พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง คืออะไรกันแน่

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

คำว่าประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งเผินๆน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นมีใครน่าจะสงสัยกันอีก อย่างไรก็ตามมักมีคำถามเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือความมั่งคั่งว่า ใครสำคัญกว่าใคร ด้วยคำว่าทำไมเราต้องซื้ออาวุธหรือทำไมเราไม่ควรซื้ออาวุธ ถ้าตอบคำถามได้หมดก็แปลว่าเรื่องนี้ไม่เป็นที่สงสัยกันต่อไป แต่แท้จริงหาใช่เช่นนั้นไม่ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าถามต่อว่า ความมั่นคงกับความมั่งคั่งตกลงมันไปด้วยกันได้หรือไม่และด้วยวิธีใดจะยิ่งยากเข้าไปอีก ดังนั้นจึงควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมต่อไปในภายภาคหน้า

ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างความมั่นคงและความมั่งคั่งคือ ความมั่นคงใช้เวลารวดเร็วในการตัดสินและมีความสิ้นเปลืองสูงเพราะเป็นงานที่ไม่มีผลิตภาพใดๆ ในขณะที่ความมั่งคั่งใช้เวลานานในการฟูมฟักขึ้นมา เห็นผลช้า แต่สร้างความเจริญก่อให้เกิดเงินทองและความรุ่งเรืองทั้งความสุขสบายและสังคมที่ดีตามมา

ประการที่สองคือ ความมั่นคงเป็นการทำลายล้างหรือป้องกันการทำลายล้าง ส่วนความมั่งคั่งเป็นการเสริมสร้าง งอกงาม เจริญเติบโต และการแข่งขัน

ประการที่สามคือ ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากกว่าทางเทคโนโลยีทางทหาร มักเป็นประเทศที่มั่งคั่ง รุ่งเรืองกว่าไปด้วย ในขณะที่ประเทศที่ยากจน ยากที่จะมีความเข้มแข็งหรือความมั่นคงไปได้

ตัวอย่างประเทศที่ต้องเลือกในเรื่องความมั่นคงที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดและฉลาดที่สุดเห็นจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ทั้ง ๓ ประเทศสามารถอาศัยสิ่งแวดล้อมยุคสงครามเย็น ให้มีกองกำลังของสหรัฐฯปกป้องด้านการทหาร ในขณะที่ได้สิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในประเทศ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและการค้าขายที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงด้วยการวางแผนจากรัฐบาลอย่างฉลาด จะทำวิธีใดและทำไมไทยเราซึ่งมีลักษณะเดียวกันไม่สามารถใช้โอกาสที่หมดไปแล้วนี้ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตัวอย่างจากคำบอกเล่าของนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้ไปร่วมสงครามเวียดนามมา ก็คือเมื่อสงครามเวียดนามใกล้สิ้นสุดลงสหรัฐฯจะมีการถอนทหารออกจากภูมิภาคและสอบถามไทยกับเกาหลีใต้ว่าต้องการได้ยุทโธปกรณ์อะไรกลับประเทศ ไทยเราขอหน่วยกองพลทหารราบซึ่งก็กลายเป็นกองพลทหารราบที่ ๙ จังหวัดกาญจนบุรีในขณะนี้ ในเวลาเดียวกัน เกาหลีใต้กลับขอทหารช่างจำนวน ๒๒ กองพันเพื่อนำกลับไปพัฒนาประเทศ เหตุผลของสองประเทศอาจต่างกัน และผลก็ต่างกันอย่างที่เห็นในอีกหลายสิบปีต่อมา

ส่วนไต้หวันและญี่ปุ่นมีลักษณะเหมือนกันคือรัฐบาลยุคนั้น ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติตนเองมีรายได้เบื้องต้นจากการสั่งซื้อของรัฐบาล ญี่ปุ่นสนับสนุนบริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อฟูจิตสึ เทน ในขณะที่ไต้หวันสนับสนุนสินค้าคอมพิวเตอร์ผลิตในไต้หวันและยกระดับเป็นแหล่งซับพลายให้กับจีนในเวลาต่อมา แม้ปรัชญาการหาเงินเข้าประเทศของทั้งสามประเทศจะต่างกันบ้างเช่น ญี่ปุ่นสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม การกระจายรายได้ลงไปสู่ระดับล่าง เกาหลีใต้กลับเลียนแบบญี่ปุ่นทุกย่างก้าวแต่มีบริษัทใหญ่ไม่กี่แห่งได้ขับเคลื่อนประเทศ ส่วนไต้หวันอยู่ระหว่างกลางของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ ประเทศต่างประสบความสำเร็จก่อนที่จีนจะผงาดขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดล่างทั้งหมดแทน และทั้ง ๓ ประเทศดังกล่าวเปลี่ยนเทคโนโลยีของตนไปอีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีปัญหาความผิดพลาดด้านการเงินและเกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่เติบโตติดต่อกันกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ก็นับว่าญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากไปกว่านี้ได้แล้ว

มาบัดนี้ทั้ง ๓ ประเทศอาจต้องเริ่มรับภาระด้านความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายทางทหารมากขึ้นทดแทนการคุ้มครองของสหรัฐฯ แต่ก็ด้วยเทคโนโลยีและความมั่งคั่งที่สะสมมายาวนาน เป็นการยากที่ประเทศใด ประเทศหนึ่งแม้แต่จีนจะคิดใช้ความรุนแรงกับทั้ง ๓ ประเทศนี้นอกจากการเจรจาและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน นอกเหนือจากการคุ้มครองของสหรัฐฯที่ยังคงมีความสัมพันธ์อยู่ แม้ว่าทางไต้หวันจะลดน้อยไปกว่าชาติอื่นบ้างก็ตาม

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงและความมั่งคั่ง ควรเป็นอย่างไร?

จากตัวอย่างที่ยกมา หากปัญหาความมั่นคงยังไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีทีท่าที่จะเกิดในเร็ววัน ประเทศที่ฉลาดจะจัดกำลังและใช้งบประมาณด้านความมั่นคงเท่าที่จำเป็น เช่นกรณีกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นแม้ในอดีตก็ไม่สามารถมีใครดูแคลนได้เพราะมีเทคโนโลยีทางทหารในระดับโลกเช่นกัน เพียงแต่จัดไว้เท่าที่จำเป็น เกาหลีใต้ใช้งบประมาณทางทหารมากกว่าเพราะไร้เสถียรภาพกว่า แต่ก็เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วเพราะรายได้เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งงบประมาณในด้านความมั่นคง มิใช่การหาทางใช้เงินให้หมดไปกับสิ่งไม่สร้างการผลิตภาพให้กับประเทศ

ในอีกซีกโลกหนึ่งเช่นอาฟริกาและบางส่วนในยุโรปตะวันออกและอเมริกากลาง สงครามมีมาอย่างต่อเนื่อง เหล่านักรบ โจร และอาชญากรมีอำนาจและอิทธิพลครอบงำประเทศ ไร้ซึ่งเสถียรภาพ การพัฒนาก็ไม่เกิดขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นเรื่องไกลเกินฝัน นอกจากบางประเทศเช่นจีนที่กล้าพอลงไปลงทุน แต่ประเทศเหล่านั้นก็ต้องตอบแทนอย่างคุ้มค่าเช่นกัน มิฉะนั้นนักลงทุนก็ไม่เสี่ยงเนื่องจากไม่คุ้มกับสิ่งตอบแทน

มาถึงจุดนี้ น่าจะพอสรุปได้ว่าในประเทศที่มีปัญหาความมั่นคงมากๆนั้น การพัฒนาไม่อาจเกิดขึ้นได้ความมั่งคั่งย่อมไม่เกิด ประเทศที่จัดการปัญหาความมั่นคงได้ ไม่ว่าจะยุติปัญหาได้รวดเร็วหรือมีการคุ้มครองจากมหาอำนาจก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

