บทวิเคราะห์ : 4 รมต.พปชร. “ลาออก” ลุยเลือกตั้งเต็มตัว หาม “บิ๊กตู่” สู้กระแส ไม่เอาพรรคทหาร

เป็นไปตามคาดที่ 4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศใช้ หลังรอเวลาที่เหมาะสมมานาน 2-3 เดือน จนเกิดกระแสกดดันจากสังคมไม่น้อย เหตุเพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็น “รัฐบาลรักษาการ” แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน

29 มกราคมที่ผ่านมา “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รองหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค และ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รมต.ประจําสํานักนายกฯ โฆษกพรรค ทั้งหมดได้เข้าพบ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ไปทำงานพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว โดยคำสั่งมีผล 30 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ได้อวยพร 4 รัฐมนตรี

“ท่านได้อวยพรขอให้สิ่งที่เรามุ่งหวังจะทำงานการเมืองนั้นประสบความสำเร็จและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” นายอุตตมกล่าวภายหลังการหารือ

ทั้งนี้ “บิ๊กตู่” ระบุว่า ไม่มีการปรับ ครม. โดย 2 กระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม มี รมช.อยู่แล้ว ได้แก่ “สมชาย หาญหิรัญ” รมช.อุตสาหกรรม และ “ชุติมา บุณยประภัศร” รมช.พาณิชย์ รักษาการแทน ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รมว.ดิจิทัลฯ รักษาราชการแทน ส่วนสำนักนายกฯ มี “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ดูแลงานแทนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม “สนธิรัตน์” ได้ย้ำถึงมาตรฐานทางการเมืองใหม่ เพราะที่ผ่านมานั้นไม่มีธรรมเนียมที่รัฐมนตรีจะลาออก ซึ่งนักการเมืองที่วิจารณ์ก็ไม่ได้ลาออกจากรัฐมนตรี หลังจาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศใช้ด้วย อีกทั้งช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พวกตนไม่เอาการเมืองมานำการทำงาน ไม่เอาความได้เปรียบทางการเมืองมาใช้

จึงทำให้ “กระสุนตก” ไปที่ “บิ๊กตู่” เต็มๆ

 

เมื่อกระแสเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” สร้าง “มาตรฐานทางการเมืองใหม่” ให้แตกต่างจากนักการเมืองหน้าเดิมๆ แต่คำตอบจากปาก “บิ๊กตู่” คือ “ไม่”

“ถ้าลาออกแล้วใครจะทำ ไม่ออก เป็นนายกฯ อยู่อย่างนี้แหละ กฎหมายไม่ได้ให้ออก ก็ไม่ออก ส่วนหัวหน้า คสช.นั้น คสช.เขาต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ เมื่อรู้แล้วก็ตามนั้น อย่ามาถามซ้ำ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นับเป็นการยืนยันชัดๆ อีกครั้ง หลังจาก “บิ๊กตู่” เคยกล่าวประโยค “ผมสนใจงานการเมือง” เมื่อปีที่แล้ว พร้อมยืนยันไม่ “ลาออก” จากตำแหน่งหัวหน้า คสช. เพราะช่วงนั้นมีกระแสข่าวจะลาออก ให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่เป็น “พี่ใหญ่ คสช.” ตัวจริงไปนั่งแทน

การที่ “บิ๊กตู่” ยังสวมหมวกหัวหน้า คสช.และนายกฯ นั้น ส่วนหนึ่งต้องการภาพความ “เกรงใจ” จากส่วนราชการและองคาพยพ ในแง่ของ “อำนาจ” ที่มีอยู่ในตำแหน่ง แต่ “บารมี” อยู่ที่อนาคตจะชัดว่า “บิ๊กตู่” จะได้ไปต่อหรือไม่ ในภาวะเช่นนี้ “บิ๊กตู่” ก็ต้องระวังตัวเช่นกัน โดยให้ฝ่ายกฎหมายและ กกต.ดูว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ในช่วงการหาเสียง-เลือกตั้ง ทั้งการใช้โซเชียลมีเดีย การลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน การนำประชุม ครม.สัญจร และการจัดรายการคืนวันศุกร์

“ถ้าสมม6ติว่ายังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ได้เป็นอะไรเลย ก็ต้องระวังระดับหนึ่ง แต่ถ้าเกิดไปร่วมในรายชื่อของพรรคการเมืองขึ้นมา ตอบรับขึ้นมา ผมต้องระวังอีกขั้นหนึ่งหรือเปล่า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ปริศนาที่แง้มออกมาชัดเจนล่าสุดคือ “บิ๊กตู่” ได้ประกาศถึงอนาคตทางการเมือง หากจะลงเป็นนายกฯ ต่อ ก็จะลงใน “บัญชีแคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ ที่มี 4 รัฐมนตรีไปปลุกปั้นปูทางไว้ แน่นอนว่าจะนอกหรือในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคย่อมมีทั้งสิ่งที่ได้และเสียตามมา ซึ่งล้วนมี “ความเสี่ยง” ทั้งสิ้นไม่ว่าทางใด

“มันต้องอยู่มั้ง ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯ คนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อ 29 มกราคม 2562

หากพิจารณาให้ดี “ความเสี่ยง” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ พรรคมีแน่นอน เป้าโจมตีทางการเมืองทั้งหมดจะตกมาที่ “บิ๊กตู่” ทันที เพราะยังคงสวมหมวกนายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่ “บิ๊กตู่” ยืนยันแล้วว่าไม่ลาออก รวมทั้ง “แรงเสียดทาน” ทางการเมืองที่จะเข้ามา โดยเป็น “ผลพวง” มาจากการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ “รัฐบาลรักษาการ” ที่ยังคงมีอำนาจเต็ม แน่นอนว่า “บิ๊กตู่” ก็รู้ดีว่าต้องปรับตัวไม่น้อยจะต้องถูกขุดคุ้ย และต้องเปลืองตัวทางการเมืองไม่น้อย เมื่อลงสู่สนามการเมืองเต็มตัว

