มุกดา สุวรรณชาติ : การอุดหนุนด้านการเกษตร เส้นทางที่พลเอกประยุทธ์ต้องเดิน (2)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอน 1

แย่งกันรักชาวนาเป็นเรื่องดี ขอให้รักนานๆ

เงินจากการขายข้าวคือค่าใช้จ่ายของครอบครัวชาวนาตลอดทั้งปี

ราคาข้าวที่ตกต่ำขนาดนี้ชาวนาต้องเดือดร้อนอยู่แล้ว ใครจะเข้ามาช่วยเหลือล้วนเป็นเรื่องดี

การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซื้อข้าวชาวนามาขาย ไม่ว่าจะเป็นกิโลละ 20 หรือ 25 บาท ถือเป็นการส่งเสริมการผลิต การขาย ทำการโฆษณาสร้างกระแสด้านกว้าง เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้ชาวนา

คนดัง คนดี จะทำแบบนี้อีกหลายคนก็ไม่เสียหาย

การไปรับซื้อข้าวจากชาวนามาจำหน่ายในราคาต้นทุนคงทำได้เพียงแค่ส่วนนิดเดียวของจำนวนข้าวที่กำลังหลั่งไหลออกมาจากท้องนา

นี่เป็นการเสริมกระแสของคนเมือง ที่กำลังเห็นใจชาวนาซึ่งต้องประสบกับภาวะขาดทุน เพราะคนเมืองส่วนหนึ่งไม่ยอมรับนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่จริงมีมานานหลายรัฐบาลแล้ว

แต่พรรคเพื่อไทยรับจำนำเยอะสุดให้ราคาสูงสุด หลายคนจึงคิดว่าถ้าให้ชาวนานำข้าวที่ปลูกแล้วมาสีเองนำมาขายเองได้ราคาดีขึ้นน่าจะเป็นทางออก

แม้ความเป็นจริงการทำแบบนี้จะทำได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนข้าวที่ผลิตจากฝีมือชาวนาไทย

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นผลดีต่อการทำความเข้าใจของคนในชาติเพื่อให้ได้เห็นใจซึ่งกันและกันและมีความเข้าใจเรื่องนโยบายจำนำข้าวซึ่งวันนี้รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ เรียกว่าโครงการจำนำยุ้งฉางคืออาศัยยุ้งฉางของเกษตรกรเป็นที่เก็บข้าว การจำนำยุ้งฉางหมายถึงว่าในยุ้งฉางนั้นต้องมีข้าว ไม่มีใครรับจำนำยุ้งฉางเปล่าๆ

โครงการแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว เป็นการเริ่มต้นพัฒนาการรับจำนำข้าว สุดท้ายเมื่อเห็นปัญหาต่างๆ ก็ดัดแปลงมาเป็นการรับจำนำข้าวแบบที่ต้องนำมาฝากไว้กับโกดังมาตรฐาน ซึ่งทั้งสองโครงการทั้งมีข้อดีข้อเสีย มีปัญหาซึ่งพอจะเปรียบเทียบได้

A Thai vendor carries a variety of rice to refill a bag at his shop at a market in Bangkok on September 25, 2011. A populist policy aimed at boosting the incomes of Thai farmers has raised fears of global rice price turbulence, but experts say the kingdom could just be hurting itself. AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT / AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

1.การจำนำยุ้งฉาง ต้องพึ่งพาชาวนา เจ้าหน้าที่รัฐ และโรงสี…
อย่าทำลายกลไกของโครงการ

แม้รัฐบาลจะประกาศว่าพร้อมจะรับจำนำข้าวด้วยวิธีที่เรียกว่าจำนำยุ้งฉาง แต่ดูเหมือนมีคนคิดว่าความเดือดร้อนของชาวนามีปัญหาการเมืองผสมอยู่เบื้องหลัง ไปตั้งข้อกล่าวหากับโรงสีว่าสมคบนักการเมือง กดราคาข้าว

ซึ่งที่จริงแล้วต้องไปดูราคารับซื้อและส่งออก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ขาใหญ่ ตัวจริงซึ่งตั้งมาเกือบ 100 ปีแล้ว พวกเขาจะซื้อข้าวที่แปรรูปเป็นข้าวสารขายในราคาที่มีกำไร ส่งออกไปนอกประเทศ ส่วนที่ซื้อแพงขายถูก มักจะต้องเป็นของรัฐบาล

ส่วนกรรมการสมาคมโรงสี ไม่อยากถูกหาว่าเป็นผู้ร้าย กดราคาข้าวชาวนา จึงลาออก

จากนี้ก็คงปล่อยให้ชาวนาเอาข้าวไปจำนำ ตามโครงการ จำนำยุ้งฉาง อย่างเต็มที่

และกลุ่มโรงสีก็คอยว่าเมื่อไรรัฐบาลจะมาจ้างไปสีข้าว

โรงสีไม่จำเป็นต้องเสี่ยง ทั้งต้องถูกด่า และอาจขาดทุน ถ้าราคาอีก 6 เดือนถูกลง เพราะถึงอย่างไร ข้าวเปลือกในยุ้งฉางจะถูกนำมาจ้างโรงสีแปรรูปเป็นข้าวสารไปเก็บไว้ในโกดังเอกชน หรือคลังสินค้าที่รัฐจะต้องเช่าไว้

การดำเนินการพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดจะมีระเบียบและวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับรูปแบบสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ยาง ข้าว ฯลฯ

เมื่อย้อนมาสำรวจเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐร่างไว้เพื่อควบคุมให้นโยบายจำนำข้าวให้ดำเนินไปตามกระบวนการตั้งแต่การเริ่มรับจำนำ เก็บรักษา จนไปถึงจัดจำหน่าย พบว่ามีรายละเอียดมากมายที่เตรียมไว้เพื่อป้องกันการทุจริต ป้องกันข้าวเน่า ป้องกันการขโมย

แต่มิได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย

ถ้าหากมีหลายฝ่ายร่วมมือกันทุจริตก็ยังคงทำได้ เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ หรือในหน่วยงานปกติทั้งของเอกชนและราชการ แต่กฎเกณฑ์ละเอียดที่วางไว้ถือว่ารัดกุมใช้ได้

A Thai Muslim farmer works in a rice field in Yala province, southern Thailand on March 11, 2009. Thai Prime Minister Abhisit Vejjajiva said on March 12 he would send a further 4,000 troops to the kingdom's troubled south where a bloody five-year insurgency continues to claim lives almost daily. Abhisit told reporters the extra rangers would help improve relations between authorities and the Muslim-majority population, despite vowing in January to end emergency rule following allegations of military abuses. More than 3,600 people have been killed since unrest erupted in the deep south in January 2004, with separatist militants employing increasingly brutal tactics including frequent roadside bombings, shootings and beheadings. AFP PHOTO / MUHAMMAD SABRI / AFP PHOTO / MUHAMMAD SABRI
AFP PHOTO / MUHAMMAD SABRI

2.การป้องกันการทุจริตจากการรับมอบ
การจัดเก็บรักษาข้าว ทั้งคุณภาพและปริมาณ

ระเบียบในการรับจำนำข้าวสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์

ผู้รับฝากต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในบริเวณที่สามารถบันทึกภาพกิจกรรมการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร สถานที่ตามโครงการให้ชัดเจนตลอดระยะเวลาโครงการ

รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงภาพกิจกรรมให้ศูนย์ Operation room ของฝ่ายเลขานุการ กขช. ได้ด้วย (ถ้ามี)

และผู้รับฝากมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาคุณภาพข้าวให้ดีได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าข้าวที่ใช้บังคับอยู่และที่จะออกใช้บังคับต่อไป ตลอดระยะเวลาที่รับฝากเก็บ โดยผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังและต้องใช้ฝีมือเป็นพิเศษตามที่ผู้มีอาชีพนี้พึงปฏิบัติ…

หากผู้รับฝากมิได้รักษาคุณภาพ และ/หรือ คงไว้ซึ่งปริมาณข้าวเปลือกที่รับฝาก หรือข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกที่รับฝากตามที่ระบุในวรรคแรก ผู้รับฝากต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย

– กรณีข้าวเปลือกหรือข้าวสารเสื่อมคุณภาพหรือสูญหาย ให้ใช้ราคารับจำนำหรือราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยของกรมการค้าภายในและราคาของสมาคมโรงสีข้าวไทย ณ วันที่ผู้ฝากพบเหตุที่ผู้รับฝากปฏิบัติผิดสัญญา แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์คำนวณราคาที่ต้องชดใช้

ส่วนการจำนำยุ้งฉาง ประมาณกันว่ายุ้งฉางที่เป็นของชาวนามีประมาณ 2 แสนแห่ง คงไม่สามารถเฝ้าดูได้แบบคลังสินค้าใหญ่ แต่ที่ทำได้คือ

จะต้องมีข้าวเปลือกจริงๆ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบน้ำหนัก

ต้องมีการวัดความชื้นว่าได้มาตรฐานหรือไม่ กรณีของการรับจำนำข้าวกำหนดความชื้นมาตรฐานไว้ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่เกินนี้สามารถจะรักษาให้ข้าวอยู่ได้นานไม่เสียหาย ข้าวไม่เน่า ไม่เกิดเชื้อรา หรืองอก

แต่ชาวนาไม่สามารถทำข้าวให้แห้งได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ โรงสีหรือผู้รับผิดชอบในโครงการจำนำข้าว หรือคลังสินค้าก็จะต้องมีวิธีอบและตากข้าวเปลือกก่อนนำเข้าไปเก็บ ยิ่งความชื้นมากก็จะถูกตัดราคาลงไปจากที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดไว้ 9,000 ต่อตัน ก็อาจจะเหลือ 8,000 เป็นต้น

ในกรณีจำนำยุ้งฉาง…ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งความซื่อสัตย์ของผู้ตรวจก็จะมีผลให้ได้ข้าวที่มีปริมาณและคุณภาพถูกต้อง เพราะไม่มีคลังสินค้ามาตรฐานแต่กระจายอยู่ตามแหล่งเก็บของเกษตรกร 200,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะอยู่ข้างบ้าน

เกษตรกรที่เป็นรายเล็กมักจะเป็นยุ้งฉางไม้หรืออาจจะกั้นด้วยสังกะสีหรือวัสดุต่างๆ เท่าที่หาได้ ถ้าเก็บนานจะเกิดความเสียหายจากความชื้นหรือไม่

ถ้านำไปเก็บรวมในยุ้งฉางสหกรณ์ ถ้าเกิดปัญหาขึ้น จะรับผิดชอบกันอย่างไร

ข้อดีของยุ้งฉางเล็กข้างบ้าน คือชาวนาไม่ต้องขนข้าวไปที่คลังสินค้า

แต่ข้อเสียก็คือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะต้องออกไปดูว่า ยุ้งฉางนั้นมีจริงหรือไม่ ต้องไปถ่ายรูป ต้องไปชั่งน้ำหนักข้าวนับแสนแห่งว่ามีข้าวจริงกี่ตัน จะมีเครื่องวัดความชื้นพอหรือไม่

ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ นี่จะเป็นช่องทางการทุจริตทั้งเรื่องความชื้นและน้ำหนัก

ที่สำคัญที่สุด ก็คือต้องไม่ให้เกิดการจำนำยุ้งฉางลมคือไปถ่ายรูปยุ้งฉางที่ไหนก็ไม่รู้มาแสดงและรับเงินไป การตั้งกรรมการตรวจสอบจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นตั้งแต่ต้น แต่ไม่รู้จะทำได้มากน้อยแค่ไหนจากจำนวน 2 แสนยุ้งฉาง

การจัดทำบัญชี / การรายงาน

ผู้รับฝากต้องจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูล และรายงานข้อมูล ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ โดยให้เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้าสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา

แต่ในระบบจำนำยุ้งฉาง เนื่องจากยุ้งฉางมีขนาดเล็กและกระจายอยู่กับชาวบ้าน สิ่งที่ทำได้ก็คือแจ้งบัญชีเท่าที่รับจำนำมา โดยมีรายละเอียดของแต่ละแห่งและภาพถ่าย บัญชีอาจรวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นเขต คงทำได้เพียงแค่นี้ แต่หลังจากนั้นถ้าทำได้ก็เพียงแต่ส่งคนไปตรวจบางแห่ง จะไปดูแลทั้งสองแสนแห่งคงทำไม่ได้

TO GO WITH 'THAILAND-POLITICS-ECONOMY-AGRICULTURE-RICE' BY AMÉLIE BOTTOLLIER-DEPOIS This picture taken on September 25, 2014 shows Thai farmers harvesting rice at a field in Nakhon Pathom province near Bangkok. Two years after losing its place as the world's biggest rice exporter, Thailand is eyeing a return to top spot as a the impact of bungled subsidy scheme eases and it sells cheaper grain to a grateful global market. AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT
AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

3.การประกันภัย จะมีใครรับประกัน

ความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวและโครงการจำนำยุ้งฉาง มีโอกาสเกิดขึ้นเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้คาดการณ์เรื่องเหล่านี้และเตรียมป้องกันไว้แล้วและได้มีกฎเกณฑ์ที่จะต้องมีผู้รับผิดชอบไม่ว่าข้าวหายไปจากโกดัง ข้าวจะเสื่อมสภาพเสียหายจากการเก็บรักษา ซึ่งทั้งผู้รับผิดชอบโกดัง เซอร์เวเยอร์ บริษัทประกัน ต้องช่วยกันรับผิดชอบตามสาเหตุและจำนวนของความเสียหาย ซึ่งการรับผิดชอบต่างๆ ถูกกำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์…

ผู้รับฝากจะต้องจัดให้มีการประกันวินาศภัยข้าวเปลือกและข้าวสารที่เก็บไว้ในคลังสินค้าของผู้รับฝากที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงสีของผู้รับฝากตามสัญญานี้ โดยทุนทรัพย์ที่เอาประกันต้องเต็มมูลค่าข้าวเปลือกและข้าวสารที่รับฝากตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาโดยระบุให้ผู้ฝากเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย และระบุเงื่อนไขการประกันภัยคุ้มครองจากอัคคีภัย ลมพายุ ภัยจากน้ำท่วม ภัยจากน้ำ และภัยจากการโจรกรรม โดยผู้รับฝากเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย…

หากผู้รับประกันข้างต้นปฏิเสธชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่ผู้ฝากไม่ว่าเพราะเหตุผลประการใดๆ ผู้รับฝากยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด…

การตรวจสอบ

ผู้รับฝากยินยอมให้ผู้ฝาก ตัวแทนของผู้ฝาก เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณคงเหลือ และบัญชีรับจ่ายข้าวในโครงการได้ตลอดเวลา

แต่ในโครงการจำนำยุ้งฉาง ใครจะมารับประกันยุ้งฉางชาวนา ที่มีขนาดเล็ก สร้างแบบชาวบ้านทั้ง 200,000 แห่ง และใครจะเวียนไปตรวจสอบ หรืออาจจะไม่ตรวจสอบเลย
ความหวังของรัฐบาลในโครงการจำนำยุ้งฉาง คือ ราคาข้าวจะสูงขึ้นหลังจากนี้ 3-6 เดือน และชาวนาจะมารับข้าวเปลือกไปขาย หรือแปรรูปเป็นข้าวสารไปขาย มีกำไรมีเงินใช้หนี้รัฐบาล แต่ถ้าราคาข้าวต่ำลงหรือคงเดิม จะไม่มีชาวนามาไถ่ถอนข้าว รัฐจะเป็นเจ้าของข้าวในยุ้งฉาง และต้องหาทางจำหน่าย ซึ่งจะขาดทุน จะเสียหายเท่าไร ต้องไปดูรายละเอียด และของจริง วันที่นำออกขาย

ในอดีตคลังสินค้าที่เก็บข้าวกว่า 1,800 แห่ง ในโครงการรับจำนำข้าวสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แม้มีกฎระเบียบ มีการควบคุม ยังถูกร้องว่าเกิดปัญหาประมาณ 900 กว่าแห่ง มีการฟ้องร้องบริษัทและคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ถ้าดูโครงการจำนำยุ้งฉาง ปัญหาจะเกิดสองขั้น คือ

1. เมื่อครบกำหนด แต่ชาวนาไม่ไถ่ถอนข้าวคืน รัฐต้องไปรับข้าวเปลือกจากยุ้งฉางของชาวนามาเป็นของรัฐ และตรวจว่าจะมีข้าวเสีย ข้าวหายหรือไม่ สมมุติถ้ามีปัญหา 10% คือ 20,000 แห่งจะทำอย่างไร โครงการจำนำข้าว มีคดีเกิดขึ้นนับพัน แต่โครงการจำนำยุ้งฉางจะมากแค่ไหน

2. เมื่อรัฐนำมาจ้างโรงสีแปรรูปเป็นข้าวสาร และจ้างเก็บรักษาไว้ จากนั้นก็ต้องนำออกขาย ซึ่งจะมีปัญหาแบบโครงการรับจำนำข้าว

ถ้าไม่อยากรับภาระ ไม่แปรรูป แต่รัฐนำข้าวชาวนาขายระบายออกในรูปข้าวเปลือกอย่างเร็ว ยอมขาดทุน ไม่เก็บไว้ ก็อาจฉุดให้ราคาดิ่งลงอีก เพราะมีจำนวนมาก

ทุกโครงการใหญ่มีปัญหา เป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศต้องตัดสินใจว่าจะกลัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย หรือกล้าทำโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชน แม้จะเกิดปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไข หลังจากทำโครงการนี้ไปแล้ว นายกฯ ประยุทธ์ จะเข้าใจโครงการจำนำข้าวมากขึ้น

(ต่อฉบับหน้า)