เชื่อ-ไม่เชื่อ เรื่องเล่า “พระเจ้าตากสิน” สมคบ “รัชกาลที่ 1” และเงิน “เจ๊ก”

ธงทอง จันทรางศุ

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงปลายเดือน

หลายท่านคงได้ทราบข่าวแล้วว่ากองทัพเรือจะเปิดบริเวณพระราชวังเดิมซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ ในโอกาสวันที่ระลึกการสถาปนากรุงธนบุรีครบ 251 ปี ในวันที่ 28 ธันวาคม 2565

ผมได้จดลงสมุดนัดหมายไว้แล้วเหมือนกันครับว่าไม่สมควรที่จะพลาดโอกาสนี้

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ผมยังได้รับหนังสือใหม่มาอีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ขึ้นในวาระงานรำลึก 250 ปีแห่งการสถาปนากรุงธนบุรี ซึ่งวันงานที่แท้จริงคือวันที่ 28 ธันวาคมปลายปีก่อน แต่หนังสือเพิ่งจะมาพิมพ์เสร็จปีนี้

หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ไทยสมัยธนบุรี”

เป็นหนังสือเล่มเขื่อง หนาตั้งสี่ร้อยกว่าหน้า

อ่านแล้วเพลิดเพลินและได้ความรู้มาก

แต่ถ้าจะให้ถามว่าผมชอบข้อความตอนไหนในหนังสือเล่มนี้มากที่สุด

ต้องยกนิ้วให้ย่อหน้านี้เลยครับ

“…ดังนั้น การประหารชีวิตเจ้าตากสินและพระราชวงศ์ (ยกเว้นที่มีอายุน้อย) และกลุ่มพระยาสรรค์ก็เป็นเรื่องปรกติ ไม่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าตากสิน เหมือนที่มีบางคนเชื่อและกล่าวขานกันมากและเขียนเป็นบทความก็มี อีกทั้งมีจินตนาการไปว่า การประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นการจัดฉาก เป็นกุศโลบายที่แยบยล เพื่อที่จะไม่ต้องใช้หนี้จีนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปกู้ยืมมา ซึ่งไม่รู้ไปกู้ยืมมาเวลาไหน เพราะเพิ่งส่งทูตไปจิ้มก้องในปีสุดท้ายนี่เอง…

การประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระญาติถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบัง และพระราชพงศาวดารหลายฉบับที่ชำระหรือเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เช่น พระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ ก็เขียนว่าอย่างเปิดเผยและให้รายละเอียดรวมทั้งเหตุผลในการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กลุ่มสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและกลุ่มพระยาสรรค์

ทั้งนี้ การระบุจำนวนคนถูกประหารด้วย หรือในทางตรงกันข้ามก็กล่าวถึงการให้ตำแหน่งตอบแทนแก่ผู้สนับสนุนไว้ด้วย…”

น่าสนใจไหมครับ

ข้อความข้างต้นนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของผมเองเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว

 

วันหนึ่งผมมีโอกาสได้เฝ้าหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเวลานั้นชันษาเก้าสิบปีเศษแล้ว แต่ความทรงจำยังแม่นยำดีอยู่

ระหว่างการสนทนาด้วยเรื่องสัพเพเหระ ท่านรับสั่งถามผมว่า ผมเชื่อหรือไม่สำหรับเรื่องที่เล่าลือกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงร่วมกันวางแผนกับในหลวงรัชกาลที่หนึ่ง เพื่อผลัดแผ่นดิน ส่วนการสำเร็จโทษนั้นก็เป็นละคร สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหลบไปทรงผนวชอยู่ที่ปักษ์ใต้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้เมืองจีนก็จะมายึดเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นเพื่อชำระหนี้

ผมทูลตอบท่านว่า “กระหม่อมไม่เชื่อ”

ท่านหญิงรับสั่งพลางแย้มสรวลว่า

“ฉันก็ไม่เชื่อเหมือนกัน ฉันไม่เห็นว่าจะเป็นเกียรติยศตรงไหนที่จะบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินของเราสองพระองค์ทรงสมคบกันโกงเจ๊ก”

เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึงอยู่นี้ หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วนะครับ ความเชื่อในเรื่องเล่าลือต่างๆ เช่นว่านั้นพูดกันมานานหลายสิบปีแล้ว พอเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” แล้ว จะไปโต้เถียงอะไรกันมากเห็นจะไม่ได้ เพราะเรื่องความเชื่อความศรัทธานี้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ผมคิดว่าเราไม่อยู่ในฐานะที่จะไปลบล้างหรือห้ามความเชื่อของใครได้

เพียงแต่ว่าในขณะที่บางท่านเลือกที่จะเชื่ออย่างนั้น ผมก็มีสิทธิเต็มที่เหมือนกันที่จะเชื่อหลักฐานที่ผมอ่านหรือผ่านตามา

สำหรับผมแล้วหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามไปเลยเป็นอันขาด คือหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี”

เจ้านายพระองค์นี้มีพระนามที่ชาวบ้านชาวเมืองเรียกกันโดยทั่วไปว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์”

ที่เรียกกันอย่างนั้นเพราะวังของท่านอยู่ตรงท้ายวัดโพธิ์ในตำแหน่งที่เป็นพระวิหารพระนอนองค์ใหญ่บัดนี้แหละครับ

ท่านเป็นพระขนิษฐภคินีคือน้องสาวของรัชกาลที่หนึ่ง ร่วมพระชนกแต่ต่างพระชนนี

ท่านมีชีวิตอย่างสามัญชนที่ยืนยาวมาตั้งแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงธนบุรี จนเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้วท่านจึงมีฐานะเป็นเจ้า และมีพระชนม์ยั่งยืนมาจนถึงต้นรัชกาลที่สามเลยทีเดียว

ในทัศนะของผมแล้วท่านเป็นเจ้านายผู้หญิงที่ล้ำยุคมาก เพราะท่านจดบันทึกความทรงจำของท่านไว้ ในเวลาเมื่อท่านมีพระชนมายุมากแล้ว

เรื่องที่ท่านจดล้วนแต่เป็นสิ่งที่ท่านได้พบเห็นมาด้วยองค์ท่านเองทั้งสิ้น

อีกทั้งจดหมายเหตุความทรงจำนี้ท่านก็ไม่ได้คิดจะให้พิมพ์เผยแพร่ที่ไหน เข้าใจว่าเพียงแต่เป็นการเตือนความทรงจำของตนเองและอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สืบพระวงศ์ของท่านจะได้รู้เรื่องราวในอดีต

น้ำหนักความน่าเชื่อถือของเรื่องราวที่ทรงจดบันทึกจึงมีมาก

และหลายอย่างเป็นความรู้ที่ท่านได้ทรงทราบมาเป็นการเฉพาะส่วนพระองค์ของท่านจริงๆ

ลำพังเพียงแต่จดหมายเหตุของท่านก็น่าอ่านมากถึงมากที่สุดอยู่แล้ว

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเขียนพระราชวิจารณ์ อธิบายขยายความเนื้อความในจดหมายเหตุที่กรมหลวงนรินทรเทวีส่งเขียนไว้แบบย่อ ให้ละเอียดถี่ถ้วนต่อไปอีก พร้อมกับทรงสอบทานกับหลักฐานเอกสารอื่นๆ ด้วย

หนังสือเล่มนี้จึงทรงคุณค่าและถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์เลยทีเดียวก็ว่าได้

กรมหลวงนรินทรเทวีทรงอธิบายภาพรวมของเหตุการณ์ตอนจะสิ้นสมัยกรุงธนบุรีว่า

“เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ความข้อนี้ไว้แต่เพียงสั้นๆ ว่า

“ปรารภถึงความเดือดร้อนในที่นี้ เป็นสำนวนเก่าดี กล่าวด้วยความสังเวชและความเคารพ”

