เพ็ญสุภา สุขคตะ : “จารึกเวียงเถาะ” เจาะรูทำไม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“เวียงเถาะ” เวียงบริวารของหริภุญไชย

จากการรับรู้ของผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา เป็นที่ทราบกันดีว่า “เวียงเถาะ” เป็นหนึ่งในเมืองโบราณสมัยหริภุญไชย ที่มีฐานะเป็นเมืองบริวาร หรือเมืองหน้าด่านที่สร้างโดยพระนางจามเทวี เหตุที่สถานที่ตั้งของเวียงเถาะนั้นอยู่ริมแม่น้ำปิงในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นทางผ่านของขบวนเสด็จพระนางจามเทวีตอนยกไพร่พลมาจากละโว้เพื่อมาครองเมืองหริภุญไชยในปี 1204

โดยที่พระนางจามเทวีตั้งเมืองตามเบี้ยบ้ายรายทางจำนวนมาก อาทิ เวียงสร้อย (อำเภอสามเงา จังหวัดตาก) เวียงฮอด (อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) เวียงเชียงทอง (อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) เป็นต้น

และรวมถึง “เวียงเถาะ” ซึ่งเป็นเมืองสำคัญลำดับต้นๆ ของประวัติศาสตร์ยุคหริภุญไชย เหตุที่มีการพบศิลาจารึกหลักหนึ่งด้วย

 

เวียงเถาะตั้งอยู่ที่ไหน

อันที่จริงอาณาบริเวณของเวียงเกาะ ไม่ได้กินพื้นที่เฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงในเขตตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ดังที่ทราบกันดีว่ามีหลักฐานอยู่ที่วัดอย่างน้อยสามแห่งนี้คือ วัดสองแคว วัดพระธาตุดอยน้อย และวัดสันคะยอม

ทว่าในอดีตยังเคยขยายขอบเขตไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือ ตำบลท่าตุ้มและตำบลน้ำดิบ ในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนอีกด้วย พบหลักฐานที่วัดป่าป๋อ วัดพระเจ้าหูยาน และวัดหนองผ้าขาว ซึ่งโบราณสถานฟากนี้ไม่นิยมเรียกว่าเวียงเถาะ (หรืออาจไม่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเวียงเถาะ?)

แต่กลับเรียกว่า “เวียงรัตนา” แทน

 

เวียงเถาะ เกี่ยวอะไรกับ 12 นักษัตร?

ชื่อของเวียงเถาะไม่ได้ปรากฏชื่อนามดังกล่าวนี้ในตำนาน แต่เป็นคำที่มาเรียกกันในยุคหนึ่ง ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าเรียกกันในยุคไหน อีกทั้งไม่มีนักวิชาการคนใดมีความแน่ใจ 100% ว่า “เถาะ” คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่

บางท่านว่าอาจหมายถึงเวียง 12 นักษัตร เพราะนอกจากเวียงเถาะแล้ว บริเวณที่ไม่ไกลจากน้ำแม่ปิงยังมี เวียงแม แถวอำเภอสันป่าตอง และส่อเค้าว่าอาจมีเวียงขาล (เนื่องจากมีแม่น้ำสายหนึ่งที่ต่อมาเขียนเพี้ยนเป็น ขาน เดิมน่าจะใช้ ขาล?) รวมทั้งเวียงชวด ที่ออกเสียงเป็นภาษาล้านนาว่า เวียงจว้าด

แต่ก็อีกนั่นแหละ เรายังหาชื่อเวียงโบราณไม่ครบหมดทั้ง 12 นักษัตร จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า เวียงเถาะ มีความเกี่ยวข้องกับ 12 นักษัตรหรือไม่

และถ้าเกิดใช่ ประวัติศาสตร์ของหริภุญไชยก็น่าจะพลิกอีกตลบ แสดงว่าต้องมีความเชื่อมโยงอะไรหรือไม่กับเมืองนครศรีธรรมราช เมืองที่ประกาศชัดเจนว่ามีเวียงบริวาร 12 แห่ง เสมือน 12 นักษัตร

แต่ถ้าไม่ใช่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ จะแปลว่าอะไรได้อีก

บางท่านว่า เถาะ ในภาษาพื้นเมืองหมายถึง “รองท้อง” หรือการสำรองไว้ก่อน เช่นคำว่า เถาะข้าว หมายถึงกินอาหารรองท้องนิดหน่อยก่อนจะไปทานมื้อหนัก

กล่าวโดยสรุป ไม่มีใครทราบที่มาของชื่อเวียงเถาะ ว่าเรียกกันมาตั้งแต่สมัยใด มีความหมายอย่างไร เพราะไม่ได้ปรากฏชื่อนี้ทั้งในศิลาจารึกและเอกสารตำนาน

 

เวียงเถาะเชื่อมโยงกับ “โทรคาม”?

ตํานานที่พรรณนาเรื่องการเดินทางมาของพระนางจามเทวีกล่าวว่า ณ จุดที่พระนางให้นายขมังธนูยิงธนูเสี่ยงทายมาจาก “บ้านท่าเชียงทอง” (น่าจะอยู่ประมาณเขตอำเภอจอมทอง หรือฮอด ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปริศนาอยู่) จนกระทั่งธนูมาปัก ณ บริเวณตำบลหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “บ้านโทรคาม” แล้ว สถานที่นี้เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางโปรดให้พักแรมอยู่ ณ ที่นี้ และทรงสร้างพระสถูปขึ้นองค์หนึ่ง ประทานพระนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ หรือบางตำนานเรียก ปวิสิทถะเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก

เมื่อพิจารณาจากตำนานพบว่า ชื่อเวียงเถาะมองอีกมุมหนึ่งก็มีความคล้ายกับคำว่า “โทรคาม” คืออาจเป็นไปได้ว่า มีการแผลงคำว่า โทรคาม มาเป็น โถะ และกลายเป็นเถาะก็ได้

หรืออีกนัยหนึ่ง ในทางกลับกันหากชื่อเวียงเถาะมาก่อน (เพราะอาจเป็นภาษาพื้นเมืองที่แปลว่ารองท้อง) เมื่อต้องเขียนตำนานเป็นภาษาบาลี พระภิกษุผู้รจนา อาจมีการแปลงหรือย้อมคำว่าเถาะ ให้กลายเป็นโทรคาม อีกก็เป็นได้เช่นกัน

ส่วนจุดที่ยิงธนูเสี่ยงทายมาแล้วสร้างเจดีย์นั้น เชื่อกันว่าปัจจุบันคือ วัดพระธาตุดอยน้อย (ซึ่งจักได้กล่าวถึงในตอนต่อๆ ไปหลังจากเรื่องจารึกเวียงเถาะ)

 

หลักฐานสำคัญที่วัดสองแคว

หัวใจของตัวเวียงเถาะอยู่ที่บริเวณบ้านสองแคว ตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับบริเวณที่น้ำแม่ขานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ทำให้บริเวณนี้เรียก “สองแคว” ต่อมาน้ำแม่ขานเปลี่ยนเส้นทางเดินและหายไป เหลือแต่น้ำแม่ปิงเพียงสายเดียว มีเพียงร่องรอยของหนองน้ำที่อยู่ด้านทิศตะวันออกด้านหน้าวัด

เมื่อมองจากแผนที่ทางอากาศ ลักษณะของเวียงเถาะในฝั่งเชียงใหม่ หากมีความสมบูรณ์จะเป็นผังเมืองรูปสี่เหลี่ยม แต่เนื่องจากถูกกระแสน้ำของแม่ปิงกัดเซาะตัวเมืองซีกตะวันออกจนค่อยๆ พังทลายลง ส่วนที่เหลือจึงมีขนาดให้เห็นเพียง 300 x 550 เมตร

ที่วัดสองแควนี้เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร 3 ครั้ง

ครั้งแรกปี 2530 พบโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยจำนวนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบและลายขูดขีดเป็นรูปสามเหลี่ยม หม้อก้นกลม ฝาโกศ กับประติมากรรมชิ้นเยี่ยม 3 ชิ้น

ชิ้นแรก เป็นหินทรายสีขาว สลักนูนต่ำลายก้านขดซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วมีรอยหยัก 2 รอย ตรงด้านข้างคล้ายเปลวไฟ ตรงกลางสลักลวดลายก้านขดแบบนูนต่ำ

ชิ้นที่ 2 เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย (บัวกลีบยาวนูนแบบบัวปาละ) ทำด้วยหินทราย

