วิธีพัฒนาปัญญา ในทางพุทธ

การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (2)

วิธีการพัฒนาปัญญาโดยสรุปมี 3 หลัก คือ

1.สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง คือ ฉลาดเรียน รู้จักเรียน

ตีความง่ายๆ คือ มีความใฝ่รู้ รู้จักรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ท่านพูดว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” เป็นผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นคนโง่

คำว่า “โง่” ในความหมายนี้คือ ให้มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไร แล้วค่อยพยายามแสวงหาความรู้อยู่เสมอจากข้อมูลต่างๆ ด้วยการอ่านมากฟังมาก รู้จักเก็บข้อมูล เมื่อข้อมูลมากจึงจะตัดสินใจได้ถูกต้อง การจะมีข้อมูลมากจะต้องมีความใฝ่รู้

ภาษาพระท่านเรียกว่า ธัมมกามตา ใคร่รู้ อยากที่จะรู้

ผมดูประวัติของนักปราชญ์สมัยก่อน ท่านจะเริ่มจากตัวนี้ ถึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รู้

ผู้รู้ในที่นี้ ทางพุทธศาสนาไม่ค่อยให้เป็นปริญญาบัตร ไม่มีใบประกาศรับรอง ไม่ค่อยมีความจำเป็น เพราะสมัยก่อนไม่มีการสอบเอาปริญญาบัตร การใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตต้องอยู่ด้วยปัญญา ต้องคำนึงถึงเรื่องนั้นให้มากกว่า เขาเน้นเรื่องอย่างนั้น ไม่ได้เน้นที่ปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร บางคนไม่มีประกาศนียบัตรอะไรมาก

ผมยกตัวอย่าง พระยาอนุมานราชธน จบการศึกษา ม.8 น้อยกว่าผมอีก ผมสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค พระยาอนุมานราชธนไม่ได้ แต่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์

ท่านพูดว่า “ยิ่งเรียนมาก ยิ่งอ่านมาก ก็ยิ่งรู้ตัวว่าไม่รู้อะไร”

ท่านบอกว่า “ถ้าผมไม่รู้เรื่องไหนแล้วผมมีความรู้สึกว่าเหมือนคนไข้ จะต้องรีบหายามากินให้หายไข้”

นั้นคือธัมมกามตา มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ไปหมด

เรียนรู้แม้กระทั่งจากเด็ก

ท่านทำพจนานุกรม ติดคำว่า “ตูด” กับ “ก้น” ติดอยู่ 3 วัน 3 คืน

ถามใครก็บอกว่าเหมือนกัน จะเหมือนกันไม่ได้ ถ้าหากเหมือนกันก็ไม่ควรจะมี 2 คำ ท่านยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้

ท่านเดินเล่นไปทางบางรัก ขากลับสายหน่อยได้ยินพวกเด็กลูกพวกคนงานก่อสร้างกำลังถามกันว่า “มึงรู้ไหม ตูดต่างกับก้นอย่างไร” “กูไม่รู้ มึงรู้หรือเปล่าว่ามันต่างกันอย่างไร” “ตูดเอาไว้ขี้ ก้นเอาไว้นั่ง”

พระยาอนุมานราชธนเกิดความสว่างทันทียิ่งกว่าถามนักปราชญ์เสียอีก นี้คือวิญญาณของผู้ใฝ่รู้

มีเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง มีฝรั่งมาอยู่ในประเทศไทย 10-20 ปี มาคุยว่าฉันไปมาหมดทุกจังหวัด ฉันรู้หมด อาหารการกินฉันก็กินมาหมด รู้หมดทุกอย่าง มีคนถามว่า

ถาม : รู้จักผลไม้อะไรบ้าง ทุเรียนรู้จักไหม

ตอบ : รู้จัก ชอบกิน อร่อย

ถาม : รู้จักมังคุดไหม

ตอบ : รู้จักเมื่อกินทุเรียน ต้องกินมังคุดด้วย แก้ร้อนใน

ถาม : รู้จักมะระไหม

ตอบ : รู้จัก อันนี้ขม ฉันไม่ชอบกิน

ถาม : รู้จักมะละกอไหม

ตอบ : รู้จัก ปักษ์ใต้เรียกลอกอ อีสานเรียกบักหุ่ง เหนือเรียกก้วยเตด ตำส้มตำอร่อยมาก

ถามอะไรรู้หมด คนไทยก็ไม่ยอมง่ายๆ พยายามถามให้จนมุมให้ได้ คนที่นั่งใกล้ๆ รำคาญจึงถามไปว่า “รู้จักปลัดขิกไหม” ฝรั่งเกาหัวแกร็ก “โอ ดูเหมือนฉันเคยกิน!”

