ขอบคุณข้อมูลจาก | เงาตะวันออก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 ธ.ค. 58 |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักเต้าหลังเหลาจื่อ : จวงจื่อ (ต่อ)
ในฐานะนักปรัชญาเต้ายุคหลังเหลาจื่อ จวงจื่อก็ไม่ต่างไปจากนักปรัชญาสำนักอื่นในชั้นหลัง ที่ได้พัฒนาหลักคิดของสำนักเต้าให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งจนมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และในกรณีจวงจื่อความโดดเด่นนี้จะเห็นได้จากปกรณ์ที่มีว่า จวงจื่อ
เช่นเดียวกับปกรณ์อื่นๆ ทั้งยุคก่อนหน้าและร่วมสมัยเดียวกับจวงจื่อ ที่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าปกรณ์ จวงจื่อ นี้จวงจื่อเขียนเองกี่บทและผู้อื่นร่วมเขียนกี่บท แต่นักปรัชญาปัจจุบันเห็นว่าปกรณ์เล่มนี้เป็นหนังสือที่รวมผลงานของนักปรัชญาเต้าทั้งสามยุค คือยุคหยางจู เหลาจื่อ และจวงจื่อเข้าด้วยกัน โดยมีหลักคิดของจวงจื่อซึ่งเป็นยุคที่สามและเป็นยุคก่อนราชวงศ์ฉินโดดเด่นที่สุด
และที่เห็นได้ชัดก็คือ แม้จะเชื่อได้ว่าจวงจื่อน่าจะมีส่วนเขียนปกรณ์เล่มนี้ก็ตาม แต่หลายส่วนก็เห็นได้ว่าศิษย์ของเขาคงมีส่วนอยู่ไม่น้อย
เพราะมีบางบทใน จวงจื่อ ที่กล่าวถึงกงซุนหลงแห่งสำนักนาม (หมิงเจีย) ที่มีชีวิตยุคหลังจากจวงจื่ออยู่ด้วย (ทั้งนี้ คงไม่ลืมด้วยว่าจวงจื่อเองก็มีฮุ่ยซือแห่งสำนักนามเป็นเพื่อนด้วย)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับที่มาของปกรณ์เล่มนี้ แต่ก็ชัดเจนว่าปกรณ์ จวงจื่อ ที่ใช้ศึกษาอ้างอิงในทุกวันนี้คือฉบับที่มีการชำระเมื่อศตวรรษที่ 3 หรือสมัยราชวงศ์ฮั่น
และผู้ชำระคือนักปรัชญาที่มีนามว่า กวอเซี่ยง โดยบันทึกในสมัยนี้ระบุว่า เดิมทีปกรณ์เล่มนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 52 บท พอตกมาถึงช่วงที่กวอเซี่ยงทำการชำระนั้นเหลือเพียง 33 บท
ในบรรดานี้แบ่งเป็นส่วนที่เรียกว่า “สมุดใน” (เน่ยเพียน) ซึ่งจะมีอยู่ 7 บทและเชื่อกันว่าน่าจะเขียนโดยจวงจื่อ
ส่วนที่เหลืออีก 26 บทเรียกว่า “สมุดนอก” (ว่ายเพียน) ซึ่งเชื่อกันว่าเขียนโดยศิษย์ของเขาและสาวกสำนักเต้าในชั้นหลัง จนเป็น จวงจื่อ ที่ตกทอดมาจนทุกวันนี้
กล่าวในแง่ของหลักคิดของจวงจื่อในฐานะปราชญ์แห่งสำนักเต้าแล้ว ควรเริ่มจากส่วนเสี้ยวหนึ่งอันเป็นที่เล่าขานกันในประวัติของเขาเอง
ประวัติในส่วนเสี้ยวนี้หากปรากฏแต่ใน จวงจื่อ ก็อาจคิดได้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกผูกขึ้นมา แต่ความจริงคือได้ไปปรากฏอยู่ใน สื่อจี้ ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ประวัติในส่วนนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นเรื่องจริง ประวัติในส่วนเสี้ยวนี้มีว่า
“คราหนึ่ง จวงโจวนั่งตกปลาอยู่ริมน้ำผู่ กษัตริย์เวยแห่งรัฐฉู่ (ฉู่เวยหวัง) ทรงส่งทูตพร้อมเครื่องกำนัลมีค่ามอบแด่จวงโจวเพื่อเชื้อเชิญมาเป็นขุนนาง ครานั้น จวงโจวยังคงตกปลาไม่แม้แต่เมียงมองมาที่ทูต หากเอื้อนเอ่ยว่า ยินว่ารัฐฉู่มีเต่าศักดิ์สิทธิ์ที่ตายมานานสองพันปี กษัตริย์ทรงห่อซากเต่านี้ด้วยผ้าต่วนล้ำค่าแล้วจัดใส่กล่องอย่างประณีต จากนั้นทรงตั้งไว้บูชาในศาลบรรพชน
