วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เศรษฐกิจ-วัฒนธรรมยุคจักรวรรดิเหนือ-ใต้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิที่สั่นคลอน (ต่อ)

พ้นไปจากหน่วยปกครองท้องถิ่นนี้แล้วก็จะเป็นหน่วยปกครองที่เล็กลงมาตามลำดับ ซึ่งในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย แต่เกณฑ์ที่ใช้กับหน่วยปกครองเล็กๆ เหล่านี้จะไม่เปลี่ยน นั่นคือ การใช้เกณฑ์จำนวนครัวเรือนต่อหนึ่งหน่วยปกครอง

หน่วยที่เล็กที่สุดมีห้าครัวเรือน มากที่สุดมี 1,000 ครัวเรือน แต่ละหน่วยแม้จะมีคำเรียกขานเฉพาะ แต่คำเหล่านี้ก็มักเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ส่วนขุนนางที่ปกครองหน่วยปกครองเหล่านี้จะมีหน้าที่หลักคือ เก็บภาษี การศึกษา การพิจารณาคดี เกณฑ์แรงงาน ดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน และสำรวจสำมะโนประชากร เป็นต้น

จากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า การปกครองท้องถิ่นในยุคนี้การทหารมีความสำคัญอย่างมาก ความสำคัญนี้ยังเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละรัฐหรือราชวงศ์ ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และสิ่งที่เป็นหลักประกันที่ว่าจึงอยู่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละรัฐแต่ละราชวงศ์

ซึ่งก็คือชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

 

เศรษฐกิจทางตอนเหนือและตอนใต้

แม้ในยุคสามรัฐจะมีชนชั้นนำที่เป็นชาวฮั่นโดยส่วนใหญ่ก็ตาม แต่นับจากยุคจิ้นจนถึงราชวงศ์ใต้-เหนือแล้ว ชนชั้นนำที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็เข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูง แต่กล่าวในแง่ราษฎรหรือที่ส่วนใหญ่ก็คือชาวนาแล้วยังคงเป็นชาวฮั่น ส่วนน้อยเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ราษฎรทั้งสองกลุ่มนี้มีทั้งอาศัยอยู่ร่วมกันและที่แยกกันอยู่ สุดแท้แต่ว่าชนกลุ่มใดอยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นกลุ่มใด

ดังนั้น หากไม่นับราษฎรที่ถูกเกณฑ์ไปทำศึกแล้ว ชีวิตทั้งในยามปกติและไม่ปกติต่างก็อยู่ในไร่นา

แต่สิ่งที่ชวนให้น่าสนใจในยุคนี้ก็คือ ภูมิปัญญาทางการเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

ภูมิปัญญานี้มีปฏิสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ของอารยธรรมจีนอย่างมาก การเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นตอนที่จิ้นตะวันตกล่มสลาย แล้ววงศานุวงศ์กับเหล่าเสนามาตย์ที่เหลืออยู่ได้อพยพไปทางใต้ แล้วฟื้นฟูจิ้นตะวันออกในเวลาต่อมา

ภูมิปัญญาทางการเกษตรที่ว่านี้ได้บอกให้รู้ว่า ในยุคนี้จีนมีความรู้ที่จะเพิ่มผลผลิตบนผืนดินขนาดใหญ่ได้อย่างไร อีกทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการแรงงานคนกับที่ดินขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมดินบนเชิงเขาให้เหมาะกับการเกษตร

ด้วยในเวลานั้นการเกษตรบนที่ราบทางตอนเหนือขาดความปลอดภัยจากการศึก ส่วนพื้นที่ราบทางตอนใต้ก็ถูกครอบครองโดยพวกที่อพยพมาจากทางเหนือ พื้นที่ที่ราบสูงอย่างเช่นเชิงเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง

นอกจากภูมิปัญญาดังกล่าวแล้ว ในยุคนี้ยังได้สร้างคันไถที่ใช้กับวัวหนึ่งตัวอีกด้วย โดยยุคก่อนหน้านี้เป็นคันไถที่ใช้กับวัวสองตัว การเกิดขึ้นของคันไถที่ใช้กับวัวหนึ่งตัวจึงมีต้นทุนต่ำกว่าที่ใช้กับวัวสองตัว และทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ที่มีฐานะไม่สู้ดีสามารถเข้าถึงเครื่องมือนี้ได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เทคนิคในเรื่องนี้ยังถูกขยายผลไปยังคราดที่ใช้เพื่อปรับผิวดินอีกด้วย ซึ่งในภาคใต้จะเป็นคราดที่ติดลูกกลิ้ง ภาคเหนือจะเป็นคราดแบบซี่เหล็ก และการปรับผิวดินนี้จะทำปีละสองครั้ง

เมื่อมีเทคนิคในเรื่องคราดแล้วก็ยังค้นพบการเตรียมเมล็ดพันธุ์อีกด้วย ข้อค้นพบนี้ก็คือ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์โดยดูจากสีที่ใกล้เคียงกัน การตัดด้วยมีด การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้บนที่สูง การแยกเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีความสุกแตกต่างกันออกจากกันเพื่อเตรียมไว้ปลูกได้ตลอดปี

การเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วยการแช่น้ำให้มีรากงอกก่อนนำไปหว่านปลูกจริง การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดินหรือที่เรียกว่า “ปุ๋ยเขียว” (green manures) การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อรักษาดิน การนำพืชผลไปตากแล้วเก็บในหลุมใหญ่แทนการเก็บในภาชนะ และเครื่องสีข้าวหรือคั้นน้ำมันพลังงานน้ำที่ใหญ่กว่าในสมัยฮั่น เป็นต้น

ภูมิปัญญาหรือนวัตกรรมทางการเกษตรดังกล่าวย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย โดยทางตอนเหนือที่มีการศึกอยู่บ่อยครั้งได้ทำให้การค้าตกต่ำลง แต่ที่ยังมั่นคงอยู่ได้ก็คือปศุสัตว์ ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยสัตวบาลผู้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ก็คือชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ส่วนทางตอนใต้การค้าได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจึงยังคงอยู่ได้ การค้าทางตอนใต้ในยุคนี้มีทั้งการค้าทางแม่น้ำ ทางชายฝั่งตะวันออก และทางทะเล การค้านี้จึงมีเครือข่ายกว้างขวางอย่างมาก และแน่นอนว่า การเกษตรทางตอนใต้ย่อมมีชนชาติฮั่นเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ

จะเห็นได้ว่า หากตัดประเด็นนวัตกรรมหรือวิธีการทางการเกษตรออกไปแล้ว แรงงานจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเกณฑ์แรงงานในขณะที่มีการศึกอยู่บ่อยครั้ง

 

วอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีหนึ่งก็คือ ตอนที่ทว่อป๋ากุยตั้งผิงเฉิงเป็นเมืองหลวงใน ค.ศ.398 นั้น ได้มีการเกณฑ์ราษฎรราวห้าแสนคนที่ส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือให้เข้ามาอยู่ด้วย เพื่อให้สร้างพุทธศาสนสถานที่ต่างๆ เช่น เจดีย์ หอเทศนา อาคารปฏิบัติธรรม และกุฏิ เป็นต้น

ในบันทึกของผู้มาเยือนจากทางใต้เล่าว่า ในเมืองหลวงมีอาคารขนาดใหญ่ที่รวมแรงงานทาสให้ทำงานด้านต่างๆ ตามที่ทางการต้องการ ซึ่งมีตั้งแต่เสื้อผ้า สุรา งานไม้ เครื่องปั้นดินเผา ที่พักพิงดูแลนายสัตวบาล ที่เก็บปืนใหญ่ และยุ้งฉาง

นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักขนาดใหญ่สำหรับข้าราชการ มหาดเล็ก หน่วยรักษาความปลอดภัย จางวาง และพ่อค้า จนเมื่อเมืองหลวงขยายตัวมากขึ้น ปัญหาความแออัดและการจัดหาอาหารก็เกิดขึ้นมา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องย้ายเมืองหลวงไปที่ลว่อหยังในเวลาต่อมา

กรณีที่กล่าวมานี้นับเป็นตัวอย่างในการสะท้อนภาพเศรษฐกิจในเวลานั้นได้ดีไม่น้อย

 