นี้คือตัวอย่างของผู้อวดรู้ ในที่สุดก็จนมุมจนได้

ผู้รู้บอกว่า คนเรามีความใฝ่รู้ตั้งแต่เด็ก แต่การศึกษาอบรมแบบไทยๆ เป็นการสกัดวิถีทางแห่งสติปัญญา ถามไม่ได้โดนดุเอา ก็เลยไม่ถาม พอโตขึ้นก็กลายเป็นคนไม่ชอบถาม

เคยสังเกตไหมว่า ทำไมเด็กไทยไปเรียนหนังสือกับฝรั่งไม่ถามอะไรเลย นั่งฟังเพียงอย่างเดียว

ที่ไม่ถามเพราะว่าโดนสกัดกั้นมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเปิดโอกาสให้ถามเลยไม่รู้จะถามอะไร เรียนเรียบร้อยมาก คนไทยจดอย่างเดียว เรียนเก่ง แต่ให้แสดงความคิดเห็น ให้ซักถาม ถามไม่เป็น

นี้คือสิ่งที่สกัดกั้น ระบบการศึกษาอบรมของไทยต้องฝ่ากำแพงนี้ให้ได้ อย่าไปคิดว่าเราโง่กว่าฝรั่ง ซึ่งไม่จริง เด็กไทยฉลาดเยอะ เด็กเอเชียฉลาดมาก

มีนิทานประวัติของขงจื้อ วันหนึ่งขงจื้อนั่งรถม้าผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจอพวกเด็กๆ กำลังเล่นทรายอยู่ จึงตะโกนบอกให้หลีกรถ

เด็กคนอื่นหนีหมด เหลือไอ้ตี๋คนเดียวที่ไม่ยอมหนี ยืนจ้องหน้า “เป็นอะไรไม่หนีวะไอ้ตี๋”

ไอ้ตี๋พูดว่า “พวกผมกำลังสร้างกำแพง ผมไม่เคยเห็นกำแพงเมืองที่ไหนหลีกรถได้” เด็กเล่นทรายสร้างกำแพงเมืองจริงๆ

ขงจื้อรีบลงจากรถถามว่า “หนูชื่ออะไร ไปอยู่กับลุงไหม ลุงจะพาไปปราบโลกให้ราบเป็นหน้ากลอง” หมายความว่าพาไปปกครองประเทศเพื่อให้ประเทศสงบราบรื่น

ไอ้ตี๋ตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ ถ้าโลกมันราบเป็นหน้ากลองหมดแล้ว แล้วคนจะอยู่ที่ไหน น้ำท่วมโลกหมดสิ”

ไอ้ตี๋ถามต่อไปว่า “บนฟ้ามีดาวกี่ดวง ในทะเลมีปลากี่ตัว” ขงจื้อพูดว่า “ถามอะไรไกลหูไกลตา ลุงจะไปรู้หรือ ถามใกล้ๆ หน่อยสิ”

ไอ้ตี๋จึงชี้ไปที่หน้าว่า “ขนคิ้วของท่านมีกี่เส้น” ขงจื้อถอดหมวกคำนับแล้วให้รถม้าหลีกกำแพงเมืองของเด็กคนนี้ไป

คนฟังมากอ่านมากจะเป็นพหูสูต คนประเภทนี้เป็นคนที่รวบรวมข้อมูลได้มากเวลาผมไปพูดให้พระภิกษุฟัง ผมบอกให้ท่านอ่านให้มากๆ อ่านให้หมด ถ้าท่านไม่อ่านหนังสือปัจจุบันท่านก็ตามชาวบ้านไม่ทัน สื่อสารกับเขาไม่เข้าใจ

ผมบอกว่าท่านอ่านไปเถอะอย่าไปเชื่อชาวบ้าน

ชาวบ้านเอาพระไว้บนหิ้งอยากให้พระภิกษุอยู่อย่างนั้น ที่จริงพระภิกษุก็คือลูกหลานของชาวบ้าน การที่จะเป็นผู้นำต้องมีข้อมูลเพียงพอ อันนี้สำคัญมากเพราะจะเป็นทางที่จะทำให้เราเกิดปัญญา เป็นความรู้ความเข้าใจ เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต

ปัญญาที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นปริญญา

2.จินตามยปัญญา “ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล” หรือฉลาดคิด

ความจริงบางคนอาศัยความคิดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องอ่านมาก ฟังมากก็เกิดรู้ได้

จะพบว่าประวัติของพระเถระพระเถรีต่างๆ นั่งดูน้ำไหล ใบไม้ร่วงก็บรรลุธรรมได้

เห็นคนกำลังเอาช้างลงอาบน้ำ นายควาญช้างสั่งให้มันหมอบมันก็หมอบ สั่งให้มันนอนมันก็นอน สั่งให้มันลุกมันก็ลุก

ท่านมานั่งคิดว่า แม้แต่สัตว์เดรฉานแท้ๆ เป็นสัตว์ร้าย คนสามารถนำมาฝึกให้ทำอะไรมันก็ทำได้ จิตใจเราที่อยู่กับเราทำไมเราจะสั่งทำอะไรไม่ได้ นำมาคิดเปรียบเทียบแล้วทำให้เกิดปัญญา

ความคิดเปรียบเทียบอันทำให้เกิดปัญญานี้ ศาสนาพุทธนิกายเซนเขานิยมมาก เขาไม่เน้นเรื่องข้อมูล ไม่เน้นเรื่องตำราเท่าไหร่ มีคำพูดว่า ถ้าท่านพลิกตำราทีละหน้าๆ สมองของท่านจะถูกพลิก หมายความว่าอย่าอ่านแต่ทฤษฎีโดยไม่รู้จักคิดให้เกิดปัญญา วิธีนี้เซนเขานิยมมาก มันเป็นวิธีกระตุกให้คิด เมื่อกระตุกให้คิด ปัญญาที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น

มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งไปสนทนากับอาจารย์เซน อาจารย์เซนท่านก็รินน้ำชาต้อนรับ ท่านต้องการจะสอนอะไรบางอย่าง ท่านรินน้ำชาจนล้นถ้วย ท่านก็ยังไม่ยอมหยุดรินจนหมดกา

ท่านศาสตราจารย์ก็ประหลาดใจ ร้องขึ้นว่า ท่านๆ มันล้นแล้ว ทำไมยังรินอยู่

ท่านก็บอกว่ามันเหมือนกันละโยม สมองของโยมเต็มไปด้วยทฤษฎีทั้งหลายนานาประการ เราจะคุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร ถ้าท่านไม่ทำสมองของท่านให้ว่างเสียก่อน อย่างนี้เป็นต้น

ความรู้แบบตำรา บางทีเป็นเส้นผมบังภูเขาไม่ทำให้เกิดความรู้ที่แท้จริง อันนี้ต้องใช้วิธีคิด นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ ฉลาดๆ แต่บางทีลืมใช้หรือใช้จินตามยปัญญาไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นคนโง่ได้

มีเรื่องเล่าว่านักวิทยาศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งอุตส่าห์เจาะช่องให้แมวเข้า เจาะช่องเล็กช่องหนึ่งและช่องใหญ่ช่องหนึ่ง ช่องเล็กสำหรับแมวตัวเล็ก ช่องใหญ่สำหรับแมวตัวใหญ่

คนก็ทักว่าทำไมไม่เจาะช่องเดียวให้มันใหญ่ ซึ่งตัวเล็กก็เข้าได้ ตัวใหญ่ก็เข้าได้ ซึ่งเขาลืมคิดข้อนี้ไป

3.ภาวนามยปัญญา

“ปัญญาเกิดจากการลงมือกระทำ”

