จิตต์สุภา ฉิน : ก้าวต่อไปของเน็ตฟลิกซ์ในเอเชีย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ซู่ชิงติดเน็ตฟลิกซ์แค่ไหนน่ะเหรอคะ

ก็ติดขนาดที่ว่าซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์ต้องไล่ให้ไปนอนบ้างนั่นแหละค่ะ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ซู่ชิงได้เดินทางไปร่วมงาน “See What”s Next : Asia” ที่เน็ตฟลิกซ์จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะเล่าให้สื่อมวลชนจากหลากหลายประเทศฟังว่านับจากนี้ไปจะมีภาพยนตร์หรือซีรี่ส์จากเอเชียเรื่องใหม่เรื่องไหนให้ดูบนเน็ตฟลิกซ์ได้บ้าง

สำหรับคุณผู้อ่านท่านไหนที่ยังไม่เคยได้ทดลองใช้นะคะ

เน็ตฟลิกซ์ก็คือ บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ที่เราสามารถเลือกดูได้ตามความต้องการ เพียงแค่สมัครสมาชิกและเสียค่าบริการรายเดือนเท่านั้น

จุดเด่นของบริการประเภทสตรีมมิ่งก็คือ เราไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาเก็บเอาไว้ในเครื่อง ทำให้สามารถดูภาพยนตร์หรือซีรี่ส์เรื่องโปรดได้เพียงแค่เราเชื่อมต่อสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตทีวีของเราเข้ากับอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

ไม่ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บและไม่ต้องแกร่วรอให้มันดาวน์โหลดจนเสร็จ กดปุ๊บก็ได้ดูปั๊บเลยค่ะ

เน็ตฟลิกซ์นี่แหละค่ะที่ทำให้ซู่ชิงอดหลับอดนอนจนตาโหลเป็นแพนด้ามาเป็นปีๆ แล้ว

 

งานครั้งนี้เน็ตฟลิกซ์ประกาศเปิดตัวหนังและซีรี่ส์ใหม่ซึ่งเป็นผลงานของผู้สร้างในทวีปเอเชีย อย่างเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย ทั้งหมดมากถึง 17 เรื่องด้วยกัน

โดยที่ของไทยคือซีรี่ส์เรื่อง “เคว้ง” (The Stranded) ที่เป็นการผลิตร่วมระหว่างเน็ตฟลิกซ์กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พล็อตเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มวัย 18 ที่รอดชีวิตจากสึนามิพร้อมกับผองเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกัน

เมื่อความช่วยเหลือยังมาไม่ถึงก็ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเอาตัวรอดกันไปก่อน

และอีกเรื่องชื่อ “อุบัติกาฬ” (Shimmers) ซีรี่ส์ดราม่าเกี่ยวกับวัยรุ่น 5 คนในโรงเรียนห่างไกลทางตอนเหนือของไทยที่ถูกผีจากอดีตหลอกหลอน

หากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องแนวลึกลับ ฆาตกรรม ผี เหมือนที่ซู่ชิงสนใจ นอกจากเรื่องข้างบนแล้วก็ยังมีซีรี่ส์อีกเรื่องจากเกาหลีใต้ให้ได้ตั้งหน้าตั้งตาคอยชม ซึ่งก็คือ Kingdom หรือชื่อไทยว่า “ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด”

ได้ยินแว้บแรกนึกว่าจะเป็นผีกองกอยที่มียันต์แปะหน้าผากแล้วกระโดดดึ๋งๆ เหมือนของจีน

แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับซอมบี้ซึ่งลักษณะคล้ายๆ กับซอมบี้ในหนังฝรั่งนั่นแหละค่ะ

ฝูงซอมบี้เหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นจากโรคระบาดร้ายแรงหลังการจากไปอันน่าพิศวงของกษัตริย์องค์หนึ่ง

 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความแค่ว่าผู้ชมในเอเชียจะได้รับชมคอนเทนต์ที่ใกล้ตัวเรากันมากขึ้นเท่านั้นนะคะ

แต่ยังแปลว่าผู้ชมในอีกซีกหนึ่งของโลกก็จะได้เห็นผลงานความบันเทิงจากฝีมือของผู้สร้างในเอเชียด้วย

เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือหนังเรื่อง ฉลาด เกม โกง ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bad Genius ซึ่งได้ฉายอยู่บนเน็ตฟลิกซ์เหมือนกันและก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั่วโลก

เน็ตฟลิกซ์ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของการรับชมความบันเทิงในยุคดิจิตอลไปแล้ว จนมีสำนวนที่ภาษาอังกฤษใช้พูดกันขำๆ และเริ่มจะลามมาถึงบ้านเราแล้วด้วย

อย่าง เน็ตฟลิกซ์ แอนด์ ชิลล์ (Netflix and chill) ใช้สำหรับการชวนใครสักคนมานั่งดูเน็ตฟลิกซ์ที่บ้าน แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นแค่ข้ออ้างที่ใช้บังหน้าเท่านั้น ที่จริงคืออยากชวนมาเล่นจ้ำจี้กันมากกว่า

หนึ่งในความท้าทายของเน็ตฟลิกซ์ที่จะรุกตลาดผู้ชมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือข้อจำกัดของการใช้งานดาต้า ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ผู้ชมสามารถสตรีมหนังดูได้ชัดและไม่กระตุกแต่ใช้ดาต้าน้อยที่สุด

ซึ่งเน็ตฟลิกซ์แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการใช้อัลกอริธึ่มในการแบ่งหนังทั้งเรื่องออกมาเป็นแต่ละช็อต และแบ่งแบนด์วิธให้กับแต่ละช็อตไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความชัดและรายละเอียดของช็อตนั้นๆ

ช็อตไหนไม่มีความเคลื่อนไหวมาก อย่างการนั่งคุยกัน ก็ได้บิตเรตหรือแบนด์วิธอินเตอร์เน็ตไปน้อยหน่อย

ช็อตไหนแอ๊กชั่นบ้าระห่ำขับรถไล่ล่ากันก็แบ่งอินเตอร์เน็ตให้เยอะขึ้น

ผลลัพธ์ก็คือ ผู้ชมสามารถสตรีมหนังได้แบบที่คุณภาพดีพอ

ไม่หงุดหงิดกับอาการกระตุก และในขณะเดียวกันก็ไม่เสียดาต้าเยอะ

ซึ่งเน็ตฟลิกซ์บอกว่าด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้ใช้ดาต้าน้อยลงถึง 64 เปอร์เซ็นต์แต่ได้คุณภาพเท่าเดิม

 

ว่าแต่ว่าเป้าหมายของการที่จะให้ผู้ชมสตรีมหนังที่มีภาพคุณภาพดีโดยใช้ดาต้าจำกัด แล้วเน็ตฟลิกซ์จะรู้ได้ยังไงล่ะว่าภาพที่ออกไปนั้นคุณภาพดีจริงๆ

ตรงนี้เขาใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาช่วยค่ะ

โจทย์ก็คือ ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์สามารถประเมินคุณภาพของภาพที่ฉายออกไปได้

วิธีที่เขาทำก็คือ เริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า Ground Truth Score คือ การนำวิดีโอไปฉายให้คนหลายๆ คนดู แล้วให้แต่ละคนให้คะแนนความชัดของภาพวิดีโอที่เห็นตั้งแต่คุณภาพแย่ไปจนถึงคุณภาพดีมาก

จากนั้นก็นำเอาหลักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการมองเห็นของมนุษย์ซึ่งแสดงให้เห็นหลักการการทำงานของดวงตาเข้ามาทำงานผสานกันกับแมชชีนเลิร์นนิ่ง ให้เลียนแบบการประเมินคุณภาพของสิ่งที่เห็นแบบเดียวกับที่มนุษย์ทำ

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การใส่ดวงตาและระบบการมองเห็นแบบที่มนุษย์มีเข้าไปในคอมพิวเตอร์นั่นเอง

 

ย้อนกลับมาที่ซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์ คุณรีด เฮสติงส์ ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดเอาไว้ว่า พนักงานเน็ตฟลิกซ์มักจะเข้าใจผิดไปว่าตัวเองกำลังทำงานแข่งขันกับค่ายอย่างเอชบีโอ อเมซอน หรือเอฟเอ็กซ์

แต่ในความเป็นจริงแล้วคู่แข่งคนสำคัญของเน็ตฟลิกซ์คือ “เวลานอน” ต่างหาก

เพราะจำนวนชั่วโมงที่มนุษย์มีในแต่ละวันจะต้องถูกแบ่งไปทำกิจกรรมประเภทต่างๆ เป้าหมายของเน็ตฟลิกซ์คือทำอย่างไรให้เน็ตฟลิกซ์ได้ส่วนแบ่งเวลาในชีวิตประจำวันของเราไป ซึ่งช่วงเวลาที่จะหยิบฉวยแย่งมาได้มากที่สุดก็คือช่วงเวลานอนนี่แหละ

ซู่ชิงก็เลยบอกเขาว่า เขานี่แหละค่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้ซู่ชิงไม่ได้หลับไม่ได้นอน

คุณเฮสติงส์ก็ตอบได้น่ารักมาก เขาบอกว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่น่ะไม่เป็นไรหรอก แต่สำหรับเด็ก การใช้อินเตอร์เน็ตเยอะเกินไปเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่เน็ตฟลิกซ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสพคอนเทนต์จากที่อื่นๆ บนอินเตอร์เน็ตด้วย

ดังนั้น พ่อแม่จึงควรต้องใช้เครื่องมือในการจำกัดเวลาการอยู่หน้าจอของลูก

แต่ถ้าหากผู้ชมเป็นผู้ใหญ่และอยากจะรับชมคอนเทนต์บนหน้าจอ เน็ตฟลิกซ์ก็จะขอเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่ให้คุณภาพที่ดีที่สุด

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไหนๆ ก็จะอดหลับอดนอนมาดูแล้ว เราก็จะเตรียมหนังกับซีรี่ส์ที่มีคุณภาพที่ดีกว่าที่อื่นๆ ให้ก็แล้วกัน

ขอแย่งเวลานอนเราไปอาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่อย่าถึงขั้นต้องแย่งเวลาทำงานด้วยเลยค่ะ