ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ / FIRST MAN ‘เหยียบดวงจันทร์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

 

FIRST MAN

‘เหยียบดวงจันทร์’

 

กำกับการแสดง  Damien Chazelle

นำแสดง  Ryan Gosling Claire Foy Jason Clarke Cory Stoll

 

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มนุษย์โลกนำยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ และเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 21 กรกฎาคม มนุษย์โลกก็ได้เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

“นั่นเป็นก้าวเล็กๆ สำหรับคนคนหนึ่ง ก้าวกระโดดยักษ์ใหญ่สำหรับมนุษยชาติ” (That’s one small step for a man, one giant leap for mankind)

เป็นวาจาบันลือโลกจากปากของนีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ ในวินาทีที่เขาเหยียบย่างออกจากยานเล็กที่ไปลงจอดบนพื้นผิวดาวบริวารที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

ตามมาด้วยมนุษย์คนที่สองคือ บัซ อัลดริน ขณะที่มนุษย์อวกาศคนที่สามคือไมเคิล คอลลินส์ บินวนรออยู่รอบดวงจันทร์ในยานอพอลโล่เพื่อพาทุกคนกลับโลก

ประโยคนี้ดังกระหึ่มก้องไปทั่วทุกหนระแหงบนโลก จากการถ่ายทอดสดส่งตรงจากยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ประโยคคมๆ แบบนี้ไม่น่าจะมาจากการด้นสดในวินาทีประวัติศาสตร์หรอกน่า น่าจะตระเตรียมมาอย่างดีแล้วสำหรับให้เป็นบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์

ขนาดที่ว่าภารกิจอันเกรียงไกรครั้งนี้ มีคนร่างสุนทรพจน์ไว้สองแบบด้วยสำนวนอันงดงามกินใจ แบบหนึ่งสำหรับความสำเร็จลุล่วงด้วยดี และอีกแบบสำหรับความล้มเหลวเสียชีวิตของนักบินอวกาศ หากต้องทิ้งร่างไว้บนดวงจันทร์

 

ผู้เขียนก็ได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นด้วย จากการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก สมัยนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง ตื่นเต้นซะไม่มี เกาะติดหน้าจอทีวีเพื่อคอยดูวินาทีประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาว่าต้องดูอย่างไม่กะพริบตาเลยเชียว

หลังจากนั้น ยังจำได้ว่ามีข่าวลือหนาหูว่าอเมริกาทำการแหกตาคนทั่วโลกครั้งใหญ่ โดยถ่ายทอดจากห้องส่งบนพื้นโลกนี้เอง แทนที่จะมาจากยานอวกาศที่ส่งไปนอกโลกจริงๆ

เป็นการปล่อยข่าวลือเพื่อดิสเครดิตความสำเร็จของโครงการอวกาศขององค์การนาซ่าของอเมริกา

ในช่วงสงครามเย็น ขณะที่อเมริกากำลังแข่งกับสหภาพโซเวียตอย่างเอาเป็นเอาตาย ชิงความเป็นเจ้าโลกทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ กีฬา และอวกาศ โดยยับยั้งการใช้แสนยานุภาพทางอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจล้างโลกได้ในพริบตา

ก่อนหน้านี้อเมริกาเสียหน้าชาวโลกอยู่ในโครงการอวกาศ เนื่องจากโซเวียตเป็นชาติแรกที่ส่งมนุษย์ออกนอกอวกาศไปโคจรรอบโลก แทนการส่งลิงไปทดลองดูก่อนในระยะแรก

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ยูริ กาการิน คือมนุษย์คนแรกที่ออกไปอยู่ในอวกาศ

อเมริกาก็เลยต้องขมีขมันขะมักเขม้นชิงความเป็นเจ้าอวกาศ ด้วยโครงการอพอลโล่ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่การส่งมนุษย์ขึ้นไปเดินบนดวงจันทร์

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ กำลังงัดข้อกับโซเวียตแบบที่เรียกว่าใครกะพริบตาก่อนเป็นแพ้จากกรณีการที่โซเวียตส่งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธเข้าจ่อหน้าบ้านที่คิวบา ดีแต่ว่าโซเวียตกะพริบตาเสียก่อน สงครามโลกครั้งที่สามจึงไม่ได้ปะทุขึ้น