“ก็ปรับตัวเองเยอะ ต้องอดทนมากกว่านี้ แต่บางทีผมก็เป็นมนุษย์ คนเราก็มีความรู้สึก บางทีทำอะไรไปแล้วไม่เข้าใจ ก็ต้องทำให้มากขึ้น แต่ที่ไม่ชอบคือการโป้ปด บิดเบือน เพราะเราไม่เคยทำ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ถ้ามันโจมตีไม่ใช่เรื่อง ผมก็ไม่สนใจ แล้วถ้าผมกลัวจะเข้ามาทำไม ถ้ากลัวก็ต้องกลัวตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว จบไหม ถ้ากลัวผมไม่ตัดสินใจแบบนี้หรอก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ที่สำคัญ หาก “พลังประชารัฐ” ไปไม่ถึงฝัน พา “บิ๊กตู่” กลับทำเนียบฯ ไม่ได้ ก็จะเป็นตราประทับว่า “บิ๊กตู่” ไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกฯ ต่อ

แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐพา “บิ๊กตู่” กลับทำเนียบฯ ได้ในก๊อกแรก โดยไม่ต้องหวังพึ่งก๊อกสองเป็น “นายกฯ คนนอก” ที่อาศัยเสียง 250 ส.ว.มาเปิดทางให้มีการเลือกนายกฯ คนนอกขึ้นมา

ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ “มีความชอบธรรม” เป็นอย่างมาก

 

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเดิมพันสูงมาก ไม่ใช่การต่อสู้ของ “เสื้อสี” หรือ “พรรคใหญ่” เช่นในอดีต ระหว่าง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์”

แต่ครั้งนี้เป็นศึกเลือกตั้ง “เอา” หรือ “ไม่เอา” ทหาร-คสช. โดยมีพรรคตัวแทนศึกครั้งนี้อย่าง “เพื่อไทย-พรรคเครือข่าย” กับ “พลังประชารัฐ-พรรคกองหนุน” แต่ก็มีปัจจัยจาก “พรรคตัวแปร” อย่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ที่รอดูคะแนนหลังปิดหีบแล้วค่อยตัดสินใจ ขณะที่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ก็ยากจะลงเรือลำเดียวกัน

แต่ทางสาย “ประชาธิปัตย์” ก็ยังเห็นโอกาสของตัวเองในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่ได้ “ถูกพลังดูด” หรือ “ถูกตี” มากนัก ยังคงมีฐานเสียงแน่น

ทำให้มีการพูดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ไม่เกินอันดับ 2 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังหวังเป็น “แกนนำ” จัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็ประกาศชัด “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมเป็นนายกฯ

การหาเสียงของแต่ละพรรคที่ผ่านมาจึงมีการสร้างวาทกรรมขึ้นมาต่อสู้ เช่น พรรคฝ่ายเผด็จการ พรรคฝ่ายทหาร เป็นต้น ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ทราบดีกับสภาวะ “ถูกรุม” เช่นนี้

“ทุกพรรครุมทหารหมดนั่นแหละ กลายเป็นต่อสู้ระหว่างพรรคทหารกับพรรคประชาธิปไตย สื่อก็รู้อยู่ ทำไมต้องต่อสู้กันเอง เลิกเสียทีการเมืองแบบนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

การต่อสู้ครั้งนี้ฝ่ายทหาร-คสช.เองก็ต้องการให้ “พลังประชารัฐ” ชนะเพราะเป็นสิ่งสะท้อนว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา “ไม่เสียของ” แต่หาก “พรรคเพื่อไทย-เครือข่าย” ชนะ มรดก คสช.เสียของแน่ ไม่ต่างจากยุคหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่าหากเป็น “รัฐบาลผสมหลายพรรค” ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ออกแบบมา การควบคุม-จัดแถวรัฐบาลยุคหลังจากนี้ก็คงเป็นไปด้วยความทุลักทุเลไม่น้อย จนมีการมองว่า “รัฐบาลชุดหน้า” จะอายุสั้น รวมทั้งกระแสการปลุกให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อเซ็ตซีโร่ระบบการเลือกตั้งขึ้นใหม่ โดยอาจมี “นายกฯ” ที่ทุกฝ่ายยอมรับและยากจะปฏิเสธมาทำหน้าที่ด้วย

อีกทั้งการทำโพลในวันนี้ก็ยากจะชี้วัดได้ ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปทั้งระเบียบและวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต่างทำโพลของตัวเอง แต่ก็ไม่มีใครประมาทเพราะต่างกลัวเจอ “โพลเอาใจนาย” เกิดขึ้น ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเป็นโพลที่ใช้เพื่อปลุกใจฐานเสียง-ลูกพรรคเท่านั้น ระยะเวลาหาเสียงยังเหลืออีกเกือบ 2 เดือน สถานการณ์พร้อมพลิกอยู่เสมอ ต้องจับตา “บิ๊กตู่” ว่าจะ “วางตน” หรือ “ส่งกระแสจิต” ไปยังสังคมอย่างไร ส่วนจะได้ “ดอกไม้” หรือ “ก้อนอิฐ” กลับไปก็จะได้เห็นคราวนี้

สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพไพร่พล!!