มุมมองต่อปัญญาชนสยาม และชาติอื่นๆ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สมาคมวิชาการและชาตินิยมทางวัฒนธรรม (2)

ย้อนอ่านตอน (1)

ความรู้ที่เกี่ยวกับอดีตของ “พม่า” และเวียดนามที่ปรากฏใน JBRS และ BEFEO ล้วน “ตัดขาด” จากความรู้ที่มีมาก่อน ผิดกับความรู้เกี่ยวกับอดีตของราชอาณาจักรอยุธยา (ซึ่งกลายเป็นราชอาณาจักรสยามในช่วงที่กล่าวถึงนี้) ที่ปรากฏใน JSS กลับมีความสืบเนื่องกับความรู้ที่มีมาก่อนอย่างมาก

ว่าที่จริงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งสามราชอาณาจักรล้วนต้องเผชิญภาวะล่มสลายเหมือนกัน และต้องรื้อฟื้นอำนาจกลับคืนมาใหม่เหมือนกันทั้งสามแห่ง แต่ก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นขึ้นมาเพียงด้านเดียว ชนชั้นนำของทั้งสามราชอาณาจักรเข้าใจดีว่าความล่มสลายที่ได้เกิดขึ้นนั้นมีมูลเหตุจากความอ่อนแอบกพร่องภายใน ซึ่งต้องปรับแก้เสียใหม่ โดยเฉพาะการเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมของส่วนกลางให้แข็งแกร่งขึ้น

ด้วยเหตุดังนั้น ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นช่วงเวลาที่เกิดการ “ปฏิรูป” ใหญ่ในสามราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบปกครอง, กำลังทหาร, ศาสนา, ศิลปวัฒนธรรม, วิชาการความรู้ ฯลฯ แต่เป็นการ “ปฏิรูป” ที่พยายามอ้างฐานคติของสิ่งที่ถือเป็นคลาสสิคของตนเอง เช่น ฟื้นฟูคำสอนขงจื๊อในอักษรจีนในไดเวียด สังคายนาพระไตรปิฎกในกรุงศรีอยุธยาที่บางกอก, หรือการเขียนพระราชพงศาวดารฉบับหอแก้วในอังวะ

แต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บังคับให้ระบอบปกครองของทั้งสามราชอาณาจักรต้องปรับตัวต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นกัน ที่สำคัญคือการเข้ามาของระบบทุนนิยมที่มีกำลังทหารซึ่งเหนือกว่าอย่างมากหนุนหลัง

โรงเรียนในเมืองไทยชอบสอนกันว่า เฉพาะชนชั้นนำไทยเท่านั้นที่รู้ถึงภัยคุกคามนี้อย่างลึกซึ้ง จึงพยายามปรับตัวในด้านต่างๆ ตลอดมา แต่ที่จริงแล้วชนชั้นนำของทั้งสามราชอาณาจักร ต่างมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปภายใต้การแทรกเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตกเหมือนๆ กัน จักรพรรดิมินห์มางแห่งไดเวียดถึงกับซื้อเรือกลไฟเข้ามาทั้งลำ ไม่ใช่เพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่ง แต่โปรดให้ถอดรื้อออก ถึงระดับเครื่องจักรไอน้ำ เพื่อให้ช่างชาวเวียดสามารถต่อขึ้นเองได้ นอกจากนี้ยังโปรดให้แปลคัมภีร์ไบเบิลออกเป็นภาษาจีน เพื่อศึกษาได้ด้วยพระองค์เอง ศึกษาแล้วก็ทรงมีพระราชมติ (ไม่ต่างจากนักปราชญ์จีนร่วมสมัย และไม่ต่างจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) ว่าเหลวไหลชิบเป๋ง

เจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงพระองค์หนึ่งของพม่า (โอรสของพระเจ้าปดุง) และขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งซึ่งถูกส่งมาเป็นเจ้าเมืองเมียวดี ศึกษาภาษาอังกฤษจากพ่อค้าชาวอินเดียและมิชชันนารี แล้วศึกษาอภิปรัชญาตะวันตก รวมทั้งภูมิศาสตร์แบบใหม่ (ที่ไม่ตรงกับไตรภูมิ) กษัตริย์ราชวงศ์กอนบองส่ง “สายลับ” ไปสืบข่าวคราวในอินเดียและลังกา เช่นเดียวกับจักรพรรดิมินห์มางก็ส่ง “สายลับ” ไปสืบข่าวคราวของโลกตะวันตกถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซีย) ของฮอลันดา

ไม่มีใครโง่ใครฉลาดกว่ากันหรอกครับ

แต่การปรับตัวของเขาไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา “อิสรภาพ” (แปลในสมัยนั้นว่าความเป็นใหญ่ ไม่ต้องพึ่งใคร) เอาไว้ได้ เพราะเหตุปัจจัยที่เหลือวิสัยจะควบคุมได้

ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นนำไทยไม่เก่งนะครับ แต่ความเก่งและรอบรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะรักษา “อิสรภาพ” ไว้ได้หรอกครับ ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์, ข้อเรียกร้องของฝ่ายทุนอยู่ในวิสัยที่อาจตอบสนองได้, การยอมเป็นอาณานิคมที่ถูกปกครองโดยทางอ้อม (indirect rule) และ ฯลฯ ในขณะที่ชนชั้นนำพม่าและเวียดนามไม่มีปัจจัยเหล่านี้หนุนช่วย จึงทำให้การปรับตัวไม่เป็นผลให้มหาอำนาจจะปล่อยให้มี “อิสรภาพ” ต่อไป

โดยสรุปก็คือ การ “ปฏิรูป” ในสามราชอาณาจักรยังดำเนินต่อไป โดยพยายามผนวกเอาศิลปวิทยาการตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตนเอง โดยไม่ให้กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่

แต่เมื่อมหาอำนาจตะวันตกยึดเอาสองราชอาณาจักรไปเป็นอาณานิคม การ “ปฏิรูป” ภายใต้การนำของชนชั้นนำตามประเพณีก็ต้องยุติลง ในขณะที่การ “ปฏิรูป” ดังกล่าวยังดำเนินต่อไปได้ในราชอาณาจักรอยุธยาซึ่งได้กลายเป็นราชอาณาจักรสยามไปแล้ว ซ้ำยังเป็นการ “ปฏิรูป” ที่สามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม เพราะได้รับการหนุนหลังจากอังกฤษ (เช่น ชัยชนะของฝ่ายวังหลวงในวิกฤตการณ์วังหน้า ทำให้แรงต้านทานจากชนชั้นนำส่วนอื่นหมดพลังลง)

ว่าเฉพาะวิชาความรู้เกี่ยวกับอดีตของสยาม ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งสยามสมาคมขึ้น ชนชั้นนำไทยได้ประดิษฐ์ความรู้ดังกล่าวไว้เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนแล้ว จะถือว่าสืบเนื่องมาจากการ “ปฏิรูป” ในต้นศตวรรษที่ 19 ก็ได้ เปลี่ยนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบพระราชพงศาวดารมาเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบตะวันตก ท้องเรื่องยังเหมือนเดิม แต่เนื้อหาบางช่วงบางตอนอาจเปลี่ยนไปบ้างด้วยหลักฐานใหม่ๆ ที่ผู้แต่งพระราชพงศาวดารไม่เคยใช้

วัฒนธรรมประเพณีด้านอื่น ก็มีงานศึกษาของปัญญาชนไทยในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ทำไว้ไม่น้อย โดยอาศัยวัฒนธรรมประเพณีของราชสำนักเป็นแกนกลางในการวิเคราะห์ สิ่งที่ถือปฏิบัติกันในหมู่ชาวบ้าน อาจเข้าใจได้จากสิ่งที่ปฏิบัติกันในพิธีหลวง แม้แต่ธรรมเนียมประเพณีของเพื่อนบ้านก็อาจเทียบเคียงได้กับธรรมเนียมประเพณี “ไทย”

ฉะนั้น สยามจึงมีอดีตและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว โดยการประดิษฐ์ขึ้นของปัญญาชนสยามเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อัตลักษณ์สยามได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับรัฐสมัยใหม่ที่มหาอำนาจตะวันตกได้ขีดเส้นพรมแดนไว้ให้ และกรอบความคิดทฤษฎีของสยามที่ปัญญาชนไทยประดิษฐ์ขึ้นนี้ก็เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในการตั้งสยามสมาคมและเสนองานศึกษาของตนใน JSS สืบมาอีกนาน

เวียดนามและพม่าขาดโอกาสอย่างนี้ เพราะก่อนที่การ “ปฏิรูป” ซึ่งเริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 19 จะได้พัฒนาต่อมาอย่างสืบเนื่อง เพื่อเผชิญกับโลกสมัยใหม่ มหาอำนาจตะวันตกก็ยึดเอาไปเป็นอาณานิคมเสียก่อน ทำให้ฝรั่งเจ้าอาณานิคมกลายเป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ของรัฐอาณานิคมขึ้นเอง โดยมีเป้าหมายคือการครอบงำ (domination) อย่างมั่นคงของตน

ด้วยเหตุดังนั้น JBRS และ BEFEO จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการครอบงำทางวัฒนธรรมของต่างชาติ น่าระแวงสงสัยแก่นักชาตินิยมและปัญญาชนรุ่นหลัง ในขณะที่ JSS ไม่มีมโนภาพอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ JSS ก็เป็นส่วนหนึ่งของการครอบงำเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นการครอบงำของชนชั้นนำพื้นเมือง ไม่ใช่ต่างชาติเท่านั้น

วารสารวิชาการที่ลือชื่อระดับโลกทั้งสามหัว ล้วนมีเป้าหมายทางการเมืองคือการครอบงำของชนชั้นปกครองแฝงอยู่ (โดยเจตนาของผู้ก่อตั้งและนักวิชาการของสถาบันหรือไม่ก็ตาม แต่เงื่อนไขทางการเมืองที่แวดล้อมการก่อตั้งบังคับให้เป็นเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก) ว่าเฉพาะ JSS ซึ่งสามารถดำเนินงานจัดพิมพ์สืบเนื่องมาจนปัจจุบันได้ ทำให้ได้เสนอผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ ซึ่งอาจไม่ได้มอง “ไทย” ภายใต้กรอบความคิดทฤษฎีที่ปัญญาชนรุ่นเก่าได้วางเอาไว้ ทำให้ JSS ยังเป็นวารสารวิชาการด้านไทยคดีศึกษาชั้นแนวหน้าสืบมาจนปัจจุบัน (เช่นเดียวกับ BEFEO)

แม้กระนั้น ก็น่าสังเกตว่า นักไทยคดีศึกษาที่เด่นสุดหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สองท่านคือ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ และอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ไม่เคยมีผลงานในวารสาร JSS เลย (ยกเว้นการถอดคำปาฐกถา) ไม่ว่าด้วยเหตุผลที่วารสารไม่รับ หรือทั้งสองท่านไม่เคยส่งผลงานให้พิจารณาก็ตาม

วารสารวิชาการทั้งสามหัว ต่างมีส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดขึ้นใหม่ มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนๆ กัน แต่อัตลักษณ์ที่ทั้งสามวารสารสร้างขึ้น ล้วนเป็นอัตลักษณ์ภายใต้การครอบงำของชนชั้นนำทั้งสิ้น ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทั้งสามวารสาร (หรือจะพูดให้ชัดกว่านั้นคืออัตลักษณ์ชาติที่ทั้งสามวารสารสร้างขึ้น) ย่อมไม่มีส่วนใดที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ประชาธิปไตย ซึ่งไม่เคยตั้งมั่นขึ้นได้อย่างยั่งยืนในสามดินแดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเลย