เพ็ญสุภา สุขคตะ / รัศมีสุรีย์แสง : ลายทแยงมโหระทึก ถึงดินเผาหริภุญไชย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดิฉันได้พบร่องรอยการเชื่อมต่อระหว่างลวดลายบนกลองมโหระทึกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ กับลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผาสมัยหริภุญไชยตอนต้น ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14

นั่นคือความสัมพันธ์ของลวดลาย “รัศมีแฉกของพระอาทิตย์ที่กระจายรอบเป็นวงกลม”

จากการศึกษาเรื่องดินเผาสมัยหริภุญไชย ทำให้ดิฉันทราบว่า เส้นทางของกลองมโหระทึกนี้ไม่ได้สูญหายไปกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือมีการสืบสานเฉพาะด้านวัฒนธรรมสำริดเท่านั้น

หากแต่ลวดลายบนหน้ากลองมโหระทึกนั้น กลับมีพัฒนาการสืบต่อส่งอิทธิพลมายังภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชยอย่างชัดเจนอีกด้วย

 

มโหระทึกครึกโครม
เขียดก้องฆ้องกบ

“กลองมโหระทึก” มีชื่ออื่นๆ ว่า “กลองสำริดในวัฒนธรรมดองซอน” และ “ฆ้องกบ”

มูลเหตุที่เรียกว่า “กลองมโหระทึก” เนื่องจากตีแล้วเกิดเสียงดังกัมปนาทอึกทึกครึกโครม ว่ากันว่าจงใจจะให้สั่นสะท้านสะเทือนไปทั่วโลกธาตุเลยทีเดียว เป็นการกู่เพรียกให้ฟากฟ้ามาเป็นพยานรับรู้พิธีกรรมของผู้ตี

คำว่า “มโหระทึก” หรือ “หรทึก” นี้ ในปัจจุบันยังคงใช้ในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของราชสำนักสยาม ดังเช่นปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึง

“งานสมโภชสมุหะประธานทูลเผยใบศรี ญาณประกาศถวายโศลก อิศรรักษาถวายพระศรีเกตฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก”

ส่วนการเรียกว่า “กลองสำริดในวัฒนธรรมดองซอน” นั้น ก็เนื่องมาจากเป็นกลองที่ทำด้วยวัสดุประเภทโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก อีกทั้งยังพบครั้งแรกในบริเวณลุ่มแม่น้ำซองมาแห่งเมืองดองซอนทางเวียดนามเหนือ (ปัจจุบันอยู่ทางใต้ของเมืองกวางบินห์)

ในทางโบราณคดีนั้นเรามักยึดเอา “ชื่อหลุมขุดค้นหรือชื่อเมือง” ที่พบโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นครั้งแรกมาใช้เป็นชื่อเรียกสมัยศิลปะหรืออารยธรรมของแต่ละยุค

ดังนั้น แม้ว่าต่อมาภายหลังเราจะได้พบกลองมโหระทึกอีกมากมายในประเทศอื่นๆ แถบอุษาคเนย์นอกเหนือไปจากเวียดนาม อันประกอบด้วย จีนตอนใต้แถบมณฑลยูนนาน และรอบบริเวณอ่าวตังเกี๋ย มาจนถึงกัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย ลาว และพม่า

แต่เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ “แหล่งโบราณคดีที่ขุดพบเป็นครั้งแรก” จึงอนุโลมให้เรียกกลองมโหระทึกว่า “กลองสำริดดองซอน” เหมือนๆ กัน อย่าลืมว่าในสังคมบรรพกาลนั้นยังไม่มีเส้นแบ่งแยกพรมแดนเหมือนในปัจจุบัน

ในขณะที่ชาว “ไต” ในเขตสิบสองปันนา พม่า และภาคเหนือของไทยเรียกกันว่า “ฆ้องกบ” เพราะเหตุว่านิยมปั้นรูปกบหรือเขียดแปะอยู่บนหน้ากลอง

การพบกลองมโหระทึกที่กระจัดกระจายตามภูมิสถานต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงภาพเคลื่อนไหวของกลุ่มชนดั้งเดิมในอดีตกาลที่พยายามเสาะแสวงหาแผ่นดินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น และในการเดินทางแต่ละครั้งย่อมต้องนำกลองมโหระทึกติดตัวไปด้วยทุกหนทุกแห่ง

สันนิษฐานออกเป็นสองประเด็น

ประเด็นแรก อาจอพยพถิ่นฐานจากชายทะเลน้ำท่วมถึงไปสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ที่มีความมั่นคงกว่า

หรือในทางกลับกัน อาจโยกย้ายมาจากถิ่นที่ราบสูงทุรกันดารแล้วมุ่งหน้าสู่แหล่งน้ำตามชายทะเลหรือลุ่มแม่น้ำเพื่อการกสิกรรม

 

กลองมโหระทึก ใช่แค่ตีขอฝน

กลองมโหระทึกถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคสำริดต่อเชื่อมกับยุคเหล็ก ราว 3,000 ปีมาแล้ว

กล่าวกันเฉพาะแต่ในเมืองไทย พบ “ฆ้องกบ” กระจัดกระจายมากถึงเกือบ 30 ใบ ตามจังหวัดต่างๆ ดังนี้

ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ น่าน เชียงราย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และกาญจนบุรี

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมกลองมโหระทึกได้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร ในเขตจังหวัดที่ได้ระบุนามมาทั้งหมด

ยกเว้นของเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในวิหารวัดเกาะ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ วันดีคืนดี ทางวัดก็เอาเก็บบรรจุไว้ในพระเจดีย์ โดยไม่ได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบ

ส่วนลำพูนนั้น เป็นกลองยุคหลังราว 500-600 ปี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เวียงเกาะกลาง อำเภอป่าซาง กับพิพิธภัณฑ์ในวัดพระธาตุหริภุญชัย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความมุ่งหมายของการผลิตกลองมโหระทึกด้วยวัสดุหนาหนักและมีขนาดมโหฬารจำนวนมากมายเช่นนี้ มีมูลเหตุมาจากสิ่งไร ผู้รู้ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้มากมายหลายประเด็น

๏ ใช้เป็นสมบัติเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งและสถานภาพในสังคม โดยถือว่าหากผู้ใดมีกลองมโหระทึกใบใหญ่จะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำหมู่บ้าน เป็นผู้ที่เพื่อนบ้านให้ความเคารพยำเกรง ในปัจจุบันนี้ชาวข่าละเม็ต กลุ่มชนผู้ยังชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอยตามแถบภูเขาในลาว ยังคงใช้กลองมโหระทึก (ซื้อมาจากกะเหรี่ยง) เป็นเครื่องแสดงความมั่งคั่งของชนชั้นหัวหน้า ถ้าผู้ใดมีกลองมโหระทึก 2 ใบ ควาย 2 ตัว จะได้รับคัดเลือกให้เป็น “เล็ม” อันเป็นตำแหน่งคล้ายๆ ขุนนางที่ไม่มีการสืบสกุล

๏ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เนื่องจากเรามักพบเศษกลองมโหระทึกปะปนกับเครื่องใช้สำริดฝังไว้ในหลุมศพ แสดงว่าต้องเป็นสิ่งของที่อุทิศให้กับผู้ตายอย่างไม่ต้องสงสัย โดยพวกญาติจะช่วยกันทุบกลองประจำตัวของผู้ตายให้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วนำใส่ลงในหลุมศพ หมายความว่ากลองใบนี้ได้ถูกฆ่าให้ตายตามเจ้าของไปแล้ว ไม่มีการซื้อขายต่อ ญาติได้จัดการส่งวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในกลองใบนั้นมิให้ล่องหนหายไปไหน

๏ ใช้ในการ “เลี้ยงผี” ชนพื้นเมืองบางกลุ่มในเวียดนามตอนเหนือ เช่น พวกยางแดง เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายลง พวกลูกหลานจะนำกลองมโหระทึกมาแขวนเหนือศพ ทุกครั้งที่นำอาหารไปเซ่นให้แก่ผู้ตายก็จะตีกลองให้ดังกระหึ่ม เป็นการเรียกวิญญาณของผู้ตาย ซึ่งเชื่อกันว่าได้แปลงร่างกลายเป็นนก โปรดสังเกตว่าบนหน้ากลองนิยมตกแต่งด้วยรูปนก และลวดลายแปลกๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยเวทมนตร์ทางไสยศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้ตายคอยช่วยเหลือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

๏ ใช้ตีเป็นสัญญาณในคราวออกสงคราม ข้อนี้ชวนให้นึกถึงการลั่นกลอง “นันทเภรี” หรือ “กลองปูชา” (ปู่จา) ในวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งถือว่าบางขณะสามารถประยุกต์ใช้ทำหน้าที่เป็นกลองศึกหรือกลองรบได้เช่นเดียวกัน

๏ ใช้ตีประกอบพิธีขอฝน บนกลองมักทำภาพประกอบเป็นรูปกบ หอยทาก ช้าง จักจั่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขอฝนทั้งสิ้น

๏ พิธีสังเวยกลองข้าว ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผล พวกข่าละเม็ตในลาวและพวกเหยอะจะตีฆ้องกบขณะนวดข้าวและเกี่ยวข้าว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของธัญญาหาร

๏ ใช้ตีชุมนุมเทวดา รักษาไข้ ขับไล่ภูตผีปีศาจ นอกเหนือจากลายรูปสัตว์ประเภทนกหรือกบเขียดแล้ว กลองบางใบยังนิยมทำเป็นกลุ่มคนประดับตกแต่งด้วยขนนกนั่งพายเรือ หัวนกน่าจะเป็นเครื่องหมายของบรรพบุรุษ และเรือย่อมหมายถึงพาหนะที่ตามหาวิญญาณของคนป่วยหรือคนตาย ประเพณีนี้ยังมีใช้ในหมู่กะเหรี่ยง และเผ่ามวงในพม่า โดยพวกนี้จะเก็บกลองไว้บนต้นไม้ หน้าบ้านหมอผี ใช้ตีตอนสาวท้องแก่ใกล้คลอดเพื่อขับไล่ไม่ให้ภูตผีปีศาจมาลักขโมยเด็ก

๏ ใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีแต่งงาน พิธีออกล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ ชาวยูนนานในทุกวันนี้ยังมีความเชื่อว่าน้ำทะเลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ก่อนออกทะเลจำต้องทำพิธีบูชาขอขมาต่อแม่ทะเลก่อน

จะเห็นได้ว่า บทบาทของ “กลองมโหระทึก” นั้นทำหน้าที่แบบ “อเนกประสงค์” หรือแบบเบ็ดเสร็จภายในใบเดียว มีความผูกพันกับมนุษย์ในสังคมเกษตรยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เรียกได้ว่านับแต่วันแรกคลอดจนถึงวันตายเลยทีเดียว และที่น่าทึ่งก็คือ

กลองมโหระทึกเป็นอารยธรรมร่วมของสังคมดั้งเดิมอินโดจีนในยุคโลหะที่ยังคงใช้สืบทอดในหมู่ชนกลุ่มน้อยสิบสองปันนาจวบจนทุกวันนี้

สัปดาห์หน้าจะมาว่าถึงเรื่อง “ลวดลายรัศมีแฉกพระอาทิตย์” ของกลองมโหระทึกที่ส่งอิทธิพลให้แก่ภาชนะดินเผายุคหริภุญไชยกันต่อ