เกษียร เตชะพีระ : “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้”

เกษียร เตชะพีระ

จู่ๆ ระหว่างตรวจข้อสอบไล่นักศึกษา ก็มีอดีตลูกศิษย์แคปข้อความใน Facebook หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีเพื่อนของเธอซึ่งจบคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และได้เคยเรียนวิชาปรัชญาการเมืองต่างๆ กับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ผม และอาจารย์เดชา ตั้งสีฟ้า (ซึ่งย้ายไปทำงานที่ศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยเกียวโตแล้ว) รำพึงถึงเราทั้งสามคนควบไปกับการชมถ่ายทอดสดประกวด Miss Universe ปีนี้รอบสุดท้ายตอนตอบคำถามกรรมการมาให้ดู

กำลังเบื่อเพลียจากการตรวจข้อสอบพอดี จึงรับคำท้าแล้วตั้งคำถามสมมุติแก่ผู้ประกวดนางงามหยอกกลับไปว่า :

“คุณคิดว่าในโลกนี้มีนางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้หรือไม่? ถ้าไม่มี เพราะเหตุใด? ถ้ามี เธอควรมีคุณสมบัติเช่นใดบ้าง? จะไปแสวงหาเธอได้ที่ไหน? อย่างไร? แล้วตัวคุณเองใช่นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้หรือไม่? เพราะเหตุใด? หากไม่มีและไม่พึงแสวงหานางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้แล้ว เราควรแสวงหานางงามประเภทใด? เพราะอะไร?”

คิดไม่ถึงว่าคำถามพิลึกโลกแตกเชิงปรัชญานี้จะไปโดนใจอดีตลูกศิษย์สิงห์แดงคนอื่นๆ และผู้ตามชมการประกวด Miss Universe ถึงขนาดว่ามีผู้มาเยี่ยมดูคำถามรับคำท้าของผมและกด like ไว้ถึง 2.7K คน แถมแชร์ไปอีก 1,009 คน (หลังโพสต์มา 1 วันกับอีก 4 ชั่วโมง) จนผมรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อโพสต์ดังกล่าว

ผมก็เลยตัดสินใจแนะแนวการตอบคำถามสำหรับนางงามไว้ในโพสต์ถัดๆ ไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจและกระตุ้นการคิดอ่านเชิงปรัชญาดังนี้ (ปรับปรุงเรียบเรียงไปบ้างเพื่อเหมาะแก่การลงคอลัมน์นี้นะครับ) :

“ผมออกจะแปลกใจว่าคำท้าและคำถามที่ตั้งเล่นๆ เพื่อคลายเครียดเอาฮาจะมีผู้สนใจเข้ามาชมและกด like เยอะแยะขนาดนี้ แน่นอนว่าในนั้นจำนวนไม่น้อยคงเป็นศิษย์เก่าสิงห์แดงธรรมศาสตร์ที่อาจเคยลงเรียนวิชา ร.210 ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น กับผมมาบ้างแล้ว ทำให้ผมเข้าใจว่าอันที่จริงผมก็มีเจ้ากรรมนายเวรอยู่ดาษดื่นพอสมควร

ตามธรรมเนียมครูที่ดี เมื่อตั้งคำถามแล้ว และมีผู้ตกตะลึงกับคำถามมากขนาดนี้ ก็ควรที่ผมจะชี้แจงแนะแนวในการคิดค้นเพื่อหาคำตอบบ้างสักเล็กน้อย

1)ขอให้สังเกตว่าปริศนาหลักในคำถามนี้ที่ให้คิดค้นคือ “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” (the best of all possible beauty pageants) ไม่ใช่ “นางงามผู้งามที่สุดที่เป็นไปได้” (the most beautiful of all possible beauty pageants)

ดังนั้น คำที่เป็นหัวใจคือ “ประเสริฐสุด” (the best) ไม่ใช่ “งามที่สุด” (the most beautiful)

สิ่งที่ต้องขบคิดจึงไม่ใช่เกณฑ์ความสวยงาม แต่เป็นเกณฑ์ความดีหรือความประเสริฐที่กว้างกว่า อาจรวมเรื่องอื่นมิติอื่น การพิจารณาคำนึงด้านอื่นที่มิใช่เรื่องความสวยงามเชิงกายภาพ (physical beauty) อย่างเดียวเข้าไว้ด้วย

