แพทย์ พิจิตร : ตัวแบบทดลองความคิดทางการเมืองของชัยอนันต์ สมุทวณิช

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์อ่าน

และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา” ซึ่งในตอนก่อนๆ ผมได้คัดข้อความบางตอนของอาจารย์นิธิและได้เปรียบเทียบจุดยืนของอาจารย์นิธิกับนักวิชาการฝรั่งบางคนไป

คราวนี้จะมาเล่าต่อถึงปฏิกิริยาของอาจารย์นิธิที่มีต่อหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย”

 

คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองไทยของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ ในประเด็นที่อาจารย์นิธิได้กล่าวว่า “คำว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” แปลว่าอะไร มีเพียงความหมายเดียวหรือมีความหมายตามแต่กาลเทศะ ดูเหมือนชัยอนันต์จะใช้คำนี้เหมือนเป็นแนวคิดสากลที่เหมือนกันไปหมด”

ผมเห็นด้วยว่า จริงอยู่ที่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อาจจะมีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ที่และในแต่ละช่วงเวลา แต่ถ้าเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” นี้มีอยู่และเกิดขึ้นทั่วไป แต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปได้

แต่กระนั้น ถ้าเชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป ก็แปลว่า อย่างน้อย ในที่ต่างๆ แม้ว่าจะมีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แตกต่างกัน แต่ก็ควรต้องมีความเหมือนร่วมกันอะไรบางอย่าง มิฉะนั้นแล้ว จะไม่สามารถเรียกความคิดทางการเมืองการปกครองที่ว่านี้ว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เลย คงต้องเรียกขานแตกต่างกันไป

ในทำนองเดียวกันกับที่เชื่อกันว่า ศักดินาเอย ทุนนิยมเอย เป็นปรากฏการณ์ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสากล แต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปได้ ทำให้เราเรียกได้ว่า มีศักดินาไทย หรือทุนนิยมไทย เป็นต้น

ดังนั้น คงจะต้องมีจุดตั้งต้นอะไรบางอย่างในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

และจุดตั้งต้นที่ว่านี้ ต้องเริ่มจากการสร้างและแยกแยะตัวแบบ (typology) ขึ้นมา เช่น สร้างตัวแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น การจำแนกประเภท (typology) คือ แบบหรือประเภทต่างๆ ที่ถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญและใช้กันอย่างสืบเนื่องและลงหลักปักฐานมานานแล้วในทางสังคมศาสตร์

นักสังคมศาสตร์จะใช้การจำแนกประเภทในการก่อร่างสร้างแนวความคิด สกัดกลั่นกรองเกณฑ์การวัด สำรวจตรวจหามิติสภาพและจัดระเบียบข้ออ้างในการอธิบายความในสิ่งที่ศึกษา ช่วยในการสร้างและจัดประเภทและการชี้วัดและแยกแยะกรณีต่างๆ

การจำแนกประเภทคือแบบหนึ่งของกรอบแนวความคิด (conceptual framework) ที่ทำหน้าที่ในการจัดประเภทของปรากฏการณ์โดยอิงกับเกณฑ์ที่มีความแน่นอนจำนวนหนึ่ง

 

เราคงต้องตั้งหลักโดยการจำแนกให้เห็นว่า โดยรวมๆ แล้ว “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” แตกต่างไปจากความคิดหรือรูปแบบการปกครองอื่นๆ อย่างไร

เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์แตกต่างจากปริมิตตาญาสิทธิราชย์ และปริมิตตาญาสิทธิราชย์ยังแยกย่อยออกได้เป็น ปริมิตตาญาสิทธิราชย์แบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และปรมิตตาญาสิทธิราชย์แบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา

ผู้ศึกษาควรจำต้องสามารถจำแนกแจกแจงรูปแบบการปกครองเหล่านี้ นั่นคือ ต้องสามารถจำแนกให้เห็นชัดเจนระหว่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และ “ปรมิตตาญาสิทธิราชย์” ซึ่งปรมิตตาญาสิทธิราชย์ยังจำแนกได้ออกเป็น “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” และ “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภา” หรืออาจจะมี “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ” และยังต้องจำแนกออกเป็นประเภทที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็น หรือเป็นมากหรือเป็นน้อย

และการจำแนกประเภทที่ว่านี้ ในทางวิชาการหมายถึง “typology” ซึ่งมีนักวิชาการอธิบายและให้ความหมายเกี่ยวกับการจำแนกประเภทไว้ว่า การจำแนกประเภท (typology) คือ แบบหรือประเภทต่างๆ ที่ถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญและใช้กันอย่างสืบเนื่องและลงหลักปักฐานมานานแล้วในทางสังคมศาสตร์

นักสังคมศาสตร์จะใช้การจำแนกประเภทในการก่อร่างสร้างแนวความคิด สกัดกลั่นกรองเกณฑ์การวัด สำรวจตรวจหามิติสภาพและจัดระเบียบข้ออ้างในการอธิบายความในสิ่งที่ศึกษา ช่วยในการสร้างและจัดประเภทและการชี้วัดและแยกแยะกรณีต่างๆ และการจำแนกประเภทคือ แบบหนึ่งของกรอบแนวความคิด (conceptual framework) ที่ทำหน้าที่ในการจัดประเภทของปรากฏการณ์โดยอิงกับเกณฑ์ที่มีความแน่นอนจำนวนหนึ่ง

 

เราสามารถสรุปถึงลักษณะสำคัญของการจำแนกประเภท (typology) ที่นักวิชาการต่างๆ ได้ศึกษาไว้ ได้ห้าลักษณะสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง การจำแนกประเภทที่พื้นฐาน นั่นคือ การจำแนกในแบบ “ตัวแบบบริสุทธิ์หรืออุดมคติ” (ideal type) ในการศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมจำเป็นต้องจำแนกโดยสร้างเป็นตัวแบบบริสุทธิ์ขึ้นมา เพราะในความเป็นจริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะยากที่จะศึกษาและยากที่จะเปรียบเทียบ หากไม่ตั้งหลักโดยการสร้างตัวแบบบริสุทธิ์ขึ้นมาก่อน

สอง เนื่องจากตัวแบบบริสุทธิ์เป็นนามธรรม ดังนั้น จึงไม่มีทางที่จะนำเสนอหรือเป็นภาพตัวแทนของลักษณะสำคัญทั้งหมดของปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่งๆ ได้สมบูรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบบริสุทธิ์กับปรากฏการณ์จริงจึงเป็นเพียงการประมาณการหรือความใกล้เคียงเท่านั้น (approximation) นั่นคือ จะไม่มีกรณีศึกษาปรากฏการณ์จริงใดๆ ที่จะ “ฟิตเข้ากันพอดีเป๊ะ” กับตัวแบบบริสุทธิ์ที่จัดจำแนกขึ้นไว้

ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีตัวแบบบริสุทธิ์ใดที่จะสามารถนำเสนอหรือเป็นภาพตัวแทนให้กับปรากฏการณ์จริงที่เป็นกรณีศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ด้วย สิ่งที่ผู้ศึกษาทำได้ก็คือเปรียบเทียบปรากฏการณ์จริงที่เป็นกรณีศึกษากับตัวแบบบริสุทธิ์ และประมาณการหาความเหมือนความใกล้เคียงระหว่าง “ของจริง” กับ “ตัวแบบบริสุทธิ์”

สาม การจำแนกประเภทที่ดี มีเกณฑ์สองข้อ นั่นคือ 1) ความครบถ้วน (exhaustiveness) และ 2) สิ่งที่ไม่สามารถเกิดร่วมกันได้ในเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์เดียวกัน (mutual exclusiveness) หมายถึงเหตุการณ์สองเหตุการณ์ขึ้นไปที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ ตัวอย่างเช่น การโยนเหรียญหนึ่งเหรียญ ผลลัพธ์จะต้องออกหัวหรือออกก้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถออกทั้งคู่ได้พร้อมกัน

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ คุณลักษณะในเชิงที่เมื่อเป็นอะไรอย่างหนึ่งแล้วก็จะต้องไม่เป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “dichotomous attribute” เช่น สมมุติว่า ตาตี่เป็นคุณลักษณะทางกายภาพของคนจีน และตาตี่จะไม่เป็นคุณลักษณะทางกายภาพของคนอินเดีย หรือของบางอย่างจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สี่เหลี่ยมหรือไม่สี่เหลี่ยม จมูกแบนหรือไม่แบน เป็นต้น (ส่วนลักษณะข้อที่สี่และห้า ต่อในคราวต่อไป)

พยายามคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าไม่ตั้งต้นแบบนี้ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะตั้งต้นกันแบบไหน? และ “ประชาธิปไตย” ก็คงจะต้องมีประชาธิปไตยหลายแบบแตกต่างกันไป ไม่สามารถเอามาเทียบวัดกันได้ว่าแบบไหนเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยกว่าแบบไหน?!

รวมทั้งประชาธิปไตยที่เป็นคุณค่าสากลก็ย่อมไม่มีด้วย!