สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ThaiMas Project โรงเรียนข้ามชาติ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซาลามัต ดาตัง อินโดนีเซีย เดินทางมาถึงตอนที่ว่าด้วยห้องเรียนข้ามโลก โรงเรียนข้ามชาติ การเรียนรู้ไร้พรมแดน ชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ ไม่อาจขวางกั้นความรักที่จะเรียนรู้ได้

นักเรียน ครู ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เรียนรู้ไปด้วยกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องที่ตนสนใจ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ ทัศนคติ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้

สิ่งที่ได้มาไม่ใช่แค่ชิ้นงาน สิ่งของหรือผลผลิต องค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานร่วมกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทักษะการสื่อสาร ทักษะภาษา ทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทั้งทักษะทางปัญญา ทางอารมณ์และสังคม ครบเครื่อง

ได้พบเพื่อนใหม่ ครูคนใหม่ จากรู้จักพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ เกิดสายใยแห่งความรัก ความผูกพัน ความกล้าแสดงออก การทดลองใหม่ๆ ผิดเป็นครู ถูกเป็นครู

เด็กดอย เด็กชนเผ่า ไร้สัญชาติ สามารถพัฒาได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเด็กพื้นราบในเมือง ขอเพียงให้พวกเขามีโอกาส มีพี่เลี้ยง มีครูดีๆ คอยมอบความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ ด้วยความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ แม้จะอยู่โรงเรียนบนพื้นที่สูงตามรอยตะเข็บพรมแดนเขตทุรกันดาร หรือเกาะแก่งห่างไกล กลางทะเลลึก

 

หลังบอกลาครูไซนุดดิน ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จากมาเลเซีย แยกย้ายกันกลับ ผมยืนยันกับเขาว่าจะมาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงผลงานการสร้างห้องเรียนข้ามโลกของเขากับครูไทยและนักเรียนจากสามโรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี

ผมมีโอกาสพบครูไทยทั้งสามคนจริงๆ ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารเช่นกัน เห็นหน้ากันทางหน้าจอ ยังไม่เคยเจอหน้าจริง เรื่องราวของครูไทยทั้งสามที่ร่วมทำโครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับครูไซนุดดิน พร้อมเพื่อนครูจากอินโดนีเซีย น่าสนใจติดตามมาก

ทุกคนเป็นครูผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ครูจรินทร์ ธงงาม ครูคอมพิวเตอร์ สอน ม.1-5 โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม

ครูจันทร์จิรา พงษ์ชู สอนคอมพิวเตอร์ ชั้น ม.5 โรงเรียนปทุมวิไล

และครูจารุพร จะนะ สอนวิชาชีววิทยา ชั้น ม.ปลาย โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง

ทั้งสามคนพบครูไซนุดดินในโอกาสต่างกัน แต่ล้วนในงานประชุมวิชาการ เสนอผลงานระดับนานาชาติ ที่ครูทุกคนได้รับรางวัลนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นของครูทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ รางวัล Innovative Teacher Leadership ในหัวข้อหรือโครงการต่างๆ อาทิ การใช้โซเชียลมีเดียในการเรียนการสอน การทดสอบประสิทธิภาพการดูดซับคลอรีนจากผงถ่านชาโคลที่ผลิตจากชานอ้อย เทคนิคการสร้างเกมด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เอ็กเซล ฯลฯ ซึ่งครูไซนุดดินมาร่วมแสดงผลงานโดดเด่นของเขาในเวทีเดียวกัน

ต่างเยี่ยมชมผลงานของกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยนและชักชวนให้สร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกัน จนพัฒนามาเป็นความร่วมมือ โครงการแรกชื่อว่า Thai Mas การทดลองจัดการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนในประเทศไทยและมาเลเซีย 3 โรงเรียนคือ โรงเรียน Taman Bukit School กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี และโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร

“จากการที่ครูทั้งสาม ได้รู้จักกันและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีต่อกัน ได้ขยายความรู้ไปสู่นักเรียน ให้สามารถเปิดห้องเรียนสู่กันได้แม้จะอยู่คนละจังหวัด และคนละประเทศ” ครูจันทร์จิราเริ่มเล่าเรื่องราวของเธอ

 

โครงการเริ่มต้นด้วยการมีกลุ่ม Facebook ชื่อ Project ThaiMas มีสมาชิกในกลุ่มเฉพาะครูที่ปรึกษาและนักเรียนโรงเรียนละ 13 คน จากนั้นให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม โดยให้มีสมาชิกจากทั้งสามโรงเรียน สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันในหัวข้อ Folktales around the World ในการทำกิจกรรมนักเรียนได้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มด้วยภาษาอังกฤษผ่านโลกออนไลน์โดยใช้ Facebook Skype E-mail และโปรแกรม Microsoft 356

“การเรียนรู้ดังกล่าวนับเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน ทำให้การเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว นักเรียนสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ปรับเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องเรียน ขณะเดียวกันได้พัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีไปพร้อมกับการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารไปด้วย”

30 พฤษภาคม 2559 ครูไซนุดดินเดินทางมาเยี่ยมที่โรงเรียนปทุมวิไล เยี่ยมครูและนักเรียนในโครงการทั้ง 13 คน นำของที่ระลึกจากเพื่อนนักเรียนมาเลเซียมาแลกเปลี่ยนกับนักเรียนปทุมวิไล และได้ Skype พูดคุยกับนักเรียนอีก 2 โรงเรียนด้วย

จากที่ได้ทำโครงการร่วมกันแม้ปิดโครงการไปแล้ว วันนั้นถึงวันนี้ แต่เครือข่าย การติดต่อสื่อสารระหว่างครู ยังคงส่งข่าวสารถึงกันเป็นระยะๆ

ครูจันทร์จิราบันทึกเรื่องราวความเป็นมาและกระบวนการดำเนินงานของเธอกับครู และนักเรียน 3 โรงเรียน เป็นงานเขียนลงในวารสารของโรงเรียน ครู นักเรียน นักการศึกษา พ่อ-แม่ผู้ปกครอง ท่านใดสนใจ อยากเห็นตัวจริงเสียงจริงผ่านจอ ติดตามได้ที่ www.krujanjira.com หรือต้องการสนทนาแลกเปลี่ยนกับครูโดยตรง ได้ที่ 09-2815-9953 อีเมล [email protected]

น่าจะได้ฟังเรื่องเล่า เรื่องราวการเรียนรู้ข้ามโลกพหุวัฒนธรรม ได้สาระ สีสัน บรรยากาศ เพิ่มมากขึ้นทีเดียว ส่วนเรื่องเล่าของครูผู้สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ไร้พรมแดนอีกสองท่าน

ไว้ตอนจบค่อยว่ากัน