สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (9) จากโรงงานสู่ฐานทัพอเมริกัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์    สักพันชาติจักสู่ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน      จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”

จิตร ภูมิศักดิ์

 

จากปลายปี 2517 ล่วงเข้าปี 2518 สถานการณ์การเมืองทั้งในไทยและในภูมิภาคมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

เช่นเดียวกันกับบรรยากาศของงานกิจกรรมนักศึกษาก็เริ่มบ่งบอกถึงทิศทางใหม่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

คงต้องยอมรับว่ากิจกรรมมีลักษณะที่แตกต่างจากยุค “สายลมแสงแดด” อย่างชัดเจน

นิสิตนักศึกษาถูกสร้างให้เกิดความสำนึกทางสังคมการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

กิจกรรมบันเทิงในรั้วมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่จะถูกตั้งคำถามเท่านั้น หากแต่ยังถูกท้าทายจนแทบจะไม่มีพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเท่าใดนัก…

ภูมิทัศน์ทางการเมืองของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นในจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือในอีกหลายมหาวิทยาลัยก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

ค่ายใหม่-ค่ายพัฒนาบุคคล

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน ก็อาจจะมองผ่านงานค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหลักประการหนึ่งของงานอาสาพัฒนาในหมู่นิสิตนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย

ค่ายนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่พาลูกหลานชนชั้นกลางออกไป “เปิดหูเปิดตา” กับโลกของชนบทไทย

แต่ล่วงเข้าปี 2518 แล้ว ค่ายรูปแบบใหม่ในลักษณะของ “ค่ายพัฒนาบุคคล” ถูกสร้างขึ้นคู่ขนานไปกับค่ายแบบเก่า

ค่ายใหม่ไม่เน้นการสร้างถาวรวัตถุ เช่น อาคารเรียน หากแต่เน้นการพานิสิตนักศึกษาออกไปใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องชาวนาในชนบท

หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งก็คือ ค่ายนี้พาหนุ่มสาวจากในเมืองไปสู่การเรียนรู้ชีวิตในชนบทไทย

อาจจะต้องยอมรับว่า ค่ายเช่นนี้เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยได้สัมผัสกับ “โลกและชีวิต” ของชาวนาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เช่น การช่วยชาวนาดำนาและเกี่ยวข้าว เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้เช่นนี้ทำลาย “โรคโรแมนติก” ของหลายๆ คนลงอย่างสิ้นเชิง

ชีวิตในชนบทของไทยไม่ได้สวยหรูแบบในนวนิยาย แต่มีความยากลำบากแฝงอยู่หลายประการ

และในอีกส่วนหนึ่งนอกจากงานค่ายแบบใหม่แล้ว ยังมีกิจกรรมพานิสิตนักศึกษาไปสัมผัสกับกรรมกรในโรงงานในบริเวณกรุงเทพฯ และย่านชานเมืองอีกด้วย

ชีวิตชาวนาที่ยากลำบาก และชีวิตกรรมกรที่ยากลำเค็ญมีส่วนต่อการสร้าง “สำนึกใหม่” ของบรรดานิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้อย่างมาก

อีกทั้งบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มีส่วนตอกย้ำความรู้สึกของพวกเราในขณะนั้นอย่างมากด้วย

หากย้อนกลับไปอาจจะต้องบอกว่า จุดเริ่มต้นของกิจกรรมเช่นนี้ยังไม่มีบริบทของความเป็น “ซ้าย” เท่าใดนัก

แรงกระตุ้นต่อจิตสำนึกของคนหนุ่มสาวมาจากสำนึกด้านมนุษยธรรม และความต้องการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าในสังคมต่างหาก

สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้เติบโตกับกิจกรรมของค่ายชาวนา

แต่จากการเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือการประท้วงของกรรมกรที่อ้อมน้อย

ทำให้ผมกลายเป็นคนที่โตมากับกิจกรรมของงานกรรมกร

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ทำกิจกรรมเพื่อชีวิตมักจะโตมาจากสายงานชาวนามากกว่า

ค่ายพัฒนาบุคคลมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างบุคลากรชุดใหม่ในขบวนนิสิตนักศึกษาขณะนั้น

วิทยาลัยชีวิตที่อ้อมน้อย

การเริ่มต้น “กิจกรรมเพื่อสังคม” ของผมไม่ได้คิดถึงเรื่องความเป็นซ้ายอะไร คิดแต่ว่าจะช่วยคนที่เสียเปรียบ

ก่อน 14 ตุลาฯ พวกผมจากรัฐศาสตร์เคยไปช่วยหน่วยราชการในยุคที่น้ำตาลขาดแคลน คอยจัดคิวประชาชนเข้าแถวปั๊มมือในการใช้สิทธิ์ซื้อน้ำตาล

การเข้าไปทำงานกรรมกรที่อ้อมน้อยของผมต่างกับเมื่อครั้งที่ไปคอยจัดแถวซื้อน้ำตาลยุคนั้นอย่างมาก ชีวิตคนงานที่อ้อมน้อยเปิดโลกทัศน์ผมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…

โลกของสังคมไทยไม่ได้สวยหรูเสียเลย ยิ่งได้เห็นชีวิตในโรงงาน ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

จนถึงวันนี้ก็ตอบได้ดีว่า ผมไปทำงานกรรมกร ไม่ได้เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นสังคมนิยม

หากแต่เป็นเพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นนักมนุษยนิยมที่อยากช่วยคนที่เสียเปรียบ

ผมเรียนรู้ชีวิตกับพี่น้องคนงานที่อ้อมน้อย ช่วยเหลือในการประท้วงและการเจรจาต่อรอง

ผู้นำกรรมกรที่อ้อมน้อยชื่อ “ประสิทธิ์ ไชโย” (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เขาเป็นคนที่มีบุคลิกภาพเป็นผู้นำมาก และเป็นคนที่พี่น้องคนงานที่อ้อมน้อยให้ความเชื่อถือในการนำอย่างมากด้วย

ผมได้เรียนรู้เรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ “การเป็นผู้นำต้องเสียสละ”

คนอย่างพี่ประสิทธิ์และอีกหลายๆ คนที่เข้ามาช่วยงานที่สหภาพแรงงานนั้น ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนอะไรเลย นอกจากความเสี่ยงที่อาจจะถูกปลดออกจากงาน เพราะเป็นบุคคลเป้าหมายที่บรรดาเจ้าของโรงงานไม่ชอบและอาจใช้กำลังจัดการได้

การประท้วงของคนงานมีความอันตรายอยู่ในตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ พวกเขาอาจจะถูกปลดออกจากงานได้ง่ายๆ

และยิ่งเมื่อถึงเวลาดึกแล้ว การรักษาความปลอดภัยของการประท้วงเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากอาจถูกก่อกวนจนถึงระดับของการใช้อาวุธจากฝ่ายโรงงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

พวกเขาดูแลผมเป็นอย่างดีเสมือน “น้องชายคนเล็ก” ในหมู่คนงานที่นั่น

เพราะในขณะนั้นผมเป็นเพียงนิสิตปี 2 เท่านั้นเอง และบางครั้งก็เผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน

คนงานที่ประท้วงถูกยิง ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องพาคนเหล่านี้ไปโรงพยาบาล เพราะพี่เขาเห็นว่าผมเป็นนิสิตและน่าที่จะพอพูดคุยกับหมอที่โรงพยาบาลได้

ผมเคยต้องประคองพี่ๆ คนงานที่ถูกยิงอยู่ 2-3 ครั้ง…

เห็นรูกระสุนผ่านทะลุผิวหนังคน เห็นรอยเลือดจริงๆ ไม่ใช่คราบเลือดและรอยกระสุนในภาพยนตร์

อ้อมน้อยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมในขณะนั้น

และหนึ่งในงานที่ภูมิใจก็คือ การพาพี่น้องกรรมกรจากอ้อมน้อยเดินเท้าเข้าร่วมงานวันกรรมกรที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2518

เราเดินกันมาเป็นขบวนขนาดใหญ่เพื่อร่วมฉลอง “วันเมย์เดย์” อันเป็นสัญลักษณ์ใหญ่ของการต่อสู้ของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก

พี่น้องกรรมกรเป็นจำนวนมากเข้าร่วมในการเดินขบวนครั้งนี้

ผมช่วยงานอยู่กับสหภาพแรงงานที่อ้อมน้อยจนเป็นนิสิตปี 3 ก็มีข้อเสนอให้กลับมาช่วยงานที่ส่วนกลาง

ซึ่งหมายถึงผมจะต้องค่อยๆ ถอยออกจากงานกรรมกร และกลับเข้ามาช่วยงานเคลื่อนไหวของศูนย์นิสิตฯ ที่กรุงเทพฯ

แม้จะรู้สึกสองจิตสองใจแต่ก็จำเป็นต้องขยับออก เพราะรู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องกลับ

ประกอบกับความตึงเครียดในพื้นที่ก็เริ่มมีมากขึ้น และทั้งมีความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงงานที่มีต่อนักศึกษาที่เข้ามาช่วยงานการเคลื่อนไหวของสหภาพ

ซึ่งอ้อมน้อยในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นจุดหนึ่งที่การเคลื่อนไหวของกรรมกรมีความเข้มแข็งอย่างมาก

ชีวิตผมกับงานกรรมกรมาถึงจุดที่ต้องยุติลง

ถ้าจะถามว่าการทำงานกรรมกรเป็นเพราะแรงขับเคลื่อนของอุดมการณ์สังคมนิยมหรือไม่

ต้องตอบว่าพวกเราที่ทำงานเหล่านี้แทบไม่ได้คิดถึงความเป็นฝ่ายซ้าย

และใช่ว่าจะต้องแบกเอาหนังสือลัทธิมาร์กซ์ไปอ่านในสหภาพแรงงานแต่อย่างใด

ถ้าจะย้อนกลับไปก็คงเป็นความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้เสียเปรียบในสังคมมากกว่า

ผมมองย้อนกลับไปแล้วไม่ได้รู้สึกเป็นฝ่ายซ้ายมากเท่าใดนัก แต่มีความรู้สึกว่าในความเป็นนิสิตนั้น มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือ “ผู้ด้อยกว่า” ในสังคม

แต่เผอิญการเข้าไปทำกิจกรรมเช่นนี้เป็นช่วงเวลาของการขยายตัวของกระแสฝ่ายซ้ายในหมู่ปัญญาชนไทย

กิจกรรมเช่นนี้จึงถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในความเป็นซ้ายไปโดยปริยาย

และขณะเดียวกันการเข้าไปทำงานเช่นนี้ก็ใช่ว่าพวกเราจะสามารถ “จัดตั้ง” กรรมกรได้อย่างที่ทฤษฎีของเลนินกล่าวไว้แต่อย่างใด

โอกาสที่นักศึกษาจะสามารถจัดตั้งกรรมกรได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงพอสมควร

หากแต่ความสัมพันธ์ที่เกิดอยู่ในระดับเบื้องต้นเพียง “ปรับทุกข์-ผูกมิตร” มากกว่า

แล้วต่อมาก็ถึงเวลาที่จะต้องลาจากอ้อมน้อย ชีวิตใน “วิทยาลัยอ้อมน้อย” ช่วยบ่มเพาะชีวิตผมในอีกช่วงหนึ่ง ชีวิตผมกับพี่น้องคนงานที่อ้อมน้อยในช่วงปี 2517-2518

เป็นการบ่มเพาะที่สำคัญและยังเป็นวิชาที่ไม่มีสอนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จนถึงวันนี้นั่งรถผ่านอ้อมน้อยครั้งใด ก็อดหวนรำลึกถึงชีวิตในครั้งนั้นไม่ได้…

ผมยังคิดถึงอ้อมน้อย และอ้อมน้อยก็ยังอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ

วิกฤตการณ์เรือมายาเกวซ

แม้ขณะนั้นผมจะยังไม่ทันถอนตัวออกจากงานที่อ้อมน้อย แต่ก็เริ่มได้มีโอกาสสัมผัสกับการเคลื่อนไหวอีกชุดหนึ่งที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2518 เรือสินค้าอเมริกันชื่อ “มายาเกวซ” (Mayaguez) พร้อมลูกเรือ 39 คนถูกเรือยามฝั่งของกัมพูชาเข้าจับกุม ด้วยข้อกล่าวหาว่าเรือดังกล่าวได้ล่วงละเมิดต่ออธิปไตยทางทะเลของกัมพูชา

ประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด ของสหรัฐ ได้กล่าวหาการยึดเรือว่าเป็น “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” และประกาศกร้าวถึงการช่วยเหลือลูกเรือชาวอเมริกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นวิกฤตการณ์ และถูกมองว่าเป็นบททดสอบอย่างสำคัญต่อสถานะของสหรัฐในการเมืองโลก

เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 1 เดือนหลังจากการถอนตัวของสหรัฐออกจากเวียดนามใต้

ซึ่งก็กลายเป็นแรงกดดันให้ทำเนียบขาวต้องแสดงถึง “อำนาจ” ในเวทีระหว่างประเทศ

ดังนั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคม ทำเนียบขาวจึงตัดสินใจเปิดปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน โดยอาศัยฐานทัพสหรัฐที่อู่ตะเภาเป็นจุดหลักของการส่งกำลังออกปฏิบัติการ

รัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยที่ไทยจะอนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพอู่ตะเภาเป็นจุดหลักของการส่งกำลังชิงตัวประกันลูกเรือเรือมายาเกวซ

แต่สหรัฐก็หันไปขออนุญาตฝ่ายทหารแทน

ผลที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตอเมริกัน และการประท้วงขยายตัวมากขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แสดงความเห็นในทางเดียวกับฝ่ายนักศึกษา

ดังที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 ได้กล่าวว่า

“ไม่มีครั้งใดในการเมืองไทยที่คนไทยทั้งชาติจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้รัฐบาลสหรัฐเท่าครั้งนี้”

และขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนความสัมพันธ์กับสหรัฐ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการประท้วงอเมริกันครั้งใหญ่หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณต่อเนื่องอีกชุดถึงการเรียกร้องที่จะให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

การต่อต้านกรณีมายาเกวซอาจถูกระดมจากทั้งกระแสชาตินิยมและกระแสสังคมนิยมผสมผสานคู่ขนานกันไป

ดังจะเห็นได้ชัดว่า การชุมนุมต่อต้านครั้งนี้ไม่เพียงจะถูกปลุกบนเงื่อนไขของลัทธิชาตินิยมในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติเท่านั้น

หากแต่ยังมีการโฆษณาโจมตีในบริบทของฝ่ายซ้ายที่สหรัฐถือว่าเป็น “จักรวรรดินิยม” ที่จะต้องถูกโค่นล้ม

แม้ในที่สุด รัฐบาลกรุงเทพฯ และวอชิงตันจะสามารถประนีประนอมกันได้

แต่ก็อาจกล่าวได้ว่ากรณีมายาเกวซเป็น “การจุดกระแส” ต่อต้านอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยในเวลาต่อมา

เรือมายาเกซขณะถูกเรือปืนของเขมรแดงล้อม
เรือมายาเกซขณะถูกเรือปืนของเขมรแดงล้อม

อธิปไตยไทยกับฐานทัพอเมริกัน

ผมกลับเข้ากรุงเทพฯ แต่ก็ยังไม่ได้มีบทบาทมากนักในกรณีนี้ นอกจากเข้าร่วมในฐานะมวลชนคนหนึ่ง และก็ได้พบกับเพื่อนและพี่ๆ หลายคนในการชุมนุมที่เกิดขึ้น

ผลจากการชุมนุมครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มหันมากลับมาสนใจเรื่องความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐอีกครั้ง

โดยมีประเด็นเรื่องของฐานทัพสหรัฐในไทยเป็นแกนกลางของเรื่อง

คำถามสำคัญในขณะนั้นก็คือ นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสถานการณ์สงครามในเวียดนามควรจะเป็นเช่นไร

และไทยควรจะอนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพในประเทศไทยต่ออีกหรือไม่

และหากสหรัฐต้องถอนตัวออกจากเวียดนามแล้ว ไทยจะทำอย่างไร?

ความสนใจประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผมแต่อย่างใด เพราะก่อน 14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็สนใจหัวข้อนี้โดยมีแรงกระตุ้นจากบทความในหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์

และหนึ่งในบทความที่ผมอ่านขณะนั้นเขียนโดยนักคิดคนสำคัญในประเด็นด้านต่างประเทศ คือ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์”

แต่เมื่อเกิด 14 ตุลาฯ และหลังจากนั้นได้ไปทำงานกรรมกรที่อ้อมน้อยแล้ว ผมก็เก็บเอาเรื่อง “ฐานทัพอเมริกัน” เข้ากระเป๋าหนังสือไปโดยปริยายและไม่ได้ติดตามเรื่องนี้อีกเลย

การเคลื่อนไหวเรื่องมายาเกวซนี้สิ้นสุดลงบนถนน แต่ประเด็นปัญหาไทย-สหรัฐ หาได้ยุติลงด้วยแต่อย่างใด

ความท้าทายของปัญหาชุดนี้ได้กลายเป็นดัง “มนต์ขลัง” เรียกร้องให้ผมต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยต่อมาอีกยาวนานทั้งในสถานะของความเป็นนักเคลื่อนไหวและเป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทย!

การปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้มีบางส่วนใช้ฐานทัพในประเทศไทย
การปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้มีบางส่วนใช้ฐานทัพในประเทศไทย