เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : พรุ่งนี้ของลูกเสือไทย

วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเสด็จสวรรคต คณะลูกเสือประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือไทย คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ และลูกเสือจากโรงเรียนร่วมกันถวายบังคมและถวายปฏิญาณ ทั้งที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์กระทรวงศึกษาธิการ และหน้าพระบรมราชนุสาวรีย์ สวนลุมพินี

ส่วนการทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามจะกระทำในวันทรงจัดตั้งลูกเสือไทย 1 กรกฎาคม

คณะบริหารลูกเสือแห่งชาติชุดนี้ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 นับเป็นชุดสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่งกรรมการคนหนึ่งปรารภว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มความสามารถของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้กิจการลูกเสือดำเนินไปด้วยดี เปลี่ยนผ่านคณะบริหารลูกเสือแห่งชาติจากรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เข้าสู่การบริหารกิจกรรมลูกเสือในรัชสมัยรัชกาลที่ 10

 

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 มาตรา 17 ซึ่งมีประการสำคัญดังกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนประการหนึ่งคือส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ

อีกประการหนึ่งคือสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ประการนี้มีตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือด้านนี้อยู่แล้วในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติคณะนี้มีลูกเสืออาชีพด้านการฝึกอบรมสองสามคน น่าจะกำหนดแนวนโยบายพัฒนาลูกเสือในแต่ละระดับตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือเช่นมีการอบรมลูกเสือที่เรียกว่า “ท่อน” ให้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น เพื่อให้ทราบถึงภารกิจของลูกเสืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำกิจกรรมลูกเสือเข้าไปฝึกในหลักสูตรสำคัญ เช่น หลักสูตรการป้องกันประเทศ คือในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรดังที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ลงไปถึงลูกเสือโรงเรียน

อีกอำนาจหน้าที่หนึ่งที่ควรจะดำเนินการให้ต่อเนื่องคือให้ความเห็นชอบในการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดังกรณี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน

กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตรวจสอบเรื่องการจำหน่ายสินค้าลูกเสือทุกชนิดที่ผ่านองค์การค้าคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รวมถึงการจัดหาประโยชน์ให้กับกิจการลูกเสือ อาทิ การให้ใช้ค่ายลูกเสือที่เป็นของลูกเสือ และที่มีผู้บริจาคที่ดินเพื่อทำประโยชน์ในการจัดสร้างค่ายลูกเสือ ว่าควรจะนำมาก่อให้เกิดประโยชน์กับกิจการลูกเสืออย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือหน่วยราชการเรียกคืน

 

ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมา สภาลูกเสือไทยแทบว่าไม่มีการประชุมประจำปี ทำให้คณะบริหารลูกเสือแห่งชาติไม่มีโอกาสเสนอรายงานกิจการประจำปีต่อสภาลูกเสือไทยตามมาตรา 12(3) หรือแม้แต่การจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อสภาลูกเสือไทย

เหตุหนึ่งที่กิจการลูกเสือไทยไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร งานของลูกเสือที่ยังคงดำเนินต่อไปได้เป็นงานปกติประจำวัน ทั้งยิ่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติไม่มีการประชุมเป็นรายเดือน หรืออย่างน้อยสองเดือนต่อครั้ง แนวทางนโยบายที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจึงคงค้าง บางนโยบาย บางโครงการหยุดชะงักและหมดโอกาสที่จะดำเนินต่อไปอย่างน่าเสียดาย

เช่นกรณีเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา สำนักงานลูกเสือโลกต้องการย้ายที่ทำการจากประเทศในยุโรป และมาหาที่ทำการในกลุ่มประเทศเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เสนอตัวและมีโอกาสได้รับการพิจารณา แต่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติชุดนั้นไม่มีการพิจารณาอย่างจริงจัง ที่ทำการลูกเสือโลกจึงไปตกอยู่กับประเทศมาเลเซียในขณะนี้

อีกประการหนึ่ง คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจะแบ่งงานกรรมการบริหารลูกเสือออกเป็นผู้ตรวจการสี่ห้าคณะเพื่อให้กิจการลูกเสือแห่งชาติบรรลุเป้าหมาย

เช่น ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายพัฒนาและอบรม ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายผลประโยชน์ (เรียกง่ายๆ อย่างนั้น) ฯลฯ

คณะผู้ตรวจการที่ว่าบางคณะมีโอกาสไปเป็นหนึ่งในกรรมาธิการลูกเสือเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมายเพื่อไปช่วยประสานงานกับคณะลูกเสือต่างประเทศ

งานจะได้ลุล่วงไปด้วยดีกว่าที่เป็นในขณะนี้

 

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติชุดนี้ แม้จะเป็นชุดใหม่ แต่กรรมการหลายคนเคยปฏิบัติหน้าที่และมีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือมาไม่น้อย เช่น คุณพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ และเคยไปร่วมในการชุมนุมลูกเสือต่างประเทศหลายครั้ง เช่น ในการประชุมคณะกรรมการลูกเสือโลกที่สโลวีเนีย และให้ความสนใจกับ “MOP” หรือลูกเสือสันติภาพ ตำแหน่งผู้ตรวจการฝ่ายต่างประเทศจึงน่าจะเป็นคนนี้

ส่วนอีกผู้หนึ่งที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติน่าจะเชิญไปร่วมงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการลูกเสือต่างประเทศ คือ ดร.สมบูรณ์ บุญศิริ คุณสมบัติเป็นอย่างไรคงไม่ต้องนำมากล่าวถึงในที่นี้ แต่หากถามถึงความสัมพันธ์กับลูกเสือต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก รับรองไม่ผิดหวัง

ผู้ตรวจการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่ทราบมีการแต่งตั้งไปหรือยัง หากมีการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่น่าจะเข้าไปร่วมเป็นอนุกรรมการคนหนึ่ง คือ คุณอรรถ แสงจิตต์ ซึ่งมีความชำนาญและเชี่ยวชาญเรื่องนี้พอตัวทีเดียว เห็นได้จากการชุมนุมลูกเสือชุดหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีหนังสือพิมพ์การประชุมออกมาทุกเช้าทันการประชุมวันใหม่ และเป็นเอกสารหนังสือพิมพ์ทันต่อเหตุการณ์

 

นับจากวันที่ 12 ตุลาคม 2559 เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติชุดนี้ได้รับการแต่งตั้ง ควรมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปฏิบัติภารกิจในกิจการของลูกเสือให้ลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีตกค้างดังเช่นคณะกรรมการบริหารลูกเสือชุดก่อนที่ผ่านมา

หวังว่า พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กับ คุณชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจะเรียกประชุมและจัดวาระการประชุมเพื่อให้กิจกรรมลูกเสือทั้งที่คั่งค้าง และที่จะเกิดขึ้นมาใหม่เดินหน้าไปสมกับยุคสมัยของลูกเสือชุดนี้

ต้องไม่ลืมว่า ลูกเสือในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ ต้องพัฒนาก้าวไกลทัดเทียมกับลูกเสือต่างประเทศ ทั้งต้องส่งเสริมกิจการลูกเสือไทยให้กว้างขวางเพราะกิจการลูกเสือเป็นกิจกรรมที่สร้างวินัย ระเบียบ และความคิดสร้างสรรค์

เพื่อให้อนาคตของชาติก้าวหน้ายิ่งขึ้น