในการสื่อสารในงานศิลปะ

Supernatural Delight เป็นผลงานศิลปะจัดวางชุดล่าสุดของกมล ที่เล่นกับสภาพแวดล้อมของแกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ด้วยการใช้ศิลปะจัดวางแสง (Light Installation) จากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ติดเรียงรายเป็นทิวแถว ส่องแสงสีสว่างไสวในห้องแสดงงานหลักของแกลเลอรี่ ท่ามกลางหมอกควันฟุ้ง อวลอายด้วยเสียงเพลงอิเล็กทรอนิกส์ย้อนยุค

สร้างบรรยากาศอันแปลกประหลาด ให้ความรู้สึกเหนือจริงเหมือนอยู่ในหนังไซไฟ

กมลสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นเพื่อต้องการนำเสนอเกี่ยวกับเวลา, ความทรงจำ และปฏิสัมพันธ์ของคน ผ่านการใช้แสง สี เสียง และการมีส่วนร่วมกับพื้นที่ ด้วยการกระตุ้นการรับรู้ทางจิตวิทยา ผ่านการรับรู้ทางสายตาและเสียง รวมถึงการแสดงออกของผู้ชมที่มีปฏิกิริยาจากการมีประสบการณ์ร่วมในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับเวลาที่เคลื่อนไปท่ามกลางบรรยากาศของแสงไฟเจิดจ้าและหมอกควันปกคลุมในห้องแสดงงาน

ผลงานในนิทรรศการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความทรงจำของศิลปินที่ค้างคาและความคิดที่ยังไม่ได้ชำระสะสางในยุค 80″s ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านศิลปะจัดวางแสง เพื่อให้ผู้ชมได้สร้างประสบการณ์ร่วม

และกระตุ้นความทรงจำของพวกเขา ที่มีต่อเวลาที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ส่วนตัวของยุคสมัย

“แนวคิดหลักๆ ของนิทรรศการนี้คือ ผมต้องการพูดถึงความทรงจำที่ตกหล่นและตกค้างมาตั้งแต่ยุค 80 สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่อเมริกา ผมมีความสนใจเรื่องพื้นที่ว่าง และการมีส่วนร่วมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและผลงาน”

“ผมตั้งคำถามว่าจำเป็นไหมที่งานศิลปะต้องเป็นงานที่ทำสำเร็จแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้น นิทรรศการศิลปะก็เป็นเหมือนการแสดงสิ่งที่ตายไปแล้วหรือเปล่า? เพราะว่าทุกอย่างถูกทำเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ในสตูดิโอ แล้วค่อยเอาหลักฐานมาแสดงในหอศิลป์ พอตอนหลังมีจังหวะที่เราพอจะทำได้ เราก็เลยทำมันออกมา”

“คือถ้าสังเกตงานผมในช่วงหลังๆ จะมีลักษณะการใช้แสง พื้นที่ว่าง เมื่อมีคนเข้าไปอยู่ในนั้นจะเกิดปฏิกิริยาบางอย่าง ผมสนใจในเรื่องของผลกระทบทางจิตใจ และทางร่างกาย”

“อย่างในนิทรรศการนี้ ผมเขียนในท้ายบทถ้อยแถลงของนิทรรศการว่า “Supernatural Delight is a homage to people of Baby Boomer generation” (นิทรรศการนี้เป็นการแสดงคารวะต่อคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์) เพราะผมโตมาในยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือสงครามเวียดนาม ที่เรื่องราวของการปฏิวัติ รวมถึงความพยายามของคนรุ่นหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อสู้หรือตั้งคำถามกับผู้ปกครอง ส่งอิทธิพลต่อคนทั้งโลก”

“อย่างเช่นกลุ่มฮิปปี้ ที่ปฏิเสธค่านิยมของสังคม หรือในแง่ของศิลปะ ก็เป็นยุคที่เกิดศิลปะที่ท้าทายขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของศิลปะอย่างงานคอนเซ็ปช่วลอาร์ต”

“ในแง่ของดนตรี ก็มีดนตรีร็อก ที่มีความหลากหลายในท่วงทำนองและเนื้อหาที่มุ่งสู่เรื่องทางจิตวิญญาณ หรือการต่อต้านสงคราม การแสวงหาเสรีภาพ การที่เราเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ มันส่งผลต่อแนวความคิดในการทำงาน เป็นสิ่งที่หลอมรวม กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำงานศิลปะของผม”