รายละเอียดเมื่อตอนที่ใกล้จะสิ้นยุคธนบุรีมีอย่างไรนั้น กรมหลวงนรินทรเทวีท่านจดไว้ละเอียดลออมาก และทำให้เราเห็นได้ทีเดียวครับว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชท่านทรงตรากตรำกับพระราชกรณียกิจทั้งหลายมาตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อถึงปลายรัชกาลเพราะอารมณ์และพระจริยวัตรแรงกล้าและแตกต่างไปจากที่คนทั้งหลายเคยพบเห็นราชการจึงแปรปรวนไป

พอดีมีช่วงเวลาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงเป็นข้าราชการคนสำคัญเสด็จออกไปราชการทัพที่กัมพูชา พระยาสรรค์ฉวยโอกาสก่อการยึดอำนาจ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินไปทรงผนวชและคุมพระองค์ไว้

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระยาสรรค์ก็รวมกำลังกันเข้ารบพุ่งต่อต้าน

ฝ่ายที่ว่านี้มีพระยาสุริยอภัย ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นผู้นำ รบกันอยู่นานหลายวัน ฝ่ายพระยาสรรค์จึงพ่ายแพ้

กว่าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเข้ามาถึง การรบพุ่งจลาจลก็ยุติลงแล้ว

คำถามมีอยู่แต่ว่า จะทรงจัดการกับบ้านเมืองต่อไปอย่างไร

เรื่องราวต่อจากนี้ก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารและในหนังสือจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวีตรงกันทุกประการ

ผมอยากจะขออนุญาตกล่าวเสริมไว้ตรงนี้ว่า เวลาที่เราอ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ข้อที่ต้องระมัดระวังคือ เราไม่ควรนำเอามาตรฐานความคิดแบบปัจจุบันสมัยไปวัดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนว่าผิดหรือถูก เหมาะควรหรือไม่เหมาะสมประการใด

วิธีคิดของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยให้คุณค่าหรือมาตรฐานที่แตกต่างกันไปครับ

เช่น เมื่อเราพูดถึงเหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี มีการปราบดาภิเษกเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตั้งพระราชวงศ์ใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชวงศ์ใกล้ชิดที่มีพระชนมายุมากถูกสำเร็จโทษ

ลองคิดดูให้ดีนะครับว่า เจ้านายก็ดี บุคคลทั้งหลายก็ดี ที่มีพระชนม์มีชีวิตอยู่ในเวลานั้น มีทางที่จะเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่นหรือไม่เพียงใด

เราต้องไม่ลืมว่าสงครามพุทธศักราช 2310 ที่เป็นอวสานของกรุงศรีอยุธยาเพิ่งผ่านไปเพียงแค่สิบห้าปี

และเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สงครามเก้าทัพซึ่งเป็นสงครามขนาดใหญ่อย่างที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนก็เข้ามาประชิดตัวเราในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากเราสร้างกรุงได้ใหม่

อันตรายยังจ่ออยู่ที่ประตูบ้านของเราอยู่เสมอ

ส่วนเรื่องไปกู้เงินเมืองจีนนั้นก็พูดกันไปครับ แต่ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันได้

ลองนึกดูนะครับว่า พระเจ้ากรุงจีนที่อยู่ที่กรุงปักกิ่งนั้น ไม่ได้ทรงรู้จักกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาแต่เดิม

หลักฐานทั้งฝ่ายไทยเราและฝ่ายจีนตรงกันว่า เราเพิ่งจะมีพระราชสาส์นไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีนก็ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมากแล้ว

การเดินทางไปมาระหว่างไทยกับจีนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่พูดกันว่าทรงไปกู้เงินเมืองจีนมาสร้างกองทัพเรือที่จันทบุรีสำหรับยกมาสู้กับพม่านั้น เวลามีไม่พอหรอกครับ

