เทศมองไทย : ปัญหา “สม็อก” จากแอลเอถึงอินเดียและกรุงเทพฯ

ภาวะหมอกควันมลพิษ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “สม็อก” (smog) เหนือกรุงเทพมหานครของเรากินเวลานานตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเรื่อยมา ทำให้เมืองหลวงของประเทศไทยถูกพูดถึงมากมายในหลายๆ สื่อ ตั้งแต่สื่อที่เชื่อมโยงอยู่กับการท่องเที่ยว เรื่อยไปจนถึงสื่อที่นำเสนอเนื้อหาในแนววิทยาศาสตร์ วิทยาการ อย่างเช่น เว็บไซต์กิซโมโด เรื่อยมาจนถึงป๊อปปิวลาร์ ไซน์ซ ที่เน้นให้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาประกอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลมีความคิดว่าจะทำฝนเทียมเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะสม็อกในเมืองกรุง ข่าวคราวเรื่องนี้ก็ยิ่งดังมากขึ้น ทั้งในเชิงไม่เชื่อ ประชดประเทียดและกังขาว่าจะช่วยได้ละหรือ?

เอลีเนอร์ คัมมินส์ แห่งป๊อปปิวลาร์ ไซน์ซ นิตยสารแนววิทยาศาสตร์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา เขียนบทความค่อนข้างยาวเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสม็อกกับฝนเทียมในไทยเอาไว้เมื่อ 23 มกราคมนี้

มีข้อมูลน่าสนใจที่อยากเอามาบอกเล่าต่อหลายอย่างครับ

 

อย่างแรกคือเรื่อง “คุณภาพอากาศ” ที่เธอบอกว่า สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (อีพีเอ) บอกไว้ว่า วัดกันด้วย “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (เอคิวไอ) เป็นดัชนีตัวเลขง่ายๆ จากต่ำไปสู่สูง ตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่ระหว่าง 0-50 จัดว่าเป็นสภาวะอากาศ “ดี” เป็นต้น เพราะมันหมายถึงการมีสารแขวนลอยชนิดละเอียดอยู่ในอากาศ (ซึ่งต่อไปก็จะอยู่ในจมูก ลงไปสู่ปอดของเรา) อยู่น้อยนั่นเอง

แต่ถ้าเมื่อใดที่ค่าเอคิวไอพุ่งสูงถึง 101 ภาวะอากาศก็จะเริ่มแย่ ในระดับนี้ “กลุ่มอ่อนไหว” อย่างเช่น เด็ก ผู้ป่วย คนชรา ควรพักอยู่แต่ภายในบ้าน

เมื่อใดที่เอคิวไอสูงถึง 151 ขึ้นไป เท่ากับเป็นภาวะอากาศเลวร้าย เพราะอากาศระดับที่ว่านั้นเป็นอันตรายต่อทุกคน บั่นทอนทั้งสุขภาพในระยะสั้น และทำให้ผู้ที่สูดอากาศดังกล่าวเข้าไปเสียชีวิตก่อนที่ควรจะเป็นครับ

เอลีเนอร์บอกว่า ปัญหาในกรุงเทพฯ ของเรานั้นวัดได้ 227 เมื่อต้นเดือน แล้วก็แช่นิ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงนั้นอยู่นานเลยทีเดียว จนถึงขนาดทำให้ทางการเชื่อว่าการใช้หน้ากากอนามัยกรองฝุ่นละอองละเอียด กับคำแนะนำให้อยู่แต่ภายในบ้านไม่น่าจะเพียงพออีกแล้ว แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดสม็อกขึ้นในกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เป็นเมืองเดียวที่เผชิญปัญหานี้ ที่เป็นปัญหาร่วมของเมืองใหญ่ทั้งหลาย ตั้งแต่ลอสแองเจลิส, ซีแอตเติล, ปักกิ่ง และนิวเดลี ก็ตามที

ถามว่า แล้วทำฝนเทียมแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่? เอลีเนอร์บอกเอาไว้อย่างนี้ครับ

 

