คนมองหนัง : “ชีวิตลิขิตเพลง” ของ “สุรักษ์ สุขเสวี”

คนมองหนัง

“สุรักษ์ สุขเสวี” (อดีต) นักแต่งเนื้อร้องฝีมือดีคนหนึ่งในยุคอุตสาหกรรมเทป-ซีดีรุ่งเรือง แห่งค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพิ่งจัดมินิคอนเสิร์ต “นาวาพณิชย์ ชีวิตลิขิตเพลง” เมื่อต้นเดือนธันวาคม

โดยการนำบทเพลงบางส่วนที่เขาแต่งขึ้น มาแสดงสดหน้าเรือนหมอพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (พณิชยการพระนคร) สถานศึกษาเก่าของสุรักษ์

ผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมมินิคอนเสิร์ตจะได้รับหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ที่สุรักษ์เขียนถึงเพลงดังและเพลงเด่นจำนวน 60 เพลงของตัวเอง พร้อมแถมซีดีเอ็มพีสามซึ่งบรรจุเพลงทั้งหมดเอาไว้ให้คนอ่านเปิดฟัง

แม้งานผลิตของหนังสือเล่มนี้จะมี “จุดบกพร่อง” พอสมควร เช่น การจัดเรียงหน้าผิดพลาด และการมีคำ-ข้อมูลผิดปรากฏอยู่ ส่วนซีดีที่แถมเมื่อคราวงานมินิคอนเสิร์ตก็มีปัญหาเรื่องเสียง (ผู้ที่สั่งซื้อหนังสือภายหลังจะไม่พบปัญหานี้ ส่วนผู้ที่รับหนังสือ-ซีดีจากงานมินิคอนเสิร์ต สามารถติดต่อขอรับซีดีเวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ได้)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากล่าวถึงมากกว่าคือ เนื้อหาที่สนุกสนานและเพลิดเพลินในงานเขียนของสุรักษ์

บทแรกของหนังสือเปิดฉากขึ้นด้วยเรื่องราวแนวโรแมนติก เมื่อสุรักษ์เขียนถึงเพลง “หัวใจขอมา” ของ “คริสติน่า อากีล่าร์” ที่เขาแต่งคำร้องจากทำนองของ “โสฬส ปุณกะบุตร”

สุรักษ์เล่าว่า ในปีเดียวกับที่อัลบั้มชุด “นินจา” ของ “ติ๊นา” ออกวางจำหน่าย (พ.ศ.2533) เขาได้เดินทางไปพักผ่อนที่หาดแสงเทียน เกาะเสม็ด

ที่นั่น เขาเจอผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเรียนจิตรกรรม อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

สุรักษ์แนะนำตัวว่าเขาเป็น “นักแต่งเพลง” หนึ่งในเพลงของเขาที่เธอรู้จัก ก็คือ “หัวใจขอมา” และที่สำคัญ ครึ่งแรกของคำร้องเพลงนี้ก็ถูกเขียนขึ้นบนหาดแสงเทียน

แล้วทั้งคู่ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีแฟนอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ตัดสินใจเข้าพักค้างคืนที่กระท่อมหลังเดียวกัน

แม้เรื่องราวหลังจากนั้นจะคลี่คลายลงอย่าง “หล่อ” และ “เลี่ยน” ไปนิด

แต่ประเด็นที่ซ่อนไว้ในเรื่องเล่าของสุรักษ์ ก็ได้แก่ กาลครั้งหนึ่ง สถานภาพ “นักแต่งเพลง” นั้นเคยเท่ ดึงดูดใจ และใช้จีบสาวได้

เราคงไม่อาจพบเจอเรื่องเล่าทำนองนี้จากปากคำข้อเขียนของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ยุคที่ “นักแต่งเพลง” ไม่ถือเป็นงานคูลๆ อีกต่อไป (และยึดถือเป็น “อาชีพ” ไม่ได้ด้วยซ้ำ)

