มนัส สัตยารักษ์ : โรงพักสามแยก… โรงพักที่หายไป (1)

เห็นภาพประชาชนนับแสนในชุดไว้ทุกข์ชูธนบัตรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทำให้หวนนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมฉายาลักษณ์ตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องหมายแทนพระมหากษัตริย์ เช่น ตราครุฑ ตราแผ่นดิน

นึกถึงตัวเราเองเวลา “ออกศึก” ไปซุ่มหรือล้อมจับผู้ร้ายสำคัญที่มีกิตติศัพท์ร่ำลือถึงความเข้มขลังหนังเหนียว ยิงไม่เข้าหรือกระสุนไม่ออก เราจะอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์จากธนบัตรม้วนลงปากกระบอกปืนไว้ด้วย เป็นการแก้เคล็ด

แม้ในยามปกติพวกเราจะวางกระบี่ที่รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ในที่อันควร ภาวนาขอให้เรารับราชการไปตลอดรอดฝั่งด้วยความราบรื่น สามารถเอาชนะศัตรูและอุปสรรคได้โดยปลอดภัย

 

นึกถึงเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เรื่องการโค่นต้นไม้ใหญ่ในป่าลึกครั้งรัชกาลที่ 5 คนงานที่เลื่อยหรือฟันต้นไม้จะป่วยไข้และถึงแก่ความตาย เจ้าหน้าที่ต้องทำพิธีตีตราครุฑหรือตราแผ่นดินก่อน คนงานจึงกล้าตัดไม้หรือโค่นไม้ใหญ่

ผมฟังเรื่องเล่านี้ครั้งไปทำงานในป่าอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็ไม่กล้าแสดงอาการเพราะผู้เล่าเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้วัยอาวุโส

ต่อมาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งพูดถึงรายละเอียดในการสร้างทางรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 ใจความคล้ายกันทำนองว่า “ต้องใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แสดงความเป็นเจ้าของต้นไม้ หรือแผ่นดิน หรือแม้แต่ก้อนหิน คนทำงานถึงจะปลอดภัย”

ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้จึงหารายละเอียดในกูเกิล เรื่อง “การสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5”

ได้ความว่า ในปี พ.ศ.2438 การก่อสร้างดำเนินการมาจนถึง “ดงพญาไฟ” ซึ่งเป็นภูเขาและป่าทึบ

คนงานส่วนมากซึ่งเป็นจีนและชาวอีสานที่มารับจ้างทำงานขุดดิน พูนทาง และระเบิดภูเขา ต่างเจ็บป่วยเป็นโรคไข้ป่าและล้มตายเป็นจำนวนมาก

แม้แต่วิศวกรชาวเดนมาร์กที่มาคุมงานก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ศพฝังไว้ที่หน้าสถานีมวกเหล็กตราบเท่าทุกวันนี้

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกดล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี โดยรถไฟพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2438

เมื่อรถไฟพระที่นั่งไปจนสุดทางที่ก่อสร้างที่ตำบลหินลับแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปตามทางที่ยังไม่ได้วางรางจนถึงศิลาใหญ่อยู่ริมทางรถไฟซึ่งยื่นล้ำเข้ามาในแนวที่จะวางราง

จึงทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ สผ. กับปีรัตนโกสินทร์ศก 115 ต่อมาได้เรียกขานศิลาใหญ่ที่จารึกพระปรมาภิไธยนี้ว่า “ผาเสด็จ”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อป่าผืนใหญ่ระหว่างเมืองสระบุรีกับนครราชสีมา จาก “ดงพญาไฟ” เป็น “ดงพญาเย็น” ตั้งแต่นั้นมา

 

ทุกครั้งที่นั่งรถยนต์สายเชียงใหม่-ลำพูน มาตามถนนสุขุมวิท (สายเดิม) กิโลเมตรที่ 362-368 เราจะร่มรื่นด้วยร่มเงาของ “ยางนา” สูงใหญ่ พร้อมกันนั้นก็นึกถึงพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะพระองค์ทรงห้ามตัดหลังจากที่เหลือราว 100 ต้น