และชิ้นที่ 3 เป็นพระพุทธรูปหินทรายสีขาว ต่อมาได้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารวัดสองแคว พุทธลักษณะเป็นศิลปะสมัยหริภุญไชย มีพระรัศมีเป็นต่อมทรงกรวย พระเกตุมาลาเป็นต่อมกลม พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระพักตร์สี่เหลี่ยม ห่มจีวรเฉียง ปลายสังฆาฏิอยู่บริเวณพระอุระ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.83 เมตร สูง 2.59 เมตร ต่อมาในยุคหลังถูกทาสีทับใหม่ในยุค 80 ปีที่ผ่านมา

ครั้งที่สอง พ.ศ.2535 พบโบราณวัตถุ ประเภทชาม หม้อ อ่าง ตกแต่งลวดลายด้วยการใช้ไม้ไผ่กดประทับจนเกิดรูปวงกลมซ้อนกันสองวง ลายเชือกทาบ และการกดประทับด้วยเทคนิคซี่ฟันเฟือง (Rouletted) อันเป็นเทคนิคแบบโรมันที่ผ่านเข้ามาทางรัฐศรีเกษตร (พยู่) ของพม่า นอกจากนั้น ยังพบดินเผาทำเป็นแว เบี้ย คนโท พวยกา ตะคัน กระดูกสัตว์ กระเบื้องดินขอ เปลือกหอย ชิ้นส่วนโลหะ

ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2556-2557 เกิดจากการที่เทศบาลตำบลสองแควใช้รถแบ๊กโฮขุดปรับปรุงร่องน้ำใกล้ถนนสาธารณะที่บริเวณหนองฮองแฮง ซึ่งไม่ไกลจากวัดสองแควเท่าใดนัก เพื่อวางบ่อบาดาล ปรากฏพบลวดลายปูนปั้นและดินเผาเป็นชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่ใต้ชั้นดิน 180 กว่ารายการ อาทิ วงโค้งรูปดอกจิกของซุ้มจระนำที่ล้อมองค์พระพุทธรูป ลายใบฝักเพกา ลายกระหนกผักกูด รูปเทวดา หน้ากาล (ราหู) และสิกขี (กินรี-กินนรครึ่งตัวยกมือขึ้นระดับอกทำหน้าที่เฝ้าศานสถาน) ทั้งหมดเป็นศิลปะยุคหริภุญไชยราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

ทำให้นักโบราณคดีของกรมศิลปากรต้องเร่งลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุอันล้ำค่าเหล่านี้มาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ชิ้นที่สมบูรณ์ นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และส่วนที่สอง มอบให้ชุมชนเก็บรักษาไว้ในตู้กระจกภายในพระวิหารวัดสองแคว

 

จารึกเวียงเถาะ เหาะไปฝาง-แม่แตง

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพบจารึกแผ่นหินสีน้ำตาลเทาหน้าวัดสองแคว เยื้องไปทางทิศใต้เล็กน้อย เรียกกันว่า “จารึกเวียงเถาะ” เลขทะเบียน ชม. 68 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เลขทะเบียนใหม่คือ พบ. 422/2524

การได้มาซึ่งจารึกเวียงเถาะ ต้องขอยกเครดิตให้แก่บุคคลผู้นี้ ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน อดีตสังกัดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจาก ดร.ฮันส์ เพนธ์ ลงสำรวจเวียงเถาะเมื่อ พ.ศ.2516 แล้วได้ข้อมูลจากเจ้าอาวาสวัดสองแควว่ามีการพบศิลาจารึกหลักหนึ่งในบริเวณสวนของเอกชนหลังวัดสองแคว เมื่อราวเดือนมีนาคม-เมษายน 2515 ที่ผ่านมา

ชาวบ้านเรียกศิลาจารึกว่า “เสาหิน” และเรียกจุดที่พบจารึกว่า “คุ่มปิ้ดเต๊าะ” จากนั้นมีคนมาขอซื้อจารึกไปในราคา 100 บาท จารึกจึงถูกย้ายจากบ้านสองแคว ดอยหล่อ ไปอยู่สถานที่อื่น

ปี 2516 ผู้ซื้อจารึกชื่อนายบุญมี วุฒิภาพ นำไปไว้ที่บ้านของตน อำเภอแตง จังหวัดเชียงใหม่

ปี 2521 นางยุพิณ แสงทอง ลูกสาวนายบุญมี ย้ายจารึกเวียงเถาะไปอยู่ที่บ้าน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ปี 2522 นางยุพิณได้ย้ายจารึกกลับไปไว้ที่บ้านบิดาและเป็นบ้านเกิดตน ที่อำเภอแม่แตงอีกครั้ง