ที่ผมจงใจเลือกตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพื่อขยายกรอบขอบเขตให้คิดออกไปได้กว้างขวางกว่าเรื่องความงามเชิงกายภาพเรื่องเดียว ไปถึงเกณฑ์ความดีงามหรือความประเสริฐอื่นๆ ได้ด้วย และเพื่อเลี่ยงจากเรื่องความสวยงามซึ่งจะพาเข้าไปสู่การถกเถียงในปริมณฑลของปรัชญาด้านสุนทรียศาสตร์ (aesthetics) ซึ่งผมไม่ถนัด

2)ถึงแม้ถ้อยคำที่ใช้จะใกล้เคียงกับคำว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” (the best of all possible worlds หรือในภาษาฝรั่งเศสว่า le meilleur des mondes possibles) ของการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ซึ่งเขียนโดย สตีเว่น ลุคส์ (ฉบับแปลไทยโดยผมตีพิมพ์ พ.ศ.2541) อันเป็นเรื่องราวการจาริกแสวงหา “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ดังกล่าวของศาสตราจารย์นิโคลาส การิทัต ตัวเอกของหนังสือที่ผมใช้เป็นตำราหลักในการสอนวิชาปรัชญาการเมืองนี้มายี่สิบปีต่อกันแล้ว แต่ถึงกระนั้น “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ก็ยังแตกต่างจาก “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” เพราะไม่มีอำนาจรัฐเข้ามายุ่มย่ามจัดการเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนในเรื่องหลัง

ในความหมายนี้ เราจึงสามารถหลีกเลี่ยงข้อวิวาทะทางการเมืองระหว่างลัทธิว่าด้วยโลกที่เป็นไปได้หลากหลายใบ (The Doctrine of Many Possible Worlds) ของนักปรัชญาเยอรมัน Gottfried Wilhelm Leibniz (ค.ศ.1646-1716) ที่ถูกใช้ไปรองรับอำนาจรัฐดังที่เป็นอยู่ (โลกที่เป็นอยู่จริงคือโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้เพราะพระเจ้าได้ทรงเลือกให้มนุษย์เรียบร้อยแล้ว…) vs. ข้อวิพากษ์ของ Voltaire นักปรัชญาฝรั่งเศส (ค.ศ.1694-1778) ในปรัชญานิยายเรื่อง ก็องดิดด์ ที่ว่า “Tout n”est pas le mieux dans le meilleur des mondes possible.” หรือ “ใช่ว่าสรรพสิ่งจะดีเลิศประเสริฐศรีในโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ก็หาไม่” – ไปได้

3)pitfalls (แปลตรงตัวได้เลยว่า “ตกหลุม”) ที่ควรต้องระวังอย่าพลาดไปเหยียบมันเข้าเสียแต่เนิ่นๆ ก็คือท่าทีสุดโต่ง 2 อย่างในการตอบคำถามนี้ ได้แก่

a) absolutism หรือสัมบูรณนิยม คือยืนกรานว่ามี “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” อย่างจริงแท้แน่นอนนางเดียว เหนือกว่านางอื่นใดทั้งหมด (ก็คือฉันนี่ไงยะ) กับ

b) relativism หรือสัมพัทธนิยม คือยืนกรานกลับกันว่าไม่มีหรอก “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” น่ะไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปเสียเวลาหา เพราะแต่ละประเทศชาติ/วัฒนธรรม/สังคม/ชุมชน ฯลฯ ก็มีมาตรฐาน “นางงามผู้ประเสริฐ” ของตัวเอง และไม่ควรเอามาเปรียบเทียบชั่งวัดว่าใครเหนือกว่าใคร เพราะมันเปรียบเทียบกันไม่ได้ ไม่สมควรเอามาเปรียบเทียบกัน ในทำนองของใครของมัน

ขณะที่คำตอบแบบสัมบูรณนิยมสะท้อนอาการโลกแคบและเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก (narrow-mindedness & self-centrism) คำตอบแบบสัมพัทธนิยมซึ่งดูเหมือนใจกว้างและเปิดกว้างกว่า ทว่าเอาเข้าจริงมันก็สะท้อนอาการขี้เกียจคิด มักง่ายทางความคิด และถูกสะกดให้หยุดชะงักไว้ไม่ต้องคิดต่อ ไม่ต้องสนทนาวิสาสะหาคำตอบกันต่อเช่นกัน

