ผ่าคดี : ธาริตหมิ่น‘เทือก’ ปมสร้าง396โรงพัก เรื่องราวความเป็นมา จนถึงวันพิพากษา คุก1ปี ไม่รอลงอาญา

ได้ข้อสรุปกันไปแล้ว 1 คดีที่เกี่ยวข้องกับทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ซึ่งตัวสำนวนคดีทุจริตยังอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช. หลังจากที่ดีเอสไอมีมติส่งเรื่องดังกล่าวโดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นผู้ถูกกล่าวหา

ซึ่งครั้งนี้เป็นคดีหมิ่นประมาท ที่นายสุเทพฟ้องนายธาริต เสร็จสิ้นก่อน

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ธ.ค.
โดยศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาด้วยตัวเอง ตัดสินจำคุกนายธาริต 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา

พลิกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ที่มีคำสั่งยกฟ้อง เพราะถือว่าการที่นายธาริตให้สัมภาษณ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

แม้นายธาริตจะกลับคำให้การในชั้นศาลฎีกา เป็นรับสารภาพ

พร้อมให้นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย จนนายคณิตระบุว่าได้พูดคุยกับนายสุเทพเรียบร้อย ซึ่งพร้อมจะยกโทษ ถอนฟ้อง หากนายธาริตทำหนังสือขอขมา

แต่เมื่อนายธาริตทำหนังสือขอขมา นายสุเทพก็ยืนยันว่าจะไม่ยกโทษให้แต่อย่างใด

นำมาซึ่งการถูกจำคุกตามกระบวนการยุติธรรมโดยคำสั่งศาลฎีกา

ขณะที่สังคมจับตาดูคดีหลักซึ่งเป็นคดีทุจริต ที่ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วกว่า 5 ปี

จะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องติดตาม

● ศาลฎีกาอ่านเอง-คุกธาริต 1 ปี

วันที่ 14 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328

คดีนี้นายสุเทพโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ.2556 นายธาริตขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่า นายสุเทพเป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง เป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ

แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัทพีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็น ผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

องค์คณะศาลฎีกา เห็นว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูเเลโครงการสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโรงพัก 396 เเห่ง ต่อมามีการเปลี่ยนเเปลงสัญญาจากรายภาคเป็นการรวมสัญญาเป็นเจ้าเดียว

ศาลเห็นว่า จำเลยในฐานะพนักงานสืบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงนำไปสู่การวินิจฉัยของศาล หาใช่อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะเเถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงในสำนวนเพื่อชี้นำสังคม

อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. เมื่อสืบสวนได้ว่าจำเลยกระทำเข้าข่ายความผิด จำเลยมีหน้าที่ที่จะรวบรวมพยานหลักฐานส่ง ป.ป.ช.โดยเร็ว ไม่ควรให้สัมภาษณ์ถึงโจทก์ จะเป็นการทำให้โจทก์ถูกมองได้ว่าเป็นผู้มีส่วนกระทำผิดเปลี่ยนเเปลงสัญญาให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการหมิ่นประมาทให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

ที่ศาลล่างสองศาลพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษากลับลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี

ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้อง 4 ฉบับ มีเนื้อหาสรุปว่าขอถอนคำให้การเดิมเเละยื่นคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยเจรจาเเละขอขมาโจทก์ตามข้อตกลง พร้อมวางเงินเยียวยาบรรเทาผลร้าย 1 เเสนบาท เพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น

ศาลเห็นว่าที่จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ไม่อาจทำได้ในชั้นฎีกา

ส่วนที่จำเลยร้องว่าได้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมจนสำเร็จอันเป็นเหตุให้สิทธิดำเนินคดีอาญาระงับไปนั้น ยังเห็นว่าจากคำร้องที่ยื่นมายังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ย จะต้องคำนึงถึงคู่ความ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ยคดีอาญา การจึงไม่อาจระงับไปตามที่จำเลยร้องมาให้ยกคำร้อง เเละจำเลยนำเงินที่วางไว้ 1 เเสนบาทคืนได้

จนท.คุมตัวนายธาริตส่งเรือนจำ

● เผย‘ขอขมา-สารภาพ’แล้ว

อย่างไรก็ตามคดีนี้เป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมา เมื่อนายธนากร แวกวารี ทนายความของนายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ พร้อมนางจริณทิพย์ เกษรกุหลาบ เลขานุการของนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด นัดแถลงข่าวที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.