การคิดที่จะทำให้เกิดปัญญา ต้องคิดเป็น ไม่ใช่เพียงแต่คิดเป็น หรือคิดตามข้อมูลอย่างเดียวโดยไม่ลงมือทำเลย ปัญญาที่แท้จริงก็ไม่เกิด รู้เพียงรางๆ คล้ายๆ จะรู้ แต่ยังไม่รู้ชัด

เช่น อย่างที่เขาเล่านิทานเรื่องหนึ่งว่าในสมัยก่อนยังไม่มีไม้ขีด อาจารย์นำไม้ไผ่ 2 อันมาสีให้ร้อนแล้วติดไฟ

อาจารย์ทำอย่างนี้ทุกวัน ลูกศิษย์เห็นอาจารย์ทำทุกวันจึงรู้และทราบข้อมูล โดยคิดว่าไฟก็เกิดจากไม้ไผ่นี่แหละ แต่ไม่เคยทำ

วันหนึ่งอาจารย์ให้ดูแลไฟ ถ้าไฟดับให้ก่อใหม่ ลูกศิษย์มัวแต่เล่นเพลินจนไฟดับ กลัวอาจารย์จะดุเอาจึงเอาไม้สีไฟที่อาจารย์ใช้มาสีดู ไฟมันเกิดตรงนี้เคยเห็นอาจารย์ทำทุกวัน เอามาสีสักพักก็ไม่มีไฟขึ้นมาจึงเอามีดมาผ่าเป็นชิ้นๆ ก็ไม่มีไฟ เอามาสับให้ละเอียดก็ไม่มีไฟ

เมื่ออาจารย์กลับมาก็ดุเอา ว่าทำไมไม่ก่อใหม่ ไม้สีไฟก็มี ลูกศิษย์บอกว่า ผมก่อแล้วไม่ติด ผมเอาไม้สีไฟมาสี ไม่เห็นมีไฟ ผมเอามาผ่าและสับจนละเอียดก็ไม่มีไฟ นั่นคือการรู้เพียงข้อมูลโดยไม่เคยทำก็จะให้ผลอย่างนี้ได้เหมือนกัน

ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องหลักสูตรการศึกษาของคนไทยอย่างหนึ่งคือ เราได้ลดบทบาทพระพุทธศาสนาโดยตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาออกไปตามแบบนักวิชาการสมัยใหม่ที่เขาไปร่ำเรียนมาจากโลกทางตะวันตก

เขาไปเห็นว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้สอนศีลธรรมหรือศาสนาในโรงเรียน เขาประกาศห้ามสอน

เมื่อเขามีโอกาสจัดทำหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย จึงตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกเกือบหมด ให้เหลือน้อยที่สุดโดยให้เหตุผลว่า แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองเขายังไม่สอนกันเลย

นี้เป็นเพราะเขาไม่รู้ภูมิหลังว่า ทำไมอเมริกาจึงไม่สามารถจัดสอนวิชาศาสนาในโรงเรียนได้

ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่าในอเมริกามีการนับถือลัทธิศาสนาต่างๆ หลายลัทธิ ในศาสนาคริสต์เองมีทั้งนิกายโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิก และยังแยกออกเป็นนิกายต่างๆ อีกหลายนิกาย

เพราะฉะนั้น ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบรรจุหลักคำสอนของนิกายใดนิกายหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาแล้วจะต้องเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นแน่นอน เขาจึงตัดทิ้งไปเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น

แต่เมืองไทยมีเอกภาพสังคมไทย วัฒนธรรมไทย มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา คนไทยกว่า 90% เป็นชาวพุทธ การบรรจุวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน จึงไม่เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด

ไม่จำเป็นต้องเอาตามอย่างฝรั่งสิ กลับจะก่อปัญหาดังที่พบกันอยู่แล้ว

ส่วน สัปปุริสธรรม 7 เป็นเรื่องของปัญญา

พระเมธีธรรมาภรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการรู้จักตน รู้จักคน รู้จักงาน แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว

สัปปุริสธรรม 7 นี้คือ การรู้กาลเทศะ การใช้คนต้องใช้ให้ถูกให้เหมาะ

เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าคนมีหลายประเภท มีจริตแตกต่างกัน มีภูมิหลังพื้นความรู้ไม่เหมือนกัน