และที่ร้ายที่สุดคือทั้งคู่นำไปสู่จุดจบแบบอนุรักษนิยม (conservatism) เหมือนกัน (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) คือรักษาของเก่าของดั้งเดิมแบบที่มีไว้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องแสวงหาหรือพัฒนาปรับปรุงมันเพราะพัฒนาปรับปรุงมันไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะเพราะของเรานี่ประเสริฐสุดยอดที่สุดอยู่แล้ว ขืนไปปรับเปลี่ยนอะไรเข้าก็มีแต่แย่ลง (สัมบูรณนิยม) หรือเพราะจะไปปรับเปลี่ยนมันทำไม ของใครก็ของมัน ไม่เกี่ยวกัน แบบไทยๆ เราก็ดีอยู่แล้วสำหรับคนไทยเรา (สัมพัทธนิยม)

…แปลกไหม?

4)ทว่าหากใช้สปิริตของการิทัตในการแสวงหา “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” มาประยุกต์เข้ากับการตอบคำถามเรื่อง “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ก็คงเป็นว่าพึงแสวงหานางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ต่อไปเถิด (จัดประกวด Miss Universe ทุกปีไปเรื่อยๆ)

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ทว่าอย่าได้คิดว่าจะพบเธอเข้าเป็นอันขาด แสวงหาและจัดประกวดไปอยู่นั่นแหละ แต่อย่าติดความคิดว่าจะพบเธอ เพราะพบเธอเข้าเมื่อไหร่ก็เป็นอันเอวัง ยุติการแสวงหาและเข้ากรอบ สัมบูรณนิยม นำไปสู่ –> อนุรักษนิยม ทันที

5)พูดอีกอย่างก็คือ ประเด็นของการมีแนวคิด “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ไว้ในหัวนั้น ก็เพื่อจะได้มีความหวัง ความฝัน มีแรงกระตุ้นให้ดำเนินการแสวงหาต่อไป แต่แสวงหาเพื่อที่จะไม่พบ เพราะพบเข้าเมื่อไหร่ก็เป็นอันจบเห่ ปมเงื่อนและกระบวนการที่มีคุณค่าจึงมิใช่คำตอบสุดท้ายโดยตัวมันเอง แต่คือการแสวงหาผ่านการถกเถียง แลกเปลี่ยน และจัดประกวดปีต่อปีไปเรื่อยๆ ก็ได้ ไม่ต้องเลิก แต่ด้วยความเข้าใจว่ายังไม่มีคำตอบสุดท้าย หากเปิดให้มีการคิดค้นแลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็น “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุดยุตินั่นเอง

ข้อสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรให้การคิดค้นแลกเปลี่ยนถกเถียงหรือจัดประกวดนางงามเพื่อแสวงหา “นางงามประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” นี้ดำเนินไปอย่างโอบรับนับรวม, เสมอภาคและเปิดปลาย (inclusive, egalitarian & open-ended) กล่าวคือ

โอบรับนับรวมผู้คนทุกชาติภาษา เพศสภาพวัฒนธรรมสังคมชุมชนซึ่งมีเกณฑ์นางงามผู้ประเสริฐต่างๆ กันเข้ามาโดยไม่กีดกันแบ่งแยก

ให้พวกเขาได้ร่วมมีส่วนในการถกเถียงคิดค้นแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน (จะจัดการอย่างไรกับระบบกรรมการตัดสินการประกวด?)

และอย่างเปิดปลายคือไม่สรุปหาคำตอบสุดท้าย แต่อาจมีคำตอบชั่วคราวแต่ละปีที่สั่งสมความเข้าใจเรื่องนี้ต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้ (cumulative, progressive) ขณะเดียวกันก็เปิดรับความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างพลิกกลับ (paradigm shift) ไว้ด้วยเสมอ

ดังนั้น นางงามที่ถูกถามน่าจะตอบอย่างไร? ลองกลับไปอ่านและคิดทวนตั้งแต่ข้อ 1 มาถึง 5 ใหม่ ก็คงพอมีแนวบ้างกระมังครับ