รู้จัก ‘มาเลเซีย’ ให้มากขึ้น : คุยกับทูต ผ่าในระบบประเทศ เหตุการณ์การเมือง และเรื่องของประชาธิปไตย

คุยกับทูต ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล สองเพื่อนบ้านไทย-มาเลย์ ต้นแบบอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (จบ)

คนมาเลย์บอกว่า เมื่อรู้จักมาเลเซียแล้วก็จะรักมาเลเซีย (To Know Malaysia is To Love Malaysia) เพราะมาเลเซียคือดินแดนที่หล่อหลอมเชื้อชาติและศาสนาต่างๆ เข้าด้วยกัน ตามสโลแกนที่ว่า “มาเลเซีย ที่นี่เอเชีย” (Malaysia Truly Asia)

ประหนึ่งว่าไปมาเลเซียที่เดียว เจอคนเอเชียครบหมดไม่ต้องตระเวนไปหลายที่

ประชากรมาเลเซียมีชาวมาเลย์จำนวนมากที่สุด

รองลงมาคือ จีน อินเดีย และกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มในรัฐซาบาห์ (Sabah) และรัฐซาราวัก (Sarawak) เช่น อีบาน (Iban) คาดาซาน (Kadazan) ดายัก (Dayak) ซึ่งมีมรดกตกทอดและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและสามัคคี รุ่นแล้วรุ่นเล่า

วัฒนธรรมเหล่านี้ต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน จนก่อรูปร่างกลายเป็นวัฒนธรรมมาเลเซียที่แท้จริงขึ้นมา

ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล (H.E. Dato” Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เล่าว่า

“เรามีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการนับถือศาสนา มีรัฐหนึ่งในเกาะบอร์เนียวที่เรียกว่าซาบาห์ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคริสเตียน และผมก็เป็นคริสเตียนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมและไปโบสถ์ที่อยู่ใกล้กับสถานทูต ถนนสาทรใต้”

“ระบบข้าราชการพลเรือนในมาเลเซียค่อนข้างเปิดกว้าง การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งขึ้นอยู่กับการมีความรู้ความสามารถและทำคุณงามความดี ผมจึงรู้สึกโชคดีที่ได้รับใช้เพื่อนชาวมาเลย์และได้มาดำรงตำแหน่งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งมาเลเซียซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเมตตากรุณา รอบคอบ และโปร่งใส”

“แถบรัฐซาบาห์ (Sabah) และรัฐซาราวัก (Sarawak) ในมาเลเซีย มีคนไทยอยู่ประมาณ 80,000 คน เพราะประเทศของเราทั้งสองมีประวัติอันยาวนานในอดีต ผมเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับคนไทยที่สืบเชื้อสายตั้งแต่ยุคสยาม ผมหมายถึงคนมาเลย์ที่มีความเป็นไทย ที่บ้านของพวกเขาจะมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและพูดภาษาไทยได้”

“สิ่งที่น่าสนใจคือ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเราชื่นชมในเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม ไม่มีเชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่างกัน เพราะประเทศก็เหมือนครอบครัวใหญ่ เมื่อมีปัญหา ก็จะไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขไม่ได้”

“ดังนั้น มาเลเซียจึงใช้แคมเปญ Malaysia Truly Asia ที่หมายถึง เอเชียที่แท้จริง ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากจุดแข็งของมาเลเซียคือประเทศที่มีคนหลายเชื้อชาติ โดยไม่มีปัญหาใหญ่ๆ ยกเว้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1969 ที่เกิดเหตุการณ์จลาจลความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติ”

ทำเนียบรัฐบาล เรียกว่า เปอร์ดานาปูตรา

เหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภาคม หรือ “Peristiwa 13 Mei” เป็นรอยดำในประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย อันเกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวมาเลย์กับชนกลุ่มน้อยชาวจีน ทำให้เกิดการจลาจลนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายของคนในชาติเป็นจำนวนมากในกรุงกัวลาลัมเปอร์

เกี่ยวกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

มาเลเซียเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนเช่นเดียวกับประเทศไทยใน ค.ศ.1967 โดยมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานหลักใน 2 สาขาสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ยางกับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อเป็นฐานร่วมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ในช่วงนั้นกล่าวได้ว่า มาเลเซียมีความใกล้ชิดกับไทยมาก ผู้นำของมาเลเซียในขณะนั้นคือ ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย มีมารดาเป็นคนไทย ชื่อเนื่อง นนทนาคร ชายาองค์ที่ 6 ของเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุล ฮามิด-Abdul Hamid หรือเจ้าพระยาฤทธิสงคราม) สุลต่านองค์ที่ 25 แห่งไทรบุรีหรือรัฐเกดะห์

ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน เป็นนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในปี ค.ศ.1913 ขณะที่มีอายุเพียง 10 ขวบ ถูกส่งตัวมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับพี่ชายอีก 3 คน โดยเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

ต่อมาปี ค.ศ.1915 จึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล (Penang Free School)

ในด้านการท่องเที่ยว

สองสามปีที่ผ่านมา มาเลเซียประสบความยากลำบาก ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจคือมีหนี้ที่จำนวนสูงมาก รวมทั้งสายการบินมาเลเซียเที่ยวบิน MH370 หายอย่างปริศนา จากนั้นเที่ยวบิน MH17 ก็ถูกยิงตกที่ยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของมาเลเซีย

ต่อมา การท่องเที่ยวมาเลเซียได้จัดแคมเปญยักษ์ใหญ่ “Visit Malaysia Year 2020” เพื่อหวังดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก 36 ล้านคน

แคมเปญนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการกำหนดแผนปฏิรูปการท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซียให้สำเร็จภายในปี ค.ศ.2020

