ก่อนจะมี ‘บางกอกคณิกา’ กรุงศรีอยุธยามี ‘หญิงนครโสเภณี’

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพจิตกรรมภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ (ภาพจาก ธัชชัย ยอดพิชัย)

ไม่ใช่แค่ใน “บางกอก” สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มี “คณิกา” (ซึ่งก็คือ ผู้ขายบริการทางเพศ โดยมักจะเฉพาะเจาะจงถึงเพศหญิง และอาจเรียกด้วยคำศัพท์ที่ต่างๆ กันไปได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น โสเภณี, หญิงงามเมือง ฯลฯ) เพราะมีปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว

ใน “พระไอยการลักษณผัวเมีย” (ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยเรื่องผัวๆ เมียๆ) ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ส่วนที่ถูกตราขึ้นใน พ.ศ.1904 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ที่มักเรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์ของอยุธยา มีคำว่า “หญิงนคระโสเพนี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับโบราณ) ปรากฏอยู่แล้ว

หมายความว่า มีการค้าประเวณีอย่างเป็นที่รับรู้กันทั่วไปมาตั้งแต่ยุคแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา

และที่จริงก็ควรก็มีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นนั่นแหละครับ

 

ว่ากันว่า คำว่า “นครโสเภณี” นี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า “หญิงงามเมือง” เพราะโดยรากศัพท์แล้ว “โสเภณี” แปลว่า “หญิงงาม” ส่วน “นคร” แปลว่า “เมือง” รวมความเป็นหญิงงามเมือง โดยอ้างกันว่ามีที่มาจาก อินเดีย ที่หญิงงามเมืองมีฐานะเป็นหน้าเป็นตาของเมืองในฐานะที่มีหญิงงามไว้ปรนนิบัติแขกบ้านแขกเมืองมาก่อน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า หญิงงามเมืองในอยุธยาจะมีฐานะแบบเดียวกันกับหญิงงามเมืองของอินเดียในอดีต

บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามของ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loub?re) อัครราชทูตชาวฝรั่งเศส ผู้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอยุธยา ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อระหว่าง พ.ศ.2230-2231 ที่รู้จักกันในชื่อ “จดหมายเหตุลา ลูแบร์” เป็นหนึ่งในจำนวนเอกสารไม่กี่ชิ้นที่ทำให้เราทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าประเวณีในราชอาณาจักรอยุธยา โดยมีข้อความระบุว่า

“บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่น เจ้ามนุษย์อัปปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา เรียกกันว่าออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่จะไปติดต่อด้วย”

 

ข้อความข้างต้นสะท้อนถึงความเห็นของลา ลูแบร์ ที่มีต่อธุรกิจหญิงงามเมืองแน่ แต่อาจจะไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิด หรือทัศนคติทั้งหมดของชาวอยุธยาในสมัยนั้น

เพราะบันทึกทางประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ตาม แม้ว่าจะพยายามรวบรวม หรือเรียบเรียงเรื่องราวอย่างเป็นกลางที่สุด แต่ก็ไม่อาจจะแสดงถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ หากแต่เป็นเพียงความคิดเห็น หรือข้อสรุปจากมุมมองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น

ดังที่ในจดหมายเหตุลา ลูแบร์ ฉบับเดียวกันนี้เอง ก็ได้บันทึกเรื่องการรับมรดกของแม่ม่าย และของลูกๆ ว่าเมื่อชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้สิ้นชีวิตลงแล้ว เอาไว้ว่า

“มรดกจะตกอยู่แก่ภรรยาหลวงทั้งสิ้น แล้วก็ถึงบุตรภรรยาหลวงเป็นผู้ได้รับมรดกจากบิดามารดาโดยเสมอภาคกัน แต่ผู้เป็นภรรยาน้อย หรือบุตรภรรยาน้อยนั้น ผู้เป็นทายาทอาจขายให้ไปเป็นทาสผู้อื่นเสียก็ได้ ส่วนบุตรีที่เกิดแต่ภรรยาน้อย ก็จะถูกขายส่งไปเป็นภรรยาน้อยเขาตามเหล่ากอต่อไป คนที่มีอำนาจวาสนามาก ก็จะเลือกซื้อแต่ที่มีรูปร่างงดงาม โดยไม่คำนึงถึงว่าหญิงสาวนั้นจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร”

เอาเข้าจริงแล้ว ชาวอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ จึงอาจจะไม่ได้เห็นว่าออกญามีนท่านอัปรีย์อย่างคำของลา ลูแบร์ก็ได้นะครับ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความอีกตอนหนึ่งที่ลา ลูแบร์บันทึกไว้ ยิ่งช่วยขยายความเข้าใจเรื่องที่ว่าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีข้อความว่า

“ถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้นเป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่า ชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง 600 นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่ง บุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย”

ข้อความตอนนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า การที่ออกญามีนทำธุรกิจการค้าประเวณีไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เพราะต้องเสียภาษีแก่กษัตริย์ ซ้ำใครที่ลา ลูแบร์ ท่านเรียกว่า “มีน” นั้น ก็มียศเป็นถึง “ออกญา” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาเองเป็นผู้พระราชทานให้ต่างหาก

 

น่าสงสัยนะครับว่า หญิงงามเมืองเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะแค่ให้บริการทางเพศ แต่อาจจะมีหน้าที่เอนเตอร์เทนแขกเหรื่อด้วยศิลปวิทยาอย่างอื่นๆ พ่วงอยู่ด้วย

ยิ่งในพระไอยการลักษณผัวเมีย ที่ผมอ้างถึงตั้งแต่ต้นจำแนกหญิงงามเมืองร่วมอยู่กับ “หญิงคนขับรำ หญิงเทียวขอทานเลี้ยงชีวิตร แลหญิงนคระโสเพณี” ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พวกเธอถูกจำแนกรวมอยู่กับสาวๆ สายเอนเตอร์เทนเนอร์ หรืออย่างที่ในปัจจุบันเรียกว่า “เด็กเอ็น” นี่แหละ

(วณิพกที่ขายศิลปะแลกเงินตราหรืออาหาร มีอยู่ในวัฒนธรรมธรรมใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอยุธยาอย่างจีนแน่ แต่ไม่มีหลักฐานชัดว่ามีในอยุธยาหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม ข้อความตอนนี้ไม่น่าจะหมายถึงยาจกที่นั่งขอทานเฉยๆ เพราะมีหญิงคนขับรำ และหญิงงามเมืองขนาบอยู่ทั้งสองข้าง)

แน่นอนว่า ศิลปวิทยาเหล่านี้ควรจะได้รับการฝึกฝน หรือสืบทอดมาจากในบ้านขุนนาง และไม่มีทางสืบทอดได้จากบ้านของตาสีตาสาที่ไหน

แต่ก็เป็นที่แน่นอนอีกเช่นกันว่า รูปแบบของหญิงนครโสเภณีเหล่านี้คงจะมีวิธีให้บริการในหลากรูปแบบ และหลายระดับ เพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนทางสังคมมากพอสมควร

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าประเวณีที่อยู่ในเอกสารของลา ลูแบร์ ยังไม่สามารถตอบคำถามได้อีกมาก เช่น ในสมัยพระนารายณ์อยุธยามีซ่องเฉพาะของออกญามีนแห่งเดียวหรือ? ถ้ามีซ่องแห่งอื่นจะหรูหรามีระดับอย่างซ่องของออกญามีนหรือไม่? หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่า แล้วถ้าชายฉกรรจ์เกิดอยากจะไปซ่องที่ว่าขึ้นมาล่ะ มันอยู่ที่ไหน?

 

เอกสารเรื่อง “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ซึ่งก็คือบันทึกจากคำให้การของบรรดาเจ้านาย ขุนนางใหญ่น้อยของอยุธยาที่ถูกนำตัวไปเป็นเชลยศึกที่พม่าหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 มีข้อความเกี่ยวกับการค้าประเวณีในอยุธยาระบุว่า

“ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครชัย มีหญิงละครโสเพณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย”

“คลองขุนละครชัย” ที่ว่านี้คือ “คลองตะเคียน” อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นย่านแขกจาม มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่ถึงแม้ว่าจะมี “ตลาดจีน” มาโผล่อยู่ในย่านแขกก็ไม่เห็นจะแปลกเลยนะครับ ก็ขนาดในสมัยกรุงเทพฯ แค่ร้อยกว่าปี พวกแขกที่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย อาศัยอยู่แถบริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ฟากธนบุรี บริเวณตั้งแต่ย่านวงเวียนเล็ก เรื่อยไปจนถึงย่านคลองสาน (ที่เรียกว่า แขกย่านตึกแดงตึกขาว) ก็ยังขยายตัวออกมาสร้างตลาดพาหุรัด ซึ่งที่จริงแล้วคือส่วนปริมณฑลของย่านสำเพ็งของชาวจีนมาก่อนได้เลย

แล้วนับประสาอะไรกับกรุงศรีอยุธยาที่อยู่มาตั้ง 417 ปี?

