วิกฤติศตวรรษที่21 : บทเรียนและความคิดชี้นำของผู้นำรัสเซียปัจจุบัน

วิกฤติประชาธิปไตย (27)

ปูติน (เกิด 1952) เป็นนักสรุปบทเรียนเชิงปฏิบัติที่คล่องแคล่ว

ครูของปูตินสมัยเป็นนักเรียนประถม ระลึกว่า เขาเป็นคนที่มีความจำดีมาก มีปฏิภาณว่องไว และเรียนเก่ง

หลังจบการศึกษา ปูตินเข้าสู่วงข่าวกรองในองค์กรเคจีบี ประจำการอยู่ที่เยอรมนีตะวันออกอยู่นานปี

และได้เห็นความเสื่อมถอยของอำนาจสหภาพโซเวียตเต็มตา จนกระทั่งล่มสลายในที่สุด

ในการปราศรัยพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ปี 2000 ปูตินได้กล่าวความรู้สึกของเขา ที่สะท้อนความต้องการของมหาชนรัสเซียว่า “เรามีเป้าประสงค์ร่วมกัน เราต้องการให้รัสเซียของเราเป็นประเทศที่แข็งแรง มีอารยะ ไพบูลย์ เจริญรุ่งเรือง ประเทศที่พลเมืองมีความภูมิใจ และเป็นที่นับถือในระหว่างประเทศ”

และว่า “เรามีมาตุภูมิเดียว ประชาชนเดียว และอนาคตเดียวกัน”

ปูตินและคณะได้สร้างรัสเซียใหม่ที่มีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับที่ได้ให้สัญญาไว้ ด้วยการสรุปบทเรียนและความคิดชี้นำขึ้นชุดหนึ่ง ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

1.ลัทธิคอมมิวนิสต์ใช้ไม่ได้ผลในรัสเซีย

ปูตินมองเห็นประวัติศาสตร์เป็นความต่อเนื่องของอำนาจรัฐ การต่อต้านรัฐบาลเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ไม่ใช่การต่อต้านและทำลายรัฐ ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจรัฐ ผู้เกี่ยวข้องจำต้องปรองดองกัน และเห็นว่าอารยธรรมมนุษย์ขับเคลื่อนไปด้วยความสัมพันธ์ทางตลาด แต่การปฏิวัติใหญ่สังคมนิยมในรัสเซียกระทำความผิดพลาดใหญ่ทั้งสองด้าน

ด้านหนึ่ง ไม่ได้เป็นการทำลายเพียงรัฐบาลรัสเซีย หากเป็นการทำลายรัฐรัสเซียลงไปด้วย ทำให้มาตุภูมิที่เป็นอันหนึ่งเดียว แตกออกเป็นเขตปกครองจำนวนมากซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการปฏิเสธความสัมพันธ์ทางตลาดที่เชื่อมโยงอารยชนทั้งหลายเข้าด้วยกัน ทำลายหน่ออ่อนของระบบตลาดที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัสเซีย ล้อมรั้วลวดหนามไปทั่วประเทศที่ภายในแตกแยก

ลัทธิคอมมิวนิสต์และอำนาจของสหภาพโซเวียตไม่ได้ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ไพบูลย์ มรดกของมันคือการทำให้ประเทศนี้ต้องล้าหลังกว่าประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจดีกว่า มันเป็นทางตัน ไกลจากเส้นทางหลักของอารยธรรมโลก

เบื้องลึกของปูตินนั้น เขาปฏิเสธลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด และมุ่งหน้าเดินไปบนหนทางตลาดที่รัสเซียมีบทบาทส่วนร่วม

ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2017 ครบรอบร้อยปีของการปฏิวัติบอลเชวิก ปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่

พลเมืองรัสเซียจำนวนไม่น้อยก็เข้าร่วมงานฉลองนี้ด้วย

แต่รัฐบาลรัสเซียของปูตินนิ่งเฉยอยู่

2.นโยบายลัทธิจักรวรรดิ ยึดครองประเทศอื่นล้มเหลวและปฏิบัติไม่ได้สำหรับรัสเซีย

มันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงไป ไม่ควรปฏิบัติอีกเป็นอันขาด ทั้งนี้เพราะว่าโดยทั่วไปลัทธิจักรวรรดิมีค่าใช้จ่ายสูงมาก นี่รู้กันตั้งแต่สมัยอังกฤษเป็นจักรวรรดิใหญ่มีอาณานิคมทั่วโลก