วัฒนธรรมนอกลัทธิขงจื่อ

ครั้งที่ราชวงศ์ฮั่นได้นำเอาลัทธิขงจื่อของสำนักหญูมาเป็นหลักในการปกครองนั้น กล่าวในทางปฏิบัติแล้วมิได้หมายความว่าลัทธิอื่นจะหมดอิทธิพลหรือบทบาทลงไม่ ลัทธิอื่นที่ยังคงมีบทบาทปรากฏให้เห็นคือ ลัทธิเต้า ในขณะที่ศาสนาพุทธที่เข้ามาในราชวงศ์ฮั่นเช่นกันก็เริ่มมีผู้ที่ศรัทธาบ้างแล้ว

การที่ลัทธิเต้าและศาสนาพุทธยังคงอยู่มาได้เช่นนี้นับว่ามีอานิสงส์ให้แก่ยุคที่จะตามมา ซึ่งก็คือยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ โดยไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามที พอมาถึงยุคนี้ทั้งลัทธิเต้าและศาสนาพุทธต่างก็ปรากฏบทบาทขึ้นมาอย่างโดดเด่น

จนกล่าวได้ว่า นับแต่ยุคสามรัฐจนถึงเมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ใต้-เหนือลงนั้น ถือเป็นอีกยุคหนึ่งที่สองความคิดความเชื่อนี้มีความรุ่งเรืองอย่างมาก ซึ่งในทางกลับกันก็หมายความด้วยว่าเป็นยุคที่ลัทธิขงจื่อได้ลดบทบาทลง

เริ่มจากลัทธิเต้าที่แม้จะถูกลัทธิขงจื่อก้าวขึ้นมานำตั้งแต่สมัยฮั่นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังคงมีการพัฒนาแนวทางของตนอยู่เสมอ แนวทางที่ว่านี้ย่อมมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุครัฐศึกผ่านยุคฉินมาจนถึงยุคฮั่น

เงื่อนปมหนึ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งของลัทธิเต้าตลอดห้วงที่ว่าก็คือ ความเชื่อเรื่องชีวิตอมตะ ดังที่จะเห็นได้ในกรณีจักรพรรดิฉินสื่อ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ที่ทรงฝักใฝ่ในเรื่องนี้

แต่หากกล่าวสำหรับทวยเทพที่เกี่ยวพันกับความเชื่อนี้แล้ว สมัยฉินกับฮั่นได้เชื่อในเทพที่มีนามว่า เทวีประจิมมารดร (ซีหวังหมู่, Queen Mother of the West)

โดยในยุคฮั่นตะวันตกเชื่อว่า เทวีองค์นี้สถิตอยู่ที่ภูเขาคุนหลุนอันเป็นขุนเขาที่เชื่อมต่อระหว่างสวรรค์กับโลก และยังเชื่อด้วยว่าผู้ที่เคารพสักการะเทวีองค์นี้จักมีชีวิตอมตะ ครั้นถึงยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ความเชื่อในชีวิตอมตะก็คลี่คลายไปอีกระดับหนึ่ง

 

อนึ่ง เทวีประจิมมารดรนี้มีสกุลว่า หยังโหว นามว่า หุย นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายนาม เช่น หวังหมู่เหนียงเนียง (เทวีราชมารดร) จินหมู่ (เทวีสุวรรณมารดร) เหยาฉือจินหมู่ (เทวีสระหยกสุวรรณมารดร) เหยาฉือเซิ่งหมู่ (เทวีสระหยกอริยมารดร)

ถือเป็นเทพผู้สูงสุดที่ปกครองเทพธิดา โดยมีเทพจักรพรรดิหยกหรืออี๋ว์เซียนฮว๋างตี้ (เง็กเซียนฮ่องเต้) เป็นเทพสูงสุดที่ปกครองเทพบุตร

นามของเทวีประจิมมารดรนี้ปรากฏครั้งแรกในอักษรกระดองเต่า-กระดูกวัว (เจี๋ยกู่เหวิน) ในสมัยซัง และเมื่อลัทธิเต้าคลี่คลายไปสู่ความเชื่อในเรื่องทวยเทพในชั้นหลังแล้วจึงถูกจัดเข้าไปอยู่ในสารบบเทพของลัทธินี้ในที่สุด

ปัจจุบันความเชื่อที่มีต่อเทวีประจิมมารดรมีปรากฏอยู่ในสังคมไทยด้วยเช่นกัน