เนื่องจากภาครัฐมีแผนต่อเนื่องเตรียมประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการประชุมสุดยอดผู้นำรัฐบาลเครือจักรภพในปี ค.ศ.2020

แคมเปญนี้สอดคล้องกับโครงการ “Travel.Enjoy.Respect” ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวกลายเป็นหนึ่งแรงผลักดันสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกสู่อนาคตที่ดีขึ้น

“ในปีนี้ ผมอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ไปเที่ยวมาเลเซียกันให้มากขึ้น เพราะปีก่อนมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์จำนวน 3.3 ล้านคน เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉพาะในวันหยุดที่ตรงกับวันชาติของมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายแดน แต่หลายคนก็ขึ้นมาที่กรุงเทพฯ และทางเหนือ ส่วนคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวในมาเลเซียมีประมาณ 1.8 ล้านคน เพราะสำหรับไทย-มาเลย์ยกเว้นวีซ่า ปัจจุบันมีชาวมาเลย์หลายพันคนอยู่ในประเทศไทย และหลายคนทำงานกับบริษัทของมาเลเซียซึ่งมีอยู่หลายแห่ง”

“สำหรับผม ผมชอบคนไทยเพราะคนไทยมีความเป็นมิตรสูง ชอบอาหารไทยเพราะอาหารไทยมีเอกลักษณ์มาก โดยเฉพาะเมี่ยงคำ ต้มยำ และอาหารที่มีรสเผ็ด ผมพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย เคยไปเชียงใหม่ พิษณุโลก และจังหวัดทางภาคใต้มาแล้ว โดยตั้งใจจะไปเยี่ยมชมสถานที่อื่นๆ เมื่อโอกาสอำนวย”

“มีเรื่องหนึ่งที่ผมพบว่าน่าสนใจมากคือ ตามท้องถนนหนทางในประเทศไทย ผมไม่ได้ยินเสียงแตรรถเลย ถ้าคุณไปมาเลเซียหรืออินเดียคุณจะได้ยินได้เห็นการบีบแตรรถใส่กัน แต่ที่นี่ไม่มี มีแต่เปิดทางให้กัน ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก และเป็นความแตกต่างที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง”

“มีเจ้าหน้าที่ชาวมาเลย์ประมาณ 30 คนและเจ้าหน้าที่ไทย 36 คนทำงานที่สถานทูตมาเลเซีย นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้พักในทำเนียบซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับสถานทูต ซึ่งมีข้อดีเพราะเราไม่ต้องเดินทางฝ่าการจราจรที่ติดขัด และเจ้าหน้าที่ชาวมาเลย์ก็พักอยู่ในบริเวณนี้ด้วยเช่นเดียวกัน”

มาเลเซียกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ถึงแม้มาเลเซียจะยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เพราะเป็นรูปแบบการปกครองแบบพรรคเดียว แต่ก็ยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตยที่ยังยึดโยงกับประชาชน และนักการเมืองรุ่นก่อน สามารถป้องกันไม่ให้มีปฏิวัติรัฐประหาร โดยไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งการเมืองและใช้การเลือกตั้งในการแก้ปัญหาของประเทศตลอดมา จนสามารถโค่นรัฐบาลคอร์รัปชั่นได้

และนับแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1957 มาเลเซียเป็นประเทศที่มีประวัติทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยสะดุดเพราะรัฐประหาร

ขณะที่ไทยมีรัฐประหารไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง รัฐธรรมนูญของมาเลเซียก็มีเพียงฉบับแรกฉบับเดียว ขณะที่ไทยมีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ

“ไม่มีการปกครองรูปแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับทุกประเทศ ประชาธิปไตยในรูปแบบตะวันตกผมก็คิดว่ายังไม่ใช่แบบที่ดีที่สุด เพราะเราเป็นเอเชีย เรามีคุณค่า (value) ในตัวของเราเอง คือคุณค่าแบบเอเชีย (Asian Values)”

“การปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย องค์ประกอบสำคัญได้แก่ การเลือกตั้ง หลักนิติธรรม หลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ หรือชุมชนที่มีประเด็น ซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย เพราะหากนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้ทั้งหมดอาจไม่เกิดผลดี แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair election)”

“แม้แต่ในประชาคมอาเซียน ก็เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยจะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคม ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน รัฐบาลต้องทำงานเพื่อประชาชน ประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้อง เมื่อผมพูดว่าประชาชน หมายความว่า เราเคารพคนส่วนใหญ่ และไม่มองข้ามคนส่วนน้อย”

สําหรับประเทศไทยกับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นอีกไม่นานนี้ เอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล กล่าวว่า

“เราติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพราะประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และไม่ว่าเรื่องใดจะเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้าน ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศของเราด้วย เราต้องการเห็นภูมิภาคที่สงบสุขซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในอาเซียน (ASEAN) ซึ่งเราจะได้บอกให้โลกรู้ว่า อาเซียนสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เราดำเนินชีวิตตามวิถีของประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เป็นการปกครองของประชาชนซึ่งมีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และตระหนักดีว่าใครที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา”

“สำหรับมาเลเซีย การทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความมั่นคง ความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน การเดินขบวนประท้วงก็อาจไม่มีจุดจบที่แน่นอน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ”

“อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารไม่เคยอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย แม้ตอนที่มาเลเซียได้รับเอกราชก็เป็นไปด้วยสันติ”

“สิ่งสำคัญของประเทศประชาธิปไตย คือจะต้องมีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย อันเกี่ยวข้องกับประชาชนซึ่งต้องตัดสินใจว่า ต้องการให้ใครปกครองประเทศแบบใด มาเลเซียสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะทุกคนตั้งตารอคอย และหวังว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งในเร็ววันนี้”