จัดแถว “ทหาร” ปรับลุค “กอ.รมน.” สลาย “ทหารการเมือง” หมดยุค “เครื่องมือกองทัพ”?

ผ่านมา 3 เดือน ในตำแหน่ง ทบ.1 ของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดแถวทหารบกให้มีความเป๊ะยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องวินัยและภาพลักษณ์ของกองทัพ

แม้ “บิ๊กแดง” จะถูกจับตามองจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ถึงขั้นติด “แบล๊กลิสต์” ไว้เลยทีเดียว แต่เมื่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เจ้าตัวก็ให้สัมภาษณ์สื่อไปเพียง 2 ครั้ง

แต่ละครั้งก็ชี้ “สัญญาณการเมือง” ไว้ไม่น้อย

โดยเฉพาะครั้งแรกที่เรียกเสียงฮือฮา เพราะไม่รับประกันว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่? และชี้ว่าสาเหตุการรัฐประหารจะมาจากเรื่องการเมืองและการจลาจล

แต่ในเวลานั้นก็มี “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ที่มาสยบกระแสการปฏิวัติ-รัฐประหารว่าเป็นเพียงแผนเผชิญเหตุสุดท้าย

ล่าสุด “บิ๊กแดง” ระบุถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ที่มีความกังวลว่าจะเกิดการไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ด้วยการสยบกระแสนั้นว่าอย่ามาสู้กันนอกสภา

“ขอให้รอดูผลการเลือกตั้ง เรามี กกต.ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องยอมรับกติกา การเลือกตั้งต้องมีแพ้มีชนะ หลังจากการเลือกตั้งแล้ว อยากให้ไปสู้กันในสภา อย่ามาสู้นอกเวที ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวให้ประชาชนเดือดร้อน”

พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

ที่สำคัญ บทบาทของทหารก็เป็นที่จับตาในเวลานี้ ในการวางตัวช่วงการเลือกตั้ง ที่แค่เพียงขยับก็เป็นประเด็นได้เสมอ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองได้ทุกเมื่อ ซึ่ง “บิ๊กแดง” ก็ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระมัดระวังและกำชับกำลังพลวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

“ทหารจะขยับตัวอะไรก็ถูกมองว่าเป็น คสช. เพราะอยู่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล กองทัพเรามีจุดยืนเป็นกองทัพของรัฐบาลและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตามจะถูกเพ่งเล็ง

“ซึ่งผมได้สั่งให้เข้มงวดกับกำลังพลไปแล้ว แต่ขึ้นอยู่ที่มุมมองของประชาชนถึงการวางตัวของกองทัพและการเป็นทหารอาชีพ” ผบ.ทบ.กล่าว

ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์ก็ทราบดีถึงการตกเป็นเป้าของกองทัพ ในช่วงหลัง “ปลดล็อกพรรคการเมือง” จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพหลีกเลี่ยงการตอบคำถามการเมือง

เห็นได้จากการประชุม ผบ.เหล่าทัพครั้งล่าสุดที่ บก.ทบ. ก็ไม่ได้มีการจัดแถลงข่าวตามธรรมเนียม ที่หลังประชุม ผบ.ทหารสูงสุดจะนำ ผบ.เหล่าทัพตั้งแถวให้สัมภาษณ์สื่อ แน่นอนว่าคำถามการเมืองเป็นสิ่งที่สื่อต้องถามถึง

“เราต้องหนักแน่น เพราะเรามั่นใจว่ากองทัพไม่ใช่ผู้สร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้ง เราไม่ได้กังวลเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี แต่ต้องทำความเข้าใจและชี้แจง หากถูกให้ร้ายหรือบิดเบือน ที่ทำให้กองทัพเกิดความเสียหาย

“แต่หวังว่าประชาชนทุกคนคงเข้าใจว่าธรรมชาติของกองทัพ เราไม่ทำเรื่องที่ไม่ดี ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจจุดยืนของทหาร ก็ถือเป็นเรื่องดี” พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าว

แน่นอนว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็ทราบดีถึงการตกเป็นเป้าของ “กองทัพ” ที่แยกไม่ออกจาก คสช. จึงได้มีการปรับลดกำลังพลของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จาก 240 กองร้อย โดยลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง

รวมทั้งการปรับโครงสร้างของ กอ.รมน. เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของกองทัพ

เริ่มต้นจากแต่งตั้ง “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. เป็นผู้ช่วยรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เพื่อช่วยดูภารกิจของ “บิ๊กแดง” ที่เป็นรอง ผอ.รมน.

พล.อ.ณัฐพลระบุว่า จะดูเพียงงานสำคัญที่ได้รับมอบหมาย แต่งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นหน้าที่ของ “บิ๊กเป้ง” พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสธ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.

