บทวิเคราะห์ : “เพื่อไทย” จัดทัพสู้เลือกตั้ง 2562 ลับ ลวง พราง เซฟตี้โซนคีย์แมน

กระแสข่าวยุบ “พรรคเพื่อไทย (พท.)” กระเพื่อมอย่างต่อเนื่องหลังจาก “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยื่นดาบในฝักให้ กกต.รับลูก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย

และแน่นอน กกต.รับดาบไปไว้ในมือจ่อชักดาบฟัน “พรรคเพื่อไทย” ได้ทุกเมื่อ สุดแต่สถานการณ์จะอำนวย

ย้อนไปก่อนหน้านี้ คสช.เคยยื่นดาบเล่มแรกให้กองบังคับการกองปราบปราม นำ “พรรคเพื่อไทย” เข้าสู่กระบวนการเพื่อโปรยทางสู่การยุบพรรค จากกรณีการแถลงข่าวครบรอบ 4 ปี คสช. ของ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดย คสช.แจ้งความเอาผิด 8 แกนนำใน 4 ข้อหา คือ 1.ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ห้ามประชุมพรรคการเมือง 2.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง 3.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ 4.มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นประชาชน

โดยสรุปสุดท้ายนี้มีเพียง 3 คนที่ขึ้นแถลง นั่นคือ นายชูศักดิ์ นายจาตุรนต์ และนายวัฒนาเท่านั้นที่ถูกแจ้งข้อหาดังกล่าว

หลายคนสงสัยว่า เหตุใด “พรรคเพื่อไทย” จึงจะถูกยุบเนื่องจากการแถลงข่าว เพราะในวันแถลงมีเพียงนายชูศักดิ์ นายจาตุรนต์ และนายวัฒนาเท่านั้นที่ขึ้นแถลง อีกทั้ง 3 คนไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค

คำตอบคือ มีความพยายามที่จะทำให้สำนวนออกมาในรูปแบบของการแบ่งงานกันทำของบรรดาแกนนำว่า 2 คนไปคุยกับตำรวจ 3 คนแถลงข่าว และที่เหลือคุยกับนักข่าวเพื่อบรีฟประเด็น พร้อมกับควบคุมกระบวนการแถลงข่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน

นั่นหมายความว่า คณะกรรมการบริหารพรรคเข้ามามีส่วนเอี่ยวด้วยแล้ว และหากตัดสินออกมาว่าผิด พรรคเพื่อไทยต้องถูกยุบ

สถานการณ์ของ “พรรคเพื่อไทย” ในเวลานี้ แม้จะอยู่ในสภาพเป็นรอง กระบวนการต่างๆ แม้ดูแล้วว่าจะพา “พรรคเพื่อไทย” ไปถึงชะตากรรมยุบพรรคได้ยาก

แต่ก็เชื่อว่าหากจะให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปได้ อย่างที่เคยเห็นกันมาแล้วในหลายๆ สถานการณ์

เรื่องนี้เป็นผลให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องจัดทัพ และก้าวเดินอย่างระมัดระวังมากขึ้น

รวมถึงการหาทางหนีทีไล่ไว้ให้กับพรรคหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันขึ้น

ชื่อ “พรรคเพื่อธรรม” ที่ขับเคลื่อนโดยคนคุ้นหน้าคุณตาของพรรคเพื่อไทยอย่างบ้านแจ้งวัฒนะจึงถือกำเนิดขึ้น

เริ่มตั้งแต่ขั้นมีกระแสข่าว จนวันนี้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จัดประชุมเลือกหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคกันอย่างเป็นทางการ พร้อมลงพื้นที่เปิดสาขาพรรค และพร้อมที่จะขับเคลื่อนพรรคอย่างเต็มที่แล้ว

แต่ยังปล่อยให้เก้าอี้ผู้ลงสมัครชิง ส.ส.ว่างทั้ง 350 เขต เหมือนรออะไรอยู่

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” การเดินหน้าขับเคลื่อนพรรค ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ลุ่มๆ ดอนๆ บรรดาอดีต ส.ส.ต่างส่งเสียงแห่งความไม่สบายใจไปยังแกนนำ รวมถึงผู้ที่สามารถให้ความชัดเจนได้ในพรรคว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป จะอยู่หรือจะย้ายไปพรรคใหม่

แน่นอนฝ่ายหนึ่งมองว่ากระบวนการยุบพรรคนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก

หากจะใช้กรณีการแถลงข่าวมายุบพรรค กว่าจะดำเนินการต่างๆ ตามกระบวนการ และขั้นตอนทางกฎหมายน่าจะใช้เวลาเป็นปี

หรือหากจะใช้กรณีนายทักษิณครอบงำพรรค เรื่องการครอบงำนั้นก็พิสูจน์ได้ยากมากว่าครอบงำอย่างไร หลักฐานคืออะไร ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อกระบวนการยุบพรรคทำได้ไม่ง่าย จึงควรอยู่สู้กับพรรคเพื่อไทยให้ถึงนาทีสุดท้าย

ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นกังวลถึงอนาคตทางการเมือง และกังวลถึงความสุ่มเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดาได้

เพราะเชื่อว่า หาก คสช.ส่งสัญญาณเตือนมาอย่างนี้ คสช.น่าจะมีช่องที่จะสามารถดำเนินการยุบพรรคได้ จึงคิดว่าพรรคไม่น่าจะเสี่ยง หากยังมีหนทางรอดเหลืออยู่

เสียงในพรรคเพื่อไทยเวลานี้จึงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ย้ายพรรคกับไม่ย้ายพรรค

ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงเห็นชื่อหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารที่ไม่หวือหวา ตั้งแต่ชื่อหัวหน้าพรรคที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าฟาดฟันกันดุเดือด แต่สุดท้ายยังคงเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ คนเดิม

เลขาธิการพรรคยังเป็น “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เจ้าเก่า

ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคหลายคนยังเป็นคนที่คุ้นหน้าคุ้นตาจากชุดที่แล้ว

แต่รายชื่อที่เพิ่มเติมมากลับเป็นชื่อที่ไม่คุ้นเคย เหมือนจำเป็นต้องหาคนมาวางไว้ในตำแหน่งต่างๆ ให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

จนถูกมองว่าเป็นการจัดทัพที่รักษาเซฟตี้โซนไว้ให้กับคนสำคัญในพรรค

โดย “เสี่ยอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำคนสำคัญของพรรค ออกมายอมรับตรงๆ ว่า “มีส่วนจริง” และ “เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาพรรคในตระกูลไทยรักไทยมักถูกยุบโดยไม่มีเหตุไม่มีผล ทำให้หลายคนในพรรคเพื่อไทยมีความกังวลว่าจะถูกยุบพรรค แม้จะไม่มีข้อเท็จจริงถึงขั้นให้ยุบพรรคได้ แม้หลายคนเห็นว่าไม่ถูกยุบแต่ต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่มองว่าจะถูกยุบด้วย”

จาตุรนต์ ฉาย​แสง

จึงได้เห็นหน้าค่าตาของทัพหลวงเพื่อไทย เพียง 15 ตำแหน่ง ทั้งที่กฎหมายเปิดให้ถึง 25-29 ตำแหน่ง ซึ่งกั๊กไว้เหมือนรองรับสถานการณ์อะไรอยู่

อย่างไรก็ตาม การจะถ่ายเลือดไปพรรคใหม่อย่าง “เพื่อธรรม” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแบรนด์ “เพื่อไทย” เองยังคงแข็งแกร่ง และติดอยู่ในใจมวลชนที่เฝ้าติดตามข่าวคราวของพรรคมาตลอด

ดังนั้น การจัดวางตัวบุคคลหากจะมีการมูฟพรรคจึงเป็นปัญหาใหญ่ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป

แน่นอนว่าอดีต ส.ส.ของพรรคหลายคนเห็นว่า หากจะมีการถ่ายเลือดไปพรรคใหม่จริงต้องไปทั้งหมด จะครึ่งๆ กลางๆ แบ่งให้คนนี้อยู่ คนนั้นไปไม่ได้

เพราะจะทำให้คนในพื้นที่ทำงานยาก จะหาเสียงก็หายาก เวลาชาวบ้านถามก็ตอบยาก ครั้นจะให้บอกว่าพรรคเดียวกันมันก็ไม่ใช่ แต่จะบอกว่าคนละพรรคไม่เกี่ยวกัน คนก็จะไม่เลือก

สุดท้ายกลัวเป็นความสับสนจนเป็นเรื่องใหญ่ทำให้คะแนนเสียงหายไปเสียเปล่า

น่าจับตาคือ วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ พรรคเพื่อธรรมจะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2561 ที่ห้องประชุมกรุงสยาม แกรนด์บอลรูม โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส จ.ปทุมธานี เพื่อเลือกคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค อาจจะได้เห็นความชัดเจนในหลายๆ ประเด็นที่ยังค้างคาใจก็ได้

ขณะที่แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยพูดไว้อย่างน่าคิดว่า ถ้ามีทางให้เลือก ระหว่างต้องเสี่ยงกับไม่เสี่ยง แล้วใครจะเลือกเสี่ยง ในเมื่อมีทางที่ไม่ต้องเสี่ยงให้เดินไปได้ ก็ต้องกระโดดไปในทางนั้นก่อน

เพราะนี่คือการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ดังนั้น จึงขอคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเลยว่า เมื่อถึงเวลา เสียงคนที่จะไปจะมีเกินกว่าครึ่ง หรือไปกันทั้งหมด และคิดว่าไม่เกิน 10 วัน อดีต ส.ส.จะได้รู้ว่า จะอยู่หรือจะไป เนื่องจากเงื่อนเวลาเรื่องของการต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อน 90 วัน ในวันสุดท้ายคือ 26 พฤศจิกายน จึงจะมีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งได้ บีบให้ต้องตัดสินใจ

หมดเวลาที่จะ “กั๊ก” อีกต่อไป