เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ปากกาทองท่องภูเก็ต

ไปภูเก็ตระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคมที่ผ่านมากับคณะ “กวีปากกาทอง” ของธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ผู้ร่วมขบวน นอกจากเจ้าหน้าที่ ปชส.ของธนาคารกรุงเทพผู้เข้มแข็งและเป็นแกนสำคัญของโครงการนี้แล้วก็มีกวีอีกสองท่านคือ เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ กับ ดร.อภิชาติ ดำดี และกวีพื้นถิ่นคนสำคัญคือ เสน่ห์ วงษ์กำแหง

ครั้งนี้เป็นลำดับที่สองของปีที่สี่ ซึ่งจะมีครั้งต่อๆ ไปในแต่ละภาค

ปรารภเหตุจากบทกาพย์ฉบังเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งนิพนธ์โดยสมเด็จมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่ว่า

โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย

กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม ฯ

บทนี้สำคัญนัก ด้วยสะท้อนถึงสภาวะปัจจุบันได้ดีที่สุด คำ “ไขษย” แปลว่าการสิ้น ความเสื่อมถอย หรือลดลงจากที่เคยมี เคยเป็น

ดังจะ แล้งแหล่งสยาม เอาจริงๆ ด้วย

ภาษาไทยนั้นมีกวีเป็นอลังการของภาษา เปรียบดังเพชรยอดมงกุฎวรรณกรรมเลยทีเดียว

เราขาดการปูพื้นตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา

ก่อนนั้นเรามีเพลงกล่อมเด็ก ร้องกล่อมไกวเปล

โตขึ้นชั้นอนุบาลมีบทดอกสร้อยหรือเพลงร้องเล่นของเด็ก เช่น “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง…” เป็นต้น ระดับประถมมีบทอาขยานไว้ท่อง

จนถึงมัธยมมีหลักสูตรให้รู้ฉันทลักษณ์ของโคลงฉันท์กาพย์กลอน รวมถึงยังมีบทอาขยานจากวรรณคดีเรื่องสำคัญๆ ให้จำได้ไปตลอด

ดังนั้น ถึงระดับอุดมศึกษาแม้ไม่มีหลักสูตรโดยตรง ยกเว้นภาควิชาหรือคณะที่เกี่ยวกับภาษาไทย ก็ยังมีกิจกรรมของสโมสรนิสิตนักศึกษาแทบทุกสถาบัน

ซึ่งเวลานี้ล้วน “อดสูดูไขษย” แทบจะทุกระดับไปแล้ว

ด้วยเหตุดังนี้ โครงการ “กวีปากกาทอง” ของธนาคารกรุงเทพ จึงมีขึ้นเพื่อ “เติมเต็ม” สภาวะดังกล่าว โดยหวังจะเจียระไนเพชรพลอยเพื่อประดับมงกุฎวรรณกรรมให้เป็นอลังการของภาษาไทยแท้จริงสืบไป

เคยนิยามบทกวีไว้ว่า “บทกวีคือเพชรพลอยของถ้อยคำอันเจียระไนจากผลึกของความคิด”

ยังยืนยันความข้อนี้อยู่

ผลของโครงการจากเริ่มจนวันนี้สัมฤทธิ์ได้น่าพอใจยิ่ง ด้วยมีผู้สนใจทั้งนิสิต-นักศึกษาและนักเรียนที่โรงเรียนใกล้เคียงและสถาบันศึกษาใกล้เคียงส่งเข้าร่วมแทบทุกครั้ง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมส่งผลงานให้วิทยากรช่วยวิจารณ์แนะนำ แม้ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หลายคนที่เคยผ่านโครงการนี้ได้สร้างผลงานปรากฏอย่างน่าพอใจไม่น้อยเลย

ครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีท่าน ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดี รองอธิการฯ คือ ผศ.ดร.นพดล จันระวัง และ ดร.วรพงศ์ ไชยฤกษ์ ประธานสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมเป็นกำลังใจจนกระทั่งจบงาน

กวีปากกาทองปีนี้คือ น.ส.เจริญศรี หมื่นละม้าย นักศึกษาปีที่สี่

มาภูเก็ตทุกครั้งก็จะได้พบเพื่อนนักเขียนกลุ่มวรรณกรรมภูเก็ตเสมอ ครั้งนี้นอกจากเสน่ห์ วงษ์กำแหงแล้วยังได้พบกับขวัญยืน ลูกจันทร์ คนเขียนเรื่องสั้นมือดี ชิต ชยากร ผู้ได้รับรางวัลชมเชยเรื่องสั้นพานแว่นฟ้าคนล่า และนักกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมคนสำคัญคือ วิโชติ ไกรเทพ ผู้เข้มแข็งอยู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำคัญยิ่งคือได้พักที่มาริน่า ภูเก็ต รีสอร์ต ของคุณสมชาย ศิลปานนท์ ผู้เสกหาดกะตะกะรนให้มีเสน่ห์อย่างยั่งยืน

คุณสมชาย ศิลปานนท์ นี่แหละผู้สร้างงานในลักษณะ “สามประสาน” มาแต่เริ่มตั้งมาริน่า ตอนนั้นชื่อมาริน่า คอตเทจ ด้วยการสานพลังของสามภาคส่วนคือ เอกชน (ธุรกิจ) ประชาชน (ชาวบ้าน) และราชการ (หน่วยงานเกี่ยวข้อง) อย่างเป็นรูปธรรม รักษาสิ่งแวดล้อม ทะเล และอาชีพชาวบ้านอย่างมีพลังที่สุด

เมื่อครั้งมหาภัยสึนามิ ที่นี่ก็ได้ผลกระทบน้อยที่สุดด้วยพลังมวลชนต้านพลังคลื่นยักษ์ได้จริง

เราเคยพาคณะศิลปินลงพื้นที่ไปเกาะพีพี และได้ข้อมูลบทสรุปจากคุณสมชายดียิ่ง

แม้ภูเก็ตวันนี้จะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ที่นี่เหมือนจะไม่กระทบเลย ด้วยนักท่องเที่ยวจากภาคพื้นยุโรปมาพักผ่อนที่นี่กันเป็นประจำในลักษณะครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

ยังมีเรื่องน่าสนใจจากเสน่ห์ วงษ์กำแหง คือนอกจากเป็นกวีผู้ชอบกวีเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งอ่านและเขียน (ทุกวัน) แล้วยังเป็นนักอ่าน นักสะสมหนังสือตัวยง

ครั้งหนึ่งเสน่ห์พยายามรณรงค์เรื่องชื่อจังหวัดภูเก็ต

อันควรเขียนเป็น “ภูเก็จ” ด้วยมีหลักฐานเอกสารเก่าโบราณเขียนอย่างนี้ หมายถึง “เก็จประกาย” ของภูแห่งเพชรพลอย ดังนิยามเป็นไข่มุกอันดามันนั้น

ดังปรากฏในพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 4 เพื่อยกฐานะเมืองภูเก็จให้มีฐานะเทียบเท่าเมืองถลางปี พ.ศ.2396 ตอนหนึ่งว่า

“…เมืองถลาง เมืองภูเก็จอยู่ในเกาะถลางทั้ง 2 เมือง เมืองถลาง เจ้าเมืองเป็นพระยา เมืองภูเก็จ เจ้าเมืองยังเป็นพระ พระภูเก็จ (ทัต) คนนี้…ฯ”

และ “…ตั้งให้พระภูเก็จ (ทัต) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็จ ให้มีเกียรติยศใหม่ขึ้นเสมอกับเมืองถลาง…”

นอกจากประวัติพระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ผู้สร้างเมืองภูเก็จแล้ว ยังมีเอกสารเป็นจดหมายโต้ตอบทางการค้าระหว่างเซอร์ฟรานซิส ไล้ท์ เจ้าเมืองปีนังโต้ตอบกับคุณหญิงจันท์ใน “จดหมายเหตุเมืองถลาง” ก็เขียนคำ “ภูเก็จ” ด้วย

ฝากผู้สนใจค้นคว้าต่อละกัน

คุณวิโชติ ไกรเทพ ก็เล่าตำนานชาวเลไว้น่าสนใจ ด้วยว่ามีนิทานเรื่องหนุ่มชาวเลออกเรือหาปลาอ้อมทะเลภูเก็ต ซึ่งครั้งที่ยังเป็นแผ่นดินเดียวกันไม่เป็นเกาะ ขณะพักเหนื่อยนั้นฝันว่าพระจันทร์ตกลงมาบนตัก ตื่นตกใจคิดถึงเป็นห่วงสาวคนรักที่เพิ่งแต่งงานกัน อยู่ยังอีกฟากทะเลที่จากมา จึงพุ่งเรือตัดแผ่นดินข้ามถึงอีกฟากฝั่ง แผ่นดินขาดจึงกลายเป็นเกาะภูเก็ตจนทุกวันนี้

อนึ่ง คำว่า “ภูเก็ต” นี้ว่ามาจากคำ “มกิต” ในภาษามลายูแปลว่า “ภูเขา” เราสะกดด้วยอักษรโรมันเป็นตัว T จึงกลายเป็นภูเก็ตจนบัดนี้

เสียดายความหมายภูเก็จที่หมายถึง

ภูประกายเพชร

เรื่องเล่าชาวเล

๐ แต่ก่อนจะเป็นเกาะ

ภูเก็จเชื่อมแผ่นดินใหญ่

ชาวเลหาดราไวย์

มีเรื่องเล่าเป็นตำนาน

๐ ผู้บ่าวได้ออกเรือ

อ้อมแหลมใหญ่ไปอีกด้าน

ขณะเหนื่อย นั่งพักงาน

เกิดฝันร้าย ตกใจนัก

๐ ฝันว่าพระจันทร์ดวง

มาร่วงหล่นอยู่บนตัก

พลันคะนึงถึงคนรัก

พุ่งเรือลัดตัดแผ่นดิน

๐ จึงเกิดภูเก็จเกาะ

เพราะอำนาจผ่าธรณิน

ใจรักปักปกพิน

นี่แหละใจของชาวเล

๐ บอกลูกและบอกหลาน

ว่าใจหาญ ยังหาญเห่

คลื่นโถมระดมเท

ยิ่งทระนง ณ ธรณี!