จริงหรือ ? “ส่งหญิงซาอุฯ ไปตาย” วิเคราะห์ตามหลักกระบวนการยุติธรรมอิสลาม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวดังตามสื่อไทยและโลกอย่างรวดเร็วกรณี Rahaf Mohammed (หญิงสาววัยสิบแปดจากประเทศซาอุดีอาระเบีย) ที่ต้องการลี้ภัยเพื่อหนีจากครอบครัวในประเทศซาอุดีอาระเบีย

โดยท้ายที่สุดหญิงคนนี้ก็ได้เดินทางออกจากประเทศไทยโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศแคนาดา ประเทศที่ยอมให้เธอไปพำนัก

ซึ่งนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้แถลงข่าวเรื่องการตอบรับการร้องขอจากสหประชาชาติด้วยตัวเองว่า “ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิของผู้หญิงจากทั่วโลก และผมขอยืนยันว่าเราตอบรับการร้องขอของสหประชาชาติ” (https://wapo.st/2FuiNA3)

สำหรับเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลโดยเฉพาะบทความของอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการดังที่เขียนเรื่องนี้ในหัวข้อ ทำไมโลกและคนไทยประณามรัฐบาลเรื่อง “ส่งหญิงซาอุฯ ไปตาย” (โปรดดู https://www.matichonweekly.com/column/article_162114)

บทความนี้เมื่ออ่านแล้วทำให้ (ถูกเข้าใจ) ว่าบทลงโทษดังกล่าวเชื่อมโยงกับหลักการอิสลาม

โดยที่หญิงสาวคนนี้จะถูกประหารหรือฆ่า เนื่องมาจากขัดขืนคำสั่งบุพการีเพราะไม่แต่งงานกับชายที่ถูกหาให้ รวมทั้งเธอประกาศไม่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศนี้ หากส่งเธอกลับไปสู้อ้อมกอดบุพการีและประเทศซาอุดีอาระเบีย

สำหรับการที่สาวซาอุดีอาระเบียสามารถลี้ภัยครั้งนี้ได้ในที่สุดด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเพราะผู้ปกครองเธอจะฆ่าตามที่เธออ้างแล้วตามที่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ และผู้นำแคนาดาอธิบาย ซึ่งผู้เขียนเคารพการตัดสินใจ (ในเชิงประจักษ์ การที่นานาชาติไม่ไว้วางใจรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่เคยถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังสังหารอดีตนักข่าวคาช็อกกีและการลงโทษนักวิชาการมากมายที่เห็นแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลปัจจุบัน)

แต่หากด้วยเหตุผลการ (กล่าวหา) ว่าจะทำให้เธอถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตตามหลักกระบวนการยุติธรรมอิสลามแล้วต้องชี้แจงเพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการอีกด้านสำหรับผู้อ่าน (ส่วนการใช้กฎหมายอิสลามมีข้อดีข้อเสียในเชิงวิชาการอย่างไรผู้เขียนไม่ขอกล่าวในบทความนี้)

เพราะการจะตัดสินใช้กฎหมายอิสลามลงโทษประหารชีวิตใครสักคนต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมอิสลาม (ไม่ใช่ใครหน้าไหนหรือแม้กระทั่งบุพการี)

สําหรับกระบวนการยุติธรรมอิสลามเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้กติกาเป็นสิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติตามเพื่อผดุงเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลาม อันได้แก่ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา ทรัพย์สินและเชื้อสาย (ตระกูล) จนนำไปสู่ความสงบสุขของสังคมโดยจะต้องเป็นกระบวนการทางศาลหรือพิพากษาคดี (ในภาษาอาหรับเรียกว่า al-Qadaa)

กระบวนการทางศาลหรือพิพากษาคดี เป็นวิธีการดำเนินการแก่ผู้ที่ประพฤติฝ่าฝืนกฎหมายอิสลาม โดยอาศัยองค์กรและบุคลากรที่กฎหมายอิสลามหรือรัฐอิสลามให้อำนาจไว้ แต่จะต้องตัดสินบนหลักบทบัญญัติอิสลามเท่านั้น

สำหรับในกฎหมายอิสลาม ได้แบ่งออกเป็นสามกระบวนการ กล่าวคือ การให้คำปรึกษา การไกล่เกลี่ย และอนุญาโตตุลาการ (โปรดดูบทความผู้เขียนฉบับเต็มเรื่องกระบวนการยุติธรรมอิสลามใน http://oknation.nationtv.tv/blog/shukur/2015/12/06/entry-1)

