มนัส สัตยารักษ์ : โรงพักสามแยก… โรงพักที่หายไป (2)

ตอน 1

โรงพักนครบาลยุคแรกสุด คือ 64 โรงพักของ “กรมพระนครบาล” ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ซึ่งว่าราชการกรมพระนครบาล มีโครงสร้างรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดองค์กรและกำหนดหน้าที่แต่ละโรงพักไว้อย่างเห็นได้ชัดว่า ทางราชการของพระเจ้าอยู่หัวคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสำคัญ

จดหมายเหตุแห่งชาติระบุไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น…

โรงพักที่ 16 ตั้งที่สามแยกถนนเจริญกรุง มีนายหมวด 1 คน มีนายยาม 4 คน

วาง “คนตระเวน” ยามละ 2 คน 3 ผลัด เป็น 6 คน ตามบริเวณต่างๆ 15 จุด คือ

ตรอกตลาดกับตรอกบ้านกวักไม้ ตรอกวัดพิเรนทร์ ตรอกวัดตึก ตรอกเต้าหู้ ตรอกอาจมกับตรอกโรงงิ้ว ตรอกเต๊ากับตรอกบ้านพระสุนทรา ตรอกเจ้าสัวเนียนกับตรอกวัดพลับพลาไชย ตรอกป่าช้าสุนัขเน่ากับตรอกถั่วงอก ตรอกมะขาม ตรอกไหมริมโรงบ่อนขุนพัฒแย้ม โรงบ่อนตลาดวัวลำพอง (หัวลำโพง) ปากตรอกหลังตลาดใหม่ ตรอกศาลเจ้าอาม้า ตรอกวัดสามจีน ทางไปวัวลำพอง สามแยกถนนเจริญกรุง และจุดสุดท้ายคือนั่งยามที่โรงพัก

แต่ละจุดส่วนใหญ่วางยามละ 2 คน

มีจุดที่วางยามจุดละ 3 คน คือที่ตรอกหลังโรงงิ้ว เข้าใจว่ามีประชาชนหนาแน่นกว่าจุดอื่นๆ

จุดวางคนเดียว ที่ตรอกมะขามกับนั่งยามที่โรงพัก เดาว่าลักษณะเป็นดั่ง “ตู้ยาม” ในปัจจุบัน

รวมโรงพักที่ 16 นี้ มีนาย 5 คน มีคนตระเวนรักษาท้องที่ 93 คน มีคนตระเวนและนั่งยาม 3 คน เป็น 96 คน รวมทั้งสิ้น 101 คน

%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b9%8c
กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ฯ

โรงพักที่ 17 ซึ่งต่อมารวมกับโรงพักที่ 16 เป็น “โรงพักสามแยก” ตั้งอยู่ข้างป้อม “ปิดปัจนึก” (ซึ่งต่อมาเป็นสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์) ก็จัดวางคนตระเวนไปตามจุดต่างๆ ไปตามถนนเจริญกรุง ลักษณะเดียวกับโรงพักที่ 16

รวมมีนาย 3 คน มีคนตระเวนรักษาท้องที่ 45 คน นั่งยาม 3 คน รวม 51 คน

สรุปรวมโรงพัก 2 แห่งนี้มีนายสารวัตรแขวง 1 คน นายหมวด 2 คน นายยาม 6 คน คนตระเวน 145 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 153 คน

โรงพักหมายเลขอื่นใน 64 โรงพักก็จัดวางกำลังพลตามจุดต่างๆ ในลักษณะเดียวกัน ครือกันดังที่ยกตัวอย่างที่สามแยก เห็นได้ว่ากรมพระนครบาลวางรากฐานงานตำรวจคือ “ป้องกันและปราบปรามผู้ร้าย” ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ทั่วพระนคร รวมทั้งทางน้ำด้วย

กรมพระนครบาลยุคเริ่มแรกมีงานของอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน งานภาษีอากร งานดับเพลิงและงานควบคุมคนจีนด้วยก่อนจะแยกออกไปในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักคือปราบปรามโจรผู้ร้ายยังคงอยู่ตลอดมา

 

กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ฯ (พระยศในขณะนั้น) ทรงรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ให้ตั้ง “ข้อบังคับกรมกองตระเวน” วันที่ 23 ธันวาคม ร.ศ.109 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง สารวัตรใหญ่ สารวัตรแขวง และนายหมวด ของโรงพัก

