จัตวา กลิ่นสุนทร : นิทรรศการจิตรกรรม “พู่กันเก่า (สีใหม่) 2561”

กลับไปเปิดดูสูจิบัตรเล่มเก่าที่เก็บไว้ของ “กลุ่มพู่กันเก่า-สีใหม่” ซึ่งร่วมกันจัดนิทรรศการจิตรกรรม ซึ่งคิดว่าเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันขึ้น เมื่อวันที่ 4-24 พฤศจิกายน 2547 ณ หอศิลป์จามจุรี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลิกอ่านพร้อมดูผลงานที่ตีพิมพ์ในสูจิบัตรจึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมถึงใช้คำว่า นิทรรศการ “จิตรกรรม”

ซึ่งมันอาจจะสืบเนื่องมาจากว่ากลุ่มลูกศิษย์ (อาจารย์ฝรั่ง) “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Prof.Corrodo Feroci) กลุ่มนี้แม้จะเป็นรุ่นปลายๆ ก่อนท่านเสียชีวิต แต่ทุกท่านมีเลข 7 จนถึงเลข 8 ต่อท้ายอายุกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ยุคสมัยกลุ่มของท่านศึกษาเล่าเรียนในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ “ศิลปะร่วมสมัย” ยังไม่ถึงขนาดไหลบ่าเข้าสู่ประเทศเราอย่างต่อเนื่องรุนแรง พวกท่านพี่ๆ จึงถนัดงาน “จิตรกรรม ประติมากรรม” จนถึงงานยุค Impressionism มากกว่า โดยเพิ่งจะเริ่มๆ งานสมัยใหม่ คืองานนามธรรม (Abstract) กันบ้างเท่านั้น ยังไม่ถึงสมัยปัจจุบันที่อะไรๆ ล้วนเป็นศิลปะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานหยิบฉวยวัตถุ วัสดุต่างๆ มาจัดวาง จัดแสงสี และอุปกรณ์ต่างๆ นานา ฯลฯ

เหมือนดังอย่างที่กำลังมีนิทรรศการเป็นที่เลื่องลือกันอยู่ในหลายๆ แห่งทั้งที่ “กรุงเทพฯ” และจังหวัด “กระบี่” เช่น เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ “Bangkok Art Biennale” (BAB) 2018 และ “มหกรรมกรรมศิลปะนานาชาติ” Thailand Biennale Krabi, 2018

 

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (C.Feroci) เดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทย เป็นข้าราชการของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2466 ขณะท่านมีอายุ 32 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ.2485 กรมศิลปากรแยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นช่างปั้น และเป็นผู้บริหารโรงเรียนศิลปากร (แผนกช่าง) ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียน “ประณีตศิลปกรรม”

ปี พ.ศ.2486 รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มองเห็นความสำคัญของโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ท่านสั่งให้ปรับปรุงหลักสูตร และประกาศพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร”

ระยะแรกเปิดได้ทำการเรียนการสอนเพียง 2 คณะคือ คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มีท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีทั้ง 2 คณะ ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

หลังจากท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดินทางจากบ้านเกิดคือเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (Florence-Italy) เข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในประเทศไทยได้ 20 ปี

มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อเกิดมา 75 ปี ออกดอกแตกหน่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ มากมายหลายวิทยาเขต สำหรับคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เปิดสอนถึงขั้นปริญญาเอก ตั้งแต่วันก่อตั้งถึงวันนี้มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกไปถึง 75 รุ่น แต่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” ของลูกศิษย์ ท่านอยู่สอนลูกศิษย์ได้เพียง 17 รุ่นเท่านั้น

เนื่องจากท่านเสียชีวิตไปก่อน เมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2505 นับเวลาที่ท่านจากพวกนักศึกษาศิลปะไปแล้วถึง 56 ปี ซึ่งหากท่านยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ย่อมเป็นเวลา 127 ปีทีเดียว

 

แต่ดูเหมือนว่าศิษย์ของท่านตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนกระทั่งถึงรุ่นปลายๆ ที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนกับท่านไม่เคยมีคนไหนลืมเลือนอาจารย์ได้เลย นอกจากนั้นยังมีการสืบสานสืบทอดโดยไม่ต้องต่อท่อกันต่อๆ มาด้วยการเชิดชูสั่งสอนปลูกฝังแก่นักศึกษาที่เหยียบย่างเข้ามายังมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้ได้รู้จักและระลึกนึกถึงผู้ให้กำเนิด หรือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อกว่า 70 ปีก่อน แม้ท่านจะเป็นต่างชาติก็ตาม

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2434 เป็นวันเกิดของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (อาจารย์ฝรั่ง) ของชาวศิลปากร (วังท่าพระ) ย่อมต้องมีการจัดงานเพื่อรำลึกนึกถึงท่านผู้ให้กำเนิด เมื่อวันที่ 15 กันยายนเวียนมาถึงในทุกๆ ปี มีทั้งพิธีทางศาสนา วางพวงมาลาเพื่อระลึกถึงท่าน และต่อด้วยการสังสรรค์เพื่อพบปะสนทนาเรื่องราวของความหลังกันในทุกๆ ปี

ระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ได้รับงบประมาณมาทำการปรับปรุง (Renovate) แต่เกิดปัญหาการทำงานต้องยืดเยื้อยาวนาน มหาวิทยาลัยได้โยกงานวันที่ 15 กันยาน ไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

แต่ศิษย์เก่าคณะต่างๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมฯ มีความรู้สึกว่ามันไม่ค่อยได้บรรยากาศของงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” ดังผ่านๆ มา จึงพยายามขอพื้นที่ของกรมศิลปากร ผสมกับส่วนของมหาวิทยาลัยบริเวณลานอนุสาวรีย์ของอาจารย์ฝรั่ง เพื่อจัดงานให้มีการบรรยากาศขลังๆ ดังเดิม

จําได้ว่าศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งมีกลุ่ม “พู่กันเก่า” รวมอยู่ด้วยได้เคยนำผลงานมาแสดงในงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” เป็นประจำทุกปี ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของคณะวิชาอื่นๆ แต่ทุกวันนี้โครงการดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้เว้นวรรคการจัดงานที่วังท่าพระมาอย่างน้อย 2-3 ปีแล้วด้วย

กลุ่มพู่กันเก่า 61 แม้จะมีวัยขึ้นต้นด้วยเลข 7 ปลายๆ เรียกว่าขณะนี้ยืนกันตรงเลยกลางสะพานพระราม 7 กำลังก้าวสู่เลข 8 แต่อีกหลายๆ ท่านผ่านเลยเลข 8 ไปแล้ว แต่ยังไม่หมดไฟในการทำงานศิลปะ กลับมารวมกลุ่มกันเพื่อแสดงงานศิลปะ ซึ่งไม่แน่ใจว่าปีละครั้ง หรือตามความเหมาะสม เพราะถ้าหากเริ่มแสดงเมื่อปี พ.ศ.2547 เป็นครั้งแรก ถึงวันนี้นับเวลาได้ 14 ปีแล้ว

การแสดงหนนี้ เป็นครั้งที่ 8 ใช้ชื่อว่า “กลุ่มพู่กันเก่า 61” (กลุ่มลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จำนวน 23 คน) ต้องบอกว่ากลุ่มของท่านได้ขยายแวดวงออกไปจากครั้งแรก เพราะมีสมาชิกมาเพิ่มอีก 6 ท่าน แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าได้มีท่านไหนจากการแสดงครั้งแรก มีอันต้องล้มหายตายจากไปบ้างหรือไม่?

ส่วนใหญ่ของท่านผู้อาวุโส ซึ่งเรียกว่ากลุ่มลูกศิษย์อาจารย์ฝรั่งล้วนแล้วแต่เกิดมาเร็วได้ทันเรียนกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แม้ส่วนมากจะเป็นรุ่นปลายๆ ท้ายๆ ก่อนท่านอาจารย์ฝรั่งเสียชีวิต (2505)

ศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เหล่านี้ได้ผ่านชีวิตมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งหลายท่านได้รับราชการเป็นอาจารย์ในคณะวิชาที่เรียนจบออกมา แต่ด้วยข้อจำกัดของอาชีพนี้แต่เก่าก่อน การดำรงชีวิตเป็นศิลปินอิสระไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีความสุข ย่อมจะต้องมีงานหลัก และทำงานศิลปะไปด้วย

เมื่อเห็นรายชื่อลองนับดูส่วนมากท่านจะเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ไม่สอนในโรงเรียน วิทยาลัย ก็มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนศิลปะ รวมทั้งเป็นอาจารย์ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และทุกท่านได้เกษียณอายุราชการหมดแล้ว โดยเป็นศิลปินอิสระบ้างเพียงจำนวนน้อย

 

ยิ่งกว่านั้นในกลุ่มนี้ยังมีผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ในปีต่างๆ รวมทั้งในปีล่าสุดถึง 5 ท่านด้วยกัน เพราะฉะนั้น ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิติดตามมาด้วยความสามารถ ย่อมอยู่ในฐานะที่สามารถจะเป็นประธานเปิดนิทรรศการครั้งนี้ได้อย่างเหมาะสมและสมเกียรติ

“ศิลปินแห่งชาติ” 5 ท่าน อาทิ อินสนธ์ วงสาม, ทวี รัชนีกร, พิชัย นิรันต์ , ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ และเสวต เทศน์ธรรม จะร่วมกันเปิดนิทรรศการ “กลุ่มพู่กันเก่า 61”

กลุ่มศิลปินผู้สูงวัย นอกจากศิลปินแห่ชาติจำนวน 5 ท่านแล้วยังมี พ.อ. (พิเศษ) จรัญ มัสโอดี, พ.อ. (พิเศษ) ปราโมทย์ เลิศสุคนธ์, รศ.โสภณ บัวชาติ, พนม สุวรรณนาถ, นภดล ขันธะทิม, ปราเสริฐ ปราสาททอง, เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง, ศรินทรเทพ กาญจนสกุล, แนบ โสตถิพันธุ์, สงกาศ บุญญาสัย, บัณฑิต ผดุงวิเชียร, แหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์, ธีรวัธน์ พินิจสารภิรมย์, รศ.พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา, ผศ.พงษ์ศักดิ์ อารยางกูร และชำนิ เกิดเปี่ยม

นิทรรศการเปิดแสดงตั้งแต่วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม-30 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (ถนนเจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ

เจียดเวลาไปชื่นชม เก็บเกี่ยวความประทับใจ ความรู้สึกอันงดงามกันได้