สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นิยามของ “คนดี” และการเมืองของการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สถาบันหลักสูตรฯ ตอบโจทย์คนดี?

ตอนที่แล้วผมตั้งคำถามถึงหลักการใหญ่ที่เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งวางแนวทาง มุ่งสร้างคนดี มีวินัยเป็นหลัก ก่อนก้าวสู่ความเป็นคนเก่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ผมเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว แต่ก็มีคำถามถึงแนวทางสร้างคนดีว่าวิธีการเป็นอย่างไร กลไกและกระบวนการใหม่ๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อเป็นคำตอบต่อเรื่องนี้ เขียนไว้ตรงจุดไหนในร่างกฎหมาย

ผมพยายามองหาโดยไม่รอกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พอมีความหวังอยู่ที่ “การสร้างทักษะชีวิต มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”

อย่างไรก็ตาม ความดี ยังมีมุมที่น่าคิดต่อไปอีกว่า ทำดีเพื่อตัวเอง เพื่อความอยู่รอด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง หรือเหนือไปกว่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา

คือ ทำดีเพื่อผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน มุ่งให้มากกว่าเอา

 

ตรงจุดนี้แหละครับ กระบวนการเรียนการสอนของครูกับหลักสูตรการศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้เรียนควรเรียนอะไรถึงจะเป็นคนดีก่อนคนเก่ง

เมื่อย้อนกลับมาดูเนื้อในร่าง พ.ร.บ.การศึกษา พบคำตอบอยู่ตรงบทที่ว่าด้วยหน้าที่ของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง กับครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา

โดยเฉพาะครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาเขียนไว้ว่า “ตระหนักถึงความสำคัญในอาชีพและหน้าที่ของตน โดยครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง และเป็นต้นแบบด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยต้องพัฒนาตนเองทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน”

ถ้ากฎหมายฉบับใหม่นี้ทำให้ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เป็นต้นแบบด้านคุณธรรมและจริยธรรมได้จริงๆ ผลผลิตที่ออกมาคือเด็กก็จะบรรลุตามหลักการ “คนดี” ที่เขียนไว้ด้วย

 

ข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาและถูกเน้นย้ำในวรรคท้ายที่ว่า “เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน” ยกร่างได้สมสมัย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการพัฒนาครูที่ดำเนินมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า เป็นการพัฒนาครูเพื่อครูมากกว่าผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน

“เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน” จึงเป็นการย้ำเตือนระดับหลักการหัวใจ ให้คนเป็นครู บุคลากรทางการศึกษา ทำหน้าที่ ทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นศิษย์เป็นสำคัญก่อนประโยชน์ของตัวเอง จิตวิญญาณของคนเป็นครูอยู่ตรงนี้ ดังที่ว่า ความสุขที่สุดของครูอยู่ที่ความสำเร็จของศิษย์นั่นเอง

อีกด้านหนึ่ง กระบวนการที่นำไปสู่ความเป็นคนดี ยังเกี่ยวโยงไปถึงสาระการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยว่าควรได้รับการศึกษา อบรมบ่มเพาะ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติที่เป็นจริงในเรื่องอะไร แค่ไหน

ประเด็นนี้จึงสัมพันธ์กับกลไกที่จะเกิดขึ้นใหม่ นั่นคือสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ หน่วยงานอิสระของรัฐทำหน้าที่หลักในการศึกษา วิจัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาและเผยแพร่หลักสูตรแกนกลาง ระบบ วิธีการและเครื่องมือวัดและประเมินผล นวัตกรรมเกี่ยวกับหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา ฯลฯ

กลไกใหม่นี้เป็นที่เข้าใจกันว่า ก็คือการเอากรมวิชาการ หนึ่งใน 14 องค์ชายในกระทรวงศึกษาธิการตามโครงสร้างเดิมก่อนมี พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ที่ถูกยุบไปกลับคืนมานั่นเอง แต่ออกแบบให้มีบทบาท หน้าที่และความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น จะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเนื้อหาสาระการเรียนรู้ทั้งหมด เพื่อให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง

สถาบันหลักสูตรฯ จะออกแบบเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาแต่ละระดับออกมาอย่างไร เรียนอะไร แค่ไหน จึงจะตอบสนองหลักการตามที่กฎหมายใหม่เขียนไว้ ทำให้ผู้เรียนเกิดทั้งทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ และทักษะวิชาการ เป็นคนที่สมบูรณ์ จึงต้องติดตามความเป็นไปกันอย่างใกล้ชิด

 

คําถามมีว่า ปฏิรูปหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนทุกระดับเป็นคนดีและคนเก่ง จำเป็นต้องรอคอยการเกิดขึ้นของกลไกใหม่นี้อีกนานแค่ไหน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการยุบเลิก หลอมรวมหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกัน กี่เดือน กี่ปี กว่าจะเริ่มเข้าไปแตะหลักสูตร ขณะที่ปัญหาวิกฤตคุณธรรมร้อนแรงขึ้นตามลำดับ

ฉะนั้น จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขทันที กลไกภายใต้ระบบ โครงสร้างเดิมควรทำเรื่องนี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปก่อนได้อย่างไร โดยไม่ต้องรอกระบวนการปรับโครงสร้าง องค์กรใหม่

กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2562 ในขณะที่ยังไม่หมดหน้าที่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนและคอยไม่ได้ เพื่อทำให้ผู้เรียนเป็นคนดีเสียแต่ตอนนี้ โดยไม่ต้องรอให้สิ่งที่คิดออกแบบขึ้นมาใหม่เกิดความสมบูรณ์เสียก่อน

 

อีกทั้งประเด็นหลักการสำคัญอีกเช่นกัน ร่าง พ.ร.บ.ใหม่เขียนไว้แต่ไม่หนักแน่นคือ เสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งต้องไม่ลืมและตระหนักว่าการศึกษากับเสรีภาพต้องควบคู่ไปด้วยกัน

การศึกษาจะเป็นหนทางไปสู่ความจริงที่แท้ ความดี ความงาม ความสว่าง เสรีภาพเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อเป็นหลักประกันการเข้าถึงความจริง

จริงอยู่ ในรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติเรื่องนี้ไว้ว่า เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่นก็ตาม

หลักการใหญ่นี้น่าจะปรากฏในกฎหมายหลักด้านการศึกษาฉบับนี้ด้วย เพื่อย้ำและยืนยันให้เกิดการปฏิบัติจริง

ที่สำคัญ ความเป็นรูปธรรมของกลไก กระบวนการ มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพทางการศึกษาควรเป็นอย่างไร ยังเห็นภาพไม่ชัดในร่างกฎหมายใหม่

ถ้าไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ปัญหาการเมืองแทรกแซงการศึกษา การเมืองขาดความต่อเนื่อง ทำให้นวัตกรรมดีๆ นโยบายดีๆ จะมีสภาพไม่ต่างจากที่ผ่านมา คนใหม่ก็อยากสร้างผลงานเป็นของตัว โละทิ้งของเก่า หรือเมินเฉยเสีย ไม่สนใจทำต่อ ทำตาม ปฏิรูปการศึกษาก็จะมีชะตากรรมเช่นเดิม หาความสำเร็จไม่ได้อีกต่อไป