แม้สุรักษ์จะภาคภูมิใจกับความเป็น “นักแต่งเพลง” ของตนเองเหลือเกิน ทว่าเขาก็มีท่าทียอมรับและจดจำคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใหญ่

สำหรับคนส่วนมาก “วิมานดิน” เพลงที่ขับร้องโดย “นันทิดา แก้วบัวสาย” (จากทำนองของ “อภิไชย เย็นพูนสุข”) ถือเป็นผลงานการเขียนคำร้องระดับ “ขึ้นหิ้ง” ของสุรักษ์ (นอกจากจะเป็นเพลงยอดนิยมของบรรดาครูภาษาไทย และอาจจัดเป็น “เพลงลูกกรุง” ลำดับท้ายๆ)

แต่ในบทที่เขียนถึงเพลงนี้ สุรักษ์กลับบันทึกข้อวิจารณ์อันมีต่อ “วิมานดิน” เอาไว้ด้วย

เขาเล่าว่า ตอน “เรวัต พุทธินันทน์” ได้อ่านเนื้อร้องของเพลง “วิมานดิน” เป็นครั้งแรก “เต๋อ” คอมเมนต์ว่า “มันสวยไปรึเปล่าวะ?” อย่างไรก็ดี สุดท้ายเรวัตยังยอมกดไฟเขียวให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อ

กระทั่งเพลงดังกล่าวกลายเป็น “เพลงเอก” ของทั้งนันทิดาและสุรักษ์

ในบทเดียวกัน สุรักษ์บรรยายว่าเขาเคยมีโอกาสได้เจอ “พยงค์ มุกดา” ครูเพลงอาวุโสที่ตึกแกรมมี่

สุรักษ์ยกมือไหว้และรีบแนะนำตัวทันทีว่าเขาเป็น “นักแต่งเพลง”

พอครูพยงค์เอ่ยถามว่าแต่งเพลงอะไรมาบ้าง? สุรักษ์ก็ตอบกลับอย่างมั่นใจ (และน่าจะภูมิใจสุดๆ) ว่า “วิมานดิน”

ครูเพลงอาวุโสพยักหน้าว่ารู้จัก และกล่าวแสดงความคิดเห็นเบาๆ ว่า “แต่ครูว่ามันหัวมังกุท้ายมังกรไปหน่อยนะ”

บทที่ยาวและดีที่สุดบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ บทที่กล่าวถึงเพลง “นักเดินทาง” โดยศิลปินซูเปอร์กรุ๊ป “กัมปะนี” ซึ่งสุรักษ์แต่งคำร้องจากทำนองของ “สมชัย ขำเลิศกุล” (ฉ่าย กัมปะนี)

(น่าเสียดายที่ดันเกิดข้อผิดพลาดทางการผลิตตรงบทนี้)

สุรักษ์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงต้นตระกูลของตนเอง ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพมาทำสวนผลไม้ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ก่อนที่เขาจะย้ายตามพ่อแม่มาปักหลักขายผลไม้อยู่ที่ตลาดจันทร์ประวิตร ข้างคลองผดุงกรุงเกษม

กระทั่งถึงวัย 20 ต้นๆ สุรักษ์พยายามเดินหน้าติดต่อเต๋อ เรวัต, “ชาตรี คงสุวรรณ” และ “นิติพงษ์ ห่อนาค” เพื่อหวังจะสานฝันในการมีอาชีพเป็น “นักแต่งเพลง”

ช่วงท้ายของบท “นักเดินทาง” สุรักษ์บรรยายถึงทีมนักแต่งเพลงใน “ยุคทอง” ของแกรมมี่เอาไว้อย่างละเอียดลออ

จากปากคำของสุรักษ์ ทีมแต่งเพลงยุคแรกของแกรมมี่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเต๋อ เรวัต โดยตรง (อาจเรียกได้ว่า “ทีมเต๋อ”) จะประกอบด้วย

ทีมแต่งคำร้อง คือ นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงษ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และตัวสุรักษ์เอง