ที่สำคัญได้แก่ ค่าใช้จ่ายการทหารและการสงครามเพื่อรักษาจักรวรรดิ ซึ่งจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายทางทหารในการป้องกันประเทศหลายเท่า

ผลต่อเนื่องของค่าใช้จ่ายทางทหารและการสงครามสูง ได้แก่ การต้องละเลยค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การคงมาตรฐานสูงของการศึกษา การแพทย์สาธารณสุข การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ประการต่อมา กระตุ้นให้มีการแข่งขันอาวุธกับมหาอำนาจอื่น และท้ายสุดการยึดครองควบคุมประเทศอื่นย่อมถูกต่อต้านจากประชาชนในประเทศนั้นๆ ด้วยรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การประท้วง การลุกขึ้นสู้ ไปจนถึงการก่อการร้าย

สำหรับรัสเซีย การเดินนโยบายลัทธิจักรวรรดิสมัยโซเวียต เข้าไปยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออก ได้กลายเป็นภาระหนัก ต้องคอยอุ้มชู เช่น ให้เงินช่วยเหลือ ขายน้ำมันในราคาถูก สร้างกองทัพและหน่วยความมั่นคงขนาดใหญ่

มีส่วนทำให้ตัดสินใจเข้าครอบครองอัฟกานิสถานและติดหล่มสงครามที่นั่น

ท้ายสุดเข้าแข่งขันอาวุธกับสหรัฐจนหมดตัว

รัสเซียปัจจุบันมีประชากรน้อยกว่าสหรัฐกว่าครึ่ง ขนาดเศรษฐกิจก็เล็กกว่ามาก หมดความสามารถในการทำตัวเป็นจักรวรรดิอย่างเด็ดขาด

สำหรับสหรัฐเอง ที่มีอำนาจแห่งชาติสูงสุดในโลก นโยบายครองความเป็นใหญ่ในการจัดระเบียบโลกตามอำเภอใจ ตั้งฐานทัพในที่ต่างๆ มีงบประมาณทางทหารสูงลิ่ว ก็กำลังประสบการล่มสลายเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต เช่น การเริ่มทอดทิ้งพันธมิตรของตน เหมือนโซเวียตเคยทิ้งยุโรปตะวันออก

รัสเซียในขณะนี้มีงบประมาณทางทหารน้อยกว่าของสหรัฐราวสิบเท่า

แต่ก็พอเพียงในการป้องกันประเทศ ทำให้สหรัฐและตะวันตกไม่กล้าโจมตีรัสเซียก่อน

Russian President Vladimir Putin (L) shakes hands with Chinese President Xi Jinping during a signing ceremony in Beijing’s Great Hall of the People on June 25, 2016. / AFP PHOTO / POOL / GREG BAKER

3.ประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของรัสเซีย และเป็นไปตามจังหวะก้าวของชาวรัสเซีย

ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะว่ารัสเซียเผชิญเคราะห์กรรมใหญ่จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเทศแตกเป็นเสี่ยง เศรษฐกิจ-การเมือง รวนเร

เกิดกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ยำเกรงอำนาจรัฐ

ประชาชนจิตตกระส่ำระสายเป็นหายนะใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 การเดินตามเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกในสมัยเยลต์ซิน ยิ่งจะทำให้ประเทศหมดตัว หมดศักดิ์ศรี และกลายเป็นเบี้ยล่างของสหรัฐ-นาโต้อย่างหือไม่ขึ้น

ภายในประเทศเกิดกลุ่มเศรษฐีใหม่ที่ไม่ผูกพันกับความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นแนวที่ห้า โอนอ่อนตามนโยบายและการแทรกแซงจากตะวันตก ดังนั้น ประชาธิปไตยในรัสเซียต้องจำกัดบทบาทของบรรดาเศรษฐี ที่ยึดกุมสื่อและแทรกอิทธิพลเข้ามาในการเมืองการปกครองรวมทั้งกลุ่มเอ็นจีโอที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก เหล่านี้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ทางชาติพันธุ์ ศาสนาและอื่นๆ อย่างกว้างขวาง