อีกประการหนึ่ง ความคิดเรื่องการที่จะมายึดเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นของจีนนั้น ฟังดูคล้ายกรมบังคับคดีมาก ยึดทรัพย์ลูกหนี้แล้วไปขายทอดตลาดอะไรทำนองนั้น ผมไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยว่าเมืองจีนในยุคสมัยนั้นมีแนวความคิดการที่จะเป็นเจ้าอาณานิคมอย่างที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสได้เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ของเราในภายหลัง

แต่ก็อย่างที่ว่านะครับ ผมก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปหักล้างหรือห้ามความเชื่อของใครได้ ผมเพียงแต่อยากจะเล่าสู่กันฟังเท่านั้นบ้างว่า ทำไมผมจึงมีความคิดความเชื่อแบบที่ผมคิดและเชื่อ

เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นยังมีความคลุมเครืออยู่อีกมาก เป็นต้นว่า เรื่องพระชาติกำเนิด ท่านผู้ใดเป็นพระราชชนกชนนี ชีวิตรับราชการของท่านไปอย่างไรมาอย่างไร และอื่นๆ อีกสารพัด

แต่ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเหล่านั้น สิ่งที่ชัดเจนและไม่มีใครหักล้างได้ คือพระปรีชาสามารถและความองอาจกล้าหาญของท่านที่สามารถรวบรวมกำลังไพร่พลกู้บ้านกู้เมืองให้กลับเป็นอิสระขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เพียงชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับแต่วันอวสานของกรุงศรีอยุธยา กลางเดือนเมษายนพุทธศักราช 2310 จนถึงวันแรกสถาปนากรุงธนบุรีในวันที่ 28 ธันวาคมปีเดียวกัน

ไม่มีใครทำได้อย่างท่านอีกแล้ว

ตลอดเวลาสิบห้าปีเต็มในรัชกาล

ท่านไม่เคยอยู่เฉย ทั้งๆ ที่ท่านปรารถนาพระโพธิญาณเป็นที่สุด

แต่โลกแห่งความจริงก็ไม่เคยอนุญาตหรือผ่อนผันให้ท่านทรงพระดำเนินไปในกระแสที่ท่านทรงปรารถนา

ตรงกันข้าม ท่านต้องคร่ำเคร่งและเคร่งเครียดอยู่กับราชการแผ่นดินและราชการรบทัพจับศึก ทรงได้รับบาดเจ็บก็หลายคราว

พระเดชพระคุณของท่านที่มีอยู่กับแผ่นดินและคนไทยจึงยิ่งใหญ่และไม่มีวันลบเลือน

เมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงวางพระองค์อย่างเป็น “พ่อ” ของทุกคน รับสั่งเรียกพระองค์เองว่าพ่ออยู่เสมอ

เช่น ปรากฏหลักฐานอยู่ในจดหมายรายวันทัพเมื่อเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ที่จดถ้อยพระวาจารับสั่งไว้ว่า

“…พ่ออุตสาหะทรมานเที่ยวทำการสงครามมาทั้งนี้ ใช่จะจงพระทัยปรารถนาหาความสุขแต่พระองค์ผู้เดียวหามิได้ อุตสาหะสู้ยากลำบากพระกาย ทั้งนี้ เพื่อจะทะนุอำรุงพระศาสนา ให้สมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขทั่วขอบขัณฑสีมา … ครั้งนี้ลูกทั้งหลายทำการพ่ายแพ้แก่พม่า ครั้นจะเอาโทษก็เสียดายนัก ด้วยได้เลี้ยงดูมาเป็นใหญ่โตแล้ว ผิดครั้งนี้จะยกไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่งก่อน…”

นี่แหละครับ น้ำพระทัยของท่าน ถ้าไม่ได้ฝีมือของท่านรักษาบ้านเมืองไว้ตั้งแต่ครั้งกระนั้น ป่านนี้เราจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ได้

ถ้ามีโอกาสเราคงได้พบกันที่พระราชวังเดิมปลายเดือนนี้ครับ นานปีทีหนจะมีโอกาสอย่างนี้ ไม่น่าพลาดครับ