พร้อมชี้แจงถึงการปรับโครงสร้างลดจำนวนทหารและเพิ่มพลเรือน-ตำรวจเข้าไปมากขึ้น โดยเริ่มจากศูนย์การประสานการปฏิบัติ (ศปป.) ว่าควรจะมีทหาร ตำรวจ พลเรือน ในอัตรา 2 ต่อ 1 ต่อ 1 แต่ทหารยังคงเป็นหลัก

อีกทั้งจะมีการเพิ่มพลเรือน-ตำรวจ ในตำแหน่งผู้บริหาร เช่น ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการใน ศปป.1-5 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“การปรับย้ายที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ไม่ใช่เพราะท่านไม่ดีไม่เก่ง แต่อาจไม่เหมาะเท่านั้น เพราะผู้ที่จะทำงาน กอ.รมน.นั้นต้องมีจิตวิญญาณของการรับผิดชอบต่อการรักษาความมั่นคง ซึ่งต่างจากความเป็นทหารเล็กน้อย แม้จะเป็นฟิลด์เดียวกันก็ตาม”

พล.อ.ณัฐพลกล่าว

ช่วงปี 2560 ได้มีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. ในการตั้งศูนย์การประสานการปฏิบัติ หรือ ศปป.1-5 ขึ้นมา

โดย ศปป.1 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ได้แก่ การปกป้องสถาบันหลักของชาติ การสร้างความปรองดอง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ศปป.2 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม ได้แก่ การปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว ยาเสพติด การจัดระเบียบต่างๆ

ศปป.3 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงแบบพิเศษ ได้แก่ ปัญหาการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามทางไซเบอร์

ศปป.4 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร

ศปป.5 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ในเวลานั้นมีการมองว่าเป็นการ “ถ่ายโอน” งานจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) คสช.มายัง กอ.รมน. เพื่อปูทางอำนาจหลัง คสช.หมดบทบาทลงไป โดยงานจัดระเบียบต่างๆ จะใช้กลไก กอ.รมน.ช่วยสานต่อ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์เคยปฏิเสธถึงกรณีนี้ว่า “คสช. คือ คสช. ส่วน กอ.รมน. คือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานปกติ แต่ คสช.เป็นหน่วยงานไม่ปกติ เข้าใจซะก่อนตรงนี้ ถ้าปกติ มันจะมีทำไม คสช.”

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2560 “บิ๊กตู่” ลงนามคําสั่งหัวหน้า คสช. 51/2560 แก้ไขกฎหมาย กอ.รมน.

โดยเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น “ซูเปอร์ผู้ว่าฯ” คุมบอร์ด กอ.รมน.จังหวัด โดยเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน.จังหวัด ที่มีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดประมาณ 40 หน่วยงานร่วมอยู่ในคณะกรรมการ เพื่อทำงานร่วมกัน โดยให้อำนาจผู้ว่าฯ สูงสุด

พร้อมตั้งอัยการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ มอบหมาย เป็นรอง ผอ.รมน.จังหวัด ฝ่ายทหาร และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ

อีกทั้งมีผู้แทนส่วนราชการจากทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง เช่น อัยการ พาณิชย์ แรงงาน สาธารณสุข เป็นต้น

และมีผู้แทนมณฑลทหารบกที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดร่วมด้วย คู่ขนานไปกับ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคที่ 1-4 เป็น ผอ.รมน.ภาค ที่ได้นำอธิบดีอัยการภาคและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค มาอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค

มีการมองว่านี่เป็นการตั้งไข่ “กระทรวงความมั่นคง” ที่คล้ายกับ “Homeland Security” ของสหรัฐหรือไม่?

ซึ่ง กอ.รมน.นั้นมีนายกฯ เป็น ผอ.รมน. ที่คุมทั่วประเทศ จึงทำให้มีการวิเคราะห์ว่าเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นมา รวมทั้งมีการนำรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานความมั่นคง เข้ามาเป็น “คณะกรรมการ กอ.รมน.”

ทำให้มีการวิจารณ์ว่าไปทับซ้อนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือไม่?

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2561 ก็มีกระแสข่าวว่า กอ.รมน.ได้ลงไปทำโพลด้วยเครือข่ายที่ กอ.รมน.มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งการวัดกระแสประชาชนว่าต้องการเลือกตั้งหรือไม่? รวมทั้งกระแสความนิยมพรรคการเมือง

แต่ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผบ.รมน. ณ ขณะนั้น ได้ออกมาปฏิเสธข่าวทั้งหมด

เวลาเดียวกัน “บิ๊กตู่” ได้ตั้งโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ขึ้นมา ซึ่ง กอ.รมน.ถือเป็นอีกหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เพราะตำแหน่งของผู้บริหารในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ แม่ทัพภาคที่ 1-4 คือ ผอ.รมน.ภาค 1-4 ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ผอ.รมน.จังหวัด

โดยในเวลานั้นมีการมองว่ารัฐบาลกำลังเร่งปูพรมเรียกเรตติ้งก่อนเลือกตั้ง

เมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 บทบาทของ “กองทัพ-กอ.รมน.” จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไม่ได้มี “รัฐบาลเลือกตั้ง” หรือ “รัฐบาลรักษาการ” แต่เป็น “รัฐบาลจากรัฐประหาร”

ที่หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ และ ผอ.รมน. รวมทั้ง “บิ๊กแดง” ผบ.ทบ. ก็ควบตำแหน่งเลขาธิการ คสช. คุมกำลัง กกล.รส. และเป็นรอง ผอ.รมน.

ทำให้ทุกคนต้องแยกบทบาทหน้าที่ใน คสช. กับตำแหน่งประจำออกจากกันให้ดี

ต้องจับตาดูต่อไปว่าลุคใหม่ของ “กองทัพ” ที่จะเป็นกลางทางการเมือง และโฉมใหม่ของ “กอ.รมน.” ที่จะไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของกองทัพ

จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่?