ดังนั้น บุพการีในกรณีสาวซาอุดีอาระเบียคนนี้ไม่มีอำนาจจะฆ่าบุตรอันเนื่องมาจากไม่แต่งงานตามบุพการี

ในขณะเดียวกันหากบุพการีสังหารบุตรด้วยเหตุผลดังกล่าว (เขาต่างหากจะถูกตัดสินประหารชีวิตจากศาลอิสลาม) และการออกศาสนาอิสลาม รวมทั้งรัฐเองตามนักวิชาการโลกมุสลิม เช่น อัลกอรเราะฎอวีย์กล่าวว่า กฎหมายอิสลามไม่อนุญาตจะประหารชีวิตผู้เปลี่ยนศาสนาด้วยสิทธิส่วนบุคคล ตราบใดเขาไม่มาทำลายศาสนาอิสลาม (โปรดดู https://m.youm7.com/story/2010/7/18/%D9%87%D9%84-%D9%86%D9%82%D8%AA%D9%84-%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%B1%D8%AA%D8%AF-%D8%B9%D9%86-%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%B3%D9%84%D8%A7%D9%85-1/255215?fbclid=IwAR3sWXNP8xZWn-pq9d_DiX92g3KLD807Oc8qr3QrADJVZJSnfrIf31zHPHc)

สำหรับมุมมองที่อิสลามถูกกล่าวหาว่าชายเป็นใหญ่ กดขี่ข่มเหงสตรีนั้น อิสลามมองว่าระหว่างชาย-หญิงมีความแตกต่างจากแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก

อิสลามวางบทบาทชาย-หญิงในภาระหน้าที่ต่างกัน ภายใต้สิทธิและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบบางเรื่องเหมือนกัน บางเรื่องเป็นหน้าที่ผู้ชาย

บางเรื่องเป็นหน้าที่ผู้หญิง

หากใครไม่ปฏิบัติ คนนั้นต้องรับผิดชอบและถือเป็นการละเมิดสิทธิต่อผู้อื่น เช่น ประเด็นการอุปการะเลี้ยงดูเป็นหน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา ต่อลูกๆ

หากผู้เป็นสามีไม่ทำ เขาก็ถือเป็นการละเมิดต่อภรรยาและบุตร

หน้าที่บุพการีต้องอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ส่วนลูกมีหน้าที่จะต้องเคารพ ปฏิบัติตามบุพการี ตราบใดที่ไม่สั่งให้ไปทำสิ่งไม่ดี (โปรดดูบทความผู้เขียนใน https://sites.google.com/…/kar-pdibati-khxng-phu-hying-laea…)

การสวมฮิญาบสำหรับสตรี อิสลามมองเป็นหน้าที่ของสตรี ในขณะที่ตะวันตกมองเป็นการกดขี่พันธนาการสตรี ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราในฐานะนักวิชาการสามารถโต้แย้งตามเหตุและผลทางวิชาการได้ (โปรดดูบทความผู้เขียนใน https://prachatai.com/journal/2010/07/30402)

การที่บุพการีสาวชาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายไทย และตามกฎหมายอิสลามถือบุพการีมีสิทธิและหน้าที่ที่จะพบพูดคุยกับลูก แต่ถูกกีดกันด้วยเหตุผลมนุษยธรรมก็พอฟังได้

แต่ถามว่า การไม่อนุญาตให้บุพการีพบลูกตัวเองเพื่อพูดคุยแม้จะมีคนกลางในประเทศไทย มันไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกฝ่ายหรือ

ที่สำคัญอีกเรื่อง น่าจะมีการสัมภาษณ์บุพการีสาวชาวซาอุดีอาระเบียนี้ด้วยเพื่อฟังข้อมูลอีกด้านประกอบการตัดสินใจด้วย

สิ่งที่เป็นคำถามถึงสองมาตรฐาน ต่อองค์กรระหว่างประเทศตะวันตกและสหประชาชาติ คือกรณีการขอลี้ภัยชาวโรฮิงญานับพันชีวิต ชาวอุยกูร์นับร้อยชีวิตผ่านไทยหรือที่ไหนๆ ของโลก ทำไมชะตากรรมพวกเขาชัดมากๆ หากถูกส่งตัวกลับประเทศกลับไม่สามารถแก้ได้อย่างรวดเร็วมากๆ เหมือนกรณีนี้

ท้ายนี้ให้สาวน้อยรายนี้โชคดีในถิ่นเสรีนิยมที่นางใฝ่ฝันทั้งโลกนี้และโลกหน้า

แท้จริงพระเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณและยุติธรรมยิ่ง