จนกระทั่งปี 2523 ดร.ฮันส์ เพนธ์ ทราบข้อมูลจากวัดสองแควมาว่าจารึกเวียงเถาะอยู่ที่แม่แตง ดร.ฮันส์ เพนธ์ จึงลงพื้นที่เดินทางไปเจรจากับเจ้าของจารึก เพื่ออธิบายถึงคุณค่าความสำคัญ ท้ายที่สุดขอรับมอบจารึกหลักนั้นคืน นำมาให้กรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาในฐานะที่เป็นมรดกของแผ่นดิน

 

ย้ายจารึกเวียงเถาะออกจากห้องคลัง

เหตุที่จารึกชิ้นนี้ถูกกลบฝังอยู่กลางสวนกลางทุ่งนานานนับหลายศตวรรษ ทำให้ผิวหินทรายของจารึกมีรอยขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปหมด พื้นผิวไม่เรียบเหมือนจารึกหลักอื่นๆ ตัวอักขระค่อนข้างดูเลอะเลือน ยากต่อการอ่านและถอดความ

แม้แต่ตัว ดร.ฮันส์ เพนธ์ เองก็กล่าวได้เพียงแค่ว่า จารึกหลักนี้เขียนด้วยตัวอักษรมอญโบราณ ใช้ภาษามอญโบราณปะปนกับภาษาบาลี น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เท่านั้น

ในเมื่อไม่มีนักจารึกวิทยาคนไหนสามารถลงรายละเอียดของจารึกเวียงเถาะได้มากไปกว่า ดร.ฮันส์ เพนธ์ จารึกจึงถูกเก็บรักษาอยู่ในห้องคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่มานานนับ 30 ปี ไม่มีการนำออกมาจัดแสดงแต่อย่างใด

ด้วยความรู้สึกเสียดายข้อมูล ระหว่างปี 2548-2552 ทุกครั้งที่ดิฉันได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามอญโบราณ (สมัยที่ท่านยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตทุ่งมหาเมฆ) มาเป็นวิทยากรให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย คราใด ดิฉันมักจะต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ “มุดคลัง” (ขอโทษที่ต้องใช้คำนี้) ทุกครั้งไป นับรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เพื่อให้อาจารย์พงศ์เกษมได้เข้าไปนั่งตะคุ่มๆ อ่านแกะอักษรทีละตัวๆ ของจารึกเวียงเถาะในห้องคลัง

ยอมรับว่าช่วงนั้นเราทำงานด้วยความลำบากยากยิ่ง เหตุที่จารึกมีน้ำหนักมาก จึงถูกจัดวางไว้บนชั้นเหล็กชั้นล่างสุดในพื้นที่จำกัด เบียดกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ เวลาเคลื่อนออกมาจากชั้นเหล็กเพื่อนำมาอ่าน ผู้อ่านต้องก้มตัวจนเตี้ยขนานพื้น ยิ่งเมื่อต้องการพลิกอ่านข้อความด้านหลังยิ่งไม่ถนัดเลย

ซ้ำในห้องคลังช่วงบริเวณนั้นก็แสงน้อยริบหรี่เต็มทน โดยที่ดิฉันจะต้องคอยยืนส่องไฟฉายให้อาจารย์พงศ์เกษมทุกครั้ง

ในที่สุด จึงได้มีการเคลื่อนย้ายจารึกเวียงเถาะออกมาจากห้องคลัง และจัดแสดงอย่างสมเกียรติภูมิ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ต้องขอขอบพระคุณภัณฑารักษ์ผู้ช่วย และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ทุกท่านที่ได้ทำงานร่วมกัน

พื้นที่หมดพอดี ฉบับหน้าจะมาเฉลยเรื่อง เหตุที่มีการเจาะรูจารึกเวียงเถาะ รวมทั้งผลงานการปริวรรตอักษรมอญโบราณของอาจารย์พงศ์เกษม ว่าท่านได้ค้นพบนัยอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ จากจารึกหลักนี้บ้างหรือไม่ เชื่อว่าคำอธิบายของอาจารย์พงศ์เกษม จักสร้างความสั่นสะท้านสะเทือนให้แก่นักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษา

อย่างแน่นอน