“ฝน เป็นวิธีการธรรมชาติอย่างหนึ่งในการทำความสะอาดอนุภาคที่เป็นพิษในอากาศ เมื่อเม็ดฝนตกลงสู่พื้นมันจะเก็บรวบรวมโมเลกุลที่แขวนลอยอยู่ในอากาศรอบๆ เม็ดฝนให้ร่วงลงมาสู่พื้นดินพร้อมกับมันด้วย ในการศึกษาวิจัยทางฟิสิกส์และเคมีในชั้นบรรยากาศเมื่อปี 2015 แสดงให้เห็นว่า ทั้งเขม่าและสม็อกจะถูกดึงลงสู่พื้น ทำให้อากาศสะอาดขึ้นกว่าเดิม”

แต่เอลีเนอร์ย้ำไว้ว่า นั่นเป็นการศึกษาฝนตามธรรมชาติ ส่วนฝนที่มนุษย์ทำเทียมขึ้นนั้น ยังไม่มีใครศึกษาว่าให้ผลได้เหมือนกันหรือไม่

เมื่อพูดถึง “ฝนเทียม” ที่ฝรั่งเรียกว่า “คลาวด์ ซีดดิ้ง” เธอให้ข้อมูลความเป็นมาไว้ว่า เป็นวิธีการ “จัดการ” กับอากาศที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1946 โน่น คนต้นคิดคือวินเซนต์ เชเฟอร์ นักเคมีของบริษัท เจเนอรัล อิเล็กทริก ที่เริ่มต้นทดลองใช้วิธีการทำให้นิวเคลอี หรืออนุภาคของหยดน้ำในเมฆให้หนาแน่นขึ้น

โดยเริ่มต้นทดลองจากการใช้น้ำแข็งแห้ง แล้วเปลี่ยนมาใช้ซิลเวอร์ ไอโอไดด์ และลีด ไอโอไดด์ เป็นสารตั้งต้นในการเพิ่มปริมาณหยดน้ำในเมฆ จนกลายเป็นฝนเทียมมา

ข้อมูลของเอลีเนอร์บอกว่า กองทัพอเมริกันเคยใช้วิธีทำฝนเทียมนี้ในสงครามเวียดนามเมื่อทศวรรษ 1960 เพื่อหวังยืดหน้ามรสุมที่นั่นให้ยาวนานออกไป เพื่อผลในการรบ การสงคราม

เอลีเนอร์บอกว่า ทางสมาคมอุตุนิยมวิทยาของจีนก็เคยใช้วิธีการเดียวกันนี้แก้ปัญหาในกรุงปักกิ่ง และทางการลอสแองเจลิส เคาน์ตี้ ก็เคยใช้วิธีการคล้ายคลึงกันนี้เพื่อ “ทำความสะอาดหิมะ” ในแถบเทือกเขาเซียรา เนวาดา ครับ

เพียงแค่ยังไม่มีใครศึกษาให้แน่ชัดว่า มันได้ผลดีและคุ้มค่าหรือไม่เท่านั้นเอง

 

ถัดมา เอลีเนอร์ชี้ให้เห็นว่า ปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่จำกัดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่แนวโน้มที่ชัดเจนคือ การที่ประเทศยากจนกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหานี้รุนแรงกว่า แล้วยกตัวอย่างอินเดีย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ค่าเอคิวไอของทางการที่นั่นขึ้นไปแช่อยู่ที่ 500

แต่ที่นิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ เคยเลวร้ายถึงระดับ 999 มาแล้วครับ

สุดท้าย เอลีเนอร์ชี้ว่า ปัญหานี้ถ้าจะแก้ไขให้เด็ดขาดถาวร ทุกคนต้องช่วยกันแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ

“ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ วิถีการเดินทาง การคมนาคมใหม่ทั้งหมด ต้องยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและสารเคมีที่เป็นพิษทั้งหลายทั้งหมด ซึ่งปล่อยอนุภาคเหล่านี้สู่อากาศตั้งแต่ตอนแรก”

เธอไม่ได้ถามว่า เราทำได้หรือไม่ แต่บอกต่อว่า ที่สำคัญคือต้องทำกันทุกคน ทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

เพราะสุดท้าย อากาศมันถ่ายเทไปมากันได้ เป็นมวลเดียวกันทั่วโลกนั่นเองครับ