โดยนายธนากร อ่านคำแถลงของนายธาริต ระบุว่า เมื่อครั้งนายธาริต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ ระหว่างเดือนก.พ.-มี.ค.2556 ระบุว่านายสุเทพเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกเลิกและรวมสัญญาก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศเป็นสัญญาเดียว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา และแถลงข้อความอื่นๆ

ซึ่งการแถลงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายกับนายสุเทพ จนเป็นเหตุให้นายสุเทพยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาท ต่อมาศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ขออนุญาตฎีกา และได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างรออ่านคำพิพากษาศาลฎีกา

หลังจากพ้นตำแหน่ง ได้ทบทวนเรื่องราวพบว่าการแถลงข่าวเป็นการกระทำต่อนายสุเทพโดยไม่บังควร จาบจ้วง ละลาบละล้วง ทั้งที่ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชา มีพระคุณอย่างมาก ซึ่งตามข้อเท็จจริงการออกคำสั่งของนายสุเทพ เป็นการกระทำตามข้อเสนอผบ.ตร. ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ

ยิ่งกรณีดังกล่าวนายสุเทพไม่เคยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาใดๆ ตัดสินว่ากระทำความผิด รวมถึงป.ป.ช.ก็ไม่ได้ชี้มูลว่ากระทำผิดใดๆ จึงขอโอกาสแสดงความสำนึกผิด และขอกราบขมาลาโทษนายสุเทพ และกราบขอบคุณนายสุเทพที่เมตตายกโทษในคดีดังกล่าว

และระบุว่ากรณีนี้ได้รับความกรุณาจากนายคณิต ณ นคร อดีตอสส. เป็นคนกลางเจรจากับนายสุเทพ และมีหนังสือรับรองจากนายคณิต ว่ามีการเจรจาจริง และนายสุเทพเองก็ยอมรับ หากทำเอกสารขอขมา

อย่างไรก็ดีแม้การเจรจาจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ไม่มีเวลาเหลือ เพราะศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 ธ.ค. โดยเป็นการอ่านคำพิพากษาเอง ไม่ส่งไปศาลฎีกาเหมือนคดีทั่วไป จึงตัดสินใจยื่นคำให้การรับสารภาพตามฟ้อง

เพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้มีหนังสือสำนึกผิด และขอขมาลาโทษต่อนายสุเทพไปแล้ว พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริงผลการเจรจาประนีประนอมที่นายคณิตได้รับรองให้ตามที่กล่าวมา

และขอความเมตตาจากศาลฎีกาขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ไปอีก 60 วัน เพื่อการเจรจาจะได้แล้วเสร็จ

แต่หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบา โดยรอการลงอาญาด้วย

เป็นถ้อยแถลงจากนายธาริต

● ย้อนคำพิพากษา 2 ศาล

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กัน ก็คือการนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเอง เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา จะส่งเรื่องกลับมาให้ศาลอาญาอ่าน เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องห้องพิจารณาคดี การควบคุมจำเลย หากพิพากษาจำคุก

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า การอ่านคำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ว่า ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา หรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้

และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ 3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นที่สนใจของประชาชน หรือคดีอื่นใดซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา

ทั้งนี้คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค.2558 ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลย เป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่

เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาวันที่ 3 พ.ค.2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง นายสุเทพ โจทก์ได้ขออนุญาตฎีกาต่อ

ศาลฎีกานัดอ่านฎีกาครั้งเเรกในวันที่ 24 ต.ค.2561 ที่ศาลอาญา แต่นายธาริตขอเลื่อน อ้างป่วยติดเชื้อในลำไส้ และต้องขอส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ศาลอาญาอนุญาต

จนกระทั่งศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาเอง

คุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา