พระท่านสอน ความเข้าใจผิด ไม่รู้จริง เกิดเพราะ “ไปมองรวม” ถ้าอยากให้เข้าใจถ่องแท้ ต้อง “คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ”

คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

วันนี้ก็ว่าด้วยวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

พระท่านมักจะสอนกันว่าความเข้าใจผิด ความหลง หรือความไม่รู้ตามเป็นจริง มักจะเกิดเพราะ “ภาพรวม” ที่เรามองเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เข้าใจอะไรถ่องแท้ ตามที่มันเป็นจริงๆ จะต้องมองหรือคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

พระท่านมักจะสอนกันว่าความเข้าใจผิด ความหลง หรือความไม่รู้จริง มักจะเกิดเพราะ “ภาพรวม” ที่เรามองเห็น

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เข้าใจอะไรถ่องแท้ ตามที่มันเป็นจริงๆ จะต้องมองหรือคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

ท่านยกตัวอย่างนิทานเรื่องหนึ่ง สามีภรรยาคู่หนึ่ง เมื่อผ่านการแต่งงานไปใหม่ๆ แบบที่โบราณว่าอยู่ด้วยกัน “ก้นหม้อยังไม่ดำ” อะไรทำนองนั้น เปรียบแบบนี้คนสมัยโลกาภิวัตน์ไม่เข้าใจ เพราะว่าไม่ได้ใช้หม้อดินหุงข้าวกินอีกต่อไปแล้ว เอาเป็นว่าเพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ ก็แล้วกัน

สามีเป็นคนขี้หึง เห็นภรรยาคุยกับใครที่เป็นบุรุษไม่ได้ หาว่าจะนอกใจทุกที วันหนึ่งเห็นภรรยาคุยกับชายคนหนึ่งอยู่ก็โกรธ หาว่าภรรยานอกใจ จึงทะเลาะกันอย่างรุนแรง ภรรยาทนอยู่ไม่ไหว จึงหอบผ้าผ่อนหนีสามีกลับบ้านแม่

สามีวิ่งตามภรรยาไป ระหว่างทางพบพระอรหันต์รูปหนึ่งเดินสวนทางมา จึงเอ่ยปากถาม

“พระคุณเจ้า เห็นสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม”

“สตรีหรือโยม ไม่เห็นมีนี่” พระท่านตอบเยือกเย็น

“สตรีสาวสวย อายุ 20 กว่า สูงโปร่ง ผิวขาวสวยเลย พระคุณเจ้าเห็นผ่านมาทางนี้ไหม” ชายหนุ่มบรรยายรูปร่างภรรยาให้พระคุณเจ้าฟัง

พระคุณเจ้าตอบอย่างเยือกเย็นเหมือนเดิมว่า “อ้อ เมื่อกี้อาตมาเห็นโครงกระดูกโครงหนึ่งผ่านมาทางนี้ ไม่ได้ใส่ใจว่าหญิงหรือชาย”

ฟังดูก็เพียงนิทาน แต่คิดให้ลึก ที่พระคุณเจ้าท่านพูดนั้น ท่านพูดตามที่ท่านมองเห็น ท่านมอง “ทะลุ” สมมติบัญญัติ ที่ชาวโลกเขายึดติด ทะลุเนื้อหนังมังสา ที่ปุถุชนหลงใหลได้ปลื้มว่า มันสวยมันงาม ทะลุผ่านไปถึง “สภาวะ” ที่แท้จริงว่า แท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอะไร มันก็คือส่วนประกอบทั้งหลายเกาะกุมกันอยู่ และลึกลงไปแล้ว มันก็คือ “โครงกระดูก” ส่วนต่างๆ โยงใยกันอยู่นั่นเอง

ส่วนนี้คือกะโหลกศีรษะ ต่ำลงมาคือกระดูกคอ ลูกกระเดือก ต่ำลงมาก็คือ กระดูกไหล่ ซี่โครง แขน ตะโพก ขา แข้ง เท้า ส่วนต่างๆ เหล่านี้มันเชื่อมโยงกันอยู่โดยมีเนื้อหนังมังสาห่อหุ้มอยู่

มันก็เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ถ้ามองทะลุถึงขนาดนี้แล้ว ความเข้าใจก็จะกระจ่างขึ้น มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีสาระอะไร ความสวยความงามที่ว่านั้น มันเพียงความหลงใหล ความงมงาย เพราะมิได้รู้สภาวะที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้

ในพระศาสนา ท่านเน้นท่านย้ำกันมากว่าให้หัดมอง หัดคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ แยกมองทีละส่วนๆ แล้วจะเข้าใจความจริง ทางศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ความจริง แล้วจะได้ไม่ยึดติด ไม่หลงงมงายในกาม

วิธีนี้ได้ผลมากในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ดังที่ท่านได้รวมวิธีมอง วิธีคิดแบบนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติกรรมฐาน เรียกว่าอสุภกรรมฐาน (หัดมองว่าไม่งาม)

การจะมองให้เห็นว่าของสิ่งนั้นไม่งาม ก็ต้องแยกแยะส่วนประกอบออกทีละชิ้นๆ หรือมองแยก

ถ้าหากมองรวมแล้ว จะไม่มีทางเห็นความจริง ยิ่งมองเท่าไรก็ยิ่งเห็นแต่ความงาม เหมือนชายหนุ่มขี้หึงมองภรรยานั่นแหละ ที่พูดมานี้เป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น

