ต่างประเทศ : “เสื้อกั๊กเหลือง” ปัญหาใหญ่ของประธานาธิบดีมาครง

การรวมตัวประท้วงของกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อกั๊กเหลือง” กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อหน้าสื่อต่างประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการประท้วงกลุ่มเล็กๆ ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ

ถนนชองเซลิเซส์ ใจกลางกรุงปารีส กลับกลายเป็นเหมือนสนามรบที่เต็มไปด้วยควันจากแก๊สน้ำตา ผสมปนเปไปกับควันจากการจุดไฟเผาป่วนตำรวจควบคุมฝูงชน กลายเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง อดีตนายธนาคารผู้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับการทำธุรกิจ

การประท้วงที่เริ่มขยายวงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่อาจสรุปได้ว่าเป็นความไม่พอใจจาก

“นโยบายซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าคนจน”

 

ชนวนความไม่พอใจของประชาชนอาจประกอบด้วยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทำร้ายร่างกายประชาชนของอเล็กซอง เบนาลลา “บอดี้การ์ดส่วนตัว” ของมาครงที่สวมใส่ชุดตำรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่การจ้างงานและเงินเดือนที่เป็นปริศนาสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในรัฐบาลฝรั่งเศส

อีกส่วนหนึ่งเป็นการแสดงท่าทีสูงส่งจนดูเหมือนจะเข้าไม่ถึงบรรดาคนยากจนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ รวมไปถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย บวกกับนโยบายเอื้อประโยชน์กับคนรายได้สูงจนได้ฉายาว่า “มาครง : ประธานาธิบดีของคนรวย”

นโยบายอย่างการบริหารจัดการกองทุนเกษียณและการขึ้นภาษีน้ำมันดูเหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ส่งผลให้ผู้คนต่างพร้อมใจกันหยิบ “เสื้อกั๊กสีเหลืองสะท้อนแสง” ที่มีติดรถตามกฎหมายกันทุกคนขึ้นมาสวมใส่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มชนชั้นนำในเมือง” และ “กลุ่มคนที่ถูกลืมในพื้นที่ห่างไกล”

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาครง “ลาออก”

การประท้วงครั้งนี้ถูกมองว่าแตกต่างจากกลุ่มผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านภาษีน้ำมัน เรื่อยไปจนถึงต่อต้านการแต่งงานของเพศเดียวกัน ที่มีเกิดขึ้นในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

ทว่าการประท้วงครั้งนี้กลับเป็นการประท้วงที่ไม่มีผู้นำชัดเจน และมีการบริหารจัดการผ่านโซเชียลมีเดีย ประกอบไปด้วยผู้คนที่มีพื้นเพทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันไป แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะระบุว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงดังกล่าวเป็นกลุ่มการเมืองขวาจัดก็ตาม

“มีทั้งคนที่โหวตกลุ่มขวาจัด แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้โหวต และมีคนที่โหวตให้มาครงเองด้วย” ดานิเอลเล ทาร์ทาคอฟสกี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจากมหาวิทยาลัยปารีส 8 ระบุถึงผู้เข้าร่วมประท้วงเสื้อกั๊กสีเหลือง

คำถามก็คือ เวลานี้กลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ได้คำตอบว่า ผู้ทำสำรวจถึง 70 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่สมควรแก่เหตุแล้ว

สำหรับตัวเลขผู้เข้าร่วมประท้วงนั้น ในวันที่ 17 พฤศจิกายนมีมากถึง 300,000 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้เข้าร่วมกลับลดต่ำลงเหลือราว 100,000 คน ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ด้วยเช่นกันว่าการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อกั๊กเหลืองกำลังอ่อนกำลังลง

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง กลุ่มเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าไม่มีผู้นำชัดเจนก็อยู่ในเส้นทางของการมีการบริหารจัดการมากขึ้นเมื่อมีกระแสข่าวว่ามีการเตรียมส่งตัวแทนเจรจากับประธานาธิบดีมาครงด้วยเช่นกัน

การประท้วงดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจมากจนเกินไป ขณะที่ผลสำรวจความนิยมของรัฐบาลนั้นลดน้อยถอยลงเหลือราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องพยายามแก้ปัญหาในช่วงเดือนที่ผ่านมาด้วยการประกาศมาตรการในการช่วยเหลือครอบครัวยากจนในการอุดหนุนค่าใช้จ่าย แต่นั่นดูเหมือนจะไม่เป็นผล

ล่าสุด บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ออกมาเปิดเผยแล้วว่าผลกระทบจากการประท้วงปิดถนนของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในช่วงวันแรกส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่มีรายได้ลดลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์

และอาจส่งผลกระทบมากขึ้นอีกหากรัฐบาลไม่ออกมาจัดการให้การจราจรเป็นไปอย่างปกติ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า

“ความไม่พอใจและความโกรธแค้นที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลและตัวเอ็มมานูแอล มาครงเองจะยังไม่จางหายไปในเร็ววันนี้”