แต่สงครามเย็นยังคงเย็นเยียบ

เคนเนดี้ประกาศสนับสนุนโครงการอวกาศของนาซ่าเต็มที่ ขนาดที่พื้นที่ที่ส่งยานอวกาศออกนอกโลก ซึ่งเคยเรียกกันว่า “แหลมคานาเวอรัล” ได้รับการเปลี่ยนไปเรียกว่าแหลมเคนเนดี้ในช่วงทศวรรษนั้น

สมัยยังเรียนหนังสือจึงต้องท่องชื่อที่เป็นความรู้รอบตัวให้ขึ้นใจเอาไว้ เผื่อจะกลายเป็นข้อสอบขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ และไม่น่าเชื่อที่ชื่อพวกนั้นยังอยู่ในความจำระยะยาวพอดูเลยเชียว

 

เดเมียน ชาเซลล์ โด่งดังจากการกำกับหนังสองเรื่องซ้อนคือ Whiplash และ La La Land ซึ่งทั้งสองเรื่องมีดนตรีเป็นข้อใหญ่ใจความ และเป็นเรื่องที่เขาทั้งเขียนเอง กำกับฯ เอง ฉีกแนวของตัวเองไปด้วยการทำหนังชีวประวัติเป็นหนแรก

แต่ความรักในดนตรีของชาเซลล์ก็ยังปรากฏในเพลงจากยุคซิกซ์ตี้ส์ ที่ใช้พูดถึงเหตุการณ์บางตอนในเรื่อง

หนังเรื่องนี้เป็นชีวประวัติของมนุษย์คนแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์

นีล อาร์มสตรอง มีชีวิตยืนยาว และเพิ่งสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้

และหนังเรื่องนี้เป็นคำคารวะอย่างสูงสุดต่อวีรบุรุษแห่งชาติคนนี้

นี่เป็นหนังที่ส่งเสริมความรักชาติของคนอเมริกัน และสถานภาพของอเมริกาในฐานะผู้นำของโลก

โครงการอวกาศเป็นหมากตัวสำคัญในเรื่องนั้น

อเมริกาจะได้ปักธงชาติไว้บนดวงจันทร์ก่อนใครๆ และนีล อาร์มสตรอง เป็นคนอัญเชิญธงขึ้นบนยานอพอลโล่ 11 นำไปปักไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งก็น่าจะยังคงอยู่จนในปัจจุบันนี้

 

 

หนังแสดงแง่มุมที่สาธารณชนยังไม่ค่อยได้รู้ได้ตระหนักเกี่ยวกับชีวิตของนักบินอวกาศผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ให้เราเห็นชีวิตส่วนตัวที่เพิ่งประสบโศกนาฏกรรมแสนเศร้าจากการที่นีลสูญเสียลูกสาววัยสองขวบให้กับโรคมะเร็ง

ไม่มีพ่อ-แม่คนไหนจะทำใจได้ง่ายๆ กับการสูญเสียลูก เป็นเรื่องธรรมชาติมากกว่าที่พ่อ-แม่ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองจะต้องเป็นฝ่ายไปก่อนลูก ถ้าไม่ใช่อะไรอื่น อย่างน้อยก็เพราะเกิดมาดูโลกก่อน

การสูญเสียลูกสาวตัวน้อยสร้างรอยร้าวขึ้นในครอบครัวอย่างยากจะเยียวยา

นีลไม่ยอมพูดเรื่องนี้กับใครแม้แต่กับภรรยา เจเน็ต (แคลร์ ฟอย ผู้ปรับรูปลักษณ์จากความเฉิดฉายสง่างามที่ละม้ายควีนเอลิซาเบธในวัยสาว ในหนังชุดเรื่อง The Crown ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้เธอได้รับมาแล้วหลายรางวัล แปลงโฉมกลายเป็นแม่บ้านชนชั้นกลางอเมริกันในยุคทศวรรษ 1960)

และสมัครเข้าโครงการอวกาศของนาซ่าหลังจากนั้น

เขาต้องฝึกอย่างหนักและเสี่ยงชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางการสูญเสียทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตคนที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมทั้งเพื่อนร่วมบินของนีลเองที่ตายขณะทำการบินทดลองถึงสามคนพร้อมๆ กัน

 

ในยุคประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน โครงการอวกาศได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรง ทั้งจากสาธารณชนและรัฐสภา

โครงการอพอลโล่เกือบต้องพับฐานไปจากแรงกดดันรอบด้าน แต่อเมริกาก็ยังต้องการชัยชนะขั้นเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัสเซีย

อพอลโล่ 11 จึงได้ผงาดสู่ฟากฟ้า พุ่งออกนอกโลก เดินทางไปสู่จุดหมายอันเกรียงไกร ณ ดาวบริวารดวงเดียวของโลก

ดวงจันทร์อันเป็นอุปมาของความงามในกวีนิพนธ์ของมนุษย์ทั้งโลกมานับร้อยนับพันศตวรรษกำลังจะถูกมนุษย์พิชิต โดยเหยียบย่างเท้าลงบนดาวที่สุกสกาวในยามราตรียามเดือนหงาย หลบหน้าไปจากสายตาชาวโลกในยามเดือนมืด

ยังจำได้ว่านี่เป็นประเด็นที่คนหลายกลุ่มหลายพวกบนโลกคัดค้านและประท้วงต่อโครงการเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งจะทำให้พระจันทร์คลายความศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนุษย์ไป

แต่วิทยาศาสตร์ยังเดินหน้าต่อไปเพื่อสำรวจเขตแดนใหม่ๆ นอกโลก ถ้าไม่ใช่อื่นใด ก็เพียงเพื่อต้องการให้รู้แน่ว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกหรือเปล่า

แน่นอนว่า อพอลโล่ 11 เป็นหน้าตาชื่อเสียงของสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ

 

หนังแสดงคลิปการสัมภาษณ์ผู้หญิงฝรั่งเศส หลังจากความสำเร็จของอพอลโล่ โดยพูดด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าจะมีใครทำสำเร็จ ก็ต้องเป็นอเมริกานั่นแหละ

แต่เสน่ห์ของหนังไปอยู่ที่เรื่องราวภูมิหลังของชีวิตนักบินอวกาศหลายคน ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นคนที่มีเลือดเนื้อ มีความรัก ความหวัง ความกลัว เยี่ยงปุถุชนทั่วไป

และปรบมือให้แก่นีล อาร์มสตรอง ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ภารกิจปักธงชาติสหรัฐบนดวงจันทร์ แต่ได้เยียวยาความทุกข์ทรมานใจด้วยการนำของที่ระลึกชิ้นเดียวจากลูกสาวที่ตายไปไปฝังไว้ในหลุมบนดวงจันทร์

เหตุการณ์ตอนนี้จะจริงไม่จริงอย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะนีล อาร์มสตรอง ตัวจริงไม่ได้ออกมายืนยัน แต่จากการที่ลูกชายสองคนของอาร์มสตรองมีตำแหน่งที่ปรึกษาของภาพยนตร์ด้วย ก็แสดงว่าครอบครัวของเจ้าของชีวประวัติให้คำรับรองแล้ว

บอกนิดสำหรับคนขี้วิงเวียน (รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย) ว่าการเดินทางในอวกาศนั้นสั่นสะเทือนมาก จนภาพเต้นไหวเป็นช่วงๆ ซึ่งทำให้ผู้เขียนต้องหลับตาดูหนัง ฟังแต่เสียงอยู่หลายช่วงหลายตอนเหมือนกัน

แต่คนทั่วไปที่ท้องไส้ไม่ปั่นป่วนง่ายๆ คงไม่เป็นไรหรอกค่ะ

เดเมียน ชาเซลล์ กลายเป็นผู้กำกับฯ อีกคนที่แฟนหนังปล่อยผ่านไปง่ายๆ ไม่ได้นะคะ