ในประเทศ / ‘คสช.’ ปลดล็อกที่ซ่อนกล ศึกหนักที่ต้องสู้ ‘กติกาดีไซน์มาเพื่อเรา’

ในประเทศ

‘คสช.’ ปลดล็อกที่ซ่อนกล

ศึกหนักที่ต้องสู้

‘กติกาดีไซน์มาเพื่อเรา’

 

ในมุมของพรรคการเมือง หรือนักกิจกรรมทางการเมือง กว่าจะมีคำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 จำนวน 9 ข้อเพื่อปลดล็อกทางการเมืองตามกฎหมายได้ก็ต้องถือว่าสู้กันเลือดตาแทบกระเด็น ถ้าเป็นเรื่องในทางศาล ว่ากันตามกระบวนการพิจารณาคดีก็ต้องบอกว่า สู้กันถึงชั้นฎีกาเลยทีเดียว

เพราะแทนที่จะมีการปลดล็อกปล่อยให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หรืออย่างช้าที่สุดก็ควรจะเป็น 8 ตุลาคม 2560 วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว

แต่บิ๊กๆ คสช.ก็ยกสารพัดเหตุผลเพื่อชะลอการปลดล็อกทางการเมืองตามกฎหมายออกไป

ทั้งชะลอด้วยเหตุผลของการพิจารณากฎหมาย ชะลอด้วยการใช้อำนาจพิเศษออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 รวมทั้งกรณีที่สมาชิก สนช.ฝักถั่วออกหน้า ยกมือยืดการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นฉบับสุดท้ายที่จะสามารถนับ 1 สู่การเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน

กระทั่งกินเวลากว่า 1 ปีกับอีก 7 เดือนนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้

กว่าจะปลดล็อกได้ก็ปาเข้าไปวันที่ 11 ธันวาคม 2561 หรือวันแรกหลังครบกำหนด 90 วันที่ สนช.ฝักถั่วยกมือยืดการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปแบบพอดิบพอดี นั่นก็เท่ากับว่า แต่ละพรรคการเมืองจะมีเวลาเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

เพียงแค่ 2 เดือนเศษๆ เท่านั้น

 

ที่สำคัญ นักการเมืองบางคนยังต้องลงสนามเลือกตั้ง โดยมี “คดีความ” ล่ามเป็นโซ่ตรวนต่อไปด้วย

โดยเฉพาะ 8 แกนนำเพื่อไทยที่ถูก คสช.ดำเนินคดีจากการตั้งโต๊ะแถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ที่ถูกมองว่า อาจะเป็น “ชนัก” แห่งชนวนเหตุที่นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยในอนาคตก็เป็นได้

นี่ยังไม่นับรวมประชาชนจำนวนมากที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองตลอดเกือบ 5 ปี ภายใต้ยุค คสช. กระทั่งถูกฝ่ายกฎหมายของกองทัพแจ้งจับเป็นคดีความในชั้นศาลเป็นจำนวนหลายร้อยคนด้วย

เพราะตามคำสั่งที่ 22/2561 แม้ฐานความผิดจากคำสั่ง คสช.บางอย่าง ไม่ว่าการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน อายัดธุรกรรมทางการเงินบุคคล ห้ามนักการเมือง 18 คนเดินทางออกนอกประเทศ รวมไปถึงการเรียกบุคคลรายงานตัว และการกักตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกไปแล้ว

แต่ตามคำสั่งดังกล่าวยังมีติ่งท้ายด้วยว่า การปลดล็อก 9 ข้อจะต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ

หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้

 

นี่จึงถือเป็นการ “ปลดล็อกที่ไม่ปลดล็อก” ในทัศนะของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุว่า “เมื่อยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.ที่กำหนดความผิดและโทษไปแล้ว ตามหลักกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดและโทษถูกยกเลิกไป การดำเนินคดีต่างๆ ตามกฎหมายนั้นก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย นักกฎหมาย คสช.ย่อมทราบดี จึงจงใจเขียนยกเว้นไว้ว่าคดีใดที่ดำเนินอยู่ก็ให้ดำเนินคดีต่อไป สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติมองประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.เป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องดำเนินคดีให้หลาบจำ”

อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 จะมีเสียงวิจารณ์ แต่โดยรวมถือเป็นสัญญาณสู่การเลือกตั้งโดยแท้ ฟากนักการเมืองค่ายพลังประชารัฐที่แกนนำพรรคประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ต่างตีปี๊บ ขึ้นป้ายหาเสียงแนะนำตัวทันที

เช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โชว์ล้ำหน้าไปอีกขั้น อาศัยจังหวะนี้โพสต์มาจากต่างแดนแสดงจุดยืน โชว์รูปชู 3 นิ้วต้านเผด็จการ ประกาศเองชัดๆ ว่า จะปักธงเป็นหมุดหมายรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

“วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังที่เราจะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคกลับคืนมา ถึงแม้ว่าอาจไม่เหมือนเดิมเหมือนเมื่อครั้งได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล ดังนั้น เราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้”

 

ถือว่าเปิด “ยุทธศาสตร์ใหญ่” ของพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายซีกประชาธิปไตยที่ประกาศตัวเป็นคู่ตรงข้ามกับ คสช. ทั้งพรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ หรือแม้แต่พรรคเพื่อธรรมไว้ลงสู้ศึกเลือกตั้งตั้งแต่เนิ่นๆ

โดยตั้งใจตีไปที่รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถือเป็น “ใจกลาง” ของเสาค้ำยันทางอำนาจที่ปกป้อง คสช. ทั้งในอดีต ณ ปัจจุบัน และการสืบทอดอำนาจต่อไปในอนาคตด้วย

เรียกได้ว่า นายทักษิณเปิดหน้าเลือกเล่นในวันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่จะกล้าพูดเซย์เยส รับปากตกลงเป็นเบอร์ 1 ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเขารู้ เขาลือกันไปทั่วแล้ว

ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักอย่างต่อเนื่องว่าเอาเปรียบเพื่อน เพราะมีการใช้ทั้งกลไกรัฐอำนวยความสะดวก ออกนโยบาย ลดแลกแจกแถม มิหนำซ้ำยังงัดดาบอาญาตามมาตรา 44 ที่หัวหน้า คสช.มีมาอำนวยความสะดวกให้กับพรรคในข่ายของตนเอง

เห็นชัดๆ จากกรณีที่ออกคำสั่งมาปลดล็อกให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตใหม่ได้ จนกระทั่งมีการออกมาโวยวายกันในหลายจังหวัด

 

มิหนำซ้ำ ยังมีกระแสข่าวที่รายงานออกมาจากเวที คสช.เพื่อหารือพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า “บิ๊กตู่” ชงบัตรเลือกตั้งต้องไม่มีโลโก้พรรคอีก

กระทั่งมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต ออกแถลงการณ์ว่า การออกแบบดังกล่าวถือว่าไม่คำนึงถึงหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะผู้มาใช้สิทธิจะลงคะแนนเลือกผู้ใด มักพิจารณาจากนโยบายพรรคการเมือง หรือคุณสมบัติผู้สมัครเป็นสำคัญ อาจส่งผลให้ไม่อาจลงคะแนนเลือกให้ถูกต้องตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญการตัดโลโก้และชื่อพรรคยังเป็นโอกาสให้เกิดการทุจริตโดยง่ายอีกด้วย

ล่าสุด 7 พรรคการเมืองเคลื่อนไหวพร้อมเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในการปฏิบัติ หรือ FFFE ยื่น กกต.ให้แก้กฎหมายใช้พรรคเดียวเบอร์เดียว บัตรเลือกตั้งแบบมีโลโก้-ชื่อพรรค

สำคัญที่สุด คสช.ต้องหยุดแทรกแซง กกต.ด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นประเด็นร้อนที่ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ เสรี และเป็นธรรม ต้องกล้าปลดล็อกให้

โดยเฉพาะกับโซ่ตรวนอันเป็นข้อครหาที่ว่า กกต.เป็นเด็กในคาถา คสช.