แต่ถ้าพูดสำหรับปุถุชนคนมีกิเลส คนที่ยังจะต้องเวียนว่ายอยู่ในโลกอย่างพวกเราๆ ทั้งหลาย ที่ไม่ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานเล่า การมองแบบนี้มีประโยชน์อย่างไร

ผมว่ามีนะครับ สมมติเอาง่ายๆ ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ผู้หญิงที่เราหลงรักนั้น “สภาวะที่แท้จริง” ของเธอเป็นอย่างไร ลองใช้วิธีมอง วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบดูสิครับ จะเห็นความจริง

มองรวมๆ แล้ว “คุณติ๋ม” แฟนเรานี้สวยทีเดียว หุ่นงามสมส่วน ไม่อ้วนไม่ผอมกำลังดี มันช่างสวยอะไรเช่นนั้น ใช่ครับ ถ้ามองรวมๆ (อยากเรียกว่ามองลวกๆ มากกว่า)

แต่ถ้าใช้เวลาพินิจพิเคราะห์ไปทีละส่วนๆ ดูจะเห็นความจริงเพิ่มขึ้น

ใบหน้าที่ว่างามนั้น มีไฝฝ้าหลายจุดทีเดียว ขุมขนก็ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ตาก็ชั้นเดียวแถมยังเขนิดๆ อีกข้างหนึ่งด้วย โหนกแก้มก็สูงไปหน่อยเหมือนสาวที่ราบสูงแถมจมูกบานไปนิด ดั้งก็หักไปหน่อย

ยิ่งดูตอนไม่แต่งหน้ายิ่งไม่สวยใหญ่ ซีดเซียวยังกับผี…ฯลฯ

ยิ่งดูละเอียดก็ยิ่งเห็นว่าที่เราว่างามๆ นั้นมันกลับไม่งามเสียแล้ว

เห็นหรือยังครับว่าการมองแบบแยกแยะส่วนประกอบช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงอย่างไร

ถ้าจะถามว่า แล้วสอนให้มองทำไมแบบนี้ เดี๋ยวสามีก็จะหาเรื่องเลิกกับภรรยากันหมดสิ เพราะรักๆ เห็นเธอสวยงาม พอมองเห็นความไม่งามแล้ว เดี๋ยวก็จะมีปัญหา

ถ้าหยุดอยู่แค่นี้ มีปัญหาแน่ แต่ท่านมิได้สอนให้หยุดแค่นี้ ท่านสอนให้มองเลยต่อไปอีกว่า เมื่อเห็นว่าสังขารร่างกายมันไม่งดงามอะไร แล้วก็ไม่ควร “ยึดติด” ที่ความงามหรือไม่งามของร่างกาย แต่ให้แปรเรื่องงาม ไม่งาม ไปเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของคุณธรรมมากกว่า

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ อย่าถือรูปร่างเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ถือจิตใจสำคัญกว่า เพราะความสวยงามทางร่างกายเป็นของไม่จีรัง (หรือพูดให้ถูก ร่างกายมันไม่งามเลยแม้แต่น้อย) ถ้าเรารักใครเพราะความงาม เมื่อความงามมันเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เราก็จะหมดรักได้

สามีไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะถือความงามเป็นเรื่องสำคัญ แรกๆ ก็ไม่ไปไหน เพราะภรรยายังดูได้อยู่ พอแก่ตัวไปรู้สึกอึดอัด ที่อยู่กับ “พะโล้” จึงต้องไปหาใหม่ที่สวยงามกว่า “เก่าๆ มันเป็นสนิม ใหม่ๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม” อะไรทำนองนั้น

แต่ถ้าเข้าใจสภาวะจริงแท้ของสังขาร ว่าแท้ที่จริงมันไม่งามอะไร เราแต่งงานกัน อยู่ด้วยกันไม่ใช่เพราะความงาม ไม่งามของร่างกาย แต่อยู่เพราะความงามทางใจมากกว่า เธอเป็นภรรยาที่ดีของเรา เป็นแม่ที่ดีของลูก ยิ่งอยู่ด้วยกันนานเท่าไร ยิ่งเห็นความดีความงามของจิตใจเธอยิ่งขึ้นทุกวัน

เห็นหรือยังครับว่า เราสามารถนำวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบมาประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตแบบชาวบ้าน

ถ้าให้ลึกไปกว่านั้น การคิดการมองแบบแยกแยะองค์ประกอบนี้ รวมไปถึงการแยกแยะคุณค่าอยู่ด้วย และเราสามารถนำมาสอนให้เด็กๆ มองได้ด้วย

เช่น เวลาเราพาลูกหลานไปซื้อของเล่นก็หัดให้ลูกหลานเราเลือกของที่จะซื้อที่ “คุณค่า” ของมัน ไม่ใช่ที่ “ความสวยงาม”

“รถคันนี้สวยก็จริงลูกแต่ไม่ทน ใช้ไม่นานก็พัง เอาคันนี้ดีกว่าราคาเท่ากันแต่ทนกว่า” อะไรทำนองนี้

เด็กๆ ที่ได้รับการปลูกฝังวิธีคิด วิธีมองแบบนี้ จะเติบโตมาด้วยความรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควร โตมามีปัญญาซื้อรถใช้เองก็จะเลือกซื้อรถเพื่อ “ขับขี่”

มิใช่ซื้อรถมาเพื่ออวดโก้อวดรวย ดังที่เห็นกันอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทยสมัยนี้