มุกดา สุวรรณชาติ : การอุดหนุนด้านการเกษตร เส้นทางที่พลเอกประยุทธ์ต้องเดิน (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

การที่รัฐให้การอุดหนุนด้านการเกษตร (Agricultural Subsidies)

ขณะนี้ราคาพืชเกษตรตกต่ำมาก ข้าวเปลือกราคา 5-7 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ข้าวโพดฝัก กิโลละ 3-3.50 บาท ยางพาราแผ่นดิบ ราคาเฉลี่ยปี 2559 กิโลละ 47.8 บาท ถ้าเป็นยางก้อนถ้วย เหลือเพียงกิโลละ 26 บาท มันสำปะหลังหัวมันสด กิโลละ 1.80-2.00 บาท

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เรียกประชุมด่วนหลังราคาข้าวตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรงในรอบ 10 ปี เพื่อพิจารณามาตรการโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียว ปี 2559/2560 ชื่อที่ใช้เรียกในยุคนี้ คือ จำนำยุ้งฉาง

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ

1. ให้ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวและค่าใช้จ่ายเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือคิดเป็นการช่วยเหลือ 1,295 บาทต่อตัน

2. ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางที่ราคาตันละ 8,730 บาท

3. ให้ค่าเก็บข้าวในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน

4. ให้เงินสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 2,591 บาท

รวมเงินช่วยเหลือตามโครงการจำนำยุ้งฉาง ประมาณตันละ 14,000 บาท

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำคือนโยบายที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินอยู่ และรัฐบาลไทยทำมานานแล้ว

วัตถุประสงค์ของการให้การอุดหนุนด้านการเกษตร

เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรของตน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศ

เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารและผลิตอาหารที่มีคุณภาพ

เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมจากเงินที่ช่วยเกษตรกร

เพื่อกระจายความแออัดของเมืองใหญ่ไปยังชนบท

โครงการรับจำนำยุ้งฉาง
ไทยทำมานาน 30 ปีแล้ว

รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลในการช่วยเหลือเกษตรกรของตน เช่น ประชาคมยุโรป ใช้งบประมาณเป็นจำนวนประมาณต่อปี ปีละ 2.3 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นใช้งบประมาณปีละ 1.4 ล้านล้านบาท มีวิธีการหลายอย่าง เช่น

การให้เงินอุดหนุนโดยตรงจากงบประมาณของรัฐบาล แก่เกษตรกร หรือเจ้าของที่ทำการเกษตร เช่น การจ่ายเงินต่อไร่

การรับซื้อหรือจำนำข้าว โดยรัฐบาล การประกันราคาสินค้าเกษตร

การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้สูง เพื่อปกป้องการเกษตรของตน

โครงการรับจำนำยุ้งฉาง ครั้งใหม่นี้ รวมหลายวิธี แต่ก็พัฒนามาจากของเดิมเมื่อ 30 ปีก่อน อดีตนายกฯ จำนวนมากเคยทำมาแล้ว

วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บข้าวไว้ขายในช่วงราคาดี (แต่ถ้าในอนาคตราคาไม่ดี รัฐก็ต้องนำไปขายในราคาต่ำ)

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
เมื่อราคาข้าวตกต่ำ

ในปีการผลิต 2525/2526 ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำกับ ธ.ก.ส. ข้าวเปลือกที่นำมาจำนำ ต้องนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานขององค์การคลังสินค้าในพื้นที่ แต่ถ้าเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ข้าวเปลือกที่จำนำไว้จะตกเป็นขององค์การคลังสินค้าเพื่อการจำหน่ายออกต่อไป ได้ผลน้อยมาก

ปี 2529 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงวิธีการรับจำนำข้าวเปลือกจากที่เกษตรกรจะต้องนำข้าวไปส่งที่คลังของ อคส.

โดยให้เกษตรกรสามารถเก็บข้าวที่จำนำไว้ที่ยุ้งฉางของตนเองได้ ทั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายข้าวเปลือกและค่าใช้จ่ายในการเก็บข้าว ในขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ทำสัญญาเช่ายุ้งฉางของเกษตรกรรายนั้นให้เป็นที่เก็บข้าวเปลือกและจ้างเกษตรกรเป็นผู้ดูแล

ผลของการรับจำนำในปีดังกล่าวได้ทำให้ราคาข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ได้ขยับตัวสูงขึ้น และเมื่อถึงเวลาไถ่ถอนปรากฏว่าราคาข้าวเปลือกยังคงอยู่ในระดับทรงตัวค่อนข้างสูง คุ้มกับดอกเบี้ยที่จ่าย ทำให้เกษตรกรมาไถ่ถอนผลผลิตข้าวที่จำนำไว้จำนวนมาก

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2534/2535 คนที่เข้าร่วมจะมีรายได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำ ทั้งนี้เพราะหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผ่านไป ชาวนาจะขายข้าวได้ในระดับราคาที่เพิ่มขึ้น

ในปีการผลิต 2535/2536 ได้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการรับจำนำข้าวเปลือกอีกโดยให้เกษตรกรสามารถยืมยุ้งฉางของเกษตรกรรายอื่นเพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกได้ ทำให้จำนวนการมาใช้สินเชื่อภายใต้โครงการรับจำนำเพิ่มขึ้น ธนาคารได้รับจำนำข้าวเปลือกเป็นจำนวนถึง 3.34 ล้านตัน

กำหนดวิธีการรับจำนำขึ้นเป็น 2 รูปแบบ คือการรับจำนำข้าวเปลือกที่ยุ้งฉาง และการรับจำนำใบประทวนสินค้าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง

 

ในปีการผลิต 2541/2542 และ 2542/2543 และให้ ธ.ก.ส. รับจำนำข้าวเปลือกเฉพาะข้าวเปลือกในยุ้งฉางของเกษตรกร ผลปรากฏว่าเมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้วระดับราคาข้าวเปลือกไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น กนข. จึงได้มีมติให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางให้นำข้าวเปลือกไปฝากไว้ที่เก็บหรือยุ้งฉางของ อ.ต.ก. หรือของโรงสีที่ อ.ต.ก. เช่าไว้และนำใบประทวนสินค้าที่ อ.ต.ก. ออกให้ไปจำนำกับ ธ.ก.ส.

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เข้ามาบริหารประเทศ 2544 ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง และให้ อคส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ทั้งนี้ อคส. จะเป็นผู้ออกใบประทวนสินค้าให้กับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกนาปรังปี 2544 ไปฝากไว้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแล้วนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส.

ในขณะเดียวกัน ได้ขยายวงเงินรับจำนำเป็นไม่เกินรายละ 350,000 บาทจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 100,000 บาท อีกทั้งได้กำหนดเงื่อนไขให้สามารถนำข้าวเปลือกนาปรังที่ อคส. รับฝากไว้ไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารและเก็บไว้ในคลังสินค้ากลาง

การให้ความช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนด้านการเกษตร จึงเป็นเรื่องของหน้าที่ และภาระของรัฐบาลทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องของการดำเนินการเพื่อกำไรหรือขาดทุน

การเคลื่อนไหวหาเงิน 35,000 ล้านบาท
จำเป็นหรือไม่?

ขณะนี้มีข่าวว่ากำลังจะเคลื่อนไหวหาเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณีจำนำข้าว เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท

ผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง แนะนำว่า ให้ทบทวนให้ดี เพราะเรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การเสียค่าปรับจราจรตามใบสั่ง

แม้ตอนนี้มีคนพยายามจะสรุปให้ไปเสียค่าปรับ เมื่อคิดว่ามีภาพจากกล้อง มีพยาน ก็ต้องสู้กันในกระบวนการยุติธรรม

เหตุผลที่ควรทบทวน

1. การไปหาเงินชดใช้ ก็เหมือนเป็นการยอมรับว่าการให้การอุดหนุนด้านการเกษตร (Agricultural Subsidies) เป็นเรื่องผิด ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปใครจะกล้ามีนโยบายที่ค้ำประกัน จำนำ หรือตั้งราคาชี้นำราคาพืชผลการเกษตร เพราะมีโอกาสที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่ร้อยล้านพันล้านหมื่นล้าน แบบนี้โครงการจำนำยุ้งฉาง ลำบากแน่

2. กรณีจำนำข้าวต้องพิจารณาให้ดีว่าด้านหลักของคดีนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองหรือเป็นการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ถ้าหากว่าเป็นการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เราก็จะพบว่าขั้นตอนการทำคดีจะเป็นไปตามปกติและยุติธรรม แต่ถ้าย้อนทบทวนดูพฤติกรรมต่างๆ แล้วพบว่าด้านหลักยังเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มหรือกดอีกฝ่ายไม่ให้โงหัวขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง

ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องเคลื่อนไหวในขอบเขตทางการเมือง ถ้าหากทำออกไปแล้วก็จะต้องพิจารณาผลที่จะได้รับด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

3. ในกรณีที่การเคลื่อนไหวเดินหน้าออกไปแล้วปรากฏว่าถูกแรงบีบคั้นกดดันไม่มีคนกล้าออกมาร่วมเนื่องจากกลัวถูกตรวจสอบ เหมือนนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับ ถูกเรียกไปสอบถามหรือถูกฟ้องร้อง สุดท้ายก็จะมีคนเข้าร่วมไม่มากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตี

4. เรื่องถูกหรือผิดวันนี้ไม่ใช่ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ขณะนี้คนที่รู้เรื่องมีเยอะ แต่พวกเขาเลือกข้างที่จะเชียร์ ในขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มใหญ่ที่ยินดีรับผลประโยชน์จากนโยบายจัดการ การกระทำของรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าผลประโยชน์นั้นจะได้มาจากรัฐบาลเลือกตั้งของเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องที่ให้ประโยชน์ดีๆ นั้นไม่มีใครปฏิเสธ

แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ในยุคนี้จะหาคนกล้าออกมาคัดค้านมีไม่มากนัก ดังนั้น ถ้าจะเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ต้องประเมินให้ละเอียดและถี่ถ้วนเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง

อาจต้องใช้วิธีการและกระบวนการที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่เปิดช่องให้คนซ้ำเติม

จะเกิดอะไรกับโครงการจำนำยุ้งฉาง 2559/2560

ถ้าคนที่ทำโครงการนี้ ไม่ใช่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนค้าน คนหนุนจะเปลี่ยนไปหรือไม่

ในความเป็นจริงไม่มีอะไรง่าย แม้โครงการแบบนี้เคยทำมาแล้ว

(ต่อฉบับหน้า)