สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เมื่อครูเปลี่ยนห้องเรียนเป็นสนามเรียนรู้

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผมคุยเรื่องยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล ติดต่อกันหลายตอน ทิ้งท้ายยืนยันความเชื่อว่า การปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนเป็นหัวใจหรือคานงัดของการปฏิรูปการศึกษา

พอดีเมื่อวันที่ 24-27 ตุลาคม 2559 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ องค์การโออีซีดี สพฐ. สสวท. มูลนิธิยุวสถิรคุณ ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.ศรีปทุม ได้ร่วมกันจัด “การอบรมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมในการใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน” ทั้ง 7 หน่วยงานได้ผนึกกำลังกันติดอาวุธใหม่ล่าสุดให้ครูไทยเปลี่ยนห้องเรียนเป็นสนามแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. สรุปสาระสำคัญเขียนเป็นรายงานหัวข้อ “ห้องเรียน 4.0 : เมื่อครูเปลี่ยนห้องเรียนเป็นสนามแห่งการเรียนรู้” ส่งมาให้ได้ร่วมรับรู้กิจกรรมดีๆ เพื่อการพัฒนาครู

เสียดายผมติดภารกิจอื่น ไม่ได้ไปร่วม จึงขอเป็นคนกลางถ่ายทอดต่อให้กว้างขวาง คึกคักเข้มข้นยิ่งขึ้น

ดร.ไกรยศ บรรยายมาดังนี้ ครับ

 

โครงการริเริ่มต้นจากประเทศสมาชิกองค์การโออีซีดี ต้องการให้มีการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในปัจจุบันที่ต้องการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่ตลาดแรงงานต้องการมากติด 3 อันดับแรกจากการสำรวจในปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้องค์การโออีซีดีจึงมีแผนที่จะประเมินทักษะทั้ง 2 นี้ในการสอบ PISA ในปี 2021 และได้เริ่มเชิญประเทศสมาชิกและภาคี 14 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกที่ได้ร่วมโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ระหว่างปี 2558-2560 โดยมี Mr.Paul Collard ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร และ Prof.Dr.Todd Lubart ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยา มหาวิทยาลัยปารีสเดการ์ต เป็นสองผู้เชี่ยวชาญหลักผู้พัฒนาเครื่องมือให้แก่โออีซีดี

โดยผลจากงานวิจัยในประเทศไทยในปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า เมื่อครูจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ทั้งเด็กและตัวครูเองต่างก็มีพัฒนาการในทั้งสองทักษะ รู้สึกสนุกไปกับบทเรียน ทั้งในแง่การเป็นผู้เรียนและการเป็นผู้สอน ห้องเรียนกลายเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศเปิดรับการเรียนรู้มากขึ้น

ทางทีมวิจัยและหน่วยงานภาคีจึงตัดสินใจขยายผลจากเดิม 23 โรงเรียน เป็น 110 โรงเรียนในปีการศึกษา 2559 เพื่อให้นักเรียนจำนวนมากขึ้นได้ร่วมวิจัยทดลองเครื่องมือดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่สามารถขยายผลเชิงนโยบายได้ในอนาคต


ติดอาวุธครูและห้องเรียน 4.0

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ 4 วัน มุ่งที่จะสร้าง “วิทยากรแกนนำ” ซึ่งเปรียบเสมือน “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agents) เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนเป็นสนามแห่งการเรียนรู้

โดยวิทยากรแกนนำจะต้องลงสนามจริงเพื่อ “ทำ” และ “นำ” กิจกรรม

โดยทาง สพฐ. และ สสวท. ได้คัดสรรครูและศึกษานิเทศก์ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกว่า 50 คนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมอบรมกับผู้เชี่ยวชาญจากโออีซีดี

เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่สนามการเรียนรู้


เมื่อครูไม่ได้มีหน้าที่สอน

“หน้าที่ของครูในห้องเรียน 4.0 ไม่ใช่การสอน ส่งต่อเพียงข้อมูลความรู้ แต่คือการหล่อหลอมให้เกิด “ทักษะ” ที่คงอยู่และมีพัฒนาการเกิดขึ้นในตัวเด็กอย่างต่อเนื่อง”

ครูจึงมีหน้าที่เป็น ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ หรือเรียกว่า กระบวนกร (facilitator)

การเปลี่ยนครูและห้องเรียนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการที่ครูมีพื้นที่เล็กๆ ในหัวใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของตน

“มาอบรมครั้งนี้ อยากได้ความรู้นำไปพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียน อยากให้นักเรียนมีความสุขและสนุกกับการเรียน” ครูผู้เข้าร่วมการอบรมต่างก็คิดเห็นในทางเดียวกัน