ทีมแต่งทำนอง คือ วิชัย อึ้งอัมพร, ไพฑูรย์ วาทยกร, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, สมชาย กฤษณะเศรณี, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ (ธนวัฒน์) สืบสุวรรณ, โสฬส ปุณกะบุตร, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และธนา ลวสุต

สุรักษ์ระบุต่อว่า นอกจากทีมแต่งเพลง (“ทีมเต๋อ”) ข้างต้น แกรมมี่ยังมีนักแต่งเพลง “ทีมอื่นๆ” อีก ซึ่งสร้างผลงานฮิตมากมาย บางคนเป็นที่เคารพนับถือของเขา ส่วนบางคนก็เป็นเพื่อนเป็นน้องรัก

อาทิ กริช ทอมมัส, พนเทพ สุวรรณะบุณย์, ธนา ชัยวรภัทร์, ปิติ ลิ้มเจริญ, กมลศักดิ์ สุนทานนท์, อาทิตย์ สาระจูฑะ, กุลวัฒน์ พรหมสถิต, บรูโน บรูญาโน, ชนชิต จรรย์สืบศรี

ชนะ เสวิกุล, กฤชยศ เลิศประไพ, มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร, มณฑวรรณ ศรีวิเชียร, สารภี ศิริสัมพันธ์, ปธัย วิจิตรเวชการ, โกมล บุญเพียรผล, ณรงค์วิทย์ เตชะธนวัฒน์, อพิสิษฎ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, เรืองกิจ ยงปิยะกุล, วิวัฒน์ ฉัตรธีรภาพ และผาเรือง ยั่งยืน

พออ่านเนื้อหาช่วงนี้ ผมพลันรู้สึก “เอะใจ” ว่าอะไรคือจุดแบ่งแยกระหว่าง “ทีมแต่งเพลงภายใต้การดูแลของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ยุคแรก” กับ “ทีมอื่น”?

หนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” อาจไม่ได้ให้คำตอบต่อคำถามนี้ แต่ผู้ที่ช่วยไขปริศนาได้อย่างกระจ่างแจ้งกลับกลายเป็น “โสฬส ปุณกะบุตร” นักแต่งทำนอง/เรียบเรียงเพลง โปรดิวเซอร์ และซาวด์เอนจิเนียร์ระดับตำนานคนหนึ่งของแกรมมี่

เพลงเด่นที่โสฬสแต่งร่วมกับสุรักษ์ ก็ได้แก่ “หัวใจขอมา” อีกทั้งในมินิคอนเสิร์ต “นาวาพณิชย์ฯ” เขายังมาช่วยนั่งคอนโทรลระบบเสียงให้น้องรัก

เมื่อปี 2559 โสฬสเคยให้สัมภาษณ์กับ Flashmagazine Tv (https://www.youtube.com/watch?v=ybnvIPzGelg) โดยอ้างอิงถึงรายชื่อนักแต่งเพลงคล้ายๆ กับที่ปรากฏในงานเขียนของสุรักษ์ หากแต่ว่ามีรายละเอียด และการจัดแบ่งกลุ่มคนตลอดจนการกำหนดยุคสมัย ที่ผิดแผกออกไปเล็กน้อย

ตามประสบการณ์ของโสฬส ทีมนักแต่งเพลง “ยุคแรกสุด” ของแกรมมี่ นั้นประกอบไปด้วย เต๋อ เรวัต ผู้เป็นหัวหน้าทีม

ส่วนฝ่ายโปรดิวเซอร์-แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี จะได้แก่นักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกับเต๋อ คือ จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพฑูรย์ วาทยกร, สมชาย กฤษณะเศรณี, วิชัย อึ้งอัมพร และอัสนี โชติกุล

ขณะที่การเขียนเนื้อร้อง จะเป็นภาระของเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, นิติพงษ์ ห่อนาค, สีฟ้า และประชา พงษ์สุพัฒน์