“ถามว่า เต่าตัวนี้พึงตายแล้วทิ้งกระดองไว้บูชา หรือพึงมีชีวิตอยู่แล้วกระดิกหางเล่นในโคลนตม ทูตตอบว่า เต่าพึงมีชีวิตและกระดิกหางอยู่ในโคลนตม จวงโจวจึงว่า ชอบแล้ว เชิญท่านทูตกลับไปเถิด ข้าพเจ้าเองก็ปรารถนากระดิกหางเล่นในโคลนตมเช่นกัน”
ประวัติที่มีสีสันในส่วนเสี้ยวนี้บอกให้รู้ว่า จวงจื่อไม่ปรารถนาในตำแหน่งทางการเมือง หากปรารถนาชีวิตอยู่คู่กับธรรมชาติมากกว่า
ธรรมชาติในทัศนะของจวงจื่อมักเป็นหลักคิดแรกๆ ที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ หลักคิดนี้อาจแบ่งอธิบายได้ 2 ด้านด้วยกัน
ด้านแรก เป็นเรื่องการเมืองกับธรรมชาติ
อีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องชีวิตกับธรรมชาติ ในด้านแรก จวงจื่อมีทัศนะไม่ต่างกับปราชญ์สำนักเต้ายุคก่อนหน้าเขา นั่นก็คือ การหลีกลี้จากเรื่องทางโลก
และการเมืองในฐานะที่เป็นเรื่องทางโลกที่ใหญ่ที่สุด จึงยิ่งควรที่จะหลีกลี้ให้มากที่สุด
ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นซึ่งจะเห็นได้ว่า จวงจื่อมิได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งทางการเมืองแม้แต่น้อย ชีวิตทางการเมืองไม่ต่างกับชีวิตที่ตายซากของเต่า ที่แม้กระดองของมันจะได้รับการเคารพบูชาจากผู้คน แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้ลมหายใจและตายซากไปแล้ว
สู้มีชีวิตเป็นเต่าที่ได้เที่ยวกระดิกหางเล่นในโคลนตมไม่ได้ ที่แม้จะสกปรกอยู่ในตมแต่ก็มีความสุข และเป็นความสุขที่แท้
ส่วนอีกด้านหนึ่งที่เป็นชีวิตกับธรรมชาตินั้น จวงจื่อเห็นว่าชีวิตควรดำเนินไปโดยไม่ฝืนธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากบท “ชิวสุ่ย” (สารทฤดูอุทก) ใน จวงจื่อ ที่กล่าวว่า “ม้าและวัวมีสี่ขา ข้าพเจ้าหมายถึง ฟ้า การสนตะพายม้าและวัว ข้าพเจ้าหมายถึง มนุษย์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงว่าอย่าปล่อยให้มนุษย์ลบล้างฟ้า”
ความหมายในเบื้องต้นจึงคือ ฟ้าเท่ากับธรรมชาติ เพราะการที่ม้าและวัวมีสี่ขานั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในเมื่อม้าและวัวมีสี่ขาคือฟ้า ฟ้าจึงคือธรรมชาติในทัศนะของจวงจื่อ และการที่เขาเห็นว่าการสนตะพายม้าและวัวคือมนุษย์ก็เพราะนั่นคือการกระทำ ที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่กระทำได้
ด้วยเหตุนี้ การที่จวงจื่อระบุว่าอย่าให้มนุษย์ทำลายฟ้าจึงหมายถึง การทำลายฟ้าเท่ากับทำลายธรรมชาติ และผู้ที่ทำลายฟ้าหรือธรรมชาติในทัศนะของจวงจื่อก็คือ มนุษย์
แน่นอนว่า การทำลายธรรมชาติย่อมมิใช่เรื่องดี และจะด้วยเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายก็ตาม จวงจื่อได้ยกเอาเรื่องที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้มาเป็นตัวอย่างมากกว่าหนึ่งครั้งในการอธิบาย เรื่องที่ว่านี้ปรากฏในบทที่ว่าด้วย “จื้อเล่อ” (สุขที่แท้) ใน จวงจื่อ ความว่า
“อยู่มาคราวหนึ่ง ได้ปรากฏนกทะเลขึ้น ณ เมืองหลวงของรัฐหลู่ พญาหลู่ (หลู่โหว) จึงไปรับมาไว้ยังศาลบรรพชน และจัดงานฉลองต้อนรับแด่นกทะเล มีการขับบรรเลงด้วยคีตะจิ่วเสา มีเนื้อแพะหมูวัวจากพิธีบูชายัญมาเลี้ยงดู แต่นกทะเลกลับเปล่าเปลี่ยวและงงงัน ทั้งมิสัมผัสอาหารและสุราแม้สักชิ้นหรือสักอึก สามวันผ่านไปนกทะเลก็สิ้นชีพ เหตุเพราะได้บำรุงเลี้ยงดูนกด้วยสิ่งที่ใช้เลี้ยงดูมนุษย์
