สุจิตต์ วงษ์เทศ/ พระราม เมืองอโยธยา พระกฤษณะ เมืองทวารวดี มีในวรรณกรรมสมัยอยุธยา

พระรามทรงปืน (หล่อโลหะ) สมัย ร.6 กรุงรัตนโกสินทร์ บนเกยข้างหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพโดย สายหมอกและก้อนเมฆ จาก http://www.bloggang.com)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระราม เมืองอโยธยา

พระกฤษณะ เมืองทวารวดี

มีในวรรณกรรมสมัยอยุธยา

 

วรรณกรรมไทยสมัยต้นอยุธยาเกี่ยวข้องพระกฤษณะ เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ เป็นต้น สืบเนื่องจากความเชื่อสมัยก่อนอยุธยา

แต่การศึกษาไทยให้ความสำคัญพระรามจนแทบไม่รู้ความเป็นมาของพระกฤษณะ

 

อวตารของนารายณ์

 

พระรามกับพระกฤษณะ เป็นอวตารของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ (เป็นชื่อรับรู้ทั่วไปในไทย)

[นารายณ์ 10 ปาง หมายถึง พระนารายณ์อวตารเป็นสิ่งมีชีวิต 10 ชนิด ได้แก่ (1.) มัตสยาวตาร เป็น ปลา (2.) กูรมาวตาร เป็น เต่า (3.) วราหาวตาร เป็น หมูป่า (4.) นรสิงหาวตาร เป็น มนุษย์สิงห์ ตัวเป็นมนุษย์ หัวเป็นสิงโต (5.) วามานาวตาร เป็น คนแคระ (6.) ปรศุรามาวตาร เป็น ผู้ถือขวาน (7.) รามาวตาร เป็น พระราม (8.) กฤษนาวตาร เป็น พระกฤษณะ (9.) พุทธาวตาร เป็น พระพุทธเจ้า (10.) กาลกิยาวตาร เป็น ผู้ขี่ม้าขาว]

พระราม เป็นเจ้าครองเมืองอโยธยา, พระกฤษณะ เป็นเจ้าครองเมืองทวารวดี เป็น 2 ชื่อทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในพิธีกรรม ซึ่งแต่งเป็นลักษณะนิยายอยู่ในคัมภีร์ของอินเดีย คนชั้นนำ (นานาชาติพันธุ์) ของบ้านเมืองในอุษาคเนย์รับจากอินเดียตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1000

ในดินแดนไทย คนชั้นนำ (“ไม่ไทย”) ของบ้านเมือง (ก่อน พ.ศ.1000) รับความเชื่อนี้มา (เหมือนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง จึงพบนามศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมครบถ้วนทั้งอโยธยา (อยุธยา) และทวารวดี ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

พระกฤษณะ (สลักหิน) ราว พ.ศ.1100-1200 ชูพระกรข้างซ้ายแสดงปาง “กฤษณะโควรรธนะ” หรือพระกฤษณะยกเขาโควรรธธนะ พบที่เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

 

ขอมไทย ยกย่องพระกฤษณะ

 

อยุธยาเติบโตจาก 2 รัฐใหญ่ใกล้ทะเล ได้แก่ รัฐละโว้ (ลพบุรี) คนชั้นนำพูดภาษาเขมร กับ รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) คนชั้นนำพูดภาษาไทย

คนชั้นนำรัฐละโว้ ถูกเรียกว่าขอม (ภาษาและอักษรเขมรถูกเรียกว่าภาษาและอักษรขอม) ล้วนเป็นเครือญาติเจ้านายรัฐใหญ่ในกัมพูชา รวมถึงเจ้านายบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูล นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ยกย่องพระกฤษณะ (และอาจยกย่องพระรามพร้อมกันด้วยก็ได้)

หลังอยุธยาอยู่ในอำนาจของรัฐสุพรรณภูมิ คนชั้นนำกลุ่มเป็นขอมพูดภาษาเขมรก็กลายตนเป็นไทย พูดภาษาไทย น่าจะมีส่วนร่วมแต่งอนิรุทธ์คำฉันท์ตามประเพณี “ขอมไทย” (หมายถึงใช้อักษรขอมเขียนภาษาไทย)

 

สองด้านของพระวิษณุ

 

ไทยทุกวันนี้มีข้อมูลความรู้กว้างขวางเรื่องพระรามเมืองอโยธยา แต่มีไม่มากเกี่ยวกับพระกฤษณะเมืองทวารวดี

ผมเคยได้ยินแค่ชื่อทวารวดีกับกฤษณะ แต่ไม่เคยรู้เลยในแนวลึกและกว้างกว่านั้น กระทั่งตื่นเต้นตาสว่างกระจ่างใจ (ในเบื้องต้น) เมื่ออ่านบทความเรื่อง “พระรามและพระกฤษณะ สองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน” โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับประจำวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2561 หน้า 85) จะสรุปมาแบ่งปันไว้อีกดังนี้

พระราม และ พระกฤษณะ เป็นสองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน (คือ พระวิษณุ) ซึ่งสะท้อนความใฝ่ฝันสองด้านของมนุษย์ เพื่อความสมดุลในชีวิตตนเอง

คนอินเดียรักทั้งพระรามและพระกฤษณะ จึงได้รับการสรรเสริญด้วยกันเสมอ เพราะ “ในคติฮินดู พระเจ้าเป็นองค์แห่งความสมบูรณ์ จึงอยู่เหนือทั้งศีลธรรมและความสนุกสนาน หรือพระองค์ก็สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพื่อแสดงให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำให้ชีวิตตนเองสมดุล”

ด้านหนึ่ง แบบพระราม “มนุษย์อยากมีบ้านเมืองที่เป็นระเบียบ หรือศีลธรรมจรรยา ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้า ต่างคนทำหน้าที่ของตนเอง เกิดเป็นความรุ่มรวยของ ‘อารยธรรม’ มนุษย์หรือความเจริญ”

พระราม ประสูติตอนเที่ยงวัน ซึ่งสว่างเต็มที่ เป็นบุรุษอันอุดม ผู้มีจรรยามารยาทและขอบเขตความประพฤติ ต้องแบกภาระหนักอึ้งในราชธรรมตลอดชนม์ชีพ เช่น เดินป่าตามพันธสัญญาของพระราชบิดา ฯลฯ มีธนูเป็นอาวุธ

เป็นลูกที่ดีของบิดามารดา, เป็นพี่ชายที่ดีของน้อง, เป็นสามีที่ดีของภรรยา (มีคนเดียว), เป็นนายที่ดีของบ่าว

ความเป็น “รามราชย์” (การปกครองแบบพระราม) เป็นสังคมที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ โดยมีธงแห่งศีลธรรมนำหน้าในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับความสัมพันธ์ในครอบครัวจนถึงระดับรัฐ

อีกด้านหนึ่ง แบบพระกฤษณะ “หลุดออกจากกรอบศีลธรรม เพื่อเสพเสวยความบันเทิง ความสนุกสนาน และรื่นรมย์กับความรัก”

พระกฤษณะ ประสูติตอนเที่ยงคืน ซึ่งมืดมิดลึกลับ เป็นบุรุษอันอุดม ผู้เปี่ยมไปด้วยลีลาน่าอัศจรรย์ ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกพระราชวัง เป็นหนุ่มเลี้ยงวัว (โควินทะ) สนิทสนมกับสาวเลี้ยงวัว (โคปิกา)

วัยเด็กในหมู่บ้าน ชอบเล่นสนุกซุกซนแกล้งคนนั้นคนนี้ มีเสน่ห์ชวนใหลหลง มีขลุ่ยประจำตัวเพื่อเป่าประโลมเหล่านางโคปี (สาวเลี้ยงวัว) และจูงนางโคปีเข้าดงป่าหาความสำราญในชีวิตโรแมนติก จึงมีนารีมากหน้าแวดล้อมบำเรอบำรุง

[ทั้งหมดนี้สรุปจากบทความของคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ขอแนะนำให้อ่านฉบับเต็มในมติชนสุดสัปดาห์ จะได้รสชาติของวรรณศิลป์สมบูรณ์]