มองจากถนนสายใหม่ไปยังสายเก่าจะเห็นแถวต้นยางนาที่ว่านี้สูงลิ่วเหนือไม้อื่น จนรู้สึกเหมือนว่าตรงบริเวณานั้นไม่ใช่เมืองไทย

เมื่อตุลาคมนี้ เห็นภาพต้นสักทองยักษ์และต้นกระยาเลยใหญ่ถูกโค่นเพื่อขยายถนนหรือสร้างถนนใหม่ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ แล้วนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเรา

ไม่มีข่าวคนงานที่ตัดไม้ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือตาย แต่คนที่ริเริ่มดำริคิดโค่นต้นไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คงไม่มีความสุขในชีวิตอีกแน่นอน

เหมือนกับคนที่เอาที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ตำรวจสร้างโรงพักสามแยกเพื่อปกป้องประชาชน ไปใช้สร้างธนาคารพาณิชย์อันมิใช่ราชการนั่นแหละ

ขอย้อนไปเล่าเรื่อง “โรงพักสามแยก” ซึ่งนับเป็นโรงพักรุ่นแรก เป็น 1 ในจำนวน 64 โรงพัก สร้างบนที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่ “กรมพระนครบาล”

ผมได้ข้อมูลจากเอกสารโบราณในหอจดหมายเหตุ ทั้งนี้ จากบันทึกการค้นคว้าของ พล.ต.ต.ภุชงค์ จุณณวัฒน์ ผู้พยายามจะเอาที่ดินหลวงคืนมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ประโยชน์ราชการ

ผมกล้าพนันได้ว่า เราไม่รู้ (หรือลืมกันหมดแล้ว) ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นที่ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ตำรวจสร้างโรงพัก!…

…ในปี พ.ศ.2433 (ร.ศ.109) หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงกิจการตำรวจให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ประกอบกับบ้านเมืองเราเองก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร การระดมพลจำนวนมากแบบดั้งเดิมทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากพลตระเวน (ตำรวจ) ยังไม่มีที่ทำการเป็นกิจจะลักษณะ

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ซึ่งว่าราชการกรมพระนครบาล หรือเรียกว่า “คอมมิตตีกรมพระนครบาล” ทรงเป็นผู้ปรับปรุงและจัดระเบียบกิจการตำรวจกรมกองตระเวน ตามแบบอย่างของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ร.ศ.109

โดยให้มีที่ทำการเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกำเนิดโรงพักครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย

 

แนวความคิดหรือโครงการ การจัดกิจการ กรมกองตระเวน พ.ศ.2433 ของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดองค์กร การบริหาร กำหนดตำแหน่งและหน้าที่ อัตราเงินเดือน เขตรับผิดชอบ ฯลฯ แบ่งเป็นข้อรวมแล้ว 56 ข้อ

เกี่ยวกับสถานที่ก่อสร้างและรูปแบบโรงพักอยู่ในข้อ 31 ซึ่งสรุปว่า “ที่ซึ่งจะปลูกโรงพักนั้นจะเลือกที่หลวงซึ่งไม่ต้องจัดซื้อ หรือเลือกอาศัยศาลาวัดที่ไม่ได้ใช้การ จะได้ช่วยป้องกันโจรผู้ร้ายที่ซ่องสุมกันในวัด และจะได้เบาเงินที่จะปลูกโรงด้วย…”

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกไว้ว่า โรงพักสามแยกเป็นทรงปั้นหยา ตอนกลาง 2 ชั้น ชั้นบนมี 2 ห้อง ชั้นล่างมีฝากั้นเปิดตลอดถึงกัน มีห้องเจ้าพนักงานชั้นผู้ใหญ่ และห้องขังนักโทษ…เรือน 2 ชั้นกั้น 20 ห้อง สำหรับเป็นที่พักพลตำรวจ…ฯลฯ

คนในยุค 2433 ท่านช่างมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านเห็นล่วงหน้าว่าโรงพักไม่สามารถไปอยู่ตามศูนย์การค้า (อย่างธนาคารในวันนี้) แต่ผู้มีอำนาจทางการเมืองยุค 2500 กลับตรงข้าม ไม่ต้องมีวิสัยทัศน์อะไรหรอก สั่งทุบโรงพักทิ้งแล้วสร้างธนาคารแทนทันที