เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เยาวชนดนตรีอัญมณีของแผ่นดิน

ประกวด “เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย” ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ปีนี้เป็นปีที่ 21 ผ่านไปเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 9 ธันวาคมนี้

ผู้จัดนอกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แล้วก็มีเจ้าภาพร่วมสำคัญคือมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้รองประธานกรรมการบริษัท คือ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล มาร่วมงานโดยตลอด

คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์คนใหม่คือ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คนที่แล้วคือ ดร.สุกรี เจริญสุข ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งวิทยาลัยและโครงการนี้มาแต่ต้น

เราเองมีโอกาสได้ร่วมเป็นกรรมการตัดสินของโครงการนี้มาแต่แรกเริ่ม ได้เห็นประโยชน์มาโดยตลอดเช่นกัน ประโยชน์ทั้งแก่เยาวชนผู้รักดนตรี และแก่วงการดนตรีบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง

ดีใจทุกครั้งที่ได้นั่งฟังและชมความสามารถของเยาวชนตลอดทั้งวัน เสมือนว่าได้นั่งอยู่ในทิพยวิมานดนตรีจริงๆ อันประดับด้วยอัญมณีสะพรั่งพราว

เขาแบ่งเป็นสี่ระดับ มีระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย กับระดับอุดมศึกษา

พิเศษคือ ทั้งสี่ระดับนี้ รวมดนตรีทุกประเภทเข้าแข่งแสดงความสามารถด้วยกัน ไม่จำแนกทั้งดนตรีไทย ดนตรีเทศ รวมถึงร้องเพลงด้วย

เราจึงได้ฟังทั้งเปียโน ระนาด แคน โปงลาง ไวโอลิน กีตาร์คลาสสิค แซ็กโซโฟน ฆ้องวง กลองชุด และนักร้อง

ซึ่งมีทั้งนักร้องลูกทุ่งและนักร้องโอเปร่า

มีกติกากำหนดคือ ทุกเครื่องดนตรีและร้องต้องไม่ใช้เครื่องไฟฟ้า ต้องบรรเลงด้วยเสียงธรรมชาติของแต่ละเครื่องดนตรีนั้นๆ รวมทั้งนักร้องก็ต้องร้องสดๆ ด้วยเสียงธรรมชาติด้วย

ดังนั้น ห้องที่จัดประกวดจึงต้องเงียบที่สุดเพื่อให้เสียงกระซิบของซอด้วง กับเสียงแผดของแซ็กโซโฟนมีโอกาสได้สัมผัสถึงหูผู้ฟังทั้งห้องเท่ากัน เท่าที่ศักยภาพของแต่ละเครื่องดนตรีจะทำได้

นอกจากดนตรีเฉพาะเครื่องมือแล้ว อนุญาตให้มีเครื่องประกอบจังหวะได้ด้วย หรือเครื่องฝรั่ง เช่น ไวโอลิน ก็มีเปียโนบรรเลงผสานทำนองได้เช่นกัน

อาจมีคำถามว่า เครื่องดนตรีต่างประเภทกันจะแข่งกันได้หรือ

คำตอบคือ ไม่ได้ถือมาตรฐานของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทเป็นสำคัญ

แต่ถือเอาความสามารถของนักดนตรีและนักร้องที่สำแดงศักยภาพของเพลงผ่านเครื่องดนตรีและตัวเองให้ปรากฏเป็นสำคัญ

ปีนี้จึงได้เห็นความสามารถหลากหลายของเยาวชนที่แสดงออกผ่านเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องที่ตนถนัดอย่างตื่นตาตื่นใจยิ่ง

แต่ละคนมีเวลาบรรเลงคนละหนึ่งเพลง โดยที่ทุกคนผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือกมาแล้วระดับละสิบคน

ทุกประเภทจะมีรางวัลชนะเลิศ เหรียญทองหนึ่งรางวัล รองชนะเลิศเหรียญทองสามรางวัล รวมสี่รางวัล

ที่เหลือหกคนได้รับรางวัลชมเชยเท่ากัน

ปีนี้ระดับอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศเหรียญทองเป็นนักร้องหญิง ร้องเพลงโอเปร่าด้วยลีลาน่าทึ่ง เป็นนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ชื่อ น.ส.พิจาริน วิริยะศักดากุล อายุ 21 ปี

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชนะเลิศเหรียญทองคือ นายหนึ่งศรัณย์ ปรึกไธสง อายุ 18 ปี จากโรงเรียนสมเด็จพิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ บรรเลงพิณอีสาน พิเศษคือ หนึ่งศรัณย์คนนี้ทั้งแต่งเพลงเอง บรรเลงเอง ขึ้นแสดงเข้าประกวด

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลชนะเลิศเหรียญทองคือ นายชัยธวัช อติโภภัย อายุ 15 ปี โรงเรียนนานาชาตินิวสาทร กรุงเทพฯ ผ่านเครื่องดนตรีเปียโน

ระดับประถมศึกษา ปีนี้พิเศษ รางวัลชนะเลิศเหรียญทองสองคนเท่ากันได้ชนะเลิศด้วยกันทั้งคู่คือ ด.ช.คณธัช แย้มสุวรรณ อายุ 12 ปี โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี บรรเลงระนาดเอก เพลงสุดสงวน กับ ด.ช.ธนวิน ธนพรธวัล อายุ 10 ปี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรเลงกู่เจิง เครื่องดนตรีจีน

ระนาดเอกกับกู่เจิง นี่เฉือนกันไม่ลงจริงๆ

กู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีจีน ลักษณะเหมือนขิมจีน ต่างตรงที่ขิมใช้ตี แต่กู่เจิงใช้ดีด และมีสายมากกว่าขิม ลีลาบรรเลงกู่เจิงจึงน่าดูนัก ด้วยการใช้นิ้วทั้งสิบนิ้วร่ายรำลงบนสายเสียง ที่ใช้คำว่า “ร่ายรำ” นั้นคือการร่ายนิ้วทั้งทีละนิ้วและทั้งมือเสมือนการ “ฝ่ายฟ้อน” สะบัดโบกเสกเสียงสารพันอันไพเราะออกมาจากเส้นสายซึ่งร่ายเจรียงออกมาจากเส้นเสียงนั้นๆ ซึ่งต่างจากนิ้วเปียโนหรือเครื่องดีดอื่นๆ ที่เป็นระนาบเดียว แต่กู่เจิงเป็นเสมือนพื้นที่ให้ทั้งสองมือได้ร่ายรำระบำนิ้วอย่างมหัศจรรย์ ตรึงตราตรึงใจนัก

ไม่น่าเชื่อว่า ด.ช.ธนวิน อายุ 10 ขวบ ผู้ชนะทำได้สมศักยภาพของการบรรเลงกู่เจิงจริงๆ

ระนาดเอกที่บรรเลงโดย ด.ช.คณธัช อายุ 12 ขวบ มหัศจรรย์ตรงที่ใช้ศักยภาพของการบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์เพลง “สุดสงวน” ซึ่งเป็นสุดยอดของเพลงไทยที่ให้ทั้งอารมณ์โรแมนติกและองอาจได้สมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน

จะฟังเพลงสุดสงวนให้ได้อารมณ์ครบต้องประกอบร้องรับไปด้วยกัน เนื้อร้องนั้นมีทำนองหรือ “ทางร้อง” ไพเราะนัก จากเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องแก้วกิริยา ที่ว่า

น้องเอ๋ยเพราะน้อยหรือถ้อยคำ ช่างหวานฉ่ำจริงแล้วเจ้าแก้วเอ๋ย

แม่เนื้อหอมพร้อมชื่อดังอบเชย เงยหน้ามาจะว่าไม่อำพราง

ไปจนถึง…

ว่าพลางทางเปลื้องเครื่องคาด แขวนพาดฉากลงประจงจับ

อุ้มนางวางตักสะพักรับ ก็ทอดทับระทวยลงดังท่อนทอง ฯ

น่าชื่นใจที่เด็กๆ เยาวชนไทยมีความสามารถทางดนตรีได้สารพัดถึงปานนี้จริงๆ

อยากให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ ได้ดู ได้เห็น ได้เปิดโอกาสเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถ ได้แสดงออกสู่สาธารณชนในวงกว้างมากกว่านี้

นั่นซี ทำอย่างไรกันดี