สมคิดโมเดล : ระบบคิด-วิสัยทัศน์ สู่ประติมากรรม “ประชารัฐ”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ระบบความคิดหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลระดับนโยบายรัฐ กำลังเดินหน้าไปอีกขั้น เข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแท้จริง

แนวความคิด “ประชารัฐ” ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นแผนการอย่างเป็นจริงเป็นจังหลายมิติ ดำเนินอย่างคึกคัก ขยายวงมาแล้ว 3 ปีเต็ม ด้วยพลังขับคลื่อนอันกระฉับกระเฉง มีทีมอันเป็นปึกแผ่นโดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้นำ

ผมติดตามและนำเสนอเรื่องราวข้างต้นมาแล้วถึง 2 ครั้ง (ปรากฏในมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ช่วงมกราคม 2559 และ “ทีมสมคิด” ธันวาคม 2560) ในความพยายามฉายภาพความเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะต่างๆ

หากไม่มีอีกตอนต่อจากนี้ จะกลายเป็น “ช่องว่าง” และ “ขาดตอน” ช่วงที่สำคัญมากๆ

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์เชิงกลยุทธ์ ตกผลึกมุมมองใหม่ว่าด้วย “สายสัมพันธ์” สังคมไทยในยุคใกล้ ขณะเดียวกันยังสะท้อนปรากฏ “ร่องรอย” ในยุคคลาสสิค ว่าด้วยความสัมพันธ์ “ชาวจีนโพ้นทะเล” กับผู้มีอำนาจ

เขาใช้เวลาไม่มากเลย จากไม่มีสายสัมพันธ์ จากบทบาทอาจารย์สอนวิชาบริหารธุรกิจสมัยใหม่ (MBA) โดยเฉพาะหลักสูตรสำหรับผู้บริหารซึ่งกำลังเฟื่องฟูในสังคมไทยเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว จากบทบาทที่ปรึกษาธุรกิจ เกี่ยวเนื่องกับตลาดหุ้น เข้ากับช่วงเวลาตลาดหุ้นไทยกำลังเติบโต เป็นจังหวะและโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริหารธุรกิจ สู่ก้าวสำคัญ ผู้มีบทบาท มีอิทธิพลบางระดับเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย กับช่วงเวลาตื่นเต้น ด้วยบรรดากิจการใหม่ๆ ของ “พวกหน้าใหม่” กำลังเข้าแถวกันยาวเหยียด นำบริษัท เพื่อแสวงโชค แสวงโอกาสจากตลาดหุ้น

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เข้าไปสัมผัสกับโอกาส ประสบการณ์ และสายสัมพันธ์ใหม่ๆ อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะด้วยความสัมพันธ์กับ “พวกหน้าใหม่” ผู้ซึ่งพยายามแสวงหาและรักษาความมั่งคั่ง ด้วยบทบาทเชิงขยาย จำต้องก้าวข้าม จากธุรกิจสู่การเมือง

กระแสคลื่นนั้นนำเขาสู่บทบาททางการเมืองในที่สุด จากชิมลาง สู่จริงจังครั้งแรก (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะ) ถือว่าเป็นประสบการณ์สำคัญ ด้วยมีตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ มีบทบาทอย่างต่อเนื่องหลายปี ที่สำคัญมีความเกี่ยวข้องกับชุดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ตื่นเต้น

ขณะเดียวกันมีประสบการณ์เข้มข้น ด้วยเผชิญสถานการณ์ ความผันแปร ความสับสนและวุ่นวายทางการเมืองของสังคมไทยครั้งใหญ่ด้วย

เป็นไปได้ว่า “ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ผ่านประสบการณ์สังคมช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งกรณี 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มุมมองของเขาเชื่อมโยงสังคมในภาพกว้าง ด้วยบทวิเคราะห์ ด้วยความเชื่อมั่นว่าสังคมไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การมุ่งสู่เส้นทางสายหลักสายดั้งเดิมอันมั่นคง ยังคงมีความจำเป็น ดูไปแล้วสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไป” (อ้างจากแนวคิดซึ่งผมเคยเสนอไว้ในข้อเขียน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เมื่อต้นปี 2559)

เมื่อพิจารณา “ทีมที่ปรึกษา”( ปรากฏชื่อผู้นำธุรกิจใหญ่และอดีตข้าราชการระดับสูง) และบทบาทสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจในช่วงท้ายๆ ยุคนั้น ได้สะท้อนภาพ เริ่มมองเห็น “ทางแยก”

เริ่มปรากฏการณ์การก้าวข้ามสายสัมพันธ์จากที่เคยอยู่กับ “พวกหน้าใหม่” ได้ขยับปรับเปลี่ยนสู่สร้างสายสัมพันธ์กับ “กลุ่มดั้งเดิม” อย่างชัดเจน

 

จุดหักเหด้วยบทบาททางการเมืองอีกครั้ง หลังจากเว้นวรรคไปเกือบทศวรรษ เปิดฉากขึ้นเมื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. พร้อมๆ กับระบบคิดอันตกผลึกปรากฏขึ้น

ภาพเชื่อมโยง “สานพลังประชารัฐ” องค์กรจัดตั้งขึ้น มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังแทบจะทันที เมื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แนวคิดซึ่งจัดระบบ เป็นยุทธศาสตร์ มีกลยุทธ์ เพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มีทีมงานสำคัญ (เฉพาะภาครัฐ นำโดยรัฐมนตรีซึ่งถือเป็น “ทีมสมคิด” อย่างแท้จริง)

ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนเชื่อกันว่า มีความสัมพันธ์กับความรู้เศรษฐศาสตร์และการตลาดกับประสบการณ์ทางการเมืองของเขาก่อนหน้านั้น แม้กระทั่งสื่อญี่ปุ่น (“Return to Thaksinomics” Nikkei Asian Review, August 28, 2015)

Nikkei ตีความอย่างทันควัน

จากปาฐกถาสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในช่วงเวลาเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ว่า “จะให้ความสำคัญกับคนจน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)” ว่า เป็นการกลับมาของนโยบายเศรษฐกิจยุคทักษิณ ชินวัตร

ในที่สุดภาพแท้จริงได้กระจ่างชัด แนวทาง “สานพลังประชารัฐ” ไม่เพียงเป็นแผนการเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจ หากสะท้อนในฐานะ “เครื่องมือ” ทางการเมือง

“ที่มา “ประชารัฐ” คือการแก้ข้อผิดพลาดในอดีต ถ้า “ประชานิยม” คือปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ที่ไม่บำรุงดิน ทิ้งสารพิษตกค้าง และมีราคาแพงแล้ว “ประชารัฐ” คือปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ปรับโครงสร้างดิน เพิ่มธาตุอาหารในดินรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้า “ประชานิยม” คือการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวยเพราะชาวนายังคงทำนาบนผืนดินของนายทุน แต่นายทุนกลับ “ทำนาบนหลังคน” แล้ว “ประชารัฐ” คือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”

(“จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน” ฉบับสานพลังประชารัฐ ในหัวข้อ “จากใจนายกรัฐมนตรี” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 15 พฤษภาคม 2559)

 

ผมเองเคยให้ภาพโครงสร้าง “สานพลังประชารัฐ” ว่าเชื่อมโยงและสะท้อนบทเรียน ย้อนรอยกลับไปไกลพอสมควร เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว

เชื่อว่าอ้างอิงกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน (กรอ.) ก่อตั้งเมื่อปี 2524 ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (มีนาคม 2523-สิงหาคม 2531) ยุคที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” องค์กรทางการให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแห่งรัฐอย่างเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกๆ ว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ต่อเนื่องมาจากช่วงเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในยุคต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกา

ทว่าโครงสร้างองค์กร เมื่อมองผ่าน “สายสัมพันธ์” สะท้อนความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยุคก่อนเชื่อมโยงกับองค์กรลักษณะ “ตัวแทน” ภาคเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นการเป็นงานในรูปสภาหรือสมาคม ขณะที่โครงสร้าง “สานพลังประชารัฐ” มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างมีนัยยะ

โดยเฉพาะผู้นำธุรกิจ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาสักพักใหญ่ๆ ล้วนเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงสร้าง “สานพลังประชารัฐ”

ดังกรณีที่ทราบๆ กันดี ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้นำกลุ่มเซ็นทรัล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารคนสำคัญของไทยเบฟเวอเรจ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

และศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารซีพี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

 

ภาพต่อเนื่องจากข้างต้นเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง มาถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้วยปรากฏบุคคลในเครือข่ายเดียวกัน มีบทบาท และเป็นองค์ประกอบสำคัญ

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเป็นแน่ เมื่อพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น พรรคพลังประชารัฐ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ (12 เมษายน 2561) ได้หนังสือรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค (29 กันยายน 2561) ซึ่งปรากฏว่าตำแหน่งสำคัญๆ เป็นบุคคลใน “ทีมสมคิด” ทั้งสิ้น

เมื่อมองภาพใหญ่ รวมทั้งผ่าน “ชื่อ” และ “สัญลักษณ์” ถือว่ามีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันอย่างจงใจอย่างแท้จริง

จากนี้ ระบบคิด “ประชารัฐ” ย่อมเผชิญความท้าทายอย่างแท้จริง ไม่เพียงเป็นที่มาโครงสร้าง “ค้ำยัน” นโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หากเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นโครงสร้าง “ค้ำยัน” ให้กับระบบและแผนการใหญ่ขึ้นๆ ให้ดำเนินการ มั่นคงต่อเนื่องต่อไปอีก