“เราอยากให้เด็กได้รับความรู้โดยที่เรามีวิธีถ่ายทอดที่เหมาะสมกับเด็กแล้วเขาสนใจ อยากที่จะเรียนจริงๆ”

ผมมีตัวอย่างกิจกรรมและเทคนิคที่โออีซีดีถ่ายทอดให้ครูไทยที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนสมาชิกได้ทดลองนำไปใช้เปลี่ยนห้องเรียนของตนดู 2-3 กิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้ครับ

 

7 หลักการเรียนรู้ที่ดี ของโออีซีดี

หนึ่งในหลักการที่ Mr.Paul Collard วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโออีซีดีได้อบรมให้แก่ครูไทยคือให้ครูแต่ละท่านได้มีโอกาสย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำที่มีคุณค่า เพื่อค้นหาว่า “การเรียนรู้ที่ดีที่สุดในชีวิตคือตอนไหน”

สุดท้ายเมื่อนำสิ่งที่ได้มาแบ่งปันกันก็พบว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ครูได้เรียนรู้ด้วยความท้าทาย, ไม่อยู่นิ่ง, ได้ลงมือทำ, เรียนในสิ่งที่รู้สึกว่าจับต้องได้

และแม้จะผิดพลาดไปบ้างแต่ก็เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้

ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งตรงกับหลักการจัด “ห้องเรียนประสิทธิภาพสูง” (High functioning classroom) ของโออีซีดี


กิจกรรมเปลี่ยนบทบาทครูเป็นผู้เรียน

เมื่อครูได้ลองสวมบทบาทเป็นผู้เรียนที่คอยรับฟังคำอธิบายภาพถ่ายสีน้ำมันจากคนอื่นโดยไม่อาจเห็นภาพของจริงได้

แล้วครูต้องวาดภาพออกมาให้เหมือนของจริงมากที่สุด

เปรียบเสมือนครูต้องเล่นบทเป็นนักเรียนที่ต้องฟังครูบรรยายทั้งวันถึงภาพความรู้ที่ไม่เคยเห็นของจริงเสียที

ภาพที่นักเรียนจินตนาการขึ้นในสมองย่อมต่างจากของจริง

ยิ่งครูพยายามอธิบายข้อมูลคำอธิบายให้แก่นักเรียนมากเพียงใด

ก็เป็นเรื่องยากที่นักเรียนจะเข้าใจและเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“Spidergram”

กิจกรรมประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์

และการคิดวิเคราะห์ของตนเองและเพื่อน

หนึ่งในกิจกรรมที่ครูทุกคนต้องผ่าน คือ “Spidergram” หรือกิจกรรมการประเมินตัวเอง ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ โดยครูทุกคนจะต้องพิจารณาประเมินด้วยเครื่องมือของโออีซีดีที่เรียกว่า Creativity and Critical Thinking Rubrics แล้วนำมาติดบนใยแมงมุมจับกลุ่มแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูเพื่อพูดคุยกันว่า “ทำไมเราถึงประเมินตัวเองไปแบบนั้น” และเมื่อเปรียบเทียบกับที่คนอื่นคิดมันคล้ายหรือต่างกัน

“การประเมิน เราประเมินด้วยความรู้สึก มุมมองที่เราคิดกับตัวเอง ถึงแม้สุดท้ายคำอธิบายของเรากับเพื่อนจะเหมือนกันแล้วเราให้คะแนนไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยน” การได้หันกลับมามองตัวเองและได้ “ทัก” ตัวเองบ้างว่าเรายังขาดอะไร ทำให้มองเห็นว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มคืออะไร

การเปลี่ยนห้องเรียนเป็นสนามแห่งการเรียนรู้จึงไม่ใช่การ “ใส่” ภาระเพิ่มให้ครู แต่คือการเปิดโอกาสให้ครูได้ “สำรวจตนเอง” โดยครูและศึกษานิเทศก์กว่า 50 คนที่ผ่านการอบรมนี้จะกลายเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เพื่อไปขยายผลการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนใหม่นี้แก่ครูในอีก 110 โรงเรียนทั่วประเทศต่อไป ไม่ใช่เพื่อรองรับการสอบ PISA ในอีก 5 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่เพื่ออนาคตของเด็กเยาวชนไทยทุกคนในยุค Thailand 4.0

คุณครูพร้อมที่จะเปลี่ยนห้องเรียนสู่สนามแห่งการเรียนรู้ร่วมกันกับพวกเราแล้วหรือยัง?