ภาพถ่ายหญิงไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ที่น่าจะเป็น “หญิงโคมเขียว” (ฉายาของหญิงนครโสเภณีที่ได้มาเนื่องจากโคมไฟที่แขวนไว้หน้าสถานที่ที่จัดขึ้นไว้เพื่อการค้าประเวณีในอดีตล้วนใช้โคมไฟกระจกเขียว)

และต้องอย่าลืมด้วยว่า เอกสารที่เรียกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะมาพรรณนาว่า ในกรุงศรีอยุธยามีซ่องอยู่ตรงไหนบ้าง?

คนให้การเขาก็แค่เล่าถึงเฉพาะที่ที่เขานึกออก หรือโด่งดัง

ไม่ได้แปลว่า ตลาดอีก 64 แห่งภายในเกาะเมือง และอีกเกือบ 30 แห่งนอกเกาะเมืองจะไม่มีผู้หญิงคนอื่นรับจ้างกระทำชำเราบุรุษอีกแล้วเสียหน่อย?

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณคลองขุนละครชัย หรือคลองตะเคียนนั้น ก็ถือเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะอยู่ใกล้ป้อมเพชร อันเป็นป้อมที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา

และหากยืนหันหลังให้กับป้อมเพชร แล้วมองออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยลงไปทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็จะเห็นได้ถึงย่านการค้าขนาดใหญ่สองแห่งภายนอกเกาะเมือง ที่ถูกตัดแยกออกจากกันด้วยสายน้ำเจ้าพระยานั่นเอง

ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา ภาพที่จะเห็นทางด้านซ้ายมือ เป็นตลาดขนาดใหญ่ ผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นเป็นชาวจีน โดยเฉพาะ “ชาวจีน” ตลอดลำแนว “คลองสวนพลู” มี “วัดพนัญเชิง” เป็นศูนย์กลาง

ส่วนทางด้านขวามือนั้น ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ไม่แพ้กัน ที่วางตัวเรียงรายไปตลอดลำ “คลองตะเคียน” ผู้คนที่นั่นส่วนใหญ่เป็นชน “ชาวมุสลิม” ที่มี “มัสยิดตะเกี่ย” เป็นศูนย์กลาง

ภาพประกอบเนื้อหา – สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยที่ในตลาดทั้งสองฟากนั้น มี “สถานรับชำเราบุรุษ” ไว้สำหรับบริการกะลาสีเรือที่เดินทางมาจากแดนไกล ฟากฝั่งซ้ายที่คลองสวนพลู เรียกหญิงนครโสเภณีเหล่านี้ด้วยศัพท์สแลงภาษาจีนฮกเกี้ยนที่เรียกหญิงขายบริการว่า “หลกท่ง” คนอยุธยาเรียกเพี้ยนเป็น “ดอกทอง”

ไม่ต่างจากที่อีกฟากข้างทางฝั่งคลองตะเคียนทางขวามือ เรียกผู้หญิงเหล่านี้ด้วยศัพท์สแลงในภาษาฮินดี ของชาวอินเดียว่า “โฉกกฬี” แล้วชาวอยุธยาเรียกเพี้ยนเป็น “กะหรี่” ในทำนองเดียวกับที่ในยุคกรุงเทพฯ เคยมีผู้หญิงขายบริการอยู่ที่ย่านสำเพ็งมาก จนทำให้เกิดศัพท์สแลงอย่าง “อีสำเพ็ง” นั่นแหละ

เป็นอันว่าเราพอจะรู้แหล่งทำกินของบรรดาหญิงงามเมืองว่าอยู่ในตลาด อย่างน้อยที่สุดก็หนึ่งแห่งในอยุธยา อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปไปได้เลยว่า ภายในตลาดอีก 64 แห่งในเกาะเมือง และอีกเกือบ 30 แห่งรอบเกาะเมืองจะไม่มีซ่องให้หญิงสาวรับจ้างชำเราแก่บุรุษ?

อาชีพรับชำเราบุรุษของสาวๆ ในสยามประเทศ ยังคงถูกต้องตามกฎหมาย (ตราบที่กระเป๋าสตางค์ของพวกเธอยังตุงพอที่จะจ่ายภาษี ค่าธรรมเนียมของพวกเธอให้กับรัฐ) มาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ จนกระทั่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี ถูกประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2503 การค้าบริการทางเพศจึงได้กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และถูกซุกเอาไว้ที่ใต้พรม •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