“ปกติเวลาพูดถึงความทรงจำในการงานศิลปะ หลายคนอาจจะคิดในประเด็นที่ซีเรียส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องสงคราม หรือการพลัดถิ่นฐาน”

“แต่ผมสนใจความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องของดนตรี แฟชั่น สถานบันเทิง ละครน้ำเน่า หรือแม้แต่สิ่งของยอดนิยมของยุคสมัยอย่างเกม ของเล่น เรื่องราวในวัฒนธรรมสมัยนิยมในยุคนั้นๆ”

“สิ่งที่ดูไร้สาระไร้แก่นสารเหล่านี้ สำหรับผม มันมีความสำคัญตรงที่ พอเวลาเรานึกถึง มันเตือนให้เรารู้ตัวเองว่าเราโตมาจากไหน โตมาในยุคใด มีอะไรเป็นสิ่งที่เราจดจำได้”

“อย่างน้อยที่สุด มันก็ยังทำให้เรานึกถึงเพื่อน นึกถึงคนที่เราเคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คนที่เราเคยหลงรัก คนที่เคยหักอกเรา”

“ความอ่อนไหวทางอารมณ์หล่านี้ เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วมันทำให้เรารู้สึกถึงความมีชีวิต เปรียบเทียบกับในยุค AI (ปัญญาประดิษฐ์)”

ศิลปะจัดวางแสงในห้องแสดงงานหลักของ Gallery VER

“ตอนนี้ ผมว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจาก AI ก็คือ ความสามารถที่จะจำ และความสามารถที่ลืมมัน แล้วเริ่มต้นใหม่”

“ในขณะที่ข้อมูลใน AI หรือในคอมพิวเตอร์ มันจำแล้วไม่มีวันลืม (นอกจากจะลบทิ้งหรือรีเซ็ตโปรแกรมใหม่)”

“ความพิเศษของความเป็นมนุษย์คือ เรามีความหลงลืม มีความกระท่อนกระแท่นของความทรงจำ”

“ซึ่งมันอาจจะเป็นกระบวนการเยียวยาจิตใจหรืออะไรก็แล้วแต่”

“แต่ความกระท่อนกระแท่น ความไร้สาระไร้แก่นสาร หรือความอ่อนไหวทางอารมณ์เหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกถึงสำนึกของความเป็นมนุษย์มากกว่าเครื่องจักร”

“ส่วนการใช้หลอดไฟนั้น ผมต้องการที่จะดึงภาพของงานศิลปะในความทรงจำที่ทำให้เรานึกถึงยุค 80 เช่นงานศิลปะที่มีลักษณะของความเป็นมินิมอลลิสต์”

“อย่างงานที่ใช้หลอดไฟของแดน ฟลาวิน (Dan Flavin) ด้วยดึงเอาลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะในยุคนั้นกลับมาผลิตซ้ำ ทำขึ้นใหม่ หรือแม้แต่การใช้ดนตรีในยุค 80 กับการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหมอกควัน”

“เหมือนอยู่ในดิสโก้เธคยุคนั้น” (ถ้าใครยังพอทันดิสโก้เธครุ่นเดอะอย่าง เดอะพาเลซ หรือนาซ่า สเปซซี่โดม อาจจะพอนึกออกน่ะนะ)

อ้อ แล้วอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่ามันเป็นหมอกควันพิษที่อบอวลใน กทม. ในช่วงนี้ไปเสีย เพราะเขาใช้เครื่องทำหมอกควันทำขึ้นมาต่างหากเล่า!

นอกจากผลงานศิลปะจัดวางแสงในห้องแสดงงานหลักของนิทรรศการ นิทรรศการนี้ยังมีผลงานอีกส่วนที่แสดงอยู่ในห้องแสดงนิทรรศการเล็กทางด้านในของหอศิลป์ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างสุดขั้วกับผลงานในห้องนิทรรศการหลัก ด้วยบรรยากาศภายในห้องที่เกือบจะมืดสนิทแทบจะมองอะไรไม่เห็น ดมได้แต่กลิ่นจางๆ โชยออกมาเตะจมูกของเรา

จนต้องรอให้สายตาที่พร่ามัวจากความสว่างของไฟข้างนอกชินกับความมืดภายในห้องเสียก่อนนั่นแหละ เราจึงจะมองเห็นประติมากรรมจัดวางรูปร่างตะปุ่มตะป่ำแปลกตาสี่ชิ้น ทั้งที่ตั้งบนแท่น และแขวนอยู่บนผนังในความมืดสลัว