ในรอบที่สองต่อมา ประเทศที่มีปัญหาความมั่นคงนานๆ จะทรุด ตกต่ำและเกิดความยากจน แสนสาหัสจนกว่าจะเกิดเสถียรภาพขึ้นมาอีกครั้ง ตัวอย่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างน่าประหลาดใจคือ เอธิโอเปีย ที่เราเคยเห็นภาพเด็กขาดอาหาร เด็กอ่อนดูดนมมารดาที่เสียชีวิตแล้ว จนสหประชาชาติต้องให้การช่วยเหลือฉุกเฉินเพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจกันภายในประเทศ มาบัดนี้เอธิโอเปียผ่านความอัปยศนั้นแล้ว และกำลังเติบโต สงบและมั่งคั่งเช่นเดียวกับประเทศหลายแห่งในอาฟริกา ประเทศในอเมริกากลางเช่นโคลัมเบียลงนามสัญญาหยุดยิง และประเทศอื่นๆที่รู้แล้วว่า การชิงอำนาจกันเองของเหล่านักรบนั้นนำมาซึ่งการไร้เสถียรภาพและยากจน ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีโอกาสพัฒนาประเทศแล้ว ก็จะยกระดับในเรื่องงบประมาณ เทคโนโลยีของตนเอง จนสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้ในระยะยาว ด้วยกำลังทางทหารอาชีพที่มีประสิทธิภาพ

อีกประการหนึ่งด้วยลักษณะของความมั่นคงที่เป็นการทำลายล้าง หากประเทศใดมีปัญหาความไร้เสถียรภาพอยู่นานๆ ก็จะกลายเป็นรัฐล้มเหลวและประชาชนทุกข์ยากเหมือนเอธิโอเปียในอดีต การแก้ปัญหาความมั่นคงจึงต้องรีบดำเนินการให้ยุติโดยเร็ว รัฐใดปล่อยให้ปัญหาความมั่นคงยืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องการก่อการร้ายหรือแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการชิงอำนาจกันระหว่างเผ่าหรือขุนศึก ก็จะเป็นลักษณะสงครามกองโจรที่ซื้อเวลาเพื่อทำลายความเข้มแข็งของรัฐลง ทำให้ความมั่งคั่งไม่อาจเกิดขึ้นได้

เช่นเดียวกัน หากรัฐไม่มีปัญหาความมั่นคงมากนัก แต่ทุ่มเทเงินทองไปกับเรื่องความมั่นคงจนเกินไป เช่นกรณีของประเทศกรีกที่ใช้งบประมาณไปกับการซื้ออาวุธจนเกิดภาระหนี้สินที่ไม่ก่อรายได้มากเกินตัวและต้องแบกรับค่าเงินยูโรที่ประเทศตนเองไม่มีศักยภาพเพียงพอ ไม่รีบปรับตัวด้านเศรษฐกิจให้ทันเวลา ก็กำลังจะนำปัญหาอย่างรุนแรงมาให้และสุดท้ายความมั่นคงก็จะหมดไปเช่นกันเพราะล้มละลาย

อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้ในปีค.ศ. ๒๐๐๕ ว่า ไม่มีการพัฒนาได้หากไม่มีความมั่นคง และไม่มีความมั่นคงได้หากไม่มีการพัฒนา (no development without security, and no security without development) สรุปอย่างง่ายคือ ในระยะสั้นต้องรีบยุติปัญหาความมั่นคงเพื่อให้สามารถพัฒนาจนมีความมั่งคั่ง แต่ก็ต้องรีบสร้างความมั่งคั่งเพื่อที่ว่าในระยะยาวจะได้มีความมั่นคงมากขึ้นนั่นเอง