การต่อสู้เหล่านี้ถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่เสรีภาพของการแสดงออก รัฐบาลรัสเซียจำต้องเข้าควบคุมอุตสาหกรรมพลังงานและสื่อมวลชน

4.การหวังการเจรจาขอร้อง ให้ความเชื่อถือต่อคำมั่นสัญญาของสหรัฐและตะวันตกไม่เป็นผล

รัสเซียมีประสบการณ์หลายครั้งหลายหน ที่ใหญ่ๆ ได้แก่

ก) การรับปากกับกอร์บาชอฟในปี 1990 และ 1991 ว่าจะไม่รุกล้ำเข้ามาในยุโรปตะวันออก และไม่ขยายรับยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ แต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม กอร์บาชอฟพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เอกสารลับที่เพิ่งเปิดเผยยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น (ดูบทความของ Dave Majumdar ชื่อ Newly Declassified Documents : Gorbachev Told NATO Wouldn”t Move Past East Germany ใน nationalinterest.org 12.12.2017)

ข) ในสมัยประธานาธิบดีเยลต์ซิน ก็ได้บ่นกับคลินตันถึงกรณีที่นาโต้ลุกล้ำยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง มาจนกระทั่งประชิดชายแดนรัสเซีย เยลต์ซินกล่าวในปี 1995 ว่า “นี่เป็นรูปแบบใหม่ของการปิดล้อม ถ้าหากฝ่ายที่อยู่รอดจากสงครามเย็นรุกขยายมาจนถึงพรมแดนรัสเซีย ชาวรัสเซียจำนวนมากย่อมรู้สึกหวาดกลัว คุณทำเช่นนี้มีจุดประสงค์อันใด ถ้าคุณเห็นว่ารัสเซียเป็นหุ้นส่วนของคุณ ชาวรัสเซียจะถามเช่นนี้ และผมก็จะถามด้วยว่า คุณหวังผลอะไรที่ทำเช่นนี้”

กรณีที่รุนแรงขึ้นไปอีก ได้แก่ การที่สหรัฐ-นาโต้ทิ้งระเบิดยูโกสลาเวียในสงครามโคโซโว (1999) เยลต์ซินได้กล่าวกับคลินตันว่า “ประชาชนของเรานับแต่วันนี้ จะมีท่าทีที่ไม่ดีต่อสหรัฐและนาโต้ ผมจำได้ว่า มันยากลำบากเพียงใดที่จะหันหัวของประชาชนของเรา นักการเมืองของเราไปยังตะวันตก ไปยังสหรัฐ แต่ผมก็ทำได้สำเร็จ บัดนี้ผมได้สูญเสียผลสำเร็จนั้นทั้งหมด”

เยลต์ซินเรียกร้องให้คลินตันยุติการทิ้งระเบิดนั้น และกล่าวเตือนว่า “ผมไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมาแทนที่เรา และไม่รู้ว่าหนทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ในอนาคตจะเป็นเช่นใด” คลินตันเมินเฉยต่อคำเรียกร้องนี้ (ดูเอกสารการสนทนาระหว่างคลินตันกับเยลต์ซิน ใน rt.com 31.08.2018)

ค) ประสบการณ์ตรงของปูตินเองในกรณีการล้มล้างรัฐบาลยูเครนจากการเลือกตั้งในปี 2014 ปูตินได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในต้นปี 2018 กล่าวว่า สหรัฐใช้รัสเซียเพื่อห้ามไม่ให้ผู้นำยูเครนขณะนั้นใช้กำลังทหารปราบผู้ก่อการจลาจลในนครหลวงเคียฟ แต่ก็ “โกง” มอสโกโดยการสนับสนุนการก่อรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธ ทำให้นายวิดเตอร์ ยานูโควิช ต้องหนีออกนอกประเทศ

