‘เจริญ คงสวัสดิ์’ ทริบิวต์สำเนียงบลูส์ The Old Man

โดย : วารี วิไล

เจริญ คงสวัสดิ์ ชื่อและนามอันสามัญธรรมดา แต่เขาคือศิลปินดนตรี ที่สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งอาจเว้นวรรคนานหน่อย

ซีดีอัลบั้มล่าสุด คือ “เจริญ คงสวัสดิ์ Vol.4 The Old Man”

เจริญเคยเล่าเรื่องราวของตัวเองไว้ว่า เริ่มจากก่อตั้งและเล่นดนตรีในนามวง “ใต้สวรรค์” กับเพื่อนๆ หลายคน โดยมี “นิยุติ สงสมพันธ์” เป็นแกนหลักของวง โดยตัวเองทำหน้าที่ตีกลองหรือเพอร์คัสชั่น โดยปักหลักอยุ่ที่กรุงเทพฯ

ระยะหลังเพื่อนย้ายกลับไปอยู่ใต้ จึงพักตัวเองออกมา ประกอบกับแนวคิดในการนำเสนอผลงานเพลงเริ่มแตกต่าง เลยลองคิดในวิถีของตนเอง จนเกิดเป็นผลงานชุด “สุไหงปาดี” สะท้อนปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากชุดแรก “สุไหงปาดี” มาสู่อัลบั้มชุดที่ 2 “ชายแดนใต้” เจริญนำผลงานตระเวนแสดง มีเสียงตอบรับดีพอสมควร ตามมาด้วยชุดที่สาม “บุปผาชน” ในแนวดนตรียุค 70 กลิ่นอายฮาร์ดร็อก เซาเทิร์นร็อก บันทึกเสียงสดทั้งหมด ตั้งแต่กลอง กีตาร์ เบส เพอร์คัสชั่น เปียโน โดยใช้มือกีตาร์ถึง 3 คน

เจริญยังเผยไว้ด้วยว่า มีอาชีพสุจริตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน แต่แบ่งเวลามาทำงานดนตรีที่รักและเป็นความฝันยิ่งใหญ่ส่วนตัว

ความฝังใจจากดนตรียุคเจ็ดสิบ อันเป็นยุคทองของกีตาร์แบนด์ กีตาร์ฮีโร่ แนวคิดต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการทำเพลง ชื่ออัลบั้ม The Old man มีนัยยะให้ความรำลึกและทริบิวต์ไปยังบรรดาศิลปินไฟแรง ที่สร้างผลงานเป็นต้นแบบ

และวันนี้กลายเป็น “ดิโอลด์แมน” หรือตำนานของวงการ

 

เจริญเขียนในปกซีดีว่า ผู้ทรงอิทธิพลต่อข้าพเจ้าในทางดนตรี มีมากมายเหลือเกิน ทั้งที่ยังมีลมหายใจ และที่จากไปก่อนวัยอันควร พวกเขาทิ้งความใฝ่ฝัน จินตนาการ ส่งมอบสู่ใจเด็กหนุ่มทั่วโลก

นับแต่วันที่ข้าพเจ้ารู้จักดนตรี เพลงดนตรีของเหล่าดิโอลด์แมน ทั้งหลายในโลก ก็โลดแล่นอยู่ในใจของข้าพเจ้าแล้ว อัลบั้มชุดนี้ รับแรงบันดาลใจจากเหล่านักฝันรุ่นดิโอลด์แมนอย่างไม่ต้องสงสัย

ข้าพเจ้าขอสดุดีต่อพวกเขาทั้งหลายด้วยจิตคารวะ ตราบใดที่โลกยังเคลื่อนไปข้างหน้า คุณค่าความหมายแห่งเพลงของเหล่าผู้ผ่านโลกนาน ยังเคลื่อนเป็นเงาตามตัว เป็นเงาสร้างสรรค์แห่งยุคสมัย ยิ่งติดตามสร้างวิถีใหม่ๆ ให้แรงบันดาลใจมุ่งไปข้างหน้า อย่างไม่จบไม่สิ้น

แม้วันหนึ่ง ข้าพเจ้าจะต้องเป็นหนึ่ง ดิโอลด์แมน ในเวลาต่อไปก็ตาม ข้าพเจ้ามีความศรัทธาและเชื่อเช่นนั้น

ด้วยความเคารพศรัทธาแห่งสายพันธุ์ดนตรีอย่างพวกท่าน ฯลฯ

 

12 เพลง เริ่มต้นด้วย “King of King” รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ, “ดอกไม้เสรี” กีตาร์กับฮาร์โมนิกา เบสแน่นๆ เดินคุมสม่ำเสมอ เนื้อหาว่าด้วยสังคมที่สวยงาม “ฮิปปี้ที่ราบสูง” อินโทรด้วยสำเนียงพิณอีสาน, “ดับไฟสงคราม” ขอสันติสุข-สันติภาพกลับปักษ์ใต้บ้านเราด้วยดนตรีป๊อปที่มีกลิ่นอายบลูส์, “ช่วยได้จริง” ฟังก์สนุกๆ, “พรุ่งนี้วันของเธอ” บัลลาดร็อก มีกีตาร์ดิบๆ เล่นล้อเสียงร้อง

“สายลมแล้ง” เพลงบรรเลง ฮาร์โมนิกาเล่นนำ มีอะคุสติกกีตาร์ เล่นสตรัม และสไลด์เป็นช่วงๆ ซินธ์คลออยู่ห่างๆ

“อย่าดึงเธอไป” โฟล์กป๊อป แสดงจุดยืนเรื่องกระเช้าภูกระดึง ต่อด้วย “ความเชื่อ” เร็กเก้ ที่ทิ้งท้ายด้วยคำถามถึงสันติภาพ

“สูญสลาย…เพราะบางคน” ริฟฟ์เลื่องชื่อ จาก Scuttle Buttin” ของ สตีวี เรย์ วอห์น กับเนื้อเพลงภาษาไทยว่าด้วยปัญหาความขัดแย้งการเมือง เพราะคนไม่กี่คน, ไตเติลแทร็ก “ดิโอลด์แมน” ทำหน้าที่เฉลยว่าทำไมอัลบั้มนี้จึงบลูส์ร็อกหนักแน่น ชื่อของ นีล ยัง, บีตเทิลส์, คาร์ลอส ซานตานา, ดเวน ออลแมน และเซาเทิร์นร็อก ลินเนิร์ด สกินเนิร์ด ดิ อีเกิลส์, โรลลิ่ง สโตนส์, แบล็ก แซบบาธ ตบเท้ามาให้รำลึกถึงเป็นแถวๆ

เพลงสุดท้าย “กลางถนน” สำเนียงบลูส์ รำลึกถึงการเรียกร้องปฏิรูป-ประชาธิปไตย เมื่อ 2 ปีก่อน

เป็นงานอินดี้ที่แน่วแน่ ทริบิวต์ให้เหล่าตำนานเพลงด้วยแง่มุมน่าฟัง ผู้สนใจลองติดตามจากเฟซบุ๊ก “เจริญ คงสวัสดิ์”