บทวิเคราะห์ : เมื่อ “อาร์-เอ-ดี” ขอบคุณรัฐบาลไทย ช่วยดัน “ประเทศกูมี”

“อาร์-เอ-ดี” ที่นำมาจั่วหัวนี้ ผมถือวิสาสะย่อให้สั้นๆ เอาเองจากคำว่า “แร็พ อะเกนสต์ ดิกเทเทอร์ชิป” (Rap Against Dictatorship) ซึ่งเป็นชื่อ “โปรเจ็กต์หนึ่ง” ของแร็พเปอร์กลุ่มหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งโดยเดชาธร บำรุงเมือง เจ้าของชื่อ “ฮอคกี้ ฮอคแฮคเกอร์” ในแวดวงชาวแร็พ เป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของเพลงแร็พที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในเวลานี้อย่าง “ประเทศกูมี” ครับ

เป็นเพลงแร็พที่ซีเอ็นเอ็นหยิบมาพูดถึงเอาไว้เมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่คลิปยูทูบเพลงนี้ถูกเข้าไปคลิกชมดูเลยหลัก 24 ล้านครั้งไปแล้วภายใน 8 วัน

น่าสนุกตรงที่ เดชาธรบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า คงต้องขอบคุณทางการไทยที่ช่วยให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จ

เพราะเพลงนี้เริ่มโด่งดังกลายเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ไปในทันทีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มต้นสืบสวนสอบสวนความเป็นมาของ “แร็พ อะเกนสต์ ดิกเทเทอร์ชิป” และที่มาที่ไปของเพลงเพลงนี้

ความเป็นมาซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมาก อย่างที่เดชาธรบอกกับซีเอ็นเอ็นเอาไว้ว่า เป็นเพราะกลุ่มอาร์เอดีต้องการที่จะส่งสารไปยังสาธารณะผ่านบทเพลงของตนเอง

“เป้าหมายหลักของเราก็เหมือนกับชื่อของกลุ่มนั่นแหละ เราต้องการใช้เพลงแร็พเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ” เดชาธรบอกอย่างนั้น

 

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอกย้ำความเป็น “ปรากฏการณ์” ของมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ไว้ในการให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่มิวสิกวิดีโอเพลงหนึ่งเพลงใดในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนจะสามารถสั่งสมยอดวิวได้มากถึงขนาดนั้นภายในสัปดาห์เดียว

“เพลงนี้ซึมลึกเข้าไปยึดโยงอยู่กับความกระวนกระวาย ความคับข้องใจที่เป็นความรู้สึกร่วม เนื้อเพลงบอกเล่าถึงความป่วยไข้ทางการเมืองและความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ไทยทั้งประเทศประสบอยู่” คือความเห็นต่อเพลงประเทศกูมีนี้จากนักวิชาการอย่างฐิตินันท์

ซีเอ็นเอ็นบอกว่า นอกจากเงื่อนปมทางการเมืองแล้ว “ประเทศกูมี” ยังเผชิญหน้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน, ความยากจน, ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และภาระรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ของรัฐบาลอีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่าต้องก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นตามมา

รายงานของซีเอ็นเอ็นให้ภาพปฏิกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอาไว้น่าสนใจมากว่า นายกรัฐมนตรีบอกกับผู้สื่อข่าวเป็นเชิงถามกลับถึงเพลงนี้ไว้ว่า “เมื่อฟังเพลงนี้แล้ว คิดว่าจริงหรือเปล่าล่ะ คิดว่าทุกๆ อย่างเลวร้ายขนาดนั้นหรือ? พวกคุณคิดว่าผมเป็นเผด็จการอย่างนั้นหรือ?”

ตามด้วยคำเตือนว่า “ใครก็ตามที่แสดงความชื่นชอบเพลงนี้ออกมา ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศนี้ในอนาคตด้วยก็แล้วกัน”

 

คําบอกเล่าของเดชาธรต่อผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของสิ่งที่เดชาธรเรียกว่า “สังคมแร็พใต้ดิน” ว่ากำลัง “เติบใหญ่ขยายตัว” ขึ้นในประเทศ ศิลปินแร็พหลายต่อหลายคนกำลังแสดงและผลิตงานเพลงที่พูดถึงและบอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

“เราตั้งใจจะปล่อยเพลงการเมืองที่บอกเล่าว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยออกมามากขึ้น” เดชาธรย้ำ

ข้อสังเกตของซีเอ็นเอ็นก็คือ แร็พเปอร์ไม่ใช่ศิลปินกลุ่มเดียวที่ใช้ศักยภาพ ใช้ความสามารถทางศิลปะของตนเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศที่เป็นอยู่ แม้แต่ศิลปินกำแพงสวมหน้ากากอย่าง “เฮดเอคสเตนซิล” ก็เคยสร้างชื่อเสียงมาแล้วด้วยภาพกราฟฟิตี้เสียดสีรัฐบาลทหารและนโยบายของรัฐบาลไว้บนกำแพงของกรุงเทพฯ

อย่างเช่น ภาพแมวนางกวัก “มาเนกิ-เนโกะ” ที่มีใบหน้าเป็นท่านนายกรัฐมนตรี ทำทีทำท่าแบมือขอเงิน เป็นต้น

ในความเห็นของฐิตินันท์ สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตกอยู่ในสภาพเหมือน “ติดกับ” อยู่ในที เพราะในทางหนึ่งนั้นก็ต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอย่างชอบธรรมจากการเลือกตั้ง

ดังนั้น การจัดการกับแร็พเปอร์กลุ่มหนึ่งเพียงเพราะเพลงดังเพลงหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการทำลายส่วนหนึ่งของฐานเสียงของรัฐบาลเอง

ในอีกทางหนึ่ง หากปล่อยไปแบบเลยตามเลย สังคมไทยที่ได้เห็นการแสดงออกถึงจุดอ่อนของรัฐบาลทหารเช่นนี้ก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การรวมกลุ่มขึ้นคัดค้านต่อต้านแล้วกลายเป็นความแตกแยกทางการเมือง

ฐิตินันท์เชื่อว่าสารัตถะที่เป็นแก่นแกนของสิ่งนี้จะกลายเป็น “เส้นแบ่ง” สำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดจะมีขึ้นในปีหน้า

ซึ่งจะกลายเป็นการลงคะแนนว่าจะเอาหรือไม่เอา “ทหารกับสิ่งทั้งหลายที่นายทหารเหล่านี้ยืนหยัดเพื่อให้ได้มา” เท่านั้นเอง