ในถ้อยคำตอนหนึ่งของปูตินว่า “นี่คือบางสิ่งที่สาธารณะยังไม่ได้รับรู้ ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานนั้น หุ้นส่วนฝ่ายอเมริกาได้โทรศัพท์ถึงเรา ขอให้ทำทุกสิ่ง…เพื่อประกันว่ายานูโควิชจะไม่ใช้กำลังทหาร เพื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะได้สลายตัวจากจัตุรัสและอาคารทำงานของรัฐบาลด้วยตนเอง และจะยืนยันความตกลงนี้” (ดูรายงานข่าวชื่อ US “rudely and insolently cheated Russia” during Ukraine coup – Putin ใน rt.com 08.03.2018)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์ของปูติน ยังไม่ได้มีการยืนยันจากการเปิดเผยเอกสารลับของฝ่ายสหรัฐเหมือนสองกรณีแรก มีเพียงข่าวเทปลับที่เปิดเผยสดๆ ร้อนๆ จากสนามรบในตอนนั้น ที่แสดงการสมคบคิดของสหรัฐในการก่อรัฐประหารที่ยูเครน

เป็นเสียงสนทนาระหว่างนางวิกตอเรีย นูแลนด์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศด้านยุโรป และยูเรเซีย และทูตสหรัฐประจำยูเครน ที่เข้าไปบงการการตั้งรัฐบาลใหม่ในยูเครน

(ดูรายงานข่าวของ Doina Chiacu และ Arshad Mohammed ชื่อ Leaked audio reveals embarrassing U.S. exchange on Ukraine, EU ใน reutors.com 07.02.2014)

5.รักษาอธิปไตย และการรบนอกบ้าน การรักษาอธิปไตยมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นเชิงบวก ได้แก่ การสร้างอำนาจแห่งชาติ ฟื้นกำลังทหาร เข้าควบคุมสื่อ จัดตั้งกลุ่มเยาวชน แก้ไขกฎระเบียบ เช่น เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโดยตรง เป็นให้สภาจังหวัดเลือกตัวแทนที่สำนักประธานาธิบดีส่งมา เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งให้เหลือแต่พรรคใหญ่น้อยพรรค ทำให้ผู้สมัครอิสระมาเป็นผู้แทนได้ยาก อีกด้านหนึ่งเป็นเชิงลบ คัดค้านการแยกตัว แบ่งดินแดน ปราบกลุ่มกบฏเชชเนียและกลุ่มก่อการร้ายอย่างรุนแรง

สำหรับยุทธศาสตร์การรบนอกบ้าน เป็นบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าการรบในบ้านถึงชนะ บ้านเมืองก็แหลกเหลว เพื่อการรบนอกบ้าน รัสเซียได้กำหนดเขตผลประโยชน์พิเศษ มีดินแดนที่เคยร่วมกับสหภาพโซเวียตมาก่อน เป็นต้น

จะไม่ให้สหรัฐและตะวันตกรุกคืบเข้ามาโดยไม่เผชิญกับการต่อต้าน การพัฒนาระบบขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีความเร็วเหนือเสียงและแม่นยำ เพื่อโจมตีผ่านระบบป้องกันขีปนาวุธในดินแดนสหรัฐได้

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

6.ความคิดยูเรเซีย เป็นนโยบายที่ปฏิบัติง่าย ไม่ต้องใช้จ่ายสูง ด้วยการเสนอหลักการที่เข้าใจได้ทันทีว่า “ยุโรปเพื่อยุโรป เอเชียเพื่อเอเชีย ยูเรเซียเพื่อยูเรเซีย” ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก

ที่สำคัญคือ จากอเมริกา-อังกฤษ ปฏิบัติการสำคัญได้แก่ การมุ่งมั่นสร้างพันธมิตรใหม่กับประเทศตะวันออก แก้ปัญหาพรมแดนกับจีน จัดตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

ปัจจุบันขยายไปครอบคลุมประเทศที่อยู่ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน

นโยบายยูเรเซียนี้ เห็นได้ว่าต้องใช้เวลานานจึงสามารถปลิดอำนาจของสหรัฐบนภูมิภาคนี้ ถ้าหากบังเอิญว่าทำได้

7.การสร้างโลกาภิวัตน์แบบพหุภาคี จัดอยู่ในกลุ่มการรบนอกบ้านอีกประเภทหนึ่ง เป็นด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ว่าตามจริงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นศูนย์กลางเดียว เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานอีกเช่นกัน

สามข้อท้ายมีรายละเอียดมาก จะกล่าวเพิ่มรวมกันไปในประเด็นงานสำคัญและก้าวต่อไปของระบอบปกครองของรัสเซียในฉบับต่อไป