“หากแม้นปรารถนาเลี้ยงดูนกด้วยสิ่งที่เลี้ยงดูนกแล้วไซร้ก็พึงปล่อยนกเข้าสู่พงไพรพนาลึก ให้ท่องไปตามชายฝั่งและเกาะแก่ง ลอยเหนือท้องทะเลสาบ เสาะหาปลาน้อยใหญ่เป็นอาหาร โบยบินไปกับฝูงนก พักผ่อนและใช้ชีวิตดังใจปรารถนา”¹
เหตุดังนั้น จวงจื่อจึงเห็นว่ามนุษย์ไม่เพียงไม่ควรทำลายธรรมชาติเท่านั้น หากยังต้องรู้จักและปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติให้ได้จึงจะประเสริฐ
ถึงแม้จวงจื่อจะให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และมิได้สนใจที่จะมีบทบาททางการเมืองก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าจวงจื่อจะมิได้เสนอแนวทางการปกครองที่ดีไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจดูได้จากบท “เทียนเต้า” (วิถีฟ้า) ใน จวงจื่อ ที่จวงจื่อเห็นว่า…
…ก่อนอื่น ผู้ที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเต้าที่ยิ่งใหญ่จะต้องแจ่มแจ้งในฟ้า เมื่อแจ่มแจ้งแล้วก็จะแจ่มแจ้งในเมตตาและคุณธรรม ต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ ต่อรูปและชื่อ ต่อการมอบหมายงานอันเหมาะสม ต่อการตรวจสอบผลงานอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ต่อการตัดสินถูกกับผิด ต่อการให้รางวัลและการลงโทษ ต่อการแยกให้คนโง่เขลาและคนมีปัญญาอยู่ในที่ที่เหมาะสม และคนสูงส่งกับคนต่ำต้อยอยู่ในที่ที่ถูกต้อง เช่นนี้แล้วคนดีงามกับคนไร้ค่าก็จักแสดงรูปที่แท้ของตน ทุกคนมีหน้าที่ที่เหมาะสมกับความสามารถ และปฏิบัติได้สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ของตน…
จากนั้นจวงจื่อก็ประมวลความแจ่มแจ้งในบทบาททางการเมืองดังกล่าวว่า “ถึงกระนั้นทุกสิ่งก็พำนักอยู่ในฟ้า นี่จึงเรียกว่าสันติภาพอันยิ่งใหญ่ การปกครองที่สูงส่งที่สุด”
สรุปแล้ว ฟ้าหรือธรรมชาติยังคงมีความสำคัญสูงสุดสำหรับจวงจื่อ
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ จวงจื่อได้เอ่ยถึง “รูปและชื่อ” ด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ในย่อหน้าถัดไปของบทเดียวกันนี้จวงจื่อได้อธิบายขยายความว่า ก่อนที่จะพูดถึง “รูปและชื่อ” นั้นควรเข้าใจถึงขั้นตอนการสู่ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) เสียก่อน หาไม่แล้วก็จะเท่ากับไม่เข้าใจถึงการเริ่มต้น
ผู้ที่ข้ามขั้นมาพูดเกี่ยวกับ “รูปและชื่อ” เข้าใจแต่เครื่องมือการสร้างระเบียบ แต่ไม่เข้าใจหนทางที่นำไปสู่
ดังนั้น แม้เขาจะรับใช้โลก แต่ก็ไม่มีคุณค่าพอที่จะให้โลกรับใช้ จากนั้น จวงจื่อก็ระบุถึงกลุ่มคนเหล่านี้ว่าคือ “บรรดานักวาทศิลป์ที่ชอบเล่นลิ้นสำแดงโวหาร พิธีกรรมและกฎหมาย การชั่งตวงวัด”
จากถ้อยคำเรียกขานและเหตุผลที่จวงจื่อใช้นี้ดูจะตรงกับกลุ่มคนในสำนักนามก็ได้ สำนักหญูก็ได้ หรือสำนักนิตินิยมก็ได้
แท้ที่จริงแล้วจวงจื่อกำลังวิจารณ์หลักคิดของสำนักเหล่านี้ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมนั้นเอง
เชิงอรรถ
¹อนึ่ง จิ่วเสาคือคำเรียกคีตะประเภทหนึ่ง เชื่อกันว่ามีมาแต่สมัยกษัตริย์ซุ่น ผู้เป็นหนึ่งใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ”