จิตต์สุภา ฉิน : เหตุใดหุ่นยนต์จะยังไม่ไล่ฆ่าเรา

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เมื่อเร็วๆ มานี้ คุณผู้อ่านที่ท่องอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ อาจจะได้ผ่านตาคลิปวิดีโอหนึ่งคลิปที่ชวนให้ใจคอไม่ดีไม่น้อย

ซึ่งก็คือคลิปวิดีโอของหุ่นยนต์แอตลาส จากบริษัทบอสตัน ไดแนมิกส์ ที่วิ่งไปข้างหน้า กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง และกระโดดขึ้นไปบนกล่องขนาดใหญ่อีกหลายระดับ คล้ายกับการเล่นกีฬาปาร์กัวร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าฟรีรันนิ่ง ที่จะต้องวิ่ง กระโดด ปีนป่าย ข้ามสิ่งกีดขวางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

การจะทำปาร์กัวร์ได้นั้นคนธรรมดาก็ว่ายากแล้วเนื่องจากจะต้องมีร่างกายที่ฟิตจริงๆ การที่จะให้หุ่นยนต์มาลองทำบ้างก็น่าจะยากเข้าไปใหญ่ หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่หุ่นยนต์แอตลาสสามารถทำได้แล้ว และในคลิปวิดีโอมันก็สามารถทำได้อย่างพลิ้วไหวเป็นธรรมชาติเสียด้วย

ก่อนหน้านี้บอสตัน ไดแนมิกส์ ก็เคยอวดศักยภาพความชาญฉลาดและคล่องแคล่วของหุ่นยนต์ผ่านคลิปวิดีโอมาแล้วหลายคลิป อย่างเช่น หุ่นยนต์สปอตมินิที่มีลักษณะเป็นสัตว์สี่ขา หัวเป็นมือจับ สามารถเปิดประตูเองได้ ถ้ามีคนไปยันประตูไว้มันก็ออกแรงต้านคืนได้อีกด้วยต่างหาก คลิปวิดีโอหุ่นยนต์แอตลาสกระโดดสองขา กระโดดกลับตัว หรือแม้กระทั่งกระโดดตีลังกากลับหลัง

ชวนให้นึกถึงซีรี่ส์เรื่องแบล็ก มิเรอร์ ตอน “เมทัลเฮด” ที่มีฝูงหุ่นยนต์สี่ขาตามไล่ล่าตัวเอกและฆ่ามนุษย์ตายอย่างสยดสยอง

พล็อตเรื่องแบบนี้ควรจะเกิดขึ้นแต่ในภาพยนตร์ แต่พอมีส่วนที่มาแตะกับวิทยาการในโลกแห่งความเป็นจริงได้แล้วก็ชวนให้รู้สึกหวาดกลัวว่าเราจะตกอยู่ภายใต้การไล่ล่าของหุ่นยนต์ที่แข็งแกร่งและเคลื่อนไหวว่องไวในอนาคตอันใกล้นี้หรือเปล่า

วันนี้มาตอบให้ชื่นใจค่ะว่า ไม่เลย เรายังห่างไกลอยู่เยอะ

 

บรรณาธิการเว็บไซต์ WIRED ได้ไปพูดคุยกับมาร์ก ไรเบิร์ต ผู้สร้างหุ่นยนต์สปอตและแอตลาส จากบริษัทบอสตัน ไดแนมิกส์ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลให้ฟังว่า ที่เราเห็นหุ่นยนต์เคลื่อนไหวว่องไวในคลิปวิดีโอสั้นๆ นั้น แท้จริงแล้วเบื้องหลังมันไม่ได้ง่ายเหมือนภาพที่เห็นเลย กว่าจะมาเป็นหุ่นยนต์ที่กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางหรือตีลังกากลับหลังได้ก็ใช้ความพยายามอยู่กว่ายี่สิบครั้ง

และแน่นอนว่าทีมงานก็จะต้องเลือกช็อตที่สวยที่สุดมานำเสนอให้สาธารณชนได้เห็น

แต่คุณไรเบิร์ตเขาย้ำเลยว่าพฤติกรรมหุ่นยนต์ที่เห็นมันไม่ใช่พฤติกรรมโดยทั่วๆ ไปที่หุ่นยนต์ทำได้ตามค่าเฉลี่ย แต่เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นเป้าหมายที่คาดฝันเอาไว้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราเห็นคลิปวิดีโอของหุ่นยนต์ที่ทำตัวเหนือสิ่งมีชีวิต เราก็มักจะเกิดความกลัวว่าสักวันหุ่นยนต์จะต้องครองโลกและไล่ล่าฆ่ามนุษย์ที่เป็นผู้สร้างจนหมดเกลี้ยง

ทว่าในความเป็นจริงการจะมานั่งถกเถียงกันถึงเรื่องหุ่นยนต์จะทำลายล้างโลกเรานั้นมีประโยชน์น้อยกว่าการนั่งคุยกันเรื่องปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนเสียอีก

เพราะปัญหาอย่างหลังคือปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจริง และอาจจะทำลายโลกเราก่อนที่หุ่นยนต์จะลุกขึ้นมามีสติสัมปชัญญะได้ด้วยซ้ำ

คุณไรเบิร์ตบอกว่าแค่จะให้หุ่นยนต์เปิดประตูได้สำเร็จสักครั้งก็ยังต้องใช้ความพยายามมากถึง 20 ครั้งเลย นับประสาอะไรกับการที่จะให้มันวิ่งไล่ล่าเราไปตามถนนล่ะ