“ทีมผลิตยุคแรก” จึงมีแค่ประมาณสิบชีวิต

เวลาผ่านไปไม่นาน บริษัทตัดสินใจเปิดรับคนหน้าใหม่เข้ามาเสริมใน “ทีมผลิตชุดเดิม” ซึ่งโสฬสนิยามให้เป็น “ทีมผลิตรุ่นสอง” ได้แก่ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, สมชัย ขำเลิศกุล, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, ธนา ลวสุต และตัวโสฬสเอง ในฝ่ายแต่งทำนอง-โปรดิวเซอร์

โดยมีจักราวุธ แสวงผล, แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, วรัชยา พรหมสถิต และสุรักษ์ เป็นต้น เข้ามาช่วยเขียนเนื้อร้อง

ทีมงานเบื้องหลังราวๆ 20 คน สามารถผลิตผลงานเพลงได้ประมาณ 100 เพลง หรือ 10 อัลบั้มต่อปี ซึ่งในมุมมองของโสฬสและผู้บริหารบริษัท ถือว่า “น้อยมาก”

นำไปสู่การมีนโยบายเพิ่มทีมผลิต “ชุดอื่นๆ” ในลักษณะทีมเอ ทีมบี ทีมซี ฯลฯ หรือทีมหนึ่ง ทีมสอง ทีมสาม ฯลฯ ขึ้นมา สอดคล้องกับการบันทึกของสุรักษ์

ขอปิดท้ายด้วยเรื่องราวชวนฉงนกึ่งตลกร้าย ในบทที่สุรักษ์เล่าถึงที่มาของเพลง “ลาก่อน” ซึ่งเขาทำงานร่วมกับ “อัสนี โชติกุล” และ “อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ”

ก่อนจะออกอัลบั้ม “รุ้งกินน้ำ” ของ “อัสนี-วสันต์” ในเดือนเมษายน 2536 อัสนีได้โทรศัพท์ไปสอบถามดี้ นิติพงษ์ ว่า “สุรักษ์ สุขเสวี” คือใคร?

ดูเหมือนศิลปินผู้พี่แห่งคู่ดูโอป๊อปร็อกชื่อดังจากเมืองเลย จะชื่นชอบคำร้องของเพลง “นักเดินทาง” และ “แผลในใจ” (ของ “อำพล ลำพูน”) ที่สุรักษ์มีรายชื่อเป็นผู้เขียนเนื้อร้อง

(อย่างไรก็ดี สุรักษ์ออกตัวว่า ในกรณีของเพลง “แผลในใจ” ซึ่งเขามีเครดิตร่วมแต่งคำร้องกับนิติพงษ์นั้น ตัวเขาเองมีส่วนในการเขียนเนื้อแค่สองประโยค คือ การแก้ “นี่หรือคือความผูกพัน” ของดี้เป็น “นี่หรือคือการตอบแทน” และเนื้อปิดท้ายที่ร้องว่า “หรือว่าเป็นวิธีที่เธอคุ้นเคย”)

สุดท้าย อัสนีก็ตามตัวสุรักษ์ไปเขียนคำร้องเพลง “ลาก่อน” ได้สำเร็จ

ผมอ่านเนื้อหาของบทนี้ด้วยความรู้สึกตลกร้าย เมื่อพบว่าอัสนีต้องถามถึงและตามตัวสุรักษ์ผ่านดี้ นิติพงษ์

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นในปี 2535 สุรักษ์ก็เพิ่งจะเขียนเนื้อร้องให้แก่ผลงานเดี่ยวชุด “ขึ้นโต๊ะ” ของ “วสันต์ โชติกุล” น้องชายแท้ๆ และศิลปินคู่ของอัสนี

แถมเพลงที่สุรักษ์เขียนคำร้องให้วสันต์ยังกลายเป็นเพลงโด่งดังข้ามกาลเวลาเสียด้วย คือ “แทนคำนั้น” (ทำนอง/เรียบเรียงโดย “ชาตรี คงสุวรรณ”) และ “ฉันเองก็เสียใจ” (ทำนอง/เรียบเรียงโดย “วสันต์ โชติกุล”)

ผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” สามารถดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ชีวิตลิขิตเพลง By สุรักษ์ สุขเสวี