การศึกษา / เหลียวหลังแลหน้าการศึกษาไทย ปีหมูไฟ จะรุ่งหรือร่วง…

การศึกษา

เหลียวหลังแลหน้าการศึกษาไทย

ปีหมูไฟ จะรุ่งหรือร่วง…

 

สํารวจผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การกุมบังเหียนของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

ภาพรวมตลอดปีจอ 2561 ยังไม่ถือว่าโดดเด่นเข้าตา สมกับที่เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากสุด เฉียด 5 แสนล้านบาท แม้ตลอดทั้งปีจะไม่มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีให้ต้องส่งไม้ต่องานกันใหม่เหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่การทำงานของรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ดูเหมือนยังไม่เข้าขา ต่างคนต่างทำ…

โดยในส่วนของ ‘หมอธี’ แม้ต้นปีจะประกาศเน้นนโยบายเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ทั้งพัฒนาครู พัฒนาเด็กและเดินหน้า เพิ่มคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA

โดยตั้งเป้าว่า อีก 3 ปีข้างหน้า คะแนน PISA จะต้องเพิ่มขึ้น 30 คะแนน เป็น 450 คะแนน

แต่ก็ดูเหมือนยังไม่มีอะไรลงตัว เป็นผลงานที่โดดเด่นจับต้องได้ และบางเรื่องต้องปรับจนเหมือนกลายเป็นนโยบายรายวัน

และเน้นในเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตเป็นหลัก…

 

โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมจับตา อย่างกรณีข้าราชการ ศธ. ยักยอกเงินตกเขียว หรือเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต (2551-2561)

งานนี้ต้องชื่นชมข้าราชการรุ่นใหม่ ที่ช่างสังเกต เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติก็เร่งตรวจสอบ กระทั่งสั่ง “ไล่ออก” ข้าราชการระดับ (ซี) 8 ซึ่งรับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ออกจากราชการ ฐานยักยอกโอนเงินค่าเล่าเรียนเด็กเข้าบัญชีตัวเอง พรรคพวก และญาติพี่น้อง กินยาวตั้งแต่ปี 2551-2561 รวม 10 ปี

ตัวเลขความเสียหายกว่า 41,861,181 บาท

พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรง ข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีก 3 ราย โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง เยียวยาผู้เสียหาย

ผลพวงจากเรื่องนี้ ศธ.ล้อมคอกโดยการปรับแก้ขั้นตอนการอนุมัติทุนใหม่ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย

ตามมาด้วยมหากาพย์ “อควาเรียมหอยสังข์” หรือโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา หรืออควาเรียม วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ใช้เวลาตรวจสอบ 1 ปีเต็ม

“หมอธี” ย้ำตลอดว่าไม่มีมวยล้มต้มคนดู หลังได้รับสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็เดินหน้าชงคณะรัฐมนตรี อนุมัติโอนย้ายผู้บริหาร 3 รายให้ดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสำนักนายกรัฐมนตรี

คือ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์, นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ และนายมงคลชัย สมอุดร

ตอนนี้อยู่ในช่วงของการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องจาก 6 กระทรวง ที่นายกฯ ตั้งในเดือนธันวาคม 2561

ขณะที่ปี 2562 นี้คงต้องจับตาการตรวจสอบกรณีทุจริต “งบฯ จัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น” ของ สพฐ. จำนวน 279 ล้านบาท

ซึ่งสรุปผลการตรวจสอบเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าอาจมีผู้บริหารซี 10 และซี 11 ของ สพฐ.เข้าไปเกี่ยวข้อง

โดยได้สั่งย้ายนายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกจากพื้นที่ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะผู้เซ็นอนุมัติการโอนเงิน

จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีการดำเนินการที่ผิดระเบียบพัสดุ และมีผู้บริหารเกี่ยวข้องเพิ่มอีก 3 รายคือ ข้าราชการซี 8 และผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งทั้ง 3 ราย พบข้อมูลชัดเจนว่าทำผิด และจ่อถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงอย่างแน่นอน

ส่วนผู้บริหารซี 11 นั้น ยังต้องรอสอบหาข้อมูลเชื่อมโยงเพิ่มเติม!!

 

และล่าสุด กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนิน “โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” หรือ “ยูนิเน็ต” ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

มีผู้ร้องเรียนว่า การเขียนขอบเขตงาน หรือทีโออาร์บางข้อดูจะเฉพาะเจาะจงเกินไป เช่น บริษัทต้องมีสำนักงานอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจาก สกอ. ซึ่งอาจเข้าข่ายล็อกสเป๊ก

และภายหลังจากตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ นพ.ธีระเกียรติก็ลงดาบสั่งเด้งนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พ้นจากตำแหน่ง ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ว่างอยู่แทบจะในทันที…

ขณะที่เสมา 3 อย่าง นพ.อุดม ซึ่งรับงานจาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ให้มาผลักดันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นรูปเป็นร่างภายในรัฐบาลนี้ ถือว่ามีผลงานชิ้นโบแดงติดมือ โดยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 11 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างเฉียดฉิว ก่อนเลือกตั้ง

หากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าจะสามารถเห็นหน้าตากระทรวงการอุดมฯ กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วน ‘บิ๊กน้อย’ พล.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งถือเป็นเสมา 2 ที่อยู่กับ ศธ.มาตลอด 4 ปีในช่วงรัฐบาล คสช. แต่การทำงานหรือนโยบายต่างๆ ถือว่ายังไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งในช่วงปี 2561 เน้นจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ และเน้นสานงานเดิม

เช่น การพัฒนาการศึกษาภาคใต้ โดยไม่มีการริเริ่มหรือผลักดันนโยบายใหม่ๆ ที่ชัดเจน…

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คะแนนผลงานทีมรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 ในปีนี้ ถือว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ อยู่ที่ 5.5 เต็ม 10 โดยมองว่าภาพรวมการศึกษาดีขึ้นบางเรื่อง ให้เครดิต ‘หมอธี’ กล้าที่จะลงไปทำบางเรื่องที่นักการเมืองไม่กล้าแตะ

เช่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) การแก้ปัญหาเด็กผี หรือเด็กที่ไม่มีตัวตน ทำให้เห็นความแตกต่างจากการทำงานของรัฐบาลการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งหาเสียงกับครู ภาพ ศธ.ดีขึ้น เพราะรัฐมนตรีลงไปแก้ปัญหาเรื่องทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลืองตัวและไม่มีใครอยากทำ

ส่วนเรื่องอื่น ทั้งการพัฒนาครู และการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ภาพรวมมองว่าค่อนข้างแผ่วลงกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างเช่น การอบรมครู “PLC (Professional Learning Community) : ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดูไม่ให้ความสำคัญเท่ากับการปราบทุจริต

ขณะที่การปฏิรูปการศึกษา ดูเหมือนว่า ศธ.ไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ปล่อยให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ทำไป แต่พอเสนออะไรมา ก็ไม่ค่อยได้รับการตอบรับจาก ศธ.มากนัก ทำให้คิดว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ก็ยังคงลูกผีลูกคน และสุดท้ายจะได้ข้อสรุปเป็นเอกสารกองโตเช่นเดิม

     ต้องจับตาดูว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทีมรัฐมนตรี ศธ.จะฝากผลงานอะไรไว้ให้ดูต่างหน้า ต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับไม้ต่อหลังเลือกตั้ง ซึ่งยังต้องลุ้นว่า ปี 2562 หมูไฟ การศึกษาไทยจะรุ่งหรือร่วง!!