ครั้นจะโทษคนทั่วไปว่าตื่นตูมกันเกินไปก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะมันก็มีสาเหตุที่ชวนให้คนที่เสพข่าวรู้สึกตระหนกกันได้จริงๆ หลักๆ ก็มาจากสื่อนี่แหละค่ะ

ทุกครั้งที่บอสตัน ไดแนมิกส์ ออกคลิปวิดีโอใหม่ๆ สื่อมวลชนทั่วโลกก็จะแข่งกันพาดหัวข่าวแบบดราม่าขั้นสุด

อย่างการใช้คำว่า “น่าสะพรึงกลัว” บ้างล่ะ หรือเอาไปเปรียบกับหุ่นยนต์ในเรื่องคนเหล็กบ้างล่ะ

เจอแบบนี้อยู่บ่อยๆ ก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกว่าจุดจบของมนุษย์น่าจะมาถึงอีกไม่นานนี้แล้ว

 

จริงอยู่ที่ว่าวงการหุ่นยนต์ทุกวันนี้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมเยอะ แต่ไรเบิร์ตบอกว่าก็ยังไม่อยู่ในจุดที่เราอยากให้มันเป็นอยู่ดี หุ่นยนต์สี่ขา “สปอต” จะพร้อมเริ่มวางขายในปีหน้าแต่เขาก็เตือนว่ามันก็จะไม่ได้เก่งกาจเหมือนอย่างในวิดีโอนะ

ผู้ใช้จะสามารถนำเจ้าสปอตไปปรับแต่งให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของตัวเองได้ อย่างการเอาไปติดกล้องเพื่อใช้ดูแลความปลอดภัย หรือเอาไปติดเซ็นเซอร์พิเศษเพื่อช่วยสำรวจสถานที่ก่อสร้าง

ผู้ใช้นั่นแหละที่จะต้องไปคิดต่อเอาเองว่าอยากให้มันทำอะไรได้บ้าง

สรุปง่ายๆ คือท้ายที่สุดแล้วหุ่นยนต์เหล่านี้จะสามารถทำอะไรได้ก็ขึ้นอยู่กับประโยชน์ทางด้านธุรกิจของมันล้วนๆ แม้ว่าคนบนอินเตอร์เน็ตจะคาดหวังให้มันเป็นคิลลิ่ง แมชชีน หรือหุ่นยนต์แอ๊กชั่นเท่ๆ แบบแรมโบ้ผสมคนเหล็กบวกโรโบค็อป

แต่ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วไม่สร้างผลตอบแทนเป็นตัวเงินให้กับลูกค้า

ท้ายที่สุดมันก็จะไม่ถูกผลิตขึ้นมาอยู่ดี

 

โลกเราตอนนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เราถกเถียงกันเกี่ยวกับหุ่นยนต์ มีทั้งคนที่มองโลกในแง่ลบ คือมองว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ไปทำจนทำให้คนตกงานกันทั่วทุกวงการ และคนที่มองโลกในแง่บวก คือมองว่าหุ่นยนต์และมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ที่ดีและเกื้อกูลต่อกัน หุ่นยนต์จะมาช่วยลดภาระ ตอบสนองความต้องการ และทำให้วันหนึ่งเราไปถึงจุดที่คนไม่ต้องทำงานเองอีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะมองในแง่บวกหรือแง่ลบก็ดูเหมือนกับว่าเราจะยังไปไม่ถึงอนาคตทั้งสองรูปแบบนั้นภายในเร็วๆ นี้อยู่ดี โดยที่มีเหตุผลที่อ้างอิงได้อยู่หลายข้อด้วยกันค่ะ การที่มนุษย์มีวิวัฒนาการมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะเรามีนิ้วและมือที่เอื้อให้เราทำกิจกรรมได้หลากหลายอย่าง

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถออกแบบมือของหุ่นยนต์ให้มีความสลับซับซ้อนเหมือนมือของมนุษย์ได้เลย และยังไม่ใกล้เคียงด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับสมองที่ลอกเลียนได้ยาก แต่ต่อให้มีสองอย่างที่ว่านี้ขึ้นมาจริงๆ การออกแบบวิธีที่จะบังคับมือให้สัมพันธ์กับสมองได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นี่เป็นสิ่งที่แม้กระทั่งมนุษย์ในวัยเด็กก็ยังใช้เวลาเรียนรู้ฝึกฝนอยู่นานหลายปี แถมไม่มีใครเข้าใจและอธิบายกลไกการเรียนรู้นี้ได้อย่างละเอียดด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอนาคตของหุ่นยนต์ไม่น่าจะเป็นไปตามพล็อตหนังไซไฟที่จะมาวิ่งไล่ล่าเข่นฆ่ามนุษย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์จะไม่ได้รับการพัฒนาให้เก่งกาจไปกว่านี้นะคะ เราจะได้รับเอไอเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าและสามารถทำกำไรให้เจ้าของบริษัทได้ แต่การผลิตหุ่นยนต์ออกมาไล่ฆ่าคนไปเรื่อยเปื่อยก็ดูจะยังไม่สามารถทำได้จริงและไม่สมเหตุสมผลที่จะทำเช่นนั้น

ดังนั้น หลังจากนี้ไปถ้าได้เห็นคลิปวิดีโอหุ่นยนต์บอสตัน ไดแนมิกส์ ออกมาทำอะไรแปลกๆ จะได้ดูไว้เพื่อความรู้และความบันเทิง

ไม่ต้องเก็บมาฝันร้ายตอนกลางคืนแล้วนะคะ