“ในส่วนของห้องเล็ก เวลาเราอยู่ที่ห้องข้างนอกที่ค่อนข้างมีแสงสว่างจ้ามากๆ พอเราเข้าไปในห้องเล็กที่มีประติมากรรมอยู่ เราแทบจะมองไม่เห็นมันเลย เพราะม่านตาของเรายังไม่ปรับให้ชินกับความมืด แต่เราจะรับรู้ด้วยกลิ่นจากน้ำหอมที่ชโลมมันอยู่”

ประติมากรรมจัดวางในห้องแสงงานเล็กของ Gallery VER

“พอสักพักหนึ่ง ม่านตาของเราปรับจนชินกับความมืดแล้ว เราก็จะเห็นมัน ผลงานชิ้นนี้เป็นการเล่นกับการรับรู้ทางภาพและการรับรู้ทางความรู้สึก คือพอเราอยู่ในห้องมืดที่มองไม่เห็นอะไร เราจะอยู่กับตัวเอง ค่อยๆ ดมกลิ่น และรับรู้ถึงสิ่งที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้น รูปทรงและกลิ่นของประติมากรรมเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงยุคเบบี้บูมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติดอย่างกัญชา แอลเอสดี หรือเพลงร็อกแอนด์โรล”

“ชื่อของประติมากรรมบนผนังก็ได้มาจากชื่อของเพลงร็อกอมตะอย่าง Smoke on the Water, Highway Star (ของวงดนตรี Deep Purple) Stairway to Heaven (ของวงดนตรี Led Zeppelin)”

“ส่วนประติมากรรมตรงกลางห้องที่อยู่บนฐาน ชื่อ Journey to the Center of the Earth (ชื่อนวนิยายของจูลส์ เวิร์น) และใส่ในวงเล็บว่า Homage to the Origin of the World (ภาพวาด “น้องจิ๋ม” อันเลื่องลืออื้อฉาวของกุสตาฟ กูร์แบ)”

“ซึ่งงานชิ้นนี้สื่อถึงเรื่องเพศ เพราะงานกูร์แบจะพูดเรื่องผู้หญิง แต่งานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ สองใบติดกัน เหมือนอวัยวะอะไรสักอย่าง (ที่คุณก็คงรู้)”

“ส่วนชื่อ Center of the Earth ก็สื่อถึงสัญลักษณ์ของความเป็นเพศชาย มันก็คือ “Sex&Drugs&Rock&Roll” นั่นแหละ”

“ขณะเดียวกัน เรื่องเหล่านี้เองก็ถูกผลักเป็นเรื่องชายขอบ เป็นสิ่งที่คนไม่อยากพูดถึงในที่โจ่งแจ้ง เราก็เลยนำเสนอมันอยู่ในที่มืด”

ประติมากรรมจัดวางในห้องแสงงานเล็กของ Gallery VER

ส่วนชื่อของงานอย่าง Supernatural Delight ก็สื่อไปถึงสภาวะของความเคลิ้มสุขที่อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นนัยยะทางศาสนา หมายถึงสภาวะปีติสุขที่เกิดจากการนั่งสมาธิ

ในอีกแง่หนึ่งมันก็สื่อไปถึงอาการไฮ (high) ซึ่งเป็นคำฮิตของฮิปปี้บุปผาชนในยุค 80 ที่หมายถึงสภาวะเคลิ้มสุขจากการใช้ยาเสพติดก็เป็นได้

“อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชมแหละนะ”

นอกจากผลงานสองส่วนนี้แล้ว นิทรรศการ Supernatural Delight ยังมีผลงานเสริมที่แสดงอยู่ในหอศิลป์บ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง Doxza art lab ซึ่งเป็นผลงานแบบร่างของผลงาน Sweet Boundary : In the Light Tube (รั้วเหล็ก น้ำตาล เรื่องเล่า : เขตแดนแห่งความรื่นรมย์) (2018) ที่จัดแสดงอยู่ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่วัดประยุรวงศาวาสอีกด้วย

แบบร่างของผลงาน Sweet Boundary: In the Light Tube (2018) ในDoxza Artlab

นิทรรศการ Supernatural Delight กฤตยศาลา จัดแสดงที่ Gallery VER และ Doxza Artlab โครงการ N22 ซ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22 (ซ.สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม (ยังไม่มีกำหนดปิดนิทรรศการ) ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook @galleryver หรืออีเมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์