นอกจากจะมีข้อบังคับในการทำบันทึกเอกสารรายงาน การตรวจ การจับกุม ตัวบทกฎหมาย ฯลฯ ขณะเดียวกันก็กำหนดหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละตำแหน่งไปด้วยอย่างค่อนข้างละเอียดและน่าสนใจ ซึ่งหลายข้อกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงถือปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น

ข้อ 8. ให้ (สารวัตรแขวง) ประพฤติกิริยาให้ชนในแขวงนับถือและไว้ใจ สารวัตรแขวงต้องเป็นผู้กระทำตนให้ราษฎรที่อยู่ในจังหวัดแขวงที่ตนรับผิดชอบนั้นคุ้นเคยชอบอัธยาศัยเพื่อได้สืบเหตุการณ์ต่างๆ ให้ได้ความมั่นคง

“…เหตุที่จะให้เป็นได้ดังนี้ ก็โดยความประพฤติกิริยาให้เรียบร้อย มีน้ำใจอันอารีและมีถ้อยคำอันอ่อนหวาน หมั่นอุตส่าห์ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านนั้นเนืองๆ…”

 

ความเป็นไปของโรงพักกรมพระนครบาล รวมทั้งภาระงานของคนตระเวนได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทั้งชื่อ รูปแบบองค์กรและพื้นที่รับผิดชอบมาตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2476 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไม่นาน) งานตำรวจจึงถึงคราวเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่

รัชกาลที่ 7 โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี ได้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖”

จัดตั้ง “กรมตำรวจ” มีฐานะเป็น “กรม” ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

ผมเกิดไม่ทัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็รู้ว่างานตำรวจเหมือนหลุดพ้นจากพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัว ตกไปอยู่ในมือของนักการเมืองแล้วแต่บัดนั้น ถ้ากล่าวถึงโรงพักสามแยกยุคหลังปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเรียกได้ว่าเป็น “โรงพักในยุคนักการเมือง”

แม้ผมจะเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2498 และเป็นนายตำรวจในปี 2502 แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่อง “โรงพักสามแยก” มีแค่ผิวเผิน จำได้แต่ว่าโรงพักสามแยกในยุคก่อนปฏิวัติปี พ.ศ.2500 เป็นเหมือนศูนย์กลางของกิจการตำรวจ นายตำรวจที่ผ่านโรงพักละแวกนี้มีความรู้ความสามารถระดับสูงทั้งบู๊และบุ๋น หลายท่านเติบโตเป็นเสาหลักของกรมตำรวจในเวลาต่อมา บางโรงพักเป็นที่รวมของ “อัศวิน” ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนดาราในยุคนี้

แต่เมื่อรับพระราชทานกระบี่ออกรับราชการเป็นนายตำรวจในปี 2502 นั้น โรงพักสามแยกหายไปแล้ว เหลือเพียงศาลพระภูมิ

 

จะมีใครสนใจกรณีโรงพักสามแยกหายไปหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ตำรวจเด็กๆ ในปี พ.ศ.2500 นอกจากมีปากที่พูดไม่ออกแล้ว ยังมีสมองที่เหมือนกับคิดไม่ได้อีกด้วย

จำได้แค่ว่าหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม สำเร็จเรียบร้อยแล้วไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็สั่งทุบทิ้งเพื่อใช้ที่ดินตรงสามแยกสร้าง “ธนาคารเอเชีย”

โรงพักสามแยกที่สร้างบน “ที่หลวง” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนราชพัสดุไว้ทางกระทรวงพระคลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2464

“…เพื่อให้ตรงตามประกาศพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ที่ดินรายใดที่เป็นสถานที่ว่าการอยู่แล้ว หรือที่ใดควรสงวนไว้เพื่อประโยชน์ในราชการ…”

ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเงียบกันไปหมดจนดูราวกับหัวหน้าคณะปฏิวัติมีสิทธิ์และอำนาจทำได้โดยชอบธรรม จนต่อมาภายหลัง พล.ต.ต.ภุชงค์ จุณณวัตต์ ซึ่งค้นพบเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อครั้งทำโครงการสร้างที่ทำงานและที่พักอาศัยของ สน.จักรวรรดิ

มองเห็นความแปลกแปร่งในการทุบทิ้งโรงพักแล้วยึดที่ดินของหลวง (นครบาล